ThaiPublica > เกาะกระแส > WHO เตือน ผ่าน 3 คำถามก่อนคลายล็อกดาวน์ 3 ข้อคิดก่อนเปิดโรงเรียน แนะเตรียมมาตรการเลี่ยงระบาดรอบสอง

WHO เตือน ผ่าน 3 คำถามก่อนคลายล็อกดาวน์ 3 ข้อคิดก่อนเปิดโรงเรียน แนะเตรียมมาตรการเลี่ยงระบาดรอบสอง

12 พฤษภาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/watch/live/?v=674742210028425&ref=watch_permalink

วันที่ 11 พฤษภาคม องค์การอนามัยโลกแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยเตือนประเทศที่กำลังเตรียมการจะผ่อนคลายการล็อกดาวน์ให้เตรียมมาตรการรองรับ และยังคงต้องมีความระมัดระวัง เพื่อเลี่ยงการระบาดรอบสอง

โดย ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีจำนวนกว่า 4 ล้านคน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายประเทศได้เริ่มผ่อนคลายคำสั่งให้คนอยู่บ้าน รวมทั้งมาตรการอื่นๆเป็นระยะ ซึ่งประเทศที่ใช้มาตรการเข้มงวดนี้ บางครั้งใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อที่รุนแรง หลายประเทศได้ซื้อเวลาเพื่อเสริมความสามารถในการทดสอบ ติดตาม กักกัน และรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการติดตามการระบาดของไวรัส ชะลอการแพร่กระจายและลดแรงกดดันให้ระบบสุขภาพ และก็มีข่าวดีที่ประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของไวรัสและรักษาชีวิตผู้คน

อย่างไรก็ตาม มาตรการเข้มงวดนั้นมีต้นทุนสูงและเราตระหนักถึงผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีผลเสียต่อชีวิตคนจำนวนมาก

ดังนั้นเพื่อปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ การยกเลิกล็อกดาวน์อย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและยังช่วยรักษาความตื่นตัวในการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัส เพื่อให้มาตรการควบคุมนั้นสามารถบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็ว หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ดร.เทดรอสกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเกณฑ์ที่หลายประเทศต่อพิจารณาก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งให้อยู่กับบ้านและข้อห้ามอื่นๆ

ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่คำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วย 3 คำถามสำคัญที่แต่ละประเทศต้องตอบให้ได้ก่อนที่ยกเลิกการล็อกดาวน์

คำถามแรก การระบาดนี้ควบคุมได้แล้วหรือยัง?

คำถามที่สอง ระบบดูแลสุขภาพที่มีอยู่สามารถที่จะรับมือกับการติดเชื้อที่อาจจะกลับมาใหม่หลังจากผ่อนคลายมาตรการได้หรือไม่?

คำถามที่สาม ระบบเฝ้าระวังสาธารณสุขสามารถตรวจจับและจัดการกับผู้ติดเชื้อและผู้ที่สัมผัสหรือติดต่อกับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งแยกแยะได้หรือไม่หากเกิดการติดเชื้อขึ้นอีก?

ทั้งสามคำถามนี้จะช่วยในการติดสินใจว่าจะผ่อนคลายมาตรการอย่างช้าๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้สามารถตอบได้ทั้งสามคำถาม การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์นั้นมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นสัญญานของความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าแล้ว

ในเกาหลีใต้ บาร์และผับถูกสั่งปิดหลังจากมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ทำให้ต้องมีการสืบค้นโรคจากผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยหลายราย ขณะที่ในอู่ฮั่น ประเทศจีน พบผู้ป่วยกลุ่มใหม่ครั้งแรกหลังจากที่ยกเลิกการล็อกดาวน์ และที่เยอรมนีก็รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์

โชคดีที่ทั้งสามประเทศมีระบบรองรับซึ่งสามารถตรวจจับและตอบสนองต่อการกลับมามีผู้ติดเชื้ออีกครั้ง

ผลการศึกษาทางเซรุ่มวิทยาก่อนหน้านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ประชากรที่มีระบบภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ ซึ่งหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ยังติดเชื้อได้ง่าย

องค์การอนามัยโลกกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลในหลายประเทศเพื่อให้มั่นใจว่า มาตรการสาธารณสุขหลักยังคงมีรองรับเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากการยกเลิกล็อกดาวน์

ชุดมาตรการที่ครอบคลุม คือ ชุดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการกับไวรัส จนกว่าจะมีวัคซีน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์จึงได้มีการเผยแพร่คำแนะนำใหม่ที่เกี่ยวข้องกับทั้งการเปิดโรงเรียนและสถานที่ทำงาน

เพื่อเด็กๆ ที่จะกลับไปโรงเรียน ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต้องพิจารณาปัจจัยหลักหลายด้านเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเปิดโรงเรียนหรือไม่ และจะเปิดอย่างไร

ข้อแรก จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และความรุนแรงของไวรัสในเด็ก

ข้อสอง ต้องพิจารณาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่

ข้อสาม ความสามารถในการป้องกันและการใช้มาตรการควบคุมภายในโรงเรียน

เมื่อพิจารณาที่จะเปิดโรงเรียนอีกครั้ง หน่วยงานท้องถิ่นต้องประเมินขีดความสามารถของโรงเรียนในการรักษามาตรการการป้องกันและควบคุมโรค

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้หารือร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) และ องค์การระหว่างประเทศของนายจ้าง (International Organisation of Employers: IOE) เกี่ยวกับการเปิดสถานที่ทำงานและแนวทางการเปิดอย่างปลอดภัย

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางปฏิบัติของสถานที่ทำงานฉบับใหม่อย่างละเอียด ซึ่งแนะนำให้ทุกสถานที่ทำงานทำการประเมินความเสี่ยงพนักงานที่มีโอกาสสัมผัสกับโควิด-19 รวมทั้งการใช้มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

สถานที่ทำงานควรจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโควิด-19 และบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ โดยแผนปฏิบัติการนี้ควรครอบคลุมมาตรการป้องกัน ความปลอดภัยของสุขภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพในการกลับมาเปิด การปิดและการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

ดร.มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ โครงการสาธารณสุขฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเองก็เรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสในเด็ก ก่อนหน้านี้อัตราการติดเชื้อในเด็กแต่ละประเทศอยู่ที่ 1-5% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโดยรวม แต่จากการศึกษาการติดเชื้อภายในครัวเรือนพบว่า ส่วนใหญ่มีการติดเชื้อจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก ส่วนการติดเชื้อจากเด็กมาผู้ใหญ่มีบ้างแต่น้อยมาก อย่างไรก็ตามการศึกษาก็ยังมีข้อมูลน้อย

ในการพิจารณาเปิดโรงเรียนจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสในเด็กนั้นต้องเข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดในพื้นที่ เช่น การระบาดในพื้นที่นั้นรุนแรงหรือไม่ โรงเรียนสามารถใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพได้หรือไม่ รวมทั้งมีแนวทางการในจัดห้องเรียน ห้องอาหาร หรือพื้นที่กิจกรรมเพื่อให้เด็กแยกกันอยู่ ซึ่งสำหรับเด็กเล็กเข้าใจดีว่าทำได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะเปิดโรงเรียนเมื่อไร แต่รวมถึงเปิดอย่างไร ตลอดจนการดูแลเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งองค์การอนามัยโลกทำงานร่วมกับยูนิเซฟ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเด็กที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน อีกทั้งในแนวทางที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำนั้นผู้มีหน้าที่ตัดสินใจต้องประเมินให้รอบคอบก่อนเปิดโรงเรียน

ดร.ไมเคิล ไรอัน ผู้บริหารฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ (Health Emergencies Programme) ขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ถ้ามองจากการระบาดใหญ่และการระบาดในแต่ละประเทศ พบว่ามีหลายประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง

“ขณะที่เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่อัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ ประเทศที่มีมาตรการทางสังคมที่เข้มงวดหรือล็อกดาวน์จะดำเนินการได้ดีกว่าและอาจจะเลี่ยงการติดเชื้อรอบสองได้หากสามารถปิดเมืองได้เร็ว เช่น เกาหลีใต้ ที่ได้ดำเนินการกับผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่”

“เราหวังว่าประเทศที่มีการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมาตรการระยะห่างทางกายภาพที่เข้มงวด รวมทั้งมาตรการสุขอนามัย พร้อมกับการตื่นตัว การให้ความรู้ เพื่อให้สามารถควบคุมความเสี่ยง แต่สำคัญคือระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการตรวจสอบ การแยกตัว จะเลี่ยงการระบาดใหญ่ในรอบสองได้”

ดร.ไรอันกล่าวว่า หากการระบาดยังคงมีอยู่ในประเทศที่ความสามารถในการตรวจสอบค้นหา มีการแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อต่ำ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดขึ้นอีก โดยเฉพาะเมื่อมีคนจำนวนมากในเมืองใหญ่ ซึ่งการที่จะใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพในวงกว้างเป็นไปได้ยาก

ดร.ไรอันกล่าวอีกว่า การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศถือว่าเป็นความหวังบ้าง แต่ “ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างมาก” รวมทั้งต้องมีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็นซึ่งบางประเทศยังไม่ได้ดำเนินการ

“หลายประเทศมีการลงทุนอย่างเป็นระบบในการสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขของพวกเขาในช่วงล็อกดาวน์ แต่อีกหลายประเทศไม่ได้ดำเนินการ” ดร.ไรอันกล่าวและว่า “และเราต้องการให้ทุกประเทศเตรียมมาตรการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น การเฝ้าระวังด้านสาธารณสุข เพื่อที่จะได้สามารถอย่างน้อยมีโอกาสที่จะเลี่ยงการระบาดใหญ่รอบสองในภายหลัง”