ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ”เผยอาจขยายเวลาเคอร์ฟิว-ครม.อนุมัติพ.ร.ก.“คลังกู้-ธปท.จัดซอฟท์โลน”อัดเงิน 10%GDP

“วิษณุ”เผยอาจขยายเวลาเคอร์ฟิว-ครม.อนุมัติพ.ร.ก.“คลังกู้-ธปท.จัดซอฟท์โลน”อัดเงิน 10%GDP

3 เมษายน 2020


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม ครม. นัดพิเศษ

“วิษณุ”ยันเคอร์ฟิวไม่ใช่ปิดประเทศ แค่ชะลอต่างชาติเข้าไทย ชี้ 6 ชม. ไม่ได้ผล เล็งขยายเวลาเพิ่ม – มติ ครม.(นัดพิเศษ) อนุมัติพ.ร.ก.ให้อำนาจ “คลังกู้ – ธปท.จัดซอฟท์โลน” คาดอัดฉีดเงิน 10% ของจีดีพี

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

ในวันนี้นายกรัฐมนตรีงดตอบคำถามสื่อมวลชน โดยได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทั้งสองทำหน้าที่ตอบคำถาม และชี้แจงประเด็นต่างๆ ในที่ประชุมแทน

ยัน”เคอร์ฟิว” ไม่ใช่ปิดประเทศ แค่ชะลอต่างชาติเข้าไทย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายขยายความเกี่ยวกับ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยระบุว่า เวลาพูดถึงโควิด รัฐบาลมี 3 มาตรการใหญ่ ได้แก่ มาตรการตรวจโรค หรือเรียกว่ามาตรการด้านสาธารณสุข ต้องฟังหมอเท่านั้นเป็นผู้พูด, มาตรการในการเยียวยาฟื้นฟู เพื่อแก้ไขให้คนที่ได้รับผลกระทบกลับฟื้นคืนดี มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายต่อไปได้ คือมาตรการด้านเศรษฐกิจ และมาตรการด้านการป้องกัน

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจรัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการในส่วนที่ 2 เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจไปถึงมาตรการในด้านการแพทย์เลย ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ส่วนมาตรการด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เป็นอำนาจของ ครม. และกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินปกติ”

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 นั้นไม่เพียงพอต่อการรับมือโรคระบาดโควิด-19 จึงจำเป็นต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาใช้บังคับ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งหากไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการประกาศกำหนดเวลาห้ามออกจากเคหสถานได้

“เราประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ออกข้อกำหนดให้คนต้องปฏิบัติหรือห้ามปฏิบัติไปแล้ว ฉบับนี้เป็น ฉบับที่ 2 ที่พูดเรื่องเคอร์ฟิวเรื่องเดียว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และคงจะมีฉบับที่ 3, 4, 5 ตามมา”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

พร้อมกันนี้ นายวิษณุได้กล่าวยืนยันเรื่องกระแสข่าวการปิดประเทศว่า จนถึงเวลานี้นาทีนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศ เพราะการปิดประเทศคือการปิดสนามบิน เครื่องบินจะบินขึ้น-ลงไม่ได้ ไทยยังไม่ปิดประเทศตามความหมายอย่างนั้น แต่ได้มีมาตรการที่เคร่งครัดขึ้น

“คนไทยที่อยู่นอกประเทศยังกลับมาประเทศได้ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย คนไทยบางส่วน นักเรียนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศช่วงสั้นๆ จะมีกลับมาอีกหลายร้อยคน เครื่องบินก็ยังบินมาลงได้ ไม่ได้ปิด การขนส่งสินค้าโดยผ่านทางเครื่องบิน (air cargo) ยังทำได้ตามปกติ เพราะประเทศไทยก็เหมือนครัวโลก ยังต้องส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันเรายังต้องนำเข้าสินค้า นำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ นี่คือสิ่งที่แสดงว่าเรายังไม่ปิด”

อย่างไรก็ตาม บุคคลบางกลุ่มที่จะเข้าประเทศไทยยากขึ้น “ไม่ปิดก็เหมือนปิด” คือ “ชาวต่างประเทศ” รัฐบาลได้เข้มงวดมากขึ้นและตั้งแต่วันนี้จะเข้มงวดขึ้นเป็น 2 เท่า โดยได้ขอความร่วมมือ ขอร้องว่าให้ชาวต่างชาติชะลอการเข้ามาในประเทศ จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 นี้เป็นอย่างน้อย เนื่องจากในช่วงนี้มีวันหยุดหลายวัน มีเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจคิดว่าถนนข้าวสาร ถนนสีลม ยังมีกิจกรรมอยู่ หรืออาจมีธุรกิจใดๆ ก็ตาม จึงต้องเข้มงวดในการตรวจใบรับรอง ใบอนุญาต

“ในช่วงที่ผ่านมาหลายสายการบินงดบินมายังประเทศไทยแล้ว นักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็จะยากในการเดินทางมายังประเทศไทย ทั้งยากโดยการหายานพาหนะ และยากโดยการตรวจตราขอหาใบอนุญาต แต่การประกาศเคอร์ฟิวนี้ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกนอกประเทศแต่อย่างใด ขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศ ยังเปิดอยู่โดยเฉพาะชาวไทย แต่แม้จะเข้ามาได้ก็ต้องกักตัว 14 วัน”

เผย “เคอร์ฟิว” 6 ชม.ไม่ได้ผล อาจขยายเวลา

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า การห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด เคหสถานในที่นี้หมายถึง บ้านเรือน ห้อง หอ ที่พักอาศัย อาคาร สำนักงาน โรงพยาบาล ท่านอยู่ที่ใดก็ต้องอยู่ตรงนั้นเพราะเมื่อถึงเวลาที่กำหนดท่านจะออกมาจากตรงนั้นไม่ได้ โดยประกาศดังกล่าวจะเคอร์ฟิวเป็นเวลา 6 ชม. หากมาตรการนี้ดี หรือไม่ได้ผล อาจมีการขยายเวลาไปเป็น 8 หรือ 10 ชม. ก็ได้

“แปลว่าใน 6 ชั่วโมงนี้จะต้องไม่มีใครออกมาเดิน เหิน ไปเหนือล่องใต้ใดๆ ทั้งสิ้น หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่มีข้อยกเว้น ท่านก็จะมีโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ มีโทษจำคุก หรือปรับถึง 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อย่างไรก็ตามรัฐบาลตระหนักดีว่า การเคอร์ฟิวไม่มีข้อยกเว้นเลยไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การชั่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทางสุขภาพแต่อย่างใด โดยข้อยกเว้นจัดเป็น  2  ประเภท

สำหรับผู้ได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไปได้แก่ บุคคลที่ถูกระบุไว้ในข้อกำหนด คือ

  • ผู้ที่มีภารกิจหรือปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ ตั้งแต่ คนไข้ คนป่วย ตลอดจน หมอ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ในคลินิก และโรงพยาบาล โดยคนไข้จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีบัตรประจำตัวของแต่ละคน
  • ผู้มีอาชีพหรือมีหน้าที่ที่จะต้องทำการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารไม่ว่าสดหรือแห้ง รวมถึงดอกไม้ ของที่ต้องไปเปิดตลาดตอนเช้า หรือ ผู้ที่ต้องขนส่งในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออก เช่น ขึ้นรถบรรทุก พิกอัปไปส่งไว้ที่ด่าน หรือเตรียมนำเข้าจากคาร์โกที่รถต้องไปรอรับของ ผู้ที่ต้องขับรถส่งหนังสือพิมพ์ เหล่านี้ทำได้เพราะเป็นข้อยกเว้นที่ให้ไว้เป็นการทั่วไป โดยต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารรับรองจากนายจ้างหรือผู้จักการ ที่ระบุว่าท่านเป็นใครสังกัดใดและมีหน้าที่ในผลัดกลางคืนอย่างไร มีความจำเป็นต้องออกมา เมื่อนำเอกสารเหล่านี้แจ้งกับการตรวจนะครับว่ามีความจำเป็นก็ผ่านไปได้ เมื่อถึงจุดตรวจ และควรทำสำเนาไว้หลายๆ ชุด เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูกลางทางก็ต้องให้ดู หากต้องยึดไว้ก็ให้ยึดสำเนา หากไม่มีสำเนาให้ถ่ายภาพไว้ เพื่อไปตรวจสอบภายหลังหากเป็นเท็จก็จะย้อนกลับมาเล่นงานได้
  • ในส่วนของธุรกิจการธนาคาร มีกรณีที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ขับรถบรรทุกเงินไปเติมเงิน ณ ตู้เอทีเอ็มต่างๆ

เป็นกรณีที่ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงาน ควบคู่กับบัตรประจำตัวประชาชน เช่นกัน

  • คนที่ต้องทำงานเป็น ผลัด เป็นกะ เวร ยาม ซึ่งจัดอยู่แล้วเป็นปกติ

เป็นกรณีที่ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงาน ควบคู่กับบัตรประจำตัวประชาชน เช่นกัน

  • ผู้ขนคนโดยสารไม่ว่าจะเป็นการส่งคนไปยังสถานที่กักกัน หรือผู้ที่ต้องมารับคนเดินทางกลับจากต่างประเทศ

จะต้องมีเอกสารคือ บัตรประชาชน และอาจแสดงหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน เอกสารประจำตัวของผู้โดยสารมาด้วยประกอง

  • สำหรับคน เฉพาะกลุ่ม เป็นกรณีของผู้ที่ไม่มีอยู่ในข้อกำหนด แต่จำเป็นต้องออกไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้ขอใบอนุญาตจาก เจ้าหน้าที่ คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งกันจนมาถึงระดับล่าง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำด่านตรวจทุกคน และอาจขยายไปไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย จะมีอำนาจในการอนุญาต

สำหรับอาชีพบางอาชีพที่ยังไม่ได้เขียนข้อยกเว้นเป็นการทั่วไปต้องเบื้องต้นไปขออนุญาตไว้ก่อน แต่รัฐบาลได้มีการรวมมาแล้วอาชีพต่างๆ มาเพิ่มแล้ว เช่น ชาวสวนยาง ประมง หรือเจ้าหน้าที่ซ่อมเสาสัญญาณต่างๆ เหล่านี้จะมีการยกระดับในอนาคตต่อไปให้ได้รับยกเว้นเป็นการทั่วไป

เล็งปรับ “เคอร์ฟิว” ใช้เกณฑ์เดียวทั่วประเทศ

นายวิษณุอธิบายต่อไปถึงข้อกำหนดในข้อ 2 ที่ว่า “…สำหรับจังหวัด พื้นที่ หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดหรือเคร่งครัดกว่าข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นต่อไปด้วย” นั้นหมายถึง จังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่งหรือคำแนะนำที่เข้มงวดกว่าให้ปฏิบัติไปตามนั้น

“จังหวัดทราบว่าผู้ว่าได้ประกาศเคอร์ฟิวเของเขาเองเฉพาะในจังหวัดก็ให้ไปตามนั้น โดยใช้ให้เกณฑ์ที่เข้มงวดกว่า เช่น กทม. มีประกาศเคอร์ฟิวของตัวเองห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนจนถึงตีห้า กรณีนี้เวลาเริ่มต้นต้องใช้ตามประกาศฉบับที่ 2 นี้ ไม่ใช่ของ กทม. เพราะตามประกาศฉบับที่ 2 เข้มงวดกว่า นั่นคือห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลาสี่ทุ่ม ส่วนกำหนดเวลาสิ้นสุดให้ใช้ของ กทม.คือ ตีห้าเนื่องจากเป็นเวลาที่เข้มงวดกว่าประกาศที่กำหนดไว้ถึงตีสี่เท่านั้น และวันหนึ่งเราจะพยายามปรับของทุกจังหวัดให้เข้ามาอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน”

แจงเหตุผล “เคอร์ฟิว” หลังพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทำ “กิจกรรมหลังเลิกงาน”

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อที่ 3 ของประกาศฉบับที่ 2 นี้ นั้นเป็นกรณีที่หากมีประชาชนจะต้องออกนอกประเทศแล้วพบว่าออกไม่ได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด จัดที่เอกเทศแล้วเชิญคนเหล่านี้ไปกักกันไว้ 14 วัน เช่น แรงงานเมียนมา หรือแรงงานกัมพูชา หรือชาวมาเลเซียที่ต้องเดินทางกลับประเทศ เมื่อไปถึงด่านแต่ด่านปิดทำให้เข้าประเทศไม่ได้ ถ้าไม่เขียนระบุเอาไว้คนเหล่านี้ก็จะแตกฉานซ่านเซ็นกลับมาในกรุงเทพ

ดังนั้นจึงให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดนั้นๆ ที่เป็นจังหวัดชายแดน จัดให้บุคคลเหล่านั้นไป state quarantine ไม่ให้เขากลับมากักตัวที่ที่พักในไทย โดยกักไว้ 14 วัน เมื่อครบกำหนดก็ปล่อยเขาไป หากพรมแดนเปิดก็ให้เขากลับประเทศ หากไม่เปิดก็กลับมายังที่พักได้ โดยยืนยันว่าไม่ใช่กักไว้เพราะเขาทำผิดกฎหมาย แต่กักเพื่อตรวจโรคเท่านั้น

“ในส่วนมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาลจะนำมาซึ่งการลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างไร โควิดไม่มีหยุดพัก แต่เรามองเห็นพิจารณาแล้วกลางวันคงไม่สามารถไปปิดเขาได้ จนกว่าเขาจะสำนึก ซึ่งเราลองแล้วใน 5 จังหวัด น่าจะเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่งจึงประกาศทั่วราชอาณาจักร หวังว่าจะเป็นการควบคุมคนที่ออกมาเตร็ดเตร่ พวกคิดถึงญาติจะไปหาญาติ เป็นกลุ่มคนที่เขาอยากควบคุมไว้ แล้วรัฐจะให้เวลา 6 ชั่วโมงนี้ทำความสะอาดบ้านเมืองด้วย และตัดโอกาส ปิดช่องน้อยเพื่อให้ไปอยู่บ้าน เชื่อว่าจะได้ผลลดเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดลงได้ เราดูสัดส่วนผู้ติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมที่คนว่างแล้วไปทำ กลางวันทำงานไม่ว่าง แต่หลังเลิกงานคนว่าก็จะไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสังสรรค์ต่างๆ งานศพ งานแต่งงาน มีคนถามว่ากิจกรรรมเหล่านี้จัดหัวค่ำ ปิดสี่ทุ่มจะได้อะไร อีกหน่อยก็ถึงหัวค่ำ” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

เตือน “พบปะ-สังสรรค์” ช่วงเคอร์ฟิว ผิดกม.หลายกระทง

พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นเพื่อรองรับแนวทางที่รัฐบาลได้ออกมา ตามด่านตรวจต่างๆ จุดตรวจคัดกรองในรอยต่อระหว่างจังหวัด และ กทม. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 421 จุด เพื่อควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

โดยจะมีการเพิ่มจุดตรวจร่วมหรือชุดเคลื่อนที่เร็วกระจายเป็นใยแมงมุมทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทย จะเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างตำรวจ ฝ่ายปกครอง กรุงเทพมหานคร หรือ กอรมน.จังหวัด จะมีการเพิ่มสายตรวจในทุกสถานีตำรวจเพื่อให้กระจายไปถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และร่วมกันทำงานระหว่างตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครต่างๆ จะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขในการไปยังประตูบ้าน ตรวจสอบคัดกรองผู้ที่อาจจะต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปช่วยร่วมปฏิบัติในการดูแลอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยร่วมด้วย

“ผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องออกจากบ้านขอความร่วมมือให้ออกเท่าที่จะเป็นเพราะ จุดมุ่งหมายของการออกข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้เพื่อที่จะเป็นข้อห้ามสำหรับผู้มีพฤติกรรมยังเดินทางแบบปกติ ไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาระยะทางระหว่างสังคมทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้น เด็กแว้น การจัดปาร์ตี้สังสรรค์ เหล่านี้ไม่ได้ เวลาที่ประกาศเคอร์ฟิวไว้คือตั้งแต่ 22:00-04:00 น. ก็ต้องไม่มีการเดินทางยกเว้นผู้ที่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด”

ต่อคำถามถึงกรณีผู้ที่ขายอาหารสด ที่ปกติจะต้องจะเปิดแผงตอน 01:00 น. จะได้รับการยกเว้นหรือไม่ พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวว่า สำหรับพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ นั้นจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมบางอย่าง ขายอาหารสดบนท้องถนนต่างๆ คงไม่ได้ครับ เพราะในเวลาดังกล่าวเมื่อไม่มีคนออกนอกบ้านแล้วก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่ต้องเปิดในเวลานั้น

ต่อกรณีประชาชนไม่ได้ออกถนนใหญ่ออกอยู่ในหมู่บ้านในชุมชนในซอยของตัวเองแต่มารวมกลุ่มกัน นั้น พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นจุดตรวจเคลื่อนที่ มีเจ้าหน้าที่สายตรวจแทรกซึมทุกจุด ดังนั้นการออกจากเคหสถานเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่ในบ้านออกมาณสวนสาธารณะของหมู่บ้านถนนในหมู่บ้านไม่ได้เช่นกัน

“ผมขอความร่วมมือนะครับพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการพบปะนอกเคหสถาน สามารถแจ้งมายังหมายเลข 191 ได้เสมอครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปกครองและสายตรวจจะเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ”

พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวต่อไปว่า การฝ่าฝืนประกาศโดยยังคงพบปะสังสรรค์ หรืออื่นใด การกระทำต่างๆ เหล่านั้นอาจมีความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายฉบับ

  • ผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือการห้ามออกนอกบ้าน
  • ผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อหรือประกาศของจังหวัด ในการไปมั่วสุมในที่แออัด
  • มีกรณีความผิดอื่นๆ เช่น การเสพยา

“ทั้ง 3-4 เหล่านี้ข้อหาโดนทั้งหมด ซึ่งมีหลายกรณีที่ผ่านมาไม่กี่วันเอง ทั้งตำรวจอัยการเสนอสั่งฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษในทุกกฎหมาย ในทุกกรณี ศาลเองก็ได้มีการลงโทษไปแล้ว โดยไม่มีการรอลงอาญาด้วย”

และในกรณีที่มีเหตุด่วนเหตุร้ายจะต้องไปแจ้งความออกไปแจ้งที่ตำรวจจะถือว่าเป็นเหตุเกี่ยวข้องกับความจำเป็นด้านอาชญากรรมโดยตรงสามารถออกไปแจ้งเหตุได้ แต่หากเป็นกรณีเอกสารหายเหตุผลความจำเป็นนั้นเป็นลำดับรองให้รอดำเนินการในวันรุ่งขึ้นดีกว่า ซึ่งจะมีการปรับความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ดังนั้นประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนอาหารแต่อย่างใด

“ข้อนึงที่อยากแนะนำ เนื่องจากรถไฟฟ้า รถเมล์ ได้ปรับแนวทางในการออกรถให้สอดคล้องกับการ เคอร์ฟิวเวลา 22:00 น. โดยจะหยุดให้บริการเมื่อถึงเวลา 21.30 น. จึงแนะนำให้ผู้ที่ทำงานเผื่อเวลาเดินทางด้วย แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ เดินทาง 22:00 น. ยังไม่ถึงบ้านเจอด่านตรวจแจ้งเหตุจำเป็นไปให้เจ้าหน้าที่ทราบก็ไม่มีปัญหา”

มติ ครม. มีดังนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

อนุมัติพ.ร.ก.ให้ “คลังกู้เงิน – ธปท.จัดซอฟท์โลน” อัดฉีดเงิน 10% ของจีดีพี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ ครม. ได้ประชุมนัดพิเศษว่าด้วยการนำเสนอมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะที่ 3 โดยมาตรการชุดนี้ กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ใช้เวลานานพอสมควรพิจารณา เพราะเป็นมาตรการชุดพิเศษชุดใหญ่ที่ครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อยเพื่อให้มีทรัพยากรและมาตรการที่ดูแลประชาชนและธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

“เราเสนอออกมาเป็นกลุ่มกิจกรรม กลุ่มแรกว่าด้วยมาตรการที่เข้าไปเยียวยาและดูแลภาคประชาชนและธุรกิจ ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ครอบคลุมครบถ้วน ส่วนที่สองเป็นมาตรการที่เสนอเพื่อจะดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วงเวลา 3-4 เดือนข้างนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง และชุดสุดท้ายเป็นชุดที่ว่าด้วยการเข้าไปดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาในภาคเศรษฐกิจจริง มันย่อมเกี่ยวพันไปยังภาคการเงิน แม้ว่าขณะนี้ภาคการเงินไม่ได้มีปัญหา แต่เพื่อความไม่ประมาท รัฐบาลได้คาดการณ์สิ่งเหล่านี้ให้ครอบคลุมครบถ้วน” ดร.สมคิดกล่าว

ดร.สมคิดกล่าวต่อไปว่า จากกลุ่มกิจกรรม 3 กลุ่ม ซึ่งในสองส่วนแรกคือการดูแลประชาชนและภาคธุรกิจ และโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ใช้หยุดนิ่ง กระทรวงต่างๆ จะมีโอกาสเข้ามาร่วมกันดำเนินการ ส่วนที่สามที่จะดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่ ธปท. จะดำเนินการให้กลไกเดินไปต่อได้

“ส่วนประเด็นว่าจะต้องใช้เงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ต้องเรียนว่าจะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ อาจจะ 10% ของจีดีพี อาจะมากกว่าหรือน้อยกว่าไม่มาก แต่ว่าวงเงินนี้เป็นเพียงวงเงิน ในทางปฏิบัติส่วนหนึ่งต้องมาจากงบประมาณ เพราะต้องการให้งบมาใช้มีประสิทธิภาพที่สุดและมาช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แต่คาดการณ์แล้วคงจะใกล้ 10% ของงบประมาณที่ใช้ได้ ไม่ใช่ของทั้งหมด บางส่วนเป็นเงินเดือนที่ไม่แตะต้องอยู่แล้วและงบบางส่วนก็ใช้ไปแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจะไม่แตะต้อง แต่ส่วนที่เหลือท่านนายกกำชับว่าให้ใช้โดยเฉลี่ย 10% จากที่เหลือ ตอนนี้ทุกกระทรวงเห็นด้วย ซึ่งถ้าตัดมาได้มาก การกู้เงินก็จะลดลงด้วย” ดร.สมคิดกล่าว

ดร.สมคิดกล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่เหลือที่ไม่พอจะต้องกู้ยืมโดยกระทรวงการคลังต่อไป เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้ดูแลประชาชน และอีกส่วนคือของ ธปท. จะออกพระราชกำหนดให้อำนาจ ธปท. ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ เบื้องต้นคงจะพูดได้แค่นี้เพราะว่าต้องเจรจากับสำนักงบประมาณและดูรายละเอียดอีกครั้ง

“แต่ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าจะก้าวข้ามวิกฤตไม่ได้ บางประเด็นอาจจะไปเรื่องของการเงินเพราะเศรษฐกิจจริงควบคู่กับภาคการเงินเสมอ ฉะนั้นเราต้องไม่ปล่อยให้มีปัญหาอะไรในอนาคตข้างหน้า เรายินดีที่จะป้องกันไว้ก่อน ครอบคลุมไว้ก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจไทย และหลังจากนี้ไม่ได้หมายความจบแค่นี้ แต่ถ้ามีความจำเป็นใดๆ อีก รัฐบาลก็จะพยายามผลักดันมาตรการดีๆ ออกมาให้ดูแลได้ครบถ้วน” ดร.สมคิดกล่าว

ขุนคลังยันเยียวยาเฟส 3 ครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการครั้งนี้ได้จัดเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มที่แรกดูแลประชาชน กลุ่มสองดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและผู้ประกอบการ และกลุ่มระบบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแล

สำหรับกลุ่มแรกที่ดูแลประชาชนจะดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ถึงจุดนี้อาจจะยังไม่ได้รับการดูแล และดูแลต่อเรื่องผู้ประกอบการและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบ คือลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระต่างๆ ซึ่งเริ่มแล้วในส่วนนี้และจะดูแลต่อไป นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่จะดูแลลดภาระเรื่องของการผ่อนจ่ายสินเชื่อเพิ่มเติมจากที่ ธปท. ออกมาแล้ว คือส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการ เราหวังผลให้ประโยชน์สุดท้ายไปถึงประชาชน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะได้รับการดูแลด้วย โดยภาระใหญ่คือภาระที่เกิดจากการกู้ยืม ปัญหาคือการที่จะให้มีสภาพค่องเพียงพอ ตรงนี้มีแนวทางมาตรการอีกชุดออกมาเพิ่มเติมจากสองระยะแรกที่ได้ออกไปแล้ว

กลุ่มที่สองคือการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงงบประมาณที่จะใช้ต่อสู้กับโควิด-19 ในด้านสาธารณสุขและด้านที่เกี่ยวข้อง อีกส่วนหนึ่งคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ ต้องดูแลเพราะการที่มีแรงงานกลับสู่พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจก็อาจจะเปลี่ยนไปและมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลตั้งแต่ตอนนี้ทันทีไปจนถึงการเสริมสร้างอาชีพและโอกาสใหม่ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่และชุมชน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ

ผู้ว่าฯ ธปท.แจง “ซอฟท์โลน” เน้นเสริมสภาพคล่องธุรกิจโดยตรง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าสำหรับการดูแลผู้ประกอบการ ธปท. ได้ร่วมทำงานกับธนาคารพาณิชย์ที่จะเสนอมาตรการต่างๆ ในมาตรการชุดที่ผ่านมาจะเน้นที่ประชาชนรายย่อยจะมีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย และสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีมาตรการออกมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน แต่จากสถานการณ์การระบาดยังมีแนวโน้มขยายเพิ่มมากขึ้นต่อไป ธปท. จะมีมาตรการ 4 ด้านดังนี้

อันแรก เป็นเรื่องสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นสภาพคล่องใหม่ให้กับภาคธุรกิจ เพราะว่าผู้ประกอบการจำนวนมากขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ดูแลลูกจ้างหรือธุรกิจให้ก้าวข้ามวิกฤติไม่ได้ ส่วนนี้ ธปท. ได้เสนอ ครม. เห็นชอบในหลักการให้ ธปท. สามารถออกพระราชกำหนดให้ ธปท. จัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan แก่ภาคธุรกิจโดยตรงได้ โดยใช้เงินของ ธปท. มาตรการนี้จะคล้ายกับเคยทำตอนวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2555 ซึ่งครั้งนี้จะเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าของธนาคารออมสินที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้

“อันนี้ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงิน แต่จะให้อำนาจ ธปท. สามารถใช้เงินของ ธปท. ในการช่วยดูแลได้ ไม่ได้กู้เงินออกมาใหม่ ส่วนวงเงินขอรอให้ ครม. มีมติชัดเจนอีกครั้งวันอังคารหน้า ถามว่าแตกต่างเดิมอย่างไร soft loan นี้จะครอบคลุมลูกค้าใหญ่ขึ้นและวงเงินมากขึ้นกว่าเดิม มาตรการเดิมก่อนหน้านี้ที่ธนาคารออมสินให้สินเชื่อจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่คลุมธุรกิจขนาดกลาง รวมไปถึงว่าธนาคารออมสินมีสภาพคล่องจำกัด ส่วนเงื่อนไข ธปท. ได้ทำงานกับสถาบันการเงินว่าถ้าออกใหม่ต้องส่งผ่านไปยังประชาชนและธุรกิจได้จริง” ดร.วิรไทกล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. เปิดเผยผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อก่อนหน้านี้ของ ธปท. ว่า เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน ธุรกิจ SMEs สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อและลิสซิ่ง ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดย ธปท. ได้รวมรวมมาตรการและช่องทางการติดต่อของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเพื่อให้ลูกนี้สามารถไปติดต่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อนึ่งในส่วนของบริษัทลิสซิ่งเมื่อได้รับ soft loan จากภาครัฐแล้ว ทางบริษัทลีสซิง และ ธปท. เห็นร่วมกันที่จะมีการพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้โดยเร็วต่อไป

อันที่สอง จะขยายมาตรการเรื่องของการพักเงินต้นและลดดอกเบี้ยให้ครอบคลุมมากขึ้น จากส่วนปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่เวลาที่พูดถึงเช่าซื้อหรือลิสซิ่งที่ยังคงไม่พักเงินต้นหรือลดดอกเบี้ยให้จริงๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เช่าซื้อมีการให้บริการหลากหลายประเทศ ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัททั่วไปที่ ธปท. ไม่ได้กำกับและวิธีการที่บริษัทได้เงินมาก็แตกต่างกัน ถ้าสถาบันการเงินก็มีสภาพคล่องจากเงินฝาก ครั้งนี้จึงมีมาตรการ soft loan พิเศษที่ให้รวมถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย แต่ถ้าดูธนาคารพาณิชย์ก็ช่วยเหลือไปค่อนข้างมาก ส่วนตัวเลขต่างขอรอให้ ครม. เห็นชอบก่อนอีกครั้ง

เพิ่มอำนาจธปท.รับซื้อตราสาร “ครบกำหนด-ออกใหม่”

อันที่สาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเริ่มลามมายังตลาดตราสารหนี้จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ ธปท. จึงขออนุมัติจาก ครม. ให้ ธปท. สามารถออกพระราชกำหนดให้ ธปท. สามารถเข้าไปซื้อตราสารที่จะครบกำหนดและต้องการออกใหม่ได้ แต่ทั้งหมดต้องเป็นตราสารจากบริษัทที่มีคุณภาพดีและต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และมาตรการนี้จะเป็นเพียงส่วนที่ช่วยเติมเต็มให้คลาดทำหน้าที่ได้เป็นปกติ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของธนาคารกลางในหลายประเทศ

“มาตรการนี้จะเป็นการใช้ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินมาเป็นเสาหลักให้กับระบบเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันต้องมั่นใจว่าตลาดการเงินยังสามารถทำหน้าที่เป็นปกติด้วย ดังนั้น ก.ล.ต. และ ธปท. ได้ร่วมกันพิจารณากลไกที่สำคัญที่จะช่วยดู ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งตอนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้มีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาท (เทียบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ประมาณ 14 ล้านล้านบาท) และผู้ที่ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนจะครอบคลุมประชาชนและองค์กรหลากหลายประเภท เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ กบข. กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้าน อีก 1 ปี

อันที่สี่ มาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก จากเดิมที่จะปรับลดลงเหลือ 1 ล้านบาทจาก 5 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมให้ยืดออกอีก 1 ปีและระหว่างนี้จะยังคุ้มครองที่เพดาน 5 ล้านบาทเหมือนเดิม เนื่องจากแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีความมั่นคงดีมาก แต่ประชาชนบางส่วนเริ่มกังวลว่าจะลดการคุ้มครองลงเหลือล้านบาทเท่านั้น จึงมีความเห็นให้ยืดออกไปเพื่อลดความกังวลดังกล่าวได้

ลดเงินนำส่งธปท. 0.23% กำชับแบงก์ลดดอกกู้ ช่วย ปชช.

อันที่ห้า มาตรการลดการส่งเงินเพื่อใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF Fee) ซึ่งมีเงินนำส่งที่เก็บจากเงินฝากของประชาชน 0.46% ของเงินฝาก เพื่อไปใช้หนี้จากวิกฤตปี 2540 และเป็นต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อยู่ในปัจจุบัน แต่ขณะนี้จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ได้ลดลงมาค่อนข้างมากถึงสองครั้งในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา หากจะให้มีการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ประชาชนได้ อาจจะต้องลดต้นทุนที่ค้ำอยู่ตรงนี้ ธปท. จึงเสนอขอให้ลดเหลือ 0.23% ของเงินฝาก เป็นเวลา 2 ปี และให้สถาบันการเงินนำไปลดดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆ ของเงินกู้ ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินไปช่วยประชาชนอีกส่วน

158 หน่วยงาน โยกงบฯค้างจ่าย 3,726 ล้าน สู้ “โควิด-ภัยแล้ง”

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบสรุปรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้

หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้จำนวนทั้งสิ้น 644,181.41 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 362,076.98 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 282,104.43 ล้านบาท

โดยมีหน่วยรับงบประมาณ กำหนดแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการดังกล่าวจำนวน 158 หน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น 8,455.66 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.31 ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ เพื่อดำเนินการตามมาตรการด้านงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้ว เห็นว่ารายการที่หน่วยรับงบประมาณเสนอแผนฯ มานั้น มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับเป้าหมาย ตามมาตการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวนทั้งสิ้น 3,726.62 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.58 ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย และก่อหนี้ จำแนกเป็นการดำเนินการตามมาตรการฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 3,182.46 ล้านบาท และการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวน 544.16 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 3,182.46 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49 ของงบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย/ก่อหนี้ จำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 3,043.76 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 138.70 ล้านบาท
  • มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวน 16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของงบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย/ก่อหนี้ จำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 162.74 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 381.42 ล้านบาท

“พลังงาน” เยียวยาเพิ่มเติมอีก 4 มาตรการ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ครม. มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินมาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาของกระทรวงพลังงาน ดังนี้

กระทรวงพลังงานได้พิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา เพิ่มเติม ประกอบด้วย

1. การลดค่าครองชีพของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ

  • มาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (minimum charge) จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (ร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการผ่อนผันจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7  เช่น กลุ่ม SMEs  โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ให้มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน –มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวลดค่าใช้จ่ายลงได้
  • การลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประกอบการโรงแรม หรือ หอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง ฯ
  • การช่วยเหลือผู้ประกอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ
  • ลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากร้อยละ 6 โดยระยะแรก: เป็น ร้อยละ 4 ระยะเวลา 1 ปี และ ระยะที่ 2: เป็นร้อยละ 5 หลังจาก 1 ปี เป็นต้นไป
  • ขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ตามกฎหมายที่ร้อยละ 1 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564)
  • สนับสนุนการเพิ่มปริมาณการจัดเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันบริเวณคลองเตย บางจาก ช่องนนทรี กรุงเทพ ฯ เพื่อรองรับภาวะน้ำมันที่มีปริมาณล้นสต็อกโดยให้มีปริมาณการจัดเก็บน้ำมันสูงสุดได้ตามที่กฎหมายกำหนด

2.การส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมอาชีพด้านพลังงาน

  • เร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยในเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา ในการสร้างแท่นผลิต
  • ผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่จะไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตจำนวน 53 แท่น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานที่เป็นคนไทยกว่า 1,000 อัตราต่อปี (รื้อถอน 25 แท่น ต่อปี) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย โดยหารือกับผู้รับสัมปทานและกรมเจ้าท่า
  • การจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ทั้งประเทศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงพลังงานจะขอรับการจัดสรรงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประมาณ 220 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อแอลกอออล์แปลงสภาพสำหรับฆ่าเชื้อจากผู้ผลิตเอทานอลจำนวน 1,000 ลิตรต่อวันส่งให้ทุกจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศทางไปรษณีย์ให้กระทรวงมหาดไทยและส่งต่อให้ประชาชนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลา 60 วัน
  • การจำหน่ายแอลกอฮอล์ทำความสะอาด โดย ปตท. จะนำร่องที่ PTT Station โดยจำหน่าย แอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก และใช้ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ขนาด 1 ลิตร ต่อ 1 ขวด ในราคา 110 บาท โดยเริ่มจำหน่ายในวันที่ 4 เมษายน 2563 และคาดว่าจะมีผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสถานีบริหารน้ำมันเพิ่มเติมอีก อาทิ บางจาก เชลล์และเอสโซ่
ศบค. จัดให้มีการฟังแถลงข่าวตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

อว.จัดงบฯ 3,000 ล้าน หนุนผลิตหน้ากาก-อุปกรณ์การแพทย์

ครม. มีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็น “การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับ สถานการณ์การระบาดโรคโควิด -19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ในประเด็น “การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์” ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่ยังคงมีรายงาน การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันในหลักร้อยคนขึ้นไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ เวชภัณฑ์ ชุดตรวจวินิจฉัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และจากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปริมาณ N95 หรือ PPE ไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ดังกล่าว

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเห็นว่าการสนับสนุนผลจากการวิจัยด้านอุปกรณ์ ทางการแพทย์เป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยได้สนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากผลงานวิจัย เช่น N95, PPE เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุก โดยการบริหารจัดการงานวิจัยที่เป็นโครงการเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศที่ใช้ในการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย การคาดการณ์การระบาดของเชื้อ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการระบาดในวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เองในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ใช้นวัตกรรมการวิจัยดังกล่าว รวมทั้งภาคเอกชนที่มีกำลังในการผลิตเป็นจำนวนมาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัย ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นประเด็นการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ 4 ประเด็น ดังนี้

หน้ากากทดแทน N95 (N95-equivalent) ที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ

  • การพัฒนาโครงหน้ากาก N95 และการทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุกรองชนิดต่างๆ ให้สามารถกรอง 5 ได้ร้อยละ 95 มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 400,000 ชิ้นต่อปี โดยจะมีการทดสอบมาตรฐานในเดือนเมษายน 2563
  • การประยุกต์ใช้ Silicone mask มาดัดแปลงเพิ่มแผ่นกรอง HEPA filter ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานสามารถกรองป้องกันเชื้อได้มากกว่าหน้ากากชนิด N95 มีกำลังการผลิต 10,000 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน (สิงหาคม 2563)
  • การพัฒนาหน้ากาก 2 รูปแบบ คือ (1) หน้ากากบรรจุแผ่นกรองอากาศ HEPA filter เป็นหน้ากากผ้าสปันบอนด์แบบ Non-Woven อยู่ในระหว่างการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด มีกำลังการผลิต 1,000 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 100,000 ชิ้นภายใน 3 เดือน (มิถุนายน 2563) และ (2) หน้ากาก Nano ใช้นวัตกรรมนาโนและแผ่นกรองอากาศนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 200 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 50,000 ชิ้นภายใน 5 เดือน
  • การพัฒนาเครื่องมือ เพื่อขยายการผลิตแผ่นกรองเส้นใยนาโนไฟเบอร์ มีกำลังการผลิต 720 ชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้เป็น 5,700 ชิ้นต่อเดือน โดยจะเริ่มผลิตได้หลังจากที่สามารถพัฒนาเครื่องได้เสร็จสิ้นแล้ว

อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ดังนี้

  • หน้ากากแรงดันบวก (Powered air-purifying respirator (PAPR)) ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีแรงดันบวกภายในประมาณ 3 – 7 ปาสคาล เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถผลิตได้จำนวน 1,000 ชุดโดยจะทยอยส่งมอบได้เดือนละ 200 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 และดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำแม่พิมพ์เพื่อให้สามารถผลิต PAPR ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมาย 10,000 ชุด ภายในเวลา 2 – 3 เดือน
  • Surgical gown and cover all โดยในเบื้องต้นสามารถผลิตได้ 40,000 ชุด ภายในเดือนเมษายน 2563 เพื่อจะส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรม โดยงบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณขององค์การเภสัชกรรม และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดเป็น Cover all ต่อไป

เครื่องช่วยหายใจ (Ventilators) โดยการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ได้เตรียมการสำหรับการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจ ดังนี้

    1) การสร้างฐานข้อมูลในการแชร์เครื่องช่วยหายใจระหว่างโรงพยาบาลและพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เหมาะสมกับปริมาณคนไข้
    2) การจัดหาอุปกรณ์ประกอบ (Accessories) แบบสิ้นเปลืองของเครื่องช่วยหายใจ
    3) การประสานงานกับผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสั่งซื้อจำนวน ประมาณ 1,000 ชิ้น
    4) การซ่อมแซมเครื่องช่วยหายในที่มีอยู่เดิม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ
    5) การเร่งพัฒนาเครื่องช่วยหายใจทั้งแบบ medium-end โดยมหาวิทยาลัยต่างๆ

ห้องตรวจแยกโรคแรงดันลบ (Negative-pressure facilities) โดยมีโครงการต้นแบบ ได้แก่

    1) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน สนับสนุนดำเนินงานที่โรงพยาบาลราชวิถี
    2) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
    3) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น

  • การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19
  • โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันให้ทุนวิจัยเร่งด่วนเรื่องวัคซีนไปแล้ว 4 โครงการ ได้แก่

      1) การพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
      2) การสร้าง S-glycoprotein vaccine ป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
      3) การพัฒนา COVID-19 วัคซีนชนิดเชื้อตายใน Vero cell (ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล)
      4) การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ในส่วนการประสานงานกับต่างประเทศ ได้จัดให้มีทีมนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ติดตามความก้าวหน้าและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน เพื่อนำมาต่อยอดเข้ากับโครงการวิจัยข้างต้นหรือให้ทุนวิจัยในโครงการใหม่เพิ่มเติมได้อย่างทันที
  • การดำเนินงานในส่วนชุดตรวจมีดังนี้
    • การพัฒนาชุดตรวจมาตรฐานแบบ RT-PCR เพื่อสนับสนุนห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้ส่งมอบแล้ว 20,000 ชุด และมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน

      การสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจแบบ LAMP ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้น จำนวน 3 โครงการ จะเริ่มได้น้ำยาตรวจในเดือนเมษายน 2563 และสนับสนุน/ทดแทน ชุดตรวจแบบ RT-PCR

      การพัฒนาชุดตรวจแบบ CRISPR-cas ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสั้นลงขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ

  • การพัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินงานโดยเทคโนโลยีสารสนเทศ
    • ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยโปรแกรม DDCcare ร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

      ระบบ TeleHealth โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน

      ระบบ Logistics เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ระหว่างผุ้ใช้และ supplies โดยทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล วช. และกระทรวงสาธารณสุข

      ระบบ MELB Platform เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของต่างๆ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

      การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

ผลกระทบสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ขาดแคลนไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ทำให้ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ ตลอดจนในอนาคตหากยังไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชุดตรวจวินิจฉัยที่มีอยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอ การพัฒนานวัตกรรมการวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้เองในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์สำหรับป้องกันตนเอง รวมทั้งการมีชุดตรวจที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยผู้ป่วยได้เร็วก็จะทำให้เกิดการรักษาและดูแลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งทำให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้

ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มางบประมาณดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • งบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 จำนวนประมาณ 2,000 ล้านบาท
  • กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท

สธ.บรรจุ ขรก.ดูแลโควิดฯเพิ่ม 45,684 ตำแหน่ง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจ้งมีวาระสาธารณสุขเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขอนำเสนอด้วยตนเอง คือ การขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติม จากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน

โดยบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นบุคลากรวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ประเทศควรจะต้องรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ของกลไกราชการ บุคลากรเหล่านี้มีสภาพเป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ สาธารณสุขใช้เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลมาว่าจ้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อมีข้อเสนอที่ดีกว่าจากภาคส่วนอื่นๆ เขาก็ต้องไปทำงานในที่ที่มีรายได้มากกว่า ทั้งๆ ที่ต้นทุนในการฝึกฝนทักษะรัฐได้เป็นผู้ลงทุนไว้ เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้เห็นการทุ่มเท เสียสละ และความมุ่งมั่นของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ที่เข้าไปต่อสู้รักษาป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อคนในชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าโรคโควิด-19 นอกจากจะคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิต แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขมากที่สุดด้วย

“การปรับสถานะให้พวกเขาได้มีความมั่นคงในอาชีพการงาน จะทำให้คุณภาพของงานบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่ค้างคามานาน ต้องใช้อำนาจทางการบริหารเท่านั้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้ บุคลากรเหล่านั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางเป็นสายอาชีพ ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยคนสายอื่นหรือเครื่องจักรได้ ที่นำเสนอมานี้ไม่ใช่เป็นการมาขออัตราเพิ่ม แต่เป็นการทำให้ระบบมีความสมบูรณ์ ทุกวันนี้เราใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลจ้างก็เหมือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ต่อให้ปรับสถานะของเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีรายได้มากเท่ากับการไปทำงานในภาคเอกชน แต่อย่างน้อยคำว่า “ข้าราชการ” ก็จะทำให้เขามีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของพวกเขา สามารถทดแทนทางเลือกที่จะไปทำงานในภาคส่วนอื่น เนื่องจากมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ”

สิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบการสาธารณสุขของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม เมื่อเราผ่านพ้นโควิด-19 นี้ไปได้ เราจะมีบุคลากรสาธารณสุขที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ความพร้อม และศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดเรากำลังสร้างฐานที่มีความมั่นคงทางการสาธารณสุข ที่พร้อมให้การดูแลสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากโควิด-19 คนเหล่านี้จะมีผู้ดูแล รักษา ป้องกันโรค เพื่อประเทศไทยจะได้มีสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็งในลำดับต้นๆ ของโลกตลอดไป

หากข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เราจะสามารถสร้างความมั่นคงให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนมากและเป็นการยกระดับ เสริมรากฐานที่มั่นคงของระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยผลลัพธ์ที่ได้มาคือ สธ. มีบุคลากรที่เข้มแข็งมากด้วยประสบการณ์และความชำนาญ โรงพยาบาลไม่ต้องนำเงินบำรุงมาจ้างคนที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่ทำงานกันนานหรือไม่ และสามารถนำเงินบำรุงเหล่านี้ไปพัฒนาหน่วยบริการ แก้ไขปัญหาการเงิน ตามภารกิจหลักของโรงพยาบาลได้ นี่คือสิ่งที่เราจะได้กลับมาจากการมีสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามและความทุ่มเทต่างๆ ที่พวกเราใส่ลงไปไม่สูญเปล่า ทั้งนี้ทางครม เห็นชอบในหลักการ และได้ให้ไปหารือ กับทาง กพ. กพร. เพื่อเสนอ ครม ต่อไป

อ่านมติ ครม. (นัดพิเศษ) ประจำวันที่ 3 เมษายน 2563เพิ่มเติม