พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร เรากำลังเข้าสู่ภาวะประชากรชราภาพ หากเราไม่เตรียมพร้อมเสียแต่วันนี้ ปัญหาอีกมากมายกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า
ด้วยความสำเร็จในการรณรงค์วางแผนครอบครัว การพัฒนาทางการแพทย์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้อัตราการเกิดในประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยลดลงจากประมาณร้อยละ 6 เมื่อ 50 ปีก่อน เป็นต่ำกว่าร้อยละ 2 เมื่อ 20 ปีก่อน และเหลือเพียงประมาณร้อยละ 1.6 ในปัจจุบัน ว่ากันว่า อัตราส่วนนี้ควรจะสูงกว่าร้อยละสองเล็กน้อย เพื่อจะที่ไม่ทำให้จำนวนประชากรลดลงในระยะยาว (ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกมาทดแทนพ่อและแม่ เหตุที่มากกว่าสองก็เพราะโดยทั่วไปประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงเล็กน้อย และเด็กบางคนเสียชีวิตก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ และสัดส่วนนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ควรจะสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเล็กน้อย)
นอกจากนี้ อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเมื่อแรกเกิด (Life expectancy at birth) ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการพัฒนาการทางการแพทย์และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 65 ปี เมื่อ 30 ปีก่อน มาเป็นประมาณ 74 ปี ในปัจจุบัน
ด้วยจำนวนเด็กเกิดที่น้อยลง และอายุขัยของคนที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งนี้ มีตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ประเทศไทยกำลังผ่านจุดที่ดีที่สุดในด้านประชากร และสถานการณ์กำลังจะแย่ลงหลังจากนี้ ในเชิงโครงสร้างประชากร มีอัตราส่วนหนึ่งที่คนมักอ้างถึงกันบ่อยๆ คือ “อัตราส่วนการพึ่งพิง” หรือ Dependency ratio ที่วัดโดยสัดส่วนระหว่างจำนวนคนที่ต้องการการพึ่งพิง (กล่าวคือคนที่ไม่อยู่ในวัยทำงาน คือ เด็กและคนชรา) กับจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน ตัวเลขนี้บอกว่าคนวัยทำงานหนึ่งคน ต้องเลี้ยงดูคนแก่และเด็กกี่คนโดยเฉลี่ย
ข่าวดีคือ คนรุ่นที่มีพี่น้องมากๆ ในอดีต กำลังอยู่ในวัยทำงาน ประเทศไทยจึงมีคนในวัยทำงานมาก ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง คนที่ต้องการการพึ่งพิงจึงลดลงอย่างรวดเร็วในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้มีผู้ตั้งชื่อไว้ว่า เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวทางประชากร (Demographic dividend) กล่าวคือ เมื่อมีคนต้องการการพึ่งพิงลดลง คนในครอบครัวน่าจะมีโอกาสทำงานได้มากขึ้นเพราะมีภาระน้อยลง และเศรษฐกิจน่าจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
แต่ข่าวร้ายคือ คนรุ่นนั้นกำลังเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ในขณะที่เด็กที่เกิดใหม่ที่จะเข้าสู่วัยทำงานมีจำนวนไม่พอกับคนที่กำลังเกษียณอายุ ผลคือเรากำลังจะมีคนที่ต้องการการพึ่งพิง (เด็กและคนชรา) มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนวัยทำงาน และนาทีทองของ Demographic dividend กำลังจะหมดไป ทรัพยากรของครอบครัวและสังคมจะต้องนำมาใช้สนับสนุนคนกลุ่มนี้มากขึ้นในอนาคต
2. อัตราการเพิ่มของประชากรจะลดลงเรื่อยๆ จำนวนประชากรจะเข้าถึงจุดสูงสุด และเริ่มลดลงในไม่ช้า ราว 30 ปีก่อน จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ปัจจุบันอัตราการเพิ่มของคนไทยเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ มีการประมาณกันว่า ถ้าอัตราการเกิดไม่เพิ่มขึ้น จำนวนประชากรไทยจะเข้าถึงจุดสูงสุด (และเริ่มลดลง) ในปี ค.ศ. 2034 นั่นคือแค่อีก 20 ปี เท่านั้น
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ จำนวนประชากรในวัยทำงาน (คนอายุ 20-64 ปี) จะถึงจุดสูงสุด และเริ่มลดลงในปี ค.ศ. 2022 นั่นคือไม่ถึง 10 ปี ด้วยซ้ำ
เริ่มกังวลใจกันหรือยังครับ
3. คนไทยโดยเฉลี่ยกำลังแก่ขึ้นเรื่อยๆ ค่าเฉลี่ย (วัดโดยค่ามัธยฐานหรือ Median) ของอายุของคนไทยกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากต่ำกว่า 20 ปี เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนนี้คนไทยโดยเฉลี่ยอายุประมาณ 34 ปี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อายุเฉลี่ยของคนไทยก็อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ไม่ได้ดู “แก่” มากไปนัก ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นและโมนาโกเป็นประเทศที่อายุเฉลี่ยของประชากรสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือ อายุเฉลี่ยประมาณ 45 ปี ประเทศอื่นๆ ที่แก่กันมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรป ที่มีอัตราการเกิดต่ำ แต่ที่น่ากังวลคือ ในอีกแค่ 10 กว่าปี อายุเฉลี่ยของคนไทยจะเกิน 40 ปี ซึ่งใกล้เคียงประเทศที่เรารู้ว่าประสบปัญหาประชากรสูงอายุอยู่ในปัจจุบัน และเรากำลังจะตามประเทศเหล่านี้ไปในไม่ช้า
4. โครงสร้างอายุของคนไทยกำลังเปลี่ยนไป ถ้าดูโครงสร้างอายุของคนไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน เราเคยเห็นโครงสร้างเป็นรูปปิรามิดฐานกว้าง ที่ประชากรส่วนใหญ่มีอายุน้อย ปัจจุบันฐานที่กว้างนั้นได้ค่อยๆ ขยับสูงขึ้น ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ผู้สูงอายุมีสัดส่วนไม่มากนัก ลักษณะของโครงสร้างประชากรแบบนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนประชากรที่กำลังจะลดลง และภาพนี้ก็กำลังจะเปลี่ยนไปอีก ในอีก 20 ปีข้างหน้า ฐานที่ปูดจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีประชากรเข้าสู่วัยเกษียณอายุมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วที่เล่ามาทั้งหมดนี้มีผลกระทบกับเราอย่างไร มีหลายเรื่องให้คิด ตั้งแต่แนวนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึงนโยบายการคลัง ผมขอยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ
1. มองไปข้างหน้า เราจะเอาทรัพยากรจากไหนในการพัฒนาประเทศ ในอดีต ประเทศไทยเคยใช้แรงงานที่มีเหลือเฟือและราคาถูกนำการพัฒนาประเทศ เราเคยเป็นผู้นำการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานสูงหลายอย่าง ภาพเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไปและจะต้องเปลี่ยนไปมากขึ้น เมื่อข้อจำกัดด้านแรงงานกลายมาเป็นปัญหาสำคัญ
เมื่อจำนวนประชากรในวัยทำงานไม่เพิ่มขึ้นและกำลังจะลดลงในไม่ช้า แรงงานซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลน อัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปัจจุบัน และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเป็น “อาการ” ที่สำคัญของภาวการณ์ขาดแคลนแรงงาน
ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มีโอกาสที่ระดับรายได้ต่อหัวของคนไทยอาจจะลดลงก็ได้ (เพราะแรงงานในฐานะวัตถุดิบในการผลิตกำลังจะลดลง) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานอย่างเร่งด่วน ทั้งจากการพัฒนาฝีมือแรงงาน การลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การขยับไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนและนโยบายแรงงานต่างด้าวควรจะเป็นอย่างไร มีเรื่องให้ถกเถียงกันอีกเยอะ
นอกจากนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เราจะพบว่า เรากำลังประสบปัญหาคล้ายๆ กับญี่ปุ่น (ที่นำหน้าเราไปประมาณสิบปี) เกาหลี และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ก้าวพ้นปัญหาเรื่องการพัฒนาไปแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใน ASEAN ยังพอมีเวลาพัฒนาประเทศอีกสักระยะหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ เรากำลังเจอปัญหาของคนรวย ในขณะที่รายได้เรายังมีไม่พอ หรือว่า เรากำลังจะแก่ก่อนรวยนั่นเอง
2. เราเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง ในการรองรับปัญหาประชากรผู้สูงอายุ ที่กำลังจะทวีความรุนแรงในไม่ช้า ปัญหาประชากรผู้สูงอายุเป็นปัญหาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เรามีระบบที่เหมาะสมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือไม่ คนเหล่านี้จะมีเงินออมเพียงพอที่จะใช้เมื่อเกษียณอายุหรือไม่ ระบบสาธารณสุขและระบบขนส่งมีความพร้อมหรือไม่อย่างไร
ในขณะที่ปัญหาการพึ่งพิงมีไม่มาก สถาบันครอบครัวก็พอจะเกื้อหนุนกันได้ แต่เมื่อครอบครัวมีขนาดเล็กลง และภาระมีมากขึ้น สถาบันครอบครัวจะเพียงพอหรือไม่?
ดูเหมือนว่าปัญหากำลังจะเกิดขึ้นในขณะที่เรายังไม่มีทรัพยากรเหลือเพียงพอ เรากำลังจะแก่ก่อนรวยใช่หรือไม่ เรื่องนี้คุยกันได้อีกยาว
3. ปัญหาเรื่องภาระการคลังในอนาคต หลายๆ ประเทศในโลกที่มีระบบ Social safety net สำหรับผู้สูงอายุ กำลังกุมขมับว่าภาระที่เกิดจากการช่วยเหลือประชาชนหลังวัยเกษียณ (ทั้งบำเหน็จบำนาญชราภาพ รายจ่ายจากทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรายจ่ายด้านสาธารณสุข) กำลังสูงขึ้นและมีมากเกินกว่ารายรับ เมื่อโครงสร้างประชากรเข้าสู่ภาวะชราภาพ ตัวเลขหนี้รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ยังไม่รวมภาระในอนาคต ที่ระบบประกันสังคมมีแนวโน้มที่จะล้มละลาย ถ้าไม่มีการปรับเพิ่มสัดส่วนการนำส่งรายได้ ลดผลประโยชน์ที่สัญญาไว้ในระบบ หรือยืดอายุเกษียณออกไป ให้คนแก่ทำงานนานขึ้น ในอีกสิบกว่าปีนี้ ภาระหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ในปัจจุบัน เพราะระบบประกันสังคมของเรายังไม่ได้ครอบคลุมถึงประชากรจำนวนมาก และผลประโยชน์ก็ดูเหมือนจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตของประชากรจำนวนมาก ภาระหนี้ในอนาคตจึงมีไม่มากนัก
แต่กระนั้นก็มีการคาดการณ์ว่า กองทุนประกันสังคม ในส่วนกองทุนชราภาพจะติดลบในอีก 30 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ
คำถามคือ เราพอใจกับระบบที่มีในปัจจุบันหรือไม่ ถ้าไม่ ภาระการคลังต้องมีอีกเท่าไรในอนาคต และเราเก็บสะสมเงินไว้พอในปัจจุบันแล้วหรือไม่ ถ้าเราเอาภาระในอนาคตมาคิด เราอาจจะต้องรีบคิดใหม่ว่าหนี้สาธารณะที่เราว่าไม่สูงนั้น มีที่เหลือให้ภาระในอนาคตหรือไม่
เห็นไหมครับ มีประเด็นให้คุยกันอีกเยอะ สรุปก็คือปัญหาประชากรชราภาพ เป็นระเบิดเวลาที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะระเบิดในอนาคต เพียงแต่ว่าเราจะเริ่มทำอะไรอย่างจริงจังกันหรือยัง และถ้าเราไม่เริ่มกันในวันนี้ มันจะสายเกินไปหรือไม่
…เอ…หรือมันสายเกินไปแล้ว?