ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนฯ แนะธุรกิจเร่งแผนใช้ ESG พลิกฟื้น-สร้างภูมิคุ้มกันรับวิกฤติโควิด

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนฯ แนะธุรกิจเร่งแผนใช้ ESG พลิกฟื้น-สร้างภูมิคุ้มกันรับวิกฤติโควิด

21 เมษายน 2020


พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN)

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network-TRBN) เปิดแผนเร่งด่วนช่วยธุรกิจรับมือวิกฤติโควิด-19 แนะใช้ ESG (environmental, social และ governance) บริหารจัดการอย่างสมดุล และผสานในกลยุทธ์องค์กรสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว พร้อมเดินหน้าเชื่อมองค์ความรู้ และทรัพยากรเพื่อสร้างพลังร่วมในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN)  เปิดเผยว่า แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ เราได้เห็น S “social” หรือการบริหารจัดการเพื่อดูแลพนักงานและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานและการทำกิจกรรมด้านสังคมของบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนทุกขนาดในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนมาก ในส่วนของ G “governance” มีกรรมการของหลายองค์กรออกมาแสดงความคิดเห็นที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับการรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย สังคมส่วนรวม และสิ่งแวดล้อม ผ่านสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือ IOD ในทางกลับกัน

ในภาวะนี้ก็มีบางบริษัทที่ต้องมุ่งเน้นการแก้ปัญหาการอยู่รอดของธุรกิจระยะสั้น จนอาจทำให้ต้องสละมุมมองระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงของ ESG รอบด้าน ซึ่งนำไปสู่การลดความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจในภาพรวมมีอุปสรรค

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในขณะนี้ บริษัทเอกชนต่างหามาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ถือเป็นโอกาสแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและการยึดมั่นในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของหลายบริษัท หรือคุณค่าของบริษัทต่อส่วนรวม และอาจเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าบริษัทที่มีการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงปัจจัยความยั่งยืนเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับตัว และนำพาผู้มีส่วนได้เสีย อยู่รอดปลอดภัย และรักษาการเติบโตไว้ในสภาวะวิกฤตินี้ได้หรือไม่ อย่างไร” ผู้อำนวยการ TRBN กล่าว

จากการประเมินของ TRBN สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า วิกฤติเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เราเคยคิดว่าสร้างผลกระทบสูง แต่มีความเป็นไปได้ต่ เกิดขึ้นแล้ว และถึงแม้จะยังไม่มีบทสรุปของโควิด-19  แต่วิกฤติในอนาคตจะมาในรูปแบบใหม่และเป็นเหตุผลให้การประเมินความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันที่รอบด้านมากขึ้นของธุรกิจอย่างเรื่อง ESG มีความจำเป็นมากขึ้น จากเดิมที่ความเสี่ยงที่เราคุ้นเคยมักเป็นความเสี่ยงทางการเงิน ทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง ภายหลังการระบาดของโควิด-19 เชื่อว่านักลงทุนและกองทุนเพื่อสังคมต่างๆ ทั่วโลกจะไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นไปที่การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่จะให้น้ำหนักกับการประเมินความเสี่ยงในด้านสังคมมากยิ่งขึ้น ที่ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตั้งแต่การดูแลสวัสดิการพนักงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ไปจนถึงการลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ทางสังคม

นางพิมพรรณกล่าวต่อว่า TRBN จึงมีแผนระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการรับมือวิกฤติของภาคธุรกิจหรือ ESG in COVID ภายใต้แนวคิด “Business for Better Future” โดยใช้จุดแข็งของเครือข่ายฯ ในการเชื่อมองค์ความรู้และเชื่อมทรัพยากรเพื่อสร้างพลังร่วมในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับผลลัพธ์ในการดำเนินการ ESG ของธุรกิจและลดความเสี่ยงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ในภาพรวม ที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจ ดังนี้

1) แชร์ให้รู้และสร้างแรงบันดาลใจ: ESG Best Practices เกี่ยวกับมาตรการขององค์กรต่างๆ ในการรับมือกับโควิด-19 และบทพิสูจน์ของธุรกิจที่แม้จะได้รับผลกระทบสามารถใช้ ESG เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันองค์กร และรับมือสถานการณ์ ดูแลพนักงาน และมีแผนการเตรียมการในการรับมือในระยะฟื้นตัว และอีกหลายรายสามารถพลิกตัวเองกลายมาเป็นผู้ให้ในภาวะวิกฤติ โดย TRBN ได้ถอดบทเรียนและจะแบ่งปันความรู้ผ่านการสื่อสารกับสมาชิกและสาธารณชน ผ่าน Facebook Page: TRBN และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ของเครือข่าย

2) เชื่อมให้เกิด: ESG in Action  TRBN ได้จับมือกับภาคีต่างๆ ผนึกพลังสังคม ในการระดมทรัพยากรและเชื่อมต่อ เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะปรับโครงการการสร้างพื้นที่ความร่วมมือในประเด็นเป้าหมายต่างๆ ที่ทาง TRBN และภาคีดำเนินการอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ต่อยอดการดำเนินโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัทจดทะเบียนไทยและบริษัทเอกชน 31 บริษัท ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)  มาสู่การแก้ปัญหาขยะที่กำลังวิกฤติจากพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรีอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รวมไปถึงร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ริเริ่มโครงการสนับสนุนป่าชุมชน เพื่อส่งเสริมโครงการพื้นฐานในการผลิตและสร้างรายได้ภาคเกษตรกรรม บรรเทาผลกระทบคนอพยพกลับท้องถิ่น และสร้างกลไกการดูดซับคาร์บอนฯ ในระยะยาว ฯลฯ

“ข่าวร้ายคือ ไม่ว่าโควิดจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร ความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะใกล้ตัวยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกที่ร้อนขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ภัยแล้ง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จะยังอยู่ และส่งผลกระทบอีกเรื่อยๆ ต่อทุกส่วนของสังคม ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน และทุกประเทศทั่วโลก หากไม่ร่วมกันใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาร่วมกันรับมือและใครพร้อมที่สุดถึงจะรอด ดังนั้น บริษัทจะไม่สามารถมุ่งแค่การทำธุรกิจอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องเข้าใจปัจจัยรอบด้านที่กว้างออกไปทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ พยายามเตรียมการและบริหารจัดการ เพื่อป้องกันและรับมือปัญหาหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และที่สำคัญที่สุด ภาคเอกชนต้องลุกขึ้นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ร่วมกันสร้าง new normal ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในภาพรวม เพื่อบรรเทาปัญหาและผลกกระทบที่จะตามมาเป็นความเสี่ยงของภาคธุรกิจเอง” นางพิมพรรรณกล่าว

เกี่ยวกับ TRBN

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นจาก “สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย” ได้ร่วมกับ 9 องค์กร อันประกอบด้วย 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 4. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 5. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 6. สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย 7. สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม 8. SB ประเทศไทย 9. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อชักชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนทั่วไป รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ร่วมลงมือผนวกการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายขององค์กรและการประกอบการ และร่วมลงมือทำโครงการเพื่อส่วนรวมที่ตอบปัญหาและความต้องการในมิติต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดและรายงานผลได้เป็นรูปธรรม มีผลกระทบเชิงบวกเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และสากล