ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องไม่รู้ของโคโรนาไวรัส

เรื่องไม่รู้ของโคโรนาไวรัส

21 กุมภาพันธ์ 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://komonews.com/news/nation-world/gallery/china-shuts-down-more-cities-in-bid-to-contain-deadly-virus#photo-2

โคโรนาไวรัสกำลังอาละวาดอย่างมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในโลกทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ มีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับโรคนี้ที่ทราบกันชัดเจนและอีกหลาย ๆ เรื่องที่ไม่รู้จะบอกว่าอย่างไร การเรียนรู้เรื่องนี้สามารถกระทำได้ผ่านการพิจารณาในลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ

สมมุติว่าเราเห็นหนูตัวหนึ่งในห้องนอนจึงปิดไฟและวิ่งออกจากห้องพร้อมกับปิดประตู สถานการณ์นี้ให้สิ่งแรกคือ knowns กล่าวคือรู้แล้วว่ามีหนูตัวหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในห้องพร้อมทั้งรู้ตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ ในห้อง รู้ว่าห้องมืด ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่รู้คือ unknowns อันได้แก่ไม่รู้ว่าตอนนี้มันอยู่ที่ใดในห้อง มันอยู่บนที่นอนหรืออยู่ข้างแก้วน้ำบนโต๊ะ ฯลฯ

หากแยกลงไปอีกเราก็ได้ known unknowns คือเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร เช่น ไม่รู้ว่าหนูจะออกจากห้องไปทางรูที่มันเข้ามาแล้วหรือไม่ ไม่รู้ว่ามันจะฉี่ราดที่นอนเราหรือไม่ ฯลฯ

สิ่งที่น่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือ unknown unknowns กล่าวคือเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เช่น เราไม่รู้ว่าฉี่ที่มันรดที่นอนเรานั้นจะก่อให้เกิดโรคหรือไม่ (ชั้นแรกคือเราไม่รู้ว่ามันฉี่ราดที่นอนหรือไม่ ชั้นสองคือไม่รู้ว่ามันมีผลเสียอย่างใด) กล่าวคือไม่รู้ทั้งสองชั้น เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เช่น เราไม่รู้ว่ามันจะมีหนูตัวอื่นเข้ามาในห้องหรือไม่ และมันจะกัดกันเลือดสาดจนสกปรกห้องนอนและเป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพเราหรือไม่ และมันจะมาออกลูกแพร่เชื้อโรคในห้องหรือไม่

ยาตัวหนึ่งมีสารเคมี มีฤทธิ์รักษาอะไร และมีผลข้างเคียงใดที่พอทราบคือ knowns ส่วนunknowns คือไม่รู้ว่ามันมีผลข้างเคียงในระยะยาว ๆ 20-30 ปีอย่างไร ส่วน known unknowns นั้นก็คือตระหนักดีว่าไม่รู้อะไร เช่น ไม่รู้ครบถ้วนว่าหากกินกับยาอีกนับร้อยนับพันตัวจะเกิดปฏิกริยาร่วมอย่างไรต่อร่างกายของเรา

ส่วน unknown unknowns นั้นก็คือไม่รู้ว่าต้องพิจารณาประเด็นอื่นใดอีก เช่น ไม่รู้ว่าจะเป็นยาที่รักษาโรคอื่นใดได้หรือไม่ ไม่รู้ว่ายานี้จะทำให้ร่างกายดื้อยาในลักษณะใหม่ในอนาคตหรือไม่ ไม่รู้ว่าหากมีการใช้ในร่างกายที่มีอวัยวะเทียมจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร ฯลฯ

กลับมาเรื่องโคโรนาไวรัสซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Covid-19 หลังจากอุบัติขึ้นมาแล้วประมาณ 3 เดือนตามที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ในอดีตว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นโดยแท้จริงแล้วมันจึงเป็นknown unknowns กล่าวคือไวรัส (มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียมาก) ตระกูลโคโรนา (corona หมายถึงแสงทรงกรดหรือมงกุฎ ซึ่งมีลักษณะเป็นหยัก ๆ คล้ายหนามแหลม ซึ่งเป็นหน้าตาของไวรัสตระกูลนี้) เชื่อกันในอดีตว่าไม่มีผลร้ายต่อมนุษย์มากนัก

ในปี 2003 เมื่อโรค SARS ซึ่งเกิดจากไวรัสในตระกูลนี้เกิดขึ้น ความเชื่อในความไร้อันตรายของไวรัสตระกูลนี้จึงหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรค MERS ซึ่งเกิดจากไวรัสตระกูลนี้เช่นกันอุบัติขึ้นในปี 2012

อัตราการตายของ SARS คือร้อยละ 10 ส่วน MERS คือร้อยละ 30 กว่า SARS มีผู้เป็นโรคอยู่ประมาณ 8,000 คน มีคนตาย 800 คน ส่วน MERS ตัวเลขคือ 2,500 คน และตาย 860 คน หลังจากนั้นมีงานวิจัยจำนวนมากมายโดยเฉพาะโรค SARS และพยากรณ์กันว่าไวรัสตระกูลนี้จะเป็นสาเหตุการเกิดของโรคในมนุษย์อีกหลายโรค มันจึงเป็นลักษณะของ known unknowns คือรู้ว่าจะอุบัติขึ้นแต่ไม่รู้ว่าจะมีลักษณะรุนแรงหรือมีอาการอย่างใด

ไวรัสตระกูลโคโรนาเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์มานานแล้ว กล่าวคือเป็น knowns แต่เมื่อพันธุกรรมของไวรัสบางตัวในตระกูลนี้กลายพันธ์ไปจนสามารถทำให้คนเป็นโรคได้ ไวรัสตัวนี้ซึ่งอยู่ในสัตว์บางชนิดเข้าสู่ตัวคนผ่านแผลหรือผนังเยื่อของตา จมูก ปากโดยไวรัสอยู่ในสารคัดหลั่งจากสัตว์ (มือไปสัมผัสและนำมาขยี้ตา จมูก หรือสูดหายใจละอองฝอยเข้าปอด)

SARS นั้นเชื่อว่าชะมดเป็นตัวนำไวรัส ส่วน MERS นั้นคืออูฐ ทั้งสองโรคเกิดขึ้นนานพอสมควรแล้วจนมีเวลาให้นักวิชาการศึกษาพันธุกรรม และสาเหตุของการติดต่อไปสู่คน

สำหรับ Covid-19 นั้นยังอยู่ในลักษณะ knowns ในเบื้องต้น กล่าวคือมั่นใจว่าติดจากสัตว์สู่คน และต่อไปถึงคนอื่น อีกทั้งรู้ลักษณะของ DNA (นักวิชาการจีนเป็นผู้ถอดรหัสได้ในเวลาหนึ่งเดือนนับตั้งแต่ระบาดซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับสองโรคแรก) แต่ known unknowns ก็คือยังไม่รู้แน่ชัดว่าระบาดจากสัตว์ใด (ค้างคาวพันธุ์เกือกม้าหรืองู) ติดมาสู่คนในลักษณะใด (หากรู้ชัดก็ป้องกันได้) ระยะฟักตัวที่แท้จริงนานเท่าใด (รู้คร่าว ๆ ว่า 2-14 วัน) ยาใดที่ฆ่าไวรัสนี้ได้ (ยังไม่รู้เพียงแต่รักษาตามอาการซึ่งคล้ายกับเป็นโรคนิวมอเนีย คือ จาม ไอ มีปัญหาในการหายใจ ไข้สูงฯลฯ)

ที่กล่าวมานี้คือรู้ว่าไม่รู้อะไรซึ่งกำลังรีบทำวิจัยกันอย่างหนักในขณะนี้ ทั้งในจีนและต่างประเทศ แต่ที่น่ากลัวก็คือ unknown unknowns คือไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร เช่น ต้องตรวจสอบว่ามีการติดต่อทางอื่น นอกจากที่เข้าใจกันหรือไม่ (ตอนนี้พบว่าติดต่อทางอุจจาระได้) ไม่รู้ว่าจะสงสัยเรื่องอะไร เช่น การฟักตัวที่นานกว่า 14 วันเป็นไปได้หรือไม่ การรักษาด้วยยาเท่าที่ทราบกันจะมีผล กระทบในระยะยาวจนทำให้เป็นโรคอื่นได้ง่ายขึ้นหรือไม่ มีวิธีการตรวจสอบอื่นที่ได้ผลกว่านี้หรือไม่ (ตอนนี้พบว่าการใช้ CT Scan ปอดจะทำให้รู้ผลเร็วกว่าการตรวจเชื้อ) ฯลฯ

ขณะที่เขียนนี้ทั้งโลกมีคนเป็น Covid-19 ประมาณ 65,000 คน เสียชีวิต 1,400 คน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ มีการปิดบังมากน้อยเพียงใด ผลจากการปิดบังตัวเลขจะมีผลทำให้การกระจายไปอีกไกลหรือไม่ในลักษณะใดและก่อให้เกิดโรคแทรกอื่นได้อีกหรือไม่ (unknown unknowns) ความไม่แม่นยำของตัวเลขเกิดจากการเอากรณีของคนเป็นโรคนิวมอเนียซึ่งมีอาการคล้ายกันไปรวมด้วยหรือไม่ หรือว่าตัดจำนวนคนเป็น Covid-19 ออกโดยตีความว่าเป็นนิวมอเนีย

จำนวนคนที่เป็นโรคนี้พุ่งขึ้นมากใน 2-3 วันที่ผ่านมาอาจเกิดจากการใช้ CT Scan ในจีนเป็นเครื่องมือพิสูจน์โรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเปลี่ยนยอดตัวเลขของคนที่สงสัยให้โดดขึ้นมาทั้งที่จำนวนคนเป็นโรคไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนยอดคนตายที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากคนที่ป่วยอยู่แล้วและเพิ่งเสียชีวิตแต่มิได้เกิดกับคนที่ป่วยใหม่ ทั้งหมดคือ unknowns

หากถามตรง ๆ ว่า Covid-19 น่ากลัวไหม คำตอบก็คือน่ากลัว แต่จากหลักฐานที่พอเก็บได้ถึงวันนี้เชื่อได้ว่าร้ายแรงน้อยกว่า SARSและ MERS(Covid-19 ตายเพียงร้อยละ 2) ส่วนจะจบลงเมื่อใดจนโลกเป็นปกตินั้นเข้าลักษณะ unknown unknowns ซึ่งพยากรณ์ได้ยาก ไม่มีใครรู้ว่าระหว่างทางที่โรคนี้กำลังจะคลายอิทธิฤทธิ์ลงนั้น วิธีการป้องกันและรักษาที่ได้ทำกันไปอาจสนับสนุนให้เกิดโรคใหม่ หรือการฟื้นตัวใหม่ของโรคเก่า ๆ ขึ้นมาอีก หรือการระบาดของโรคนี้อาจพลักผันกลับมาอีกหรือไม่ (MERS ฟื้นตัวหลายครั้งก่อนจะจบลง)

ญี่ปุ่นกำลังลุ้นอย่างหนักเพราะกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนที่โตเกียวในเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งลงทุนไปมหาศาลกำลังใกล้เข้ามาทุกที การตัดสินใจเข้าร่วมของนักกีฬาประเทศต่าง ๆ รวมทั้งคนดูซึ่งเป็นต้นน้ำของความสำเร็จแขวนอยู่กับการจบสิ้นของโรคนี้ในโลกอย่างรวดเร็ว จีนก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าสังคมที่ “สั่งได้” นั้น (สั่งให้คน 50 ล้านคนไม่เดินทางออกนอกเขต)สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าระบบสังคมอื่น

เราควรดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้ดีเพื่อเตรียมรับมืออย่างมีสติ ไม่ตื่นตูมจนสติแตก ขาดกำลังใจในการทำงานและดำเนินชีวิต อย่าลืมว่าถึงแม้จะผ่านโรคนี้ไปแล้วแต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหา เช่น โรคใหม่จากตระกูลโคโรนาไวรัส ฝุ่น หมอกควัน ภัยแล้ง การเมือง เศรษฐกิจโลก ปัญหาปากท้อง ฯลฯ ถ้าไม่ร่วมมือกันเราจะมีโอกาสป่วยหนักในลักษณะ “ตายหมู่” ได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง”กรุงเทพธุรกิจอังคาร 18 ก.พ. 2563