ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project >  ส่งขยะพลาสติกกลับบ้าน: ปลดล็อควิกฤติขยะหลังโควิด-19

 ส่งขยะพลาสติกกลับบ้าน: ปลดล็อควิกฤติขยะหลังโควิด-19

20 พฤษภาคม 2020


ในขณะที่สถานการณ์การรายงานระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผลกระทบจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่การปิดเมืองกำลังส่งผลกระทบสำคัญกับปัญหาขยะพาสติกของไทยที่เคยวิกฤติอยู่แล้วให้วิกฤติมากขึ้น รายงานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดระบุว่า สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทยโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน

“ขยะพลาสติก” วิกฤติซ้อนวิกฤติ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยก่อนโควิดประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่งในการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แต่พออยู่ในช่วงโควิดเราก็เข้าใจในช่วงเหตุการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 เราพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีขยะพลาสติกรวมกับขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นถึงประมาณวันละ 1,500 ตัน”

ทิศทางการงดใช้ขยะพลาสติกแบบที่ใช้ครั้งดียวทิ้งกำลังไปได้ดีนับตั้งแต่การออกมาตรการงดการใช้ถุงพลาสติกแบบสมัครใจจากธุรกิจค้าปลีก

“พออยู่ในช่วงโควิดเราก็เข้าใจ แต่ก็ขอความร่วมมือว่าตรงไหนที่สามารถลดได้ก็ช่วยลดก่อน แล้วพอเป็นช่วงโพสต์โควิด ก็คงจะต้องเป็น new normal ต่อไป”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในฐานะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานพลาสติก นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี กล่าวว่า “พลาสติกยังไงก็จะถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นฟู้ด เดลิเวอรี่ อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ มันช่วยเราได้เยอะ แต่ปัญหาคือเราจะทำยังไงในการทิ้ง เก็บ แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นจุดที่สำคัญ”

แม้ว่าในอนาคตอันใกล้ภายในปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมที่จะผลักดันมาตรการการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สำหรับมาตรการเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ทางออกเดียวที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา เมื่อพูดถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ  ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องแก้ไขหากเราจะลดขยะพลาสติกสู่หลุมฝังกลบอย่างจริงจัง

แค่ความมุ่งมั่น (ก็ยัง)ไม่เพียงพอ

ยูนิลีเวอร์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นตัวอย่างที่สะท้อนปัญหานี้อย่างน่าสนใจ ในปีที่ผ่านมายูนิลีเวอร์ประกาศเป้าหมายในการลดขยะบรรจุภัณฑ์ แต่แม้จะใช้แผนฯเดียวกับทั่วโลก แต่การดำเนินการในประเทศไทยของยูนิลีเวอร์ยังทำได้ไม่ดีนักเพราะข้อติดขัดจากระบบนิเวศน์ของการจัดการขยะ

นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้แผนการการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน (Unilever Sustainable Living Plan)  เรามีพันธกิจที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ สามารถรีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ 100% และเมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ในบรรจุภัณฑ์ลงครึ่งหนึ่งและให้คำมั่นที่จะเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากกว่าที่ขาย ทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

“ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย อยู่บนเส้นทางแห่งการปฏิวัติพลาสติกโดยได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่เป็นพลาสติกรีไซเคิลแบบ post-consumer recycled (PCR) แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ดีพอ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทาง การทำความสะอาด และการจัดเก็บที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หนึ่งในขยะพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายคือ ขยะพลาสติกกำพร้าที่ไม่มีใครอยากได้แต่สามารถไปรีไซเคิลได้ ประเภทที่ไม่ยืดและประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงขนม ถุงเติมสบู่และน้ำยาแบบต่าง ๆ ดังนั้นการส่งพลาสติกกำพร้าเหล่านี้กลับบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการลดขยะพลาสติก และมอบวงจรชีวิตใหม่กับพลาสติกเหล่านั้นต่อไป”

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

สอดคล้องกับยูนิลีเวอร์ในมุมของ “จีซี” มองว่าทางออกสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพาลสติก ได้แก่   1.การใช้ผลิตภัณฑ์ Bioplastics – ฝังกลบ แล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. พลาสติกมีประโยชน์ – ใช้ให้เป็น ทิ้งให้ถูก 3. ความร่วมมือ – เกิดเป็น ecosystem ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยการทำให้สำเร็จต้องเริ่มจากที่บ้าน เชื่อว่า New Norm คือ พลาสติกเป็นสิ่งมีประโยชน์แต่ต้องถูกจัดการอย่างถูกต้อง GC

“ในยุค new normal เรื่อง circular economy จะยิ่งเป็นเทรนด์ของโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากที่เคยเป็นอยู่แล้ว เพราะพลาสติกจะถูกใช้มากขึ้น ดังนั้นการบริการจัดการที่ดีจะยิ่งมีความสำคัญ”

ออกแบบใหม่ระบบบริหารจัดการขยะพลาสติกใหม่

บรรยากาศการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

วันนี้ทั้ง “จีซี” และ “ยูนิลีเวอร์” เป็นส่วนหนึ่งของภาคีภายใต้โครงการ “ส่งพลาสติก” กลับบ้าน ที่ริเริ่มโดย
ครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) ข้อเสนอของโครงการนี้คือ การสร้างโมเดลต้นแบบการเรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ จากความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐและภาค และประชาชน ที่ออกแบบตามแนวทาง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (circular economy)

และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคีธุรกิจ สถาบันวิชาการและภาคประชาสังคม กว่า 24 แห่ง โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่เป้าหมายไปที่การปิดช่องไม่ให้ขยะหลุดออกสู่ธรรมชาติหรือไปสู่บ่อฝั่งกลบให้น้อยที่สุด

โครงการได้เริ่มทดลองเปิดจุดรับพลาสติกสะอาด(plastic drop point) 10 จุดบนถนนสุขุมวิท ในการเปิดรับพลาสติก 2 ประเภทคือพลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง โดยจะใช้เวลา 2 เดือนจากนี้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เรียนรู้วงจรในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับขยะ เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการขยายผล การจัดการขยะพลาสติกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนไปยังที่อื่นๆในอนาคต

“หัวใจสำคัญในการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” อยู่ที่การบริหารจัดการขยะ ทั้งเรื่องการแยกขยะและการทำให้ขยะสะอาด สำหรับวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้องทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยในการจัดการขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ต้องตัด ผูก ใส่ถุงและติดป้าย ขณะที่ขยะรีไซเคิล (Recycle) เช่น ภาชนะใส่อาหาร ต้องกำจัดเศษอาหาร ล้างน้ำให้สะอาด เช็ด/ตากแห้ง ใส่ถุงและติดป้าย  การแยกขยะอย่างถูกต้องจะมีส่วนช่วยให้พนักงานเก็บขยะปลอดภัยขึ้น ลดภาระบ่อฝังกลบ และช่วยส่งพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง  และวัสดุอื่นๆ กลับเข้าสู่ระบบการนำมาใช้ประโยชน์หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ปลดล็อคด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

เริ่มต้นจากตัวเรา ทำขยะให้สะอาด ขยะถุงแกงที่เปื้อนก็ล้าง ตากให้แห้ง แยกขวดจากขยะอื่นที่ไม่ปนเปื้อน เมื่อมีปริมาณมากพอขยะจะถูกส่งไปยังจุดรับขยะ ที่จะรวมขยะเพื่อเข้าโรงงานรีไซเคิลอีกครั้ง และเตรียมกลับไปสู่การเป็นเมล็ดพลาสติกและเส้ยนใย ที่พร้อมจะนำไปทำผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเสื้อยืด ขวด ฯลฯ เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด

“ก่อนทำโครงการของเรา เรารู้ว่าไม่ใช่ไม่มีคนทำ มีคนทำอยู่ก่อนแล้ว เขาแยกขยะแต่หยุดไปเพราะวิกฤติ หรือก็มีคนที่อยากแยกขยะ แต่ก่อนหน้านี้ไม่รู้จะเอาพลาสติกไปทิ้งไว้ที่ไหน” นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) กล่าวถึง อินไซด์ที่นำมาสู่การพัฒนาโครงการที่พึ่งเปิดตัวและหวังว่าถ้าทำได้นี่จะเป็นโมเดลที่ทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลออกไปในอนาคต ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ใช้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นอกจากจุดรับพลาสติกสะอาด(plastic drop point)  โครงการมีแอพพลิเคชั่น ECOLIFE เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่าง ๆ มีผู้สนับสนุนระบบลอจิสติกส์ ผู้ดำเนินธุรกิจ recycle/upcycle และ แบรนด์ ที่มีนโยบายเรื่องการเรียกคืนขยะพลาสติกที่ชัดเจน รวมทั้งผู้สนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ในโครงการยังมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียน เพื่อการต่อยอดขนาดผลต่อไป รวมมีภาคีเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อ close loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้ต่อไป

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี

ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายปี 2562 เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ได้ดำเนินโครงการ “วิภาวดีปลอดขยะ” ในการบริหารจัดการขยะร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจบนถนนวิภาวดีฯ และนำมาสู่การต่อยอดการพัฒนาโมเดลต้นแบบ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่เตรียมจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆในอนาคต

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่เราหวังจะเห็นความรู้ในการแยกขยะที่ถูกต้อง และโมเดลนำร่องในการเรียกคืนขยะพลาสติก ได้รับการขยายผลต่อไป เราไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม เราทั้งหมดล้วนเป็นคนที่จะสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ TRBN กล่าวในที่สุด

จำนวนจุดรับพลาสติกสะอาด ทั้ง 10 จุดบริเวณถนนสุขุมวิทในโครงการนำร่อง “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”