กสศ.เตรียม 74 หลักสูตรรองรับคลื่นแรงงานกลับบ้าน จากผลกระทบโควิด -19 ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ในวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานยากจนด้อยโอกาส คนกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างขาดรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน จนไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองได้อีกกลายเป็นคลื่นแรงงานซัดกลับไปที่บ้านเกิดของตัวเอง โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานทักษะ 1.0 -2.0 เมื่อกลับบ้านแล้วก็ยังสามารถตั้งหลักชีวิต ตั้งตัวได้ ในวิกฤติที่เกิดขึ้นเห็นว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับทิศทางการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นฐาน
โดย กสศ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ 71 แห่ง ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา กศน. อปท. ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น กระจายใน 42 จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ
น.ส.ธันว์ธิดากล่าวว่า จากการดำเนินงานได้พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ช่วยยกระดับทักษะการประกอบอาชีพแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวน 74 หลักสูตร อาทิ เกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ ผู้ประกอบการผ้าไหมขนาดย่อม เครื่องปั้นดินเผา ระบบประกอบการสังคมออนไลน์ นักขายมือทอง (young sales man) นวดไทยเพื่อสุขภาพ การทำคุกกี้ครบวงจร การทำเครื่องแกงพื้นบ้าน โดยระบบต้นแบบของ กสศ.สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ได้จำนวน 6,055 คน ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนที่ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของกสศ.https://csr.eef.or.th/commubased-map/ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02- 079 5475
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า โครงการนี้จะเข้าไปพัฒนาให้เกิดกระบวนการเสริมศักยภาพชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรของชุมชน เพื่อกำหนดแผนธุรกิจและแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานท้องถิ่น มีหลักสูตรการเพิ่มทักษะบริหารจัดการในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการและท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ในระยะยาวสามารถยกระดับเป็นเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้ประกอบการขนาดย่อมในชุมชนได้ แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ของประเทศในขณะนี้ เพราะให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก สามารถตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคน และไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไร ชุมชนจะรองรับบรรเทาปัญหาปากท้องได้ และยังเป็นการลดปัญหาคนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่นฐาน เพื่อเข้ามาหางานในเมืองด้วย
“ภายใต้งบประมาณปี 2563 กสศ.จะสามารถขยายการช่วยเหลือแรงงานทั้งกลุ่มกลับบ้านเกิดในช่วงวิกฤติโควิด-19และกลุ่มยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ได้อย่างน้อย 10,000 คน ขณะที่ตัวแบบระบบทดลองและหลักสูตรระยะสั้นสามารถขยายผลในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศได้ทันที แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หน่วยพัฒนาอาชีพต่างก็ได้รับผลกระทบ และได้มีการปรับแผนการทำงานให้ตอบโจทย์สถานการณ์อย่างทันท่วงที เช่น ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนไม่ออกจากบ้านกลุ่มสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท ปรับขายชุดผักเดลิเวอรี่ จากไร่ส่งตรงถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายดีมาก หรือกลุ่มงานทอผ้า นำกลุ่มเป้าหมายฝึกทักษะการตัดเย็บหน้ากากอนามัยจำหน่าย และสามารถแจกจ่ายคนในชุมชนและมอบความช่วยเหลือยังพื้นที่ขาดแคลน” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
นายโฆษิต แสวงสุข ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักชุมชนหนองสนิท จ.สุรินทร์ หนึ่งในหน่วยพัฒนาอาชีพที่ร่วมโครงการกับกสศ. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการคือการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ทุกคนมีความรู้และต้องมีรายได้ที่ยั่งยืน โดยมีเกษตรกร ปราชญ์ชุมชน ที่มีประสบการณ์ในจังหวัดสุรินทร์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การตรวจรับรองมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ รวบรวมผลผลิต การขนส่ง และส่งเสริมการตลาด กลุ่มเป้าหมายของโครงการขณะนี้ประกอบด้วย เกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ
“แม้ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการ แต่เราได้บรรลุเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งแล้ว นั่นคือทำให้เกษตรกรมีรายได้ในทุก ๆ วัน อย่างน้อยต่อสัปดาห์เขาจะมีรายได้จากการขายพืชผัก สถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็เริ่มคล่องตัวขึ้น ตอนนี้เรามีตลาดที่รับสินค้าประจำ ทั้งตลาดในชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน โรงพยาบาลประจำอำเภอจอมพระ โรงเรียน และล่าสุดทาง ท็อปส์ มาร์เก็ต(Tops Supermarket) ได้เปิดโอกาสให้เรานำสินค้าเข้าไปวางขาย และเตรียมที่จะไปวางในศูนย์ค้าส่งแม็คโคร(Makro) เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง” นายโฆษิต กล่าว
ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักหนองสนิท กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนมีการสำรองอาหาร ผักจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายคล่องในระดับหนึ่ง แม้หน้าร้านจะเงียบไปแต่เราก็ปรับกลยุทธ์เป็นบริการส่งถึงบ้าน จัดแพกเกจผักอินทรีย์ให้ลูกค้าเลือกตามต้องการ โดยรวมผักทุกชนิดที่สมาชิกในกลุ่มเราผลิตเป็นเมนูภาพให้ลูกค้าเลือก เช่น กวางตุ้ง คะน้า ต้นหอม ฟักทอง หรือฟักเขียว แล้วเราจะนำผักเข้าไปส่งในตัวเมืองสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งผลตอบรับภาพรวมดีมาก ทำให้วางแผนว่าในอนาคตจะต่อยอดตลาดออนไลน์ให้เป็นช่องทางหลักต่อไป