ThaiPublica > เกาะกระแส > 6 ปี ฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” จาก “ประยุทธ์” ถึง “ประยุทธ์”

6 ปี ฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” จาก “ประยุทธ์” ถึง “ประยุทธ์”

2 มิถุนายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นับเป็นครั้งแรกของการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจขาดทุนด้วยการฟื้นฟูกิจการผ่าน พ.ร.บ.ล้มละลาย

รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นจะยังคงให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยเกินกว่าร้อยละ 50 แต่ให้ลดการถือหุ้นในส่วนของกระทรวงการคลังให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ก่อนจะเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ด้วยการขายหุ้นจำนวน 3% ให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ทำให้กระทรวงการคลังคงเหลือสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทการบินไทยอยู่ที่ 48% ซึ่งส่งผลทำให้บริษัท การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยทันที

  • “บิ๊กตู่” หลับตา กลั้นใจ พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ – เตรียมลดหุ้นคลัง ถอดสภาพ “รัฐวิสาหกิจ”
  • อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การบินไทยต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้จัด 10 รัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ เป็นการฟื้นฟูกิจการโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่การฟื้นฟูไม่ได้ดำเนินการอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อให้การบินไทย เป็นบริษัทที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลก ยิ่งฟื้นฟูก็ยิ่งต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูในที่สุด

    ทุกบริษัทผู้ถือหุ้นคือเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากย่อมชี้ขาดทิศทางกิจการได้ ที่นี่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่นโยบายสั่งการกลับเป็นกระทรวงคมนาคม เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมายาวนาน ทั้งที่เป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ปล่อยให้เป็นแหล่งตักตวง กอบโกยของผู้มีอำนาจตั้งแต่พนักงานจนถึงนักการเมือง จนถึงวันนี้ที่เข้าสู่การฟื้นฟู กระบวนการเหล่านั้นก็ยังไม่ยุติใดใด

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารวบรวมข้อมูลการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินการอะไรบ้าง

    ย้อนรอย 6 ปีจาก “ประยุทธ์” ถึง “ประยุทธ์”

    หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหารัฐวิหสากิจถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนนโยบายหนึ่งของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 หรือภายหลังรัฐประหารเพียงเดือนเศษ คสช. ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ”  หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” เพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่เรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะ 7 รัฐวิสาหกิจอาการหนักที่มีปัญหาขาดทุนสะสมและหนี้สินล้นพ้นตัว

    แม้ว่าการดำเนินนโยบายรัฐวิสาหกิจอาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง เช่น การบังคับใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 รวมไปถึงการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งจนสำเร็จกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์

    ขณะที่บรรดารัฐวิสาหกิจอาการร่อแร่ที่เหลืออีก 5 แห่ง คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังคงอาการหนักต่อไป

    2557 — เปิดฉากตั้งเป้าหมายลดต้นทุน 20-30%

    เจาะลึกลงไปสำหรับการบินไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ว่า ให้เน้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เน้นการลดต้นทุนอย่างจริงจังและลดเส้นทางบินที่ไม่กำไร โดยแผนการลดต้นทุนจะต้องมีเป้าหมายลดต้นทุนที่ท้าทายประมาณ 20-30% 2) นำเสนอมาตรการที่ใช้ประโยชน์จากพันธมิตรทั้งในและนอก Star Alliance อย่างเป็นรูปธรรม 3) ให้ความสำคัญกับตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ต้องวิเคราะห์โดยละเอียด และมีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเป็น premium airline

    2558 — เน้นปรับโครงสร้างองค์กร-พนักงาน

    ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 คนร. มีมติต้องการแก้ไขแผนปฏิบัติการตามแผนการแก้ไขปัญหาการบินไทยให้มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างค่าตอบแทนและวิธีการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยมีเป้าหมายให้ลดค่าใช้จ่าย 10% จากปี 2557 (โดยไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง และห้ามกระทบคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย)

    ขณะที่นโยบายที่จะลดพนักงานให้ทำในลักษณะของโครงการเกษียณก่อนอายุตามสมัครใจก่อน และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้มีผู้บริหารด้านต่างๆ ที่เหมาะสม และสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนการแก้ไขปัญหาขององค์กรได้ นอกจากนี้ ถ้าต้องมีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว ให้เจรจาขยายเวลาชำระหนี้เดิมทั้งระยะสั้นและยาวที่จะครบกำหนดในปี 2558 ภายในเดือนมีนาคม 2558 ก่อน พร้อมทั้งจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นในการถือครองประกอบกันด้วย

    หลังจากนั้น คนร. มุ่งเน้นไปที่วาระการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิง เพื่อทำหน้าที่ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจแทนรัฐบาล และเพิ่มความโปร่งใสและความเป็นอิสระของรัฐวิสาหกิจมากขึ้นจากการแยกอำนาจการบริหารออกจากความเป็นเจ้าของ รวมไปถึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาธงแดงของ ICAO ในช่วงกลางปีดังกล่าว ขณะที่การฟื้นฟูการบินไทยมีการรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการ

    ในการประชุม คนร. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 มีมติรับทราบแผนแก้ปัญหาระยะสั้น หรือ quick win ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้รวม 3,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือการพิจารณาสัดส่วนและสวัสดิการพนักงานที่เหมาะสม และให้กระทรวงคมนาคมติดตามกำกับการดำเนินการต่อไป

    2559 — ดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ลดตัวแทนขาย

    ข้ามมาปี 2559 การประชุม คนร. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ประชุม คนร. รับทราบว่าการบินไทยในปีที่ผ่านมาสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 7,200 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10,000 ล้านบาท และมีมติต่อไปให้การบินไทย 1) จัดทำแผนงานและกำหนดเวลาการจัดการตัวแทนจำหน่าย (agent) ให้มีความชัดเจนและเสนอภายในเดือนมีนาคม 2559 2) ให้ชะลอการจัดหาเครื่องบินที่ยังไม่มีความจำเป็น ในกรณีมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจะต้องเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับที่มีอยู่แล้วในฝูงบิน

    ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการบินไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของการบินไทย โดยต้องนำระบบ revenue management system (RMS) และระบบ network management system (NMS) มาใช้ในการดำเนินงาน

    2560 — เน้นดำเนินการต่อเนื่อง

    ในปี 2560 ยังเน้นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเดิมอย่างต่อเนื่องทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังล่าช้ากว่าที่กำหนดจากปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการบริหารจัดการรายได้จากระบบ RMS และ NMS, การลดค่าใช้จ่ายบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อ, ลดการใช้ตัวแทนขายและเพิ่มสัดส่วนขายออนไลน์, จำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ต้องถือครอง และนำมาตรฐานอุตสาหกรรมมาใช้เป็นเป้าหมาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง

    2561 — ตัวเลขดีขึ้นแต่ขาดทุน เพราะการแข่งขันรุนแรง

    ในปี 2561 ช่วงต้นปีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 การบินไทยได้รายงานว่าบริษัทมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (cabin factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (aircraft utilization) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง แต่เนื่องจากธุรกิจด้านการบินมีสภาพการแข่งขันที่รุนแรงยังอาจส่งผลกระทบกับการบินไทย

    คนร. จึงสั่งให้ให้การบินไทยเร่งนำระบบ RMS และระบบ NMS มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของการบินไทย

    นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการบินไทย พิจารณารูปแบบในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบินและแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาแผนการนำสายการบินไทยสมายล์มาสนับสนุนการดำเนินการของการบินไทยด้วย

    ต่อมาในช่วงกลางปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 การบินไทยจึงได้นำเสนอแผนฟื้นฟูและขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ปี 2561-2565) โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการที่ทำมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่

    • 1) ให้นำระบบ RMS และ NMS มาใช้สร้างรายได้ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่กระทบต่อคุณภาพการบริการและความปลอดภัย รวมถึงบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน
    • 2) เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายบัตรโดยสารโดยการบินไทย เทียบกับการจำหน่ายผ่านตัวแทน จากให้ได้ 25:75 ในปี 2561 และเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อไป
    • 3) พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและปรับระยะเวลาในการนำบัตรโดยสารคืนจากตัวแทนกลับมาจำหน่ายให้เร็วขึ้น เพื่อลดปริมาณที่นั่งว่างและเพิ่มปริมาณการใช้ที่นั่ง พร้อมทั้งหาแนวทางการเพิ่มอัตรากำไรจากการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านตัวแทนมากขึ้น
    • 4) ปรับวางตำแหน่งทางธุรกิจ หรือ positioning ตลอดจนรูปแบบการให้บริการที่รองรับทั้งการให้บริการขั้นหนึ่งและธุรกิจ รวมถึงจัดทำรายละเอียดแผนธุรกิจ แผนการจัดหาฝูงบินให้สอดคล้องกับแผนการบินที่เหมาะสมและคุ้มค่าให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2561
    • 5) ศึกษาและนำรูปแบบการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของสายการบินต้นทุนต่ำที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจของการบินไทยมาปรับใช้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม การให้บริการในแต่ละชั้น โดยพิจารณาเทียบเคียงกับคู่แข่ง เพื่อให้ราคาตั๋วสามารถแข่งขันได้ และสามารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ภายใน มิ.ย. 2561
    • 6) จัดทำแนวทางการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาหลักสูตรอบรมช่วง การหมุนเวียนงาน รวมถึงการถ่ายโอนงานของผู้บริหารให้ต่อเนื่อง
    • 7) สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการคณะกรรมการบริหารไทยสมายล์แอร์เวย์ เสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองภายในเดือนมิถุนายน
    • 8) เร่งศึกษาและพิจารณากำหนดแผนการจัดตั้งโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานโดยเร็ว

    ต่อมาในช่วงปลายปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ที่ประชุมได้รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้หลักและรายได้เสริมต่างๆ เช่น การซ่อมบำรุงหรือครัวการบิน รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กร เช่น บริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันและค่าเงิน หารายได้ชดเชยการด้อยค่าของสินทรัพย์ และ 2) กำหนดกลยุทธ์สร้างความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปตท. ธนาคารกรุงไทย เพิ่มเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

    2562 — การบินไทยฟื้นฟูแล้ว?

    ต่อมาในปี 2562 การประชุมแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจดูเหมือนจะซาลงไปตั้งแต่ช่วงปลายปี  2561 ตามสถานการณ์การเมืองที่เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง โดยในการประชุม คนร. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ยังคงให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามแผนการ โดยให้กำหนดแผนบริหารความเสี่ยงในกรณีที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่แผนส่วนใหญ่จะคงดำเนินการตามเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การเพิ่มสัดส่วนการขายออนไลน์และลดบทบาทของตัวแทน การปรับโครงสร้างของไทยสมายล์ การร่วมมือกับบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

    อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับผลการดำเนินการฟื้นฟูในแต่ละปีหรือแต่ละไตรมาสว่าแต่ละแผนการมีความคืบหน้าและเข้าเป้าหมายหรือไม่อย่างไร และต้องแก้ไขแผนการในจุดใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ ฯลฯ แต่จากผลประกอบการของการบินไทย ณ วันนี้ คงพอบอกได้แล้วว่าผลการดำเนินงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

    กว่าจะมาถึงวันนี้ — ถกเครียดชักเข้าชักออก ครม.

    กลับมาที่ปีปัจจุบัน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยในแง่ของการตัดสินใจของ พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วนพิจารณาแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทย เข้าร่วม เนื่องจากพิษของโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานอุตสาหกรรมการบินไปทั่วโลก รวมถึงการบินไทย ที่อาจจะถึงขั้นต้องล้มหายตายจากกันไป

    “ความจริงการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานแล้ว แต่ในอนาคตข้างหน้านี้ก็ขึ้นอยู่กับการบินไทยเอง ขอย้ำว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง และแสดงความสามารถออกมาให้เห็นว่าการบินไทยยังมีขีดความสามารถแข่งขันได้ต่อไป ยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้เหนื่อย แต่ถ้าร่วมมือกันทุกฝ่ายก็ยังพอไปได้ สรุปง่ายๆ วันนี้ทุกฝ่ายอยากเห็นการบินไทยบินได้ แต่ต้องมีความร่วมมือกันทั้งรัฐบาล เอกชน และบริษัทการบินไทย ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด” ดร.สมคิดกล่าวหลังการประชุม

    ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 มีการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2563 ได้ข้อสรุปว่า คนร. เห็นด้วยในหลักการของแผนดังกล่าวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวของการบินไทยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืน และได้มอบให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

    วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เรื่องดังกล่าวกลับยังไม่ได้เข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะอุ้มการบินไทยด้วยการค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติมเข้าไปตามมติเดิม หรือควรปล่อยให้ล้มละลาย หรือเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่านี่จะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของการบินไทย และเรื่องก็ยื้อไปกันมาอีก 2 สัปดาห์กว่า ก่อนที่จะได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วภายในเวลา 3 วัน

    เริ่มจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ณ กระทรวงคมนาคม ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

    ทั้งนี้ มีรายงานว่านายสมคิดและนายอุตตม จะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่สุดท้ายทั้งสองไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด

    วันต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้เรียกได้เรียกนายอนุทิน นายศักดิ์สยาม และนายถาวร เข้าหารือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งภายหลังการประชุมนายอนุทินระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีความเห็นให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทยภายใต้กฎหมายล้มละลาย และสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 มีการประชุม คนร. ที่ใช้เวลาไปเพียงชั่วโมงกว่ามีมติสรุปว่าจะเลือกหนทางที่สาม คือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย และเป็นมติ ครม. ตามแนวทางนี้ในวันต่อมาเช่นกัน

    ในที่สุดกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วนำมาสู่การลดการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง การพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ พร้อมการยื่นขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนวันที่ 17 สิงหาคม 2563 จากนี้ไปการบินไทยจะยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่ หรือใครจะเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ ก็ต้องเกาะติดกันต่อไป