ThaiPublica > เกาะกระแส > “กสิกรไทย” เปิดวิสัยทัศน์ “A YEAR OF i” กับ 5 ผู้นำ 5 บทบาท – “incorporate-insight-ignite-integrate-innovate”

“กสิกรไทย” เปิดวิสัยทัศน์ “A YEAR OF i” กับ 5 ผู้นำ 5 บทบาท – “incorporate-insight-ignite-integrate-innovate”

28 มกราคม 2019


เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ธนาคารกสิกรไทยแถลงข่าวถึงวิสัยทัศน์และทิศทางของธุรกิจภายในงาน “A YEAR OF i – Kbank Vision 2019” ภายใต้การนำของ 5 กรรมการผู้จัดการ ใน 5 บทบาทที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  • iNCORPORATE – ปรากฎการณ์ความร่วมมือ
  • iNSIGHT – รู้จัก … เพื่อรู้ใจ
  • iGNITE – จุดประกายโอกาส… ก้าวข้ามพรมแดน
  • iNTEGRATE – รวมพลังเพื่อเติบโต
  • iNNOVATE – เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจและชีวิตที่ดีกว่า
  • iNCORPORATE ปรากฎการณ์ความร่วมมือ

    เริ่มต้นจาก นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวถึง บริบททางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและบทบาทของภาคธนาคารที่ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี เห็นได้จากปริมาณธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่ขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 82% ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง 74% และซื้อสินค้าออนไลน์ 48.5% ของประชากรไทยทั้งหมด

    นอกจากนี้ อีกมุมหนึ่งในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการรวบรวมและกระจายทรัพยากรเงินทุนของประเทศ ด้วยเหตุนี้ภาคธนาคารไทยจึงต้องเดินหน้าสู่การเป็นตัวกลางทางการเงินหลักที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการร่วมมือสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย อาทิ โครงการพร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านไอดี มีปริมาณธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน การสร้างมาตรฐานคิวอาร์ โค้ด ระบบชำระเงินสำหรับประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก มีร้านค้าใช้งานคิวอาร์ โค้ด แล้ว 3 ล้านราย การขยายศักยภาพ ITMX ระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที และธนาคารสมาชิกจะเพิ่มความสามารถของระบบแต่ละธนาคารเป็น 2 เท่าภายในปีนี้ โครงการสนับสนุนการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตแทนเงินสด ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตทั้งสิ้น 59 ล้านใบ มีเครื่องรูดบัตร (EDC) รวม 700,000 เครื่อง โครงการ TB-CERT เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของระบบไอทีของสถาบันการเงิน ปัจจุบันสมาชิก 23 องค์กรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและฝึกซ้อมรับสถานการณ์ภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

    “ในอดีตเราเจออุปสรรคปัญหามามากมายทั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตทางการเมือง น้ำท่วมใหญ่ แต่พวกเราธนาคารก็แก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ เพราะถ้าคนไหนแก้ไม่ได้ ชื่อก็คงต้องล้มหายไปไม่ได้มาให้บริการอยู่ในปัจจุบัน แต่ในภาพใหญ่บทบาทหน้าที่สำคัญของธนาคารคือการเก็บรวบรวมเงินออมของคนไทย และกระจายออกไปยังภาคเศรษฐกิจทั่วประเทศให้ขับเคลื่อนไป ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจขยายตัวได้และสร้างเสถียรภาพที่มั่นคงพร้อมรองรับวิกฤตต่างที่จะเข้ามา อย่างในช่วงไม่นานนี้ที่บางประเทศต้องเผชิญปัญหาค่าเงินอ่อน แต่ไทยกลับรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจัยแวดล้อมปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการกำกับดูแลที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เกิดการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นต่อไปธนาคารจะมาทำอะไรคนเดียวคงไม่ได้ ต้องหาพันธมิตรมาร่วมมือกันทำงาน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ประเทศ และประชาชน ผ่านโครงการต่างๆที่เป็นความร่วมมือในระดับอุตสาหกรรมธนาคารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” นายปรีดี กล่าว

    ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ คนไทยจะได้รับบริการทางเงินใหม่ ๆ จากธนาคารไทย ที่เกิดจากความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ

    • การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์จากการให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ สู่การให้บริการ คิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 ที่จะทำให้ผู้ชำระเงินที่มีแอป โมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกธนาคาร สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่จะช่วยให้การชำระเงินสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
    • โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เริ่มให้บริการด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 รายการ และจะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดธุรกรรมในปีต่อไปเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปต่อยอดสู่บริการรับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสะดวก ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากร
    • โครงการ National Digital ID (NDID) ที่ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ตอกย้ำความก้าวหน้าของระบบธนาคารไทยที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน

    นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารของไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบและบริการเพื่อยกระดับการให้บริการของสถาบันการเงินในประเทศไทยให้อยู่ระดับแนวหน้าในอาเซียน หลายบริการได้พัฒนาเทียบเท่าประเทศชั้นนำของโลก นำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ซึ่งก็มีการปรับตัวเข้าสู่บริการในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืนเช่นกัน

    iNSIGHT รู้จัก … เพื่อรู้ใจ

    นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าผนวกกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ปริมาณข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมหาศาล การใช้ชีวิตของลูกค้าที่มีความหลากหลายมิติ และมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ธนาคารจึงเดินหน้าเพิ่มศักยภาพด้าน Analytics ในการแปลงข้อมูลมาเป็น insight เพื่อให้รู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล ดังนี้

    ต้องสร้างประสบการณ์ที่สะดวกไร้รอยต่อ ทุกที่ ทุกเวลา (Frictionless, Anywhere, Anytime) ปัจจุบัน ลูกค้าใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ธนาคารกสิกรไทยจะตามเข้าไปดูแลลูกค้า เพื่อพร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าเรื่องการชำระเงินทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ การนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ผสานกับศักยภาพด้าน Data Analytics ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้ชีวิตลูกค้าง่ายกว่าเดิม เช่น เพียงแค่ใบหน้าก็สามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา แค่ใช้เสียงก็สามารถจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องพกกระเป๋าเงิน หรือการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือโทรศัพท์มือถือ

    ต้องตอบสนองลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง และเข้าถึงทุกคน จากการที่รู้จักและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ทำให้ธนาคารเสนอบริการที่ตรงใจมากขึ้น และสามารถขยายการให้บริการไปสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อย หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ

    ต้องให้บริการที่กระชับ อัตโนมัติ และใช้เอกสารน้อย การก้าวเข้าสู่การเป็น Data-Driven Bank อย่างเต็มตัว ทำให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน สามารถขยายบริการเพื่อรองรับลูกค้าได้รวดเร็ว และวงกว้างมากยิ่งขึ้น และช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าในการยื่นเอกสาร ลูกค้าจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย

    “เป้าหมายของธนาคารในปี 2563 หรือ 2020 เราตั้งเป้าหมายว่ารายได้ครึ่งหนึ่งจะต้องมาจากการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ของธนาคาร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมากจากปัจจุบันที่มีการใช้ข้อมูลเพื่อเข้าใจลูกค้าเพียง 5% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมาย Data-Driven Lending เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลด้านข้อมูลอย่าง Data Analytic Office เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่จะเน้นการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนองค์กร พร้อมทั้งจะปรับทักษะของพนักงานใหม่ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลในอนาคต เช่น พนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับดิจิทัล มีการเปิดระบบการเรียนออนไลน์กว่า 3,000 หลักสูตร เป็นต้น โดยไม่มีนโยบายที่จะปรับลดพนักงานลงแต่อย่างใด” นางสาวขัตติยา กล่าว

    นางสาวขัตติยา กล่าวต่อไปว่าเพื่อผลักดันให้ใช้ข้อมูลมาเป็นส่วนขับเคลื่อนการสร้างบริการที่เหนือความคาดหมายให้แก่ลูกค้า ธนาคารกสิกรไทยได้สร้างความพร้อมใน 4 ด้าน ได้แก่

    • ด้านข้อมูล ธนาคารมีข้อมูลพร้อมให้ทุกฝ่ายงานในองค์กรสามารถนำไปวิเคราะห์ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยธนาคารให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า โดยพนักงานทุกคนจะต้องถือปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์จะไม่สามารถระบุตัวตนของลูกค้าได้ และธนาคารจะไม่มีการแชร์ข้อมูลลูกค้าโดยเด็ดขาด หากปราศจากการให้ความยินยอมของลูกค้า
    • ด้านเทคโนโลยี ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด
    • ด้านบุคลากร ที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างคุณค่าทางธุรกิจจากข้อมูล (Data) ธนาคารได้พัฒนาศักยภาพด้าน Data Analytics ให้กระจายอยู่ในทุกส่วนของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาบุคลากรด้าน Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน
    • ด้านวัฒนธรรมองค์กรแห่งการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นการผสานความฉลาดของคนเข้ากับเทคโนโลยี (Augmented Intelligence) เพื่อไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) และในด้านกระบวน การทำงาน ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและบริการลูกค้าให้ดียิ่งกว่าเดิม จึงปรับโครงสร้างเพื่อมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มงานด้านการขายและบริการ ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านการนำข้อมูลมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร และกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ

    iGNITE จุดประกายโอกาส… ก้าวข้ามพรมแดน

    นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าปัจจุบันมีความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในโลกตลอดเวลาและยากจะคาดเดา เช่น การเกิดสงครามการค้า ดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริ โภค เป็นต้น เกิดเป็นความท้าทายที่สั่นสะเทือนธุรกิจให้ต้องปรับมุมมองความคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดในยุคที่เรียกว่า “เศรษฐกิจผสานมิติ”  หรือ Augmented Economy คือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีมีการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างผสมผสานกลมกลืน ทุกธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องใช้ทักษะความชำนาญที่มีบวกกับการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

    “เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจในต่างประเทศปัจจุบันภาษาเริ่มดูเหมือนจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีต่างๆเริ่มพัฒนาขึ้น แต่กลับเป็นความไม่แน่นอนในใบริบทของเศรษฐกิจโลกที่จำสำคัญ วันนี้ความไม่แน่นอนกลับกลายเป็นสิ่งที่แน่นอน ตัวอย่างหนึ่งคือเรือ Peak Pegasus ที่ขนถั่วเหลืองกว่า 700,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกาไปยังเมืองต้าเหลียนของจีน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเดินเรือตามปกติที่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันกัปตันเรือแทบจะไม่ได้ขับเรือเองด้วยซ้ำ แต่ด้วยเวลาที่ช้าไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เรือจะไม่สามารถไปถึงทันการประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าของจีน ทำให้เรือต้องวิ่งวนอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่นับเดือน จากการเดินเรือปกติธรรรมดากลายเป็นสิ่งไม่ปกติที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นที่เราก็ไม่รู้ว่าจะไปปั่นป่วนโลกอย่างไร ดังนั้นธุรกิจในปัจจุบันจะต้องเตรียมรับมือ Next Black Swan หรือสิ่งที่ผิดปกติและคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่รู้แน่นอนว่ามันจะกระทบไปทั่วโลก ด้วยการทดลองอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ” นายพิพิธ กล่าว

    ภายใต้ “เศรษฐกิจผสานมิติ” ธนาคารกสิกรไทยจึงปรับกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมผลักดันธุรกิจไทยสู่ต่างประเทศและเชื่อมโยงการค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภครายย่อย ด้วยแนวคิด 3 ด้าน ได้แก่ Beyond Frontier คือ มองถึงโอกาสในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้วยขนาดเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2573 กลุ่มประเทศ CCLMVI จะมีจีดีพีรวมอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า และมีประชากรรวมมากกว่าไทยถึง 28 เท่า Beyond Banking มองโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นและวางเป้าหมายที่จะอยู่ในทุก ๆ ช่องทางที่ลูกค้าใช้ชีวิต Beyond Competition คือ มองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการให้บริการของธนาคารและเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าสู่ตลาด CCLMVI ได้

    ในแง่การจัดการความไม่แน่นอน ธนาคารกสิกรไทยจะตั้ง KVision คือ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทค หรือ สตาร์ทอัพ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท โดย KVision ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI ควบคู่กับแสวงหาเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไร้พรมแดน

    ในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยจะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ได้ด้วยการนำเสนอ 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

    1. ให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น (Local Partnership & Insight) ให้กับลูกค้าจากช่องทางและพันธมิตรที่มีอยู่ครบทุกประเทศ ทำให้เข้าใจบริบทของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ
    2. ให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า (Cross-Border Value Chain Solution) ในต้นปีนี้ธนาคารจะเริ่มให้บริการ Solution ดังกล่าวในลาวและกัมพูชาก่อน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    3. สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค (Single Regional Payment Platform) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยในภูมิภาคผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารได้เริ่มแผนการดังกล่าวจากโครงการ “QR KBank” แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ใช้เงินสด สนองนโยบายรัฐบาล สปป.ลาว นำร่องให้บริการที่ตลาดหนองจัน หรือ “ตลาดขัวดิน” เป็นพื้นที่แรก ตั้งเป้าปี 2562 นี้ จะมีธุรกรรมผ่าน “QR KBank” ประมาณ 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 36,000 ล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค ช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล (Digital Spender) ในลาวอีกด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทั่ว CCLMVI ในอนาคต

    นายพิพิธ กล่าวตอนท้ายว่าธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจผสานมิติ (Augmented Economy) ยังมีตลาด CCLMVI ที่มีศักยภาพมากมายรออยู่ ด้วยกลยุทธ์ข้างต้นธนาคารพร้อมเดินหน้าด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเข้าถึง เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่นและเชื่อมต่อระบบการชำระเงินทั่วภูมิภาค พร้อมพาธุรกิจไทยข้ามพรมแดนสู่การเติบโตไปด้วยกัน

    iNTEGRATE รวมพลังเพื่อเติบโต

    นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยปัจจัยท้าทายทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจ การแข่งขัน และ Disruption ต่าง ๆ ตลอดจนการแข่งขันของธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเข้มข้นที่นำไปสู่การยกเลิกค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่มาพร้อมโอกาสและการผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อธุรกิจข้ามประเทศในระดับภูมิภาค ดังนั้น ในปี 2562 ภารกิจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พร้อมผลการดำเนินการที่เติบโตสอดคล้องกัน ได้แก่

    ผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มขยายฐานลูกค้า เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้าในทุกมิติ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลต ฟอร์มของธนาคารเอง ผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ทั้งในโลกโซเชียล แชท ชอปปิ้ง การเดินทาง ฯลฯ โดยธนาคารจะผสานความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างประสบการณ์บริการที่ราบรื่นไร้รอยต่อ ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าในทุกช่วงจังหวะชีวิต และทำความเข้าใจลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง

    เดินหน้าธุรกิจเพื่อหารายได้ใหม่ โดยจะเดินหน้าแผนธุรกิจในการสร้างรายได้จากการให้สินเชื่อลูกค้าบุคคลที่มีจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดนี้ประมาณ 31.3 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16% โดยการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มชั้นนำเพื่อไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ ช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพที่จะชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลและการชะลอตัวของธุรกิจประกัน

    รวมทั้งบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเหมาะสมต่ออัตราการฟื้นตัวของสินเชื่อ

    นายพัชร กล่าวว่า ภายใต้แนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยจะเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้า การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ โดยมีฐานข้อมูลมาช่วยในการลดต้นทุน วิเคราะห์หาบริการที่ตรงใจลูกค้า พร้อมการบูรณาการทุกมิติของทีมงานและการสร้างพันธมิตรกับภายนอก เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562 ที่วางไว้ ด้วยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7% โดยสินเชื่อธุรกิจบรรษัทเติบโต 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12% อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย -5% ถึง -7% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7% พร้อมแข่งขันและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    iNNOVATE เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจและชีวิตที่ดีกว่า

    นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวย้ำถึงการสานต่อภารกิจของ KBTG ในการผลักดันธนาคารกสิกรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการที่รู้ใจลูกค้าด้วยช่องทางดิจิทัลที่ล้ำสมัย โดยการนำเสนอแนวคิดแห่งนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Augmented Intelligence (AI) มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ที่เกิดจากการตระหนักว่าความอัจฉริยะที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากปัญญาประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจ และความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

    ดังนั้น จึงเชื่อว่าธนาคารอัจฉริยะ ที่แท้จริงจึงต้องมาจากการผนวกประสบการณ์ของพนักงานธนาคาร เข้ากับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ อันนำมาซึ่งแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เรียกว่า Cognitive Banking ที่ส่งมอบคุณค่า 3 ด้านให้แก่ลูกค้า ประกอบด้วย บริการที่ฉลาด รู้ใจ (Highly Intelligence) บริการที่ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Highly Adaptive) เข้าใจ รู้ใจ ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง (Highly Personalized) โดยการเป็น Cognitive Banking จะทำให้บริการดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปไกลกว่าการเป็นเพียงธนาคารหรือแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ

    นอกจากนี้ KBTG ยังคงเดินหน้าด้วยวิสัยทัศน์ “นวัตกรรมที่ดีต้องสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน” (Inclusive Innovation) สร้างสรรค์บริการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกค้าทุกระดับ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาลดต้นทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ และประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางขึ้น ก่อให้เกิดการนำเสนอสินเชื่อรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลให้กับลูกค้ากลุ่ม Underbanked ที่ในอดีตไม่สามารถรับบริการสินเชื่อจากธนาคารได้เพราะขาดคุณสมบัติ เช่น การเดินบัญชีไม่เพียงพอ หรือไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ

    KBTG ยังเชื่อว่า ในยุค Disruption การสร้างพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ จึงผลักดันความสามารถที่ธนาคารจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือองค์กรธุรกิจชั้นนำ ผ่านนวัตกรรมแห่งความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่ Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย K PLUS Business Platform การสร้างความหมายใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล โดยการประยุกต์ใช้คุณสมบัติที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว

    นายเรืองโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า วิสัยทัศน์ทั้งหมดจะเป็นจริงได้ก็ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีและบุคลากรของ KBTG จึงตั้งเป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565 โดยเริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท