ThaiPublica > Native Ad > โครงการแห่งการ ‘คิดเผื่อ’ เพื่อสังคมไทย เป้าหมายเดียวกันของ ‘เอไอเอส’ และ ‘พันธมิตร’ ภาครัฐและเอกชน

โครงการแห่งการ ‘คิดเผื่อ’ เพื่อสังคมไทย เป้าหมายเดียวกันของ ‘เอไอเอส’ และ ‘พันธมิตร’ ภาครัฐและเอกชน

25 ตุลาคม 2021


โครงการแห่งการ ‘คิดเผื่อ’ เพื่อสังคมไทย บนเป้าหมายเดียวกันของ ‘เอไอเอส’ และ ‘พันธมิตร’ ภาครัฐและเอกชน

‘การสร้างความร่วมมือ’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่องค์การสหประชาชาติระบุไว้ เพื่อเดินหน้าสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับภาครัฐหรือเอกชนก็ตามเพราะในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ซับซ้อน ไม่มีใครสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวคนเดียวหรือองค์กรเดียว ทว่าการจับมือเดินไปด้วยกันจะช่วยให้การเดินไปสู่เป้าหมายสำเร็จได้ดีกว่าการลงมือทำเพียงลำพัง เพิ่มเติมความเชื่อมโยงภาพใหญ่สู่ความร่วมมือของ AIS ACADEMY กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เพราะยุคนี้ ‘กำไร’ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แต่สิ่งสำคัญคือ ‘การทำงานเพื่อสังคม’ ควบคู่ไปกับ ‘การสร้างความร่วมมือ’ กับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS และกลุ่มอินทัช ในฐานะผู้นำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จึงร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐที่มีบทบาทการขับเคลื่อนประเด็น ‘ คุณภาพชีวิต’ อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และจัดทำโครงการ AIS ACADEMY for Thais เพื่อให้โครงการนี้วางกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมที่สุด

โดยโครงการ AIS ACADEMY for Thais ได้จัดในรูปแบบสัมมนาต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง และล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ผ่านการขยายผลต่อใน “ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย JUMP THAILAND” เพื่อชวนคนไทยร่วมกระโดดก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ และนำพาประเทศไทยเดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมในครั้งนี้ทาง AIS ACADEMY จับมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมการกระโดดไปข้างหน้าพร้อมกับคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย และแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำอย่าง ช้อปปี้ ประเทศไทย

ในงานยังเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อยกระดับสังคมไทย” พร้อมกันนี้ภายในงาน ยังได้รับเกียรติ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเป็นพลเมืองที่ดี เพื่อพาประเทศไทย ก้าวกระโดดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดยนายชวน หลีกภัย กล่าวว่า “ปัจจุบัน นวัตกรรม เทคโนโลยี สามารถหาได้ไม่ยากนัก แต่คนที่จะมาทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์และสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งมีความซื่อสัตย์สุจริตควบคู่กัน เพราะฉะนั้นคนคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องจัดการทั้งปริมาณและคุณภาพ เพราะไม่ใช่คน หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่พวกเราทั้งหลายล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองที่จะพาประเทศก้าวกระโดดและพัฒนาไปอย่างยั่งยืน”

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เอไอเอสให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรด้วยการเพิ่มทักษะความรู้ดิจิทัล จนสามารถใช้จุดแข็งด้านดิจิทัลต่อยอดสู่การพัฒนาสังคม ผ่านการผนึกความร่วมมือกับองค์กรต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้การตอบแทนสังคมขยายผลสู่วงกว้าง

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช เล่าว่า ในอดีตการทำงานเพื่อสังคมของเอไอเอสจะมุ่งไปที่การสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต่อมาบริษัทเล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือคนไทยคือการสร้าง ‘ทักษะ’ อนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้คนสามารถปรับตัวในยุคดิสรัปชั่น และนำทักษะความรู้ไปสร้างงานและอาชีพต่อไป

“เป็นอีกครั้งที่ AIS ในฐานะผู้นำของธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อคนไทยจะลุกขึ้นมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้ อย่างที่เราเคยเน้นย้ำว่าโลกที่หมุนเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทำให้การวิ่งอย่างเดียวอาจจะไม่ทัน เราต้องกระโดดเพื่อหาโอกาส กระโดดเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ๆ และกระโดดเพื่อก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้”

นางสาวกานติมาเปรียบ AIS เป็น ‘ไม้ขีดไฟ’ ที่ให้ความสว่างแก่สังคมไทยด้วยการสร้างสังคมแห่งการ ‘คิดเผื่อ’ ผ่านหลักสูตรของ AIS Academy จนมีผู้ได้ประโยชน์จำนวนมาก แต่ความสำเร็จนี้มาจากไม้ขีดไฟก้านอื่นๆ ซึ่งเปรียบกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ ที่คอยสนับสนุนโครงการ ดังนั้นเมื่อไม้ขีดไฟมาอยู่รวมกันจึงจุดประกายไฟให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงความรู้ โอกาส และต่อยอดอาชีพได้

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือ การช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เด็กชายขอบ รวมถึงคนที่มีฐานะยากจน เนื่องจากการเรียนแบบออนไลน์ด้วยหลักสูตรการศึกษาระดับโลกจากประเทศแคนาดาผ่านแพลตฟอร์ม LearnDi นับเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาลดข้อจำกัดกลุ่มคนเหล่านี้

นางสาวนิจวรรณ ศรีวิบูลย์ สำนักงานทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตแคนนาดา ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการจับมือกันระหว่างสถานฑูตฯ และเอไอเอสว่าเป็นการใช้จุดแข็งของระบบการศึกษาประเทศแคนาดา โดยนำหลักสูตรไม่ว่าขั้นพื้นฐานหรือขั้นสูง และหลักสูตรแนวคิดแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเอไอเอส ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ วางแผนการเรียนได้ ที่สำคัญคือสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่ไม่จำเป็นต้องเก็บใบปริญญาตลอดปี แต่สามารถอาศัยการเรียนหลักสูตรต่างๆ ต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานประจำ

ส่วนโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีมาโดยตลอด คือ ‘อุ่นใจอาสา’ มีพันธมิตรสำคัญ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่อย่างช้อปปี้ (Shopee) เข้ามาเติมจุดแข็งให้คนไทยได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า การพัฒนาคนตลอดช่วงวัยเป็นภารกิจของ พม. ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก เยาวชน รวมถึงพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนขอทาน ขณะเดียวกันแนวคิดของ พม. มีเป้าหมายเดียวกันกับเอไอเอส ที่มุ่งสร้างโอกาสในการพัฒนาคน

“ปัจจัยความสำเร็จคือต้องรวมพลังกัน ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเอง แต่ทำงานเพื่อประเทศ ทำให้ประเทศได้รับการพัฒนา เริ่มต้นจากทุกคนเสียสละ ทุกคนเริ่มที่ตัวเอง เอาสิ่งที่ตัวเองมีและให้โอกาสกับคนอื่น” นางพัชรีกล่าว

ขณะที่นางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ช้อปปี้ได้สนับสนุนความรู้และโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการจาก ‘อุ่นใจอาสา’ เข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น รวมถึงลดความซับซ้อนในขั้นตอนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การชำระเงิน ขนส่ง หรือเปิดร้านแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาเจอกัน

นอกจากนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือกับเอไอเอสจัดทำย่านนวัตกรรมอารีย์ หรือ ARI Innovation District โดยมุ่งหวังให้เป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้เกิดการรวมตัวของนโยบาย กระบวนการ บุคคล และเทคโนโลยี และกลายมาเป็น “ระบบนิเวศนวัตกรรม” เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมบนฐานการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่

นางสาวกานติมา กล่าวต่อว่า “การทำงานกับภาครัฐเป็นประตูที่ทำให้เข้าถึงคนอย่างมีนัยสำคัญ และการทำงานกับภาครัฐไม่ได้ยากอย่างที่เรากลัว จากหลายสิ่งที่เอไอเอสเคยทำด้วยตัวเองและใช้เวลานาน แต่เมื่อมีพันธมิตรเข้ามามากขึ้น การสร้างอาชีพหรือตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทำให้การเคลื่อนตัวเร็วมาก เพราะแต่ละองค์กรต่างใช้จุดแข็งของตัวเอง”

เป้าหมายของ AIS Academy ในโครงการ ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย JUMP THAILAND ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่จะขยายผลโครงการให้เกิดการมีส่วนร่วมและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยได้อย่างแท้จริง