ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ออมสิน แจงหลักเกณฑ์ปล่อย “ซอฟท์โลน” 80,000 ล้าน เสริมสภาพคล่อง Non-Bank

ออมสิน แจงหลักเกณฑ์ปล่อย “ซอฟท์โลน” 80,000 ล้าน เสริมสภาพคล่อง Non-Bank

24 เมษายน 2020


ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ธนาคารออมสิน ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือ VDO Conference ชี้แจงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 80,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19” ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

กำหนดหลักเกณฑ์ปล่อย “ซอฟท์โลน” ให้ Non Bank รายละไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด แต่ไม่เกินยอดคงค้างของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี โดยจำกัดวงเงินกู้รายสูงสุดต่อรายไม่เกิน 5,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 2 ปี

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นชอบ“โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)” โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน เร่งดำเนินการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินโครงการรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงได้ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับเสริมสภาพคล่อง และลงทุน รวมถึงแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ COVID-19

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของเชื้อCOVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างวงกว้างต่อเนื่อง ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบ ให้ธนาคารออมสินช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ “Non-Bank” ที่ให้บริการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชี่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลีสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อทะเบียนรถ เป็นการเร่งด่วน เพื่อผู้ประกอบการจะได้มีแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำไป สนับสนุนการผ่อนปรนการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยตามมาตรการของธปท. โดยที่มติครม.ได้ลดวงเงินที่จะจัดสรรให้สถาบันการเงิน จาก 135,000 ล้านบาท เหลือ 55,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินจัดสรรวงเงินให้สินเชื่อแก่ Non-Bank วงเงิน 80,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้

ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้กำหนดวงเงินให้กู้ตามความสามารถและความจำเป็นของกิจการรายละไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือนก่อนการอนุมัติ หรือตามงบการเงิน ปี 2562 แต่ต้องไม่เกินยอดคงค้างของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีของบริษัท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 2 ปี โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

“ธนาคารออมสิน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ต่อไปได้ ตามนโยบายของทางรัฐบาลที่จะให้ความช่วยเหลือรายย่อยของ Non Bank” ดร.ชาติชาย กล่าว