ThaiPublica > คอลัมน์ > เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนตราสารหนี้

เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนตราสารหนี้

3 เมษายน 2020


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวในแวดวงการลงทุนข่าวไหนที่จะสะดุดตาไปกว่าข่าวการประกาศยกเลิกกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ. แห่งหนึ่งถึงสี่กอง ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายคนกังวลและสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกองทุนรวม และตลาดการเงินไทย รวมถึงนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องประชุมด่วนออกมาตรการกันในบ่ายวันอาทิตย์

เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นดังกล่าว เราควรย้อนดูและทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปและธรรมชาติของกองทุนรวมตราสารหนี้กันเสียก่อน

กองทุนตราสารหนี้คืออะไร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยพัฒนาและขยายตัวขึ้นค่อนข้างมาก จนเป็นทางเลือกในการระดมทุนของบริษัทที่มีศักยภาพ และเป็นทางเลือกในการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนแทบทุกประเภท ปัจจุบัน ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่ามากกว่า สามล้านล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆกับมูลค่าเงินกู้ที่ระบบธนาคารปล่อยให้กับบริษัทขนาดใหญ่

กองทุนรวมตราสารหนี้ ก็เป็นทางเลือกที่สำคัญในการลงทุนให้กับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ ที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลมุมมองในการลงทุน คัดเลือกคุณภาพของตราสารที่ซื้อเข้ามาในกอง และมีการกระจายความเสี่ยงไปในผู้ออกตราสารหลายๆตัว และมีสภาพคล่องค่อนข้างดี เข้าออกได้ทุกวัน

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น แบ่งได้เป็น กองทุนรวมประเภทตลาดเงิน (money market fund) ที่ลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีกำหนดชำระเงินต้นที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี และมักลงทุนในตราสารภาครัฐหรือหุ้นกู้เอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่

และ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (short-term fixed income fund) ที่ลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งมักมีการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน) ที่มีอายุเฉลี่ยในการถือครองโดยรวม (portfolio duration) ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งหมายความว่า อาจมีการถือตราสารหนี้บางตัวที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปีได้

กองทุนรวมทั้งสองประเภทนี้ มีอายุของตราสารค่อนข้างสั้น การผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลต่อมูลค่าของเงินลงทุนค่อนข้างน้อย และทำให้ความผันผวนของมูลค่าการลงทุนของกองทุนต่ำไปด้วย แม้สภาพตลาดอาจทำให้มีความผันผวนระหว่างทางบ้าง แต่พอคาดเดาได้ว่าผลตอบแทนของกองทุนระหว่างสัปดาห์หรือระหว่างเดือนมีโอกาสติดลบน้อยมาก นอกจากนี้ กองทุนเหล่านี้ ยังเป็นกองทุนที่สามารถไถ่ถอนได้ทุกวัน และได้รับเงินในวันถัดไป (t+1) เพราะกองทุนมักจะมีพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารอื่นๆที่มีสภาพคล่องสูงมากไว้รองรับการไถ่ถอนของนักลงทุน

ลักษณะดังกล่าวมานี้ จึงทำให้นักลงทุนหลายคน นิยมนำกองทุนเหล่านี้มาใช้เป็นแหล่งลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องหรือใช้เป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นที่ทิ้งไว้ในระยะมากกว่า 1 เดือน แต่สามารถขายได้ทุกวันและได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยยอมแลกกับความผันผวนระยะสั้น และสภาพคล่องที่เสียไปกับการได้รับเงินช้าไปหนึ่งวัน

เกิดอะไรขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวนสูงกว่าปกติเป็นอย่างมากจากวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 และการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันดิบ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความกังวลเรื่องความเสี่ยงของนักลงทุนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกเทขายออกมาอย่างหนัก รวมถึงหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่นักลงทุนกังวลว่าการหยุดชะงักของธุรกิจจากการปิดเมืองทั่วโลก อาจจะส่งผลต่อความสามารถในชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้เหล่านี้

นอกจากนี้ปัญหาสภาพคล่องก็เข้ามาซ้ำเติมให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ แกว่งตัวอย่างหนักกว่าปกติมากแม้กระทั่งตราสารหนี้คุณภาพสูงในต่างประเทศก็ถูกเทขายออกมาอย่างหนักจนราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนทั้งในและต่างประเทศ เริ่มปรับตัวลงมากกว่าปกติ จนทำให้นักลงทุนที่ใช้กองทุนเหล่านี้เป็นสภาพคล่องเริ่มแสดงความกังวล และเริ่มขายหน่วยลงทุนของของกองทุนประเภทนี้ออกมา ภาวะเช่นนี้ ก็เกิดขึ้นกับกองตราสารหนี้ใหญ่ๆในต่างประเทศ ที่ถูกแรงเทขายออกมาจนมูลค่าของหุ้นกู้เอกชน และมูลค่าของกองทุนปรับลดลง จนธนาคารกลางสหรัฐต้องออกมาตรการหลายอย่างเพื่อจะพยุงตลาด ไม่ให้เกิดภาวะผันผวนจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและตลาดเงิน ไม่ได้แปลว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น แต่การคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ประจำวันจากมูลค่าตลาด (mark-to-market) อาจทำให้มูลค่าของกองทุนตราสารหนี้อาจปรับตัวลดลงได้ (คล้ายกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น) แต่คนที่เหลืออยู่ในกองทุนอาจจะได้รับผลตอบแทนในระยะข้างหน้าสูงขึ้น ถ้าถือจนจบและหุ้นกู้ถูกไถ่ถอนที่ราคาหน้าตั๋ว

ในสภาวะปกติ หากมีการไถ่ถอนไม่เกินร้อยละ 10-20 ของกองทุน ในระยะสั้นกองทุนสามารถขายพันธบัตรรัฐบาลที่มีสภาพคล่องสูงซึ่งเป็นเสมือน “กันชน” ก่อน แล้วค่อยๆทยอยขายหุ้นกู้ภาคเอกชนเพื่อรักษาสภาพคล่อง แต่ปัญหาในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการเร่งไถ่ถอนกองทุนในขนาดค่อนข้างใหญ่ กองทุนก็ถูกบังคับให้ขายหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเงินมาคืนผู้ถือหน่วยลงทุน ถึงแม้หุ้นกู้เหล่านี้เป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดี ส่วนใหญ่ได้รับเครดิตเรทติ้ง A หรือมากกว่า และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างต่ำ แต่ด้วยสภาพคล่องที่มีอยู่อย่างจำกัด บางครั้งกองทุนจำเป็นต้องขายหุ้นกู้เหล่านี้ที่ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็สะท้อนกลับมาในมูลค่ากองทุน (NAV) ที่ลดลงแรงกว่าปกติ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้จำกัดยิ่งขายกองทุนออกมาจนเกิดภาวะที่เรียกว่า “fund run” ทำให้กองทุนที่ถูกไถ่ถอนอย่างหนักต้องเร่งหาสภาพคล่อง โดยการขายหุ้นกู้เอกชนในตลาดที่ไม่มีสภาพคล่อง ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในส่วนของเงินฝากที่กองทุนส่วนใหญ่ลงทุนแม้จะอยู่กับธนาคารที่มีความมั่นคงสูง แต่มักจะเป็นเงินฝากแบบกำหนดระยะเวลา การถอนเงินก่อนหมดระยะเวลา อาจถูกปรับจากธนาคาร ทำให้ผู้จัดการกองทุนอาจไม่อยากแตะเงินส่วนนั้น

ในกรณีนี้ ผู้จัดการกองทุนอาจมองว่า ทางเลือกในการยกเลิกและทยอยชำระบัญชีกองทุน เพื่อค่อยๆนำเงินมาคือผู้ถือหน่วย อาจจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยได้ดีกว่า

มาตรการแทรกแซงของแบงก์ชาติ

เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (22 มี.ค.) ที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นการแถลงข่าวด่วนของธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ กระทรวงการคลัง ที่ออกมาตรการ “สนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย” เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน จากการเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้

มาตรการที่ธปท.ออกมา คือความพยายามที่จะจัดหาสภาพคล่องมาเพื่อไม่ทำให้กองทุนตราสารหนี้เหล่านี้ต้องเทหุ้นกู้เอกชนที่ไม่มีสภาพคล่องออกมาในราคาที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพของระบบการเงินได้รับผลกระทบ โดย ธปท. ออกสองมาตรการสำคัญ

โดยมาตรการแรก ธปท. จะสนับสนุนสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินเพื่อรับซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ และนำไปเป็นหลักประกันในธุรกรรมรับซื้อคืนกับ ธปท. หรือพูดง่ายๆว่า เมื่อมีคนมาไถ่ถอนกองทุนในปริมาณมาก ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินจาก ธปท. ไปรับซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น โดยใช้หน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กองทุนจึงไม่จำเป็นต้องเทขายตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำออกมาในตลาด

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการให้สภาพคล่องกับสถาบันการเงินเพื่อเอาไปช่วยเหลือกองทุนรวมได้ทุกกอง โดยสถาบันการเงินสามารถนำสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด (เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ภาคเอกชน) มาเป็นหลักประกันการขอสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำกับ ธปท. ได้

และ ธปท. ยังคงทำธุรกรรมซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และลดความผันผวนในตลาดพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้สภาพคล่องในตลาดการเงินมีอยู่อย่างเพียงพอ

มาตรการเหล่านี้มีส่วนช่วยลดความผันผวน และลดความกังวลต่อปัญหาการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีเหตุการณ์ที่ยังคงแสดงว่านักลงทุนขาด ‘ความมั่นใจ’ อยู่ เช่น แม้มีมาตรการจาก ธปท. ออกมาแล้ว แต่เมื่อไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากสถาบันการเงินว่าจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งหนึ่ง ทำให้นักลงทุนที่เป็นห่วงเรื่องมูลค่าของหน่วยลงทุนยังคงขายหน่วยลงทุนของตัวเองออกมา และในระหว่างนั้นมีการประกาศเปลี่ยนระยะเวลาไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน ก่อนจะประกาศปิดกองทุนไปสองกอง ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในสภาพคล่องของเงินลงทุน และเทขายหน่วยลงทุนออกมาอีก จนทำให้มีการประกาศปิดกองทุนตราสารหนี้ไปรวมถึงสี่กองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน

การปิดกองทุนเหล่านี้อาจทำให้สภาพคล่องของเงินลงทุนในหน่วยลงทุนของนักลงทุนหายไปเพราะถูกห้ามไถ่ถอน แต่เนื่องจากตราสารส่วนใหญ่ในกองทุนที่ถูกปิดไปเป็นตราสารที่มีคุณภาพดี ดังนั้น จึงไม่น่าทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินลงทุนของนักลงทุนมากนักเมื่อกองทุนถือจนถึงเวลาจัดสรรเงินคืน และ ธปท. ยังมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ถือหน่วยผ่านทางสถาบันการเงิน

ในปัจจุบัน บลจ. และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งออกมาให้ความมั่นใจแล้วว่า พร้อมจะให้การสนับสนุนตามมาตรการของ ธปท. ในกองทุนตราสารหนี้ และสภาพตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกออกมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด ก็น่าจะช่วยลดความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ได้ คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ‘ความเชื่อมั่น’ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากของการจัดการปัญหาในภาวะตลาดที่ผิดปกติ และในยามที่นักลงทุนขาดความมั่นใจและเกิดความตระหนกขึ้น ปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียวอาจไม่พอในการตัดสินใจเรื่องการลงทุน ความมีสติและเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในภาวะเช่นนี้

และการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ทั้งเรื่องคุณภาพของตราสารที่ลงทุน สภาพคล่องของตราสารเหล่านั้น และมาตรการรองรับในกรณีที่กองทุนขาดสภาพคล่อง