ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เวที ALL FOR EDUCATION “การศึกษา” เครื่องมือและความหวัง ยกระดับคุณภาพชีวิต

เวที ALL FOR EDUCATION “การศึกษา” เครื่องมือและความหวัง ยกระดับคุณภาพชีวิต

25 สิงหาคม 2020


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ EQUITABLE EDUCATION: ALL FOR EDUCATION ความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา” ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563

โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา และนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” จากนั้นทรงฟังการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ “ความหมายของความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19” (Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID-19 Pandemic?) โดย ดร.อมาตยา เซน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2541 นางยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการองค์กร Education Cannot Wait นางอลิซ อัลไบรต์ ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก Global Partnership for Education และ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. พร้อมกันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเสมือนจริงด้วย

การศึกษาสร้างความเป็นอยู่ที่ดี

ดร.อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้านการพัฒนาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ดร.อมาตยา เซน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาเพื่อปวงชนเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้จัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ รวมถึงโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ครั้งใหญ่ของโลก

ทั้งนี้เราพบว่าการศึกษาจะเข้ามาช่วยควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ เพราะเมื่อคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันเขาก็จะสามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองจากการได้รับการศึกษาได้ และนอกจากนี้แล้วก็ยังจะมาช่วยกันดูแลสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

ECW ชี้ลงทุนกับคนคุ้มค่ากว่า

นางยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการองค์กร Education Cannot Wait

นางยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการองค์กร Education Cannot Wait กล่าวว่า องค์กรก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ที่มีสงคราม ความขัดเเย้ง เเละในพื้นที่ภัยพิบัติ เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน เยเมน อิรัก ซีเรีย คองโก โรฮิงญา

ก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีเด็กทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษามากถึง 75 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในวิกฤติโควิด-19 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความอ่อนด้อยในเชิงโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่การระบาดของโควิด-19 จะกลายเป็นการซ้ำเติม ทำให้การดำรงชีวิตในสังคมยุ่งยากเลวร้าย และเสี่ยงทำให้ครอบครัวที่ยากจนต้องเผชิญหน้ากับภาวะยากจนขั้นสุด (extreme poverty) ที่ในท้ายที่สุดจะส่งผลบีบให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งการเลิกเรียนกลางคันไม่ได้มีผลกระทบต่อโอกาสในการเรียนหนังสือของเด็กเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การล่วงละเมิดสิทธิเด็ก การแต่งงานในวัยเยาว์ การเป็นคุณแม่วัยใส การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเเสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเเละความไม่เท่าเทียม ความไม่เท่าเทียมทางสังคมทั่วโลก ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดเจน เช่น เด็กในประเทศสวีเดนสามารถเรียนออนไลน์จากที่บ้านโดยใช้อินเทอร์เน็ตได้ เเต่เด็กจากประเทศเเอฟริกา ไนจีเรีย ซูดาน ไม่สามารถเรียนจากอินเทอร์เน็ตได้เพราะเเม้เเต่ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นกว่าเดิม เด็กผู้หญิงหลายคนเเทนที่จะได้ไปโรงเรียน กลับต้องมาทำงานเเละเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์หรือถูกบังคับให้เเต่งงาน เพราะเมื่อไม่มีการศึกษาก็ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้

“เมื่อโควิดระบาด เด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาก็มีมากขึ้น เด็กผู้หญิงจำนวน 10 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน หลายประเทศได้รับผลกระทบ ความยากจนยังมีอยู่และมีแต่จะแย่ลง ประเทศก็ยังมีความขัดแย้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งและความรุนแรง ครอบครัวบังคับให้เด็กแต่งงานก่อนวัยเพื่อให้ได้เงิน หรือบังคับให้เด็กผู้หญิงอายุ 8-9 ปีออกไปทำงาน หรือบังคับให้ค้าประเวณี ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ในอายุน้อย 11-12 ปีก็มีบุตรแล้ว ฉะนั้นอันตรายสำหรับเด็กผู้หญิงจึงมีมากขึ้น”

กองทุนโลกเพื่อการศึกษา Education Cannot Wait ได้เข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ พร้อมกับทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีบทบาทมาก โดยในเดือนเมษายนทำข้อตกลงร่วมกับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลใน 26 ประเทศ เช่น อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปาเลสไตน์ โรงฮิงญา เพื่อส่งมอบการตอบสนองฉุกเฉินต่อสถานการณ์โควิดเป็นจำนวน 26 ล้านดอลลาร์ใน 23 ประเทศ ในสัปดาห์หน้าจะขยายการช่วยเหลืออีก 21 ล้านดอลลาร์กระจายไป 30 ประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมโรงเรียนเพื่อให้มีระบบสุขอนามัยที่ดี เป็นการทำงานหลายช่องให้มีการเรียนรู้ ตลอดจนการดูแลครูเพราะครูต้องไม่ทุกข์ รวมไปถึงดูแลรักษาการหนังสือ

สิ่งที่มีความสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การคุ้มครอง กองทุน ECW มีสายด่วนสำหรับเด็กผู้หญิงที่รู้สึกไม่ปลอดภัย

“กองทุน ECW ยังมีการจัดการพัฒนาการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีโปรแกรมสำหรับ 25 ประเทศที่วิกฤติเพื่อช่วยให้กลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับเราการศึกษาคือรากฐานในการฟื้นตัวที่ดี ถ้าไม่มีการศึกษาจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เราต้องลงทุนฟื้นฟูจิตใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ทุกข์ทรมาน ท่ามกลางความรุนแรงที่ไม่มีการป้องกันที่เด็กควรได้รับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนและปฏิญญาจอมเทียน” นางเชอรีฟกล่าว

ECW สนับสนุนแนวทางการทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับต้นๆ เรื่องนี้คือกุญแจที่จะทำให้องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายมั่นใจว่าจะไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการกระจายทรัพยากรให้ถึงมือทุกฝ่าย ซึ่ง ECW ประเมินว่า จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณอย่างน้อย 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อส่งต่อการศึกษาที่มีคุณภาพไปถึงมือเด็กๆ อย่างแท้จริง ในภาวะที่การศึกษาต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

“เราต้องดูแลเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และสำคัญมากที่เราต้องแน่ใจว่าเราสามารถบรรลุผลการเรียนรู้ เพราะต้องทำให้ช่องว่างของผู้ด้อยโอกาสให้ลดลง ทั้งเด็กผู้หญิง เด็กพิการ ผู้ลี้ภัย ไร้ถิ่นที่อยู่ สามารถรวมอยู่ในระบบการศึกษาภาครัฐ” นางเชอรีฟกล่าว

“เราพูดถึงเงินจำนวนมหาศาล แทนที่จะลงทุนไปกับความขัดแย้งและสงคราม เราควรจะลงทุนกับมนุษยชาติ คุ้มค่ากว่าและมีมนุษยธรรมมากกว่า สุดท้ายเราต้องแน่ใจว่าการศึกษาของศตวรรษที่ 21 ทักษะการรู้หนังสือและตัวเลข สำคัญต่อเด็กในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและวิกฤติ และสำหรับเด็กทุกคนคือ การได้เรียนรู้ทางสังคมและทางอารมณ์ การเรียนรู้เทคโนโลยี”

“แต่ที่เราต้องการที่สุดในปัจจุบันคือ การได้เห็นว่าโลกของเราไปถึงไหนแล้ว เราต้องการกรอบจริยธรรม คุณค่าทางสังคม การอยู่ร่วมกัน และความรับผิดชอบที่มีต่อกันทั้งโลก ความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ซึ่งเริ่มต้นในวัยเยาว์”

การศึกษาควรเป็นเครื่องมือเพื่อการตอบโต้ความรุนแรง ความยากจน เป็นเครื่องมือเพื่อออกจากความขัดแย้ง ไม่เกิดความขัดแย้งซ้ำซ้อน การศึกษาคือความหวังและเป็นเครื่องมือที่ทำให้มีประสิทธิผลและเป็นคนดีในสังคม

GPE ยันทางออกที่ยั่งยืนจากเศรษฐกิจถดถอย

อลิซ อัลไบรต์ ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก (Global Partnership for Education: GPE)

นางอลิซ อัลไบรต์ ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก (Global Partnership for Education: GPE) ซึ่งมาร่วมแบ่งปันข้อมูลถึงกลไกและวิธีในการช่วยเหลือของ GPE จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางลงพื้นที่ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนากว่า 68 ประเทศ โดยเริ่มด้วยการกล่าวแนะนำองค์กรสั้นๆ ว่า GPE เป็นหุ้นส่วนและกองทุนที่อุทิศให้เด็กทุกคนมีการศึกษาเท่าเทียมกัน เพื่อการศึกษาที่แข็งแกร่งผ่านการระดมทุนที่ทำเพื่อเด็ก 70 ประเทศทั่วโลก โดยสามารถระดมทุนได้กว่า 7 พันล้านดอลลาร์ช่วยเหลือเด็กได้กว่า 360 ล้านคน

นางอัลไบรต์มองว่า ต้องมีระบบการศึกษาที่เข้มเเข็งถึงจะทำให้การศึกษามีคุณภาพได้ ดังนั้น GPE จึงสนับสนุนในเรื่องงบประมาณให้กับองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาเเละสร้างเครือข่ายทั้งในระดับโลกเเละระดับประเทศ รวมถึง 70 ประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก

“ก่อนจะเกิดการเเพร่ระบาดของโควิด-19 มีเด็กเเละเยาวชนกว่า 258 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของประชากรเด็กทั่วโลก ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้เป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนจากหลากหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจ ความรุนเเรงทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ อาหาร ซึ่งจากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 2020 ของยูเนสโกพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศที่มีรายได้ระดับกลางเเละล่าง มีสิทธิที่จะได้ไปโรงเรียนและมีโอกาสที่จะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้นเป็น 3 เท่าของเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด และเด็กยากจนที่สุดมีโอกาส 2 เท่าที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนหนังสือ” นางอัลไบรต์กล่าว

ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก (GPE) กล่าวว่า การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเด็กยากจนเลวร้ายลง เมื่อทั่วโลกตัดสินใจล็อกดาวน์ ส่งผลให้เด็กกว่า 1.6 พันล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน เเละมากกว่าครึ่งของเด็กเหล่านั้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปิดโรงเรียนเพื่อรักษาชีวิตคนไว้ เเต่เมื่อยิ่งปิดนานเท่าไหร่ ผลที่จะเกิดกับสังคมยิ่งรุนเเรงมากขึ้นเท่านั้น การปิดโรงเรียนทำให้ความไม่เท่าเทียมยิ่งรุนเเรงมากขึ้น ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อย่างเมื่อ 5 ปีที่เเล้วเกิดการระบาดในเเอฟริกา เเละมีการสั่งปิดโรงเรียน สิ่งที่เห็นคือ เด็กผู้หญิงได้รับความรุนเเรงทางเพศสูงขึ้น มีการตั้งครรภ์ของเด็กมากขึ้น มีการใช้เเรงงานเด็กเพิ่มมากขึ้น ความรุนเเรงในบ้าน เด็กถูกบังคับให้เเต่งงาน

อัตราเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาในช่วงโควิดไม่ต่างจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงอีโบลา ทั้งนี้มีองค์กรที่น่าสนใจจากกองทุนมาลาลา ที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็กเเละสตรี คาดว่าโควิดทำให้เด็กผู้หญิง 10 ล้านคนที่อยู่ในขั้นมัธยมต้องออกจากระบบการศึกษาไปตลอดกาล เเม้ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเเล้วก็ตามก็ตาม นอกจากนี้เรายังได้วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลงถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นสถาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากที่สุดตั้งเเต่สงครามโลกครั้งที่ 2

“ประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจจะหดตัวลงมากถึง 2.5 % ทำให้เกิดความหายนะครั้งใหญ่ งบประมาณของรัฐลดลงส่งผลต่อการลดงบประมาณด้านการศึกษาประเทศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ใหญ่และเด็กกว่า 70 ล้านคนตกไปสู่ความยากจน”

นางอัลไบรต์กล่าวว่านอกจากนี้รายได้เศรษฐกิจครัวเรือนลดลงอย่างรุนเเรง ทำให้ครอบครัวไม่สามารถนำเงินมาส่งบุตรหลานเรียนหนังสือได้ ผู้ปกครองต้องเลือกส่งลูกบางคนไปเรียนหนังสือ ผู้หญิงเเละผู้พิการจะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เเละงบประมาณการช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำจะหายไป เเละจะขาดรายได้ในการระดมทุนช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เด็กจะสูญเสียการเรียนรู้เเละรายได้ สูญเสียศักยภาพในการทำรายได้ การเลี้ยงชีพตัวเองในอนาคต สูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปตลอดชีวิต

นางอลิซกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน GPE เป็นองค์กรที่ให้ทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษากับประเทศที่กำลังพัฒนามากที่สุดในโลก โดยให้ทุนโดยตรงกับรัฐบาลของ 60 ประเทศที่ยากที่สุด เพื่อต่อสู้เเละรับมือกับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 รวมเป็นเงินกว่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ เเละยังให้เงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ สมทบกองทุนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เเละนวัตกรรม โดยกองทุนจะให้ทุนตามข้อเสนอของเเต่ละรัฐ ที่เเบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การสร้างความต่อเนื่องทางการศึกษา โดยมุ่งไปที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยง 2) ส่งเสริมทักษะครู 3) การเตรียมตัวเปิดโรงเรียนเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของเด็กเเละคุณครู เเละ 4) การสร้างความพร้อมของระบบการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“1 ใน 3 ของทุนที่ GPE ช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ยังจะสนับสนุนการสร้างความเท่าเทียมโดยตรง ยกตัวอย่าง ในประเทศภูฏานเเละอินโดนีเซีย GPE ได้สร้างความต่อเนื่องทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง เเละสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนในชุมชนยากจน ขณะที่กัมพูชา เราช่วยเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย โดยได้ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการพวกเขา ส่วนที่คีร์กีซสถาน เราสร้างเเฟลตฟอร์มการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อช่วยเด็กพิการ” นางอัลไบรต์กล่าว

อลิซกล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิดทำให้เผชิญกับความท้าทายใหญ่ กระตุ้นให้ลงมือทำอยางรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือ และได้วางยุทธศาสตร์ 5 ปี หรือ GPE 2025 มุ่งสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ขยายนวัตกรรมการเรียนรู้ และปลายปีนี้จะเปิดแคมเปญด้านลงทุนจากผู้บริจาคใหม่ สามารถมอบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพให้เด็ก คาดว่ากลางปีหน้าจะเริ่มกระจายทุนได้

“เราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา การศึกษามีความสำคัญต่อการจัดการผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาในชุมชนที่เข้าถึงได้มากที่สุดแล้วในประเทศ และการศึกษาเป็นทางออกที่ยั่งยืนจากเศรษฐกิจถดถอย”

นางอัลไบรต์ยังแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าในด้านการผลักดันการศึกษาเพื่อความเสมอภาคของ กสศ. ในไทย ซึ่งสำหรับ GPE ในฐานะที่ทำงานในด้านนี้มานานกว่า ยอมรับว่าแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาไม่มีสูตรแก้ไขที่สำเร็จตายตัว แต่ GPE ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลหรือองค์ความรู้กับทาง กสศ. เพื่อไปให้ถึงความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

“ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บรรดาองค์กรและหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งหลายควรตระหนักได้เสียทีถึงบทบาทและความจำเป็นของระบบการศึกษาทางไกลด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮเทค โลว์เทค โนเทค หรือมิดเทค และให้คุณครูเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนทางไกล เราต้องทำให้มั่นใจว่า การศึกษาทางไกลที่นำมาใช้จะต้องไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันขยายวงกว้างมากขึ้น มันค่อนข้างเป็นการทำงานที่ยากพอสมควรในการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้อง เพราะเรามั่นใจว่า เมื่อใดก็ตามที่วิกฤติการระบาดจบลง เราไม่สามารถตื่นลืมตามาเผชิญกับโลกที่ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาทวีความเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น” นางอัลไบรต์กล่าว

กสศ. วาง 5 ยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายปี 2030

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งประสบการณ์ไม่มากเท่ากับ ECW และ GPE

“ในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินงานในประเทศไทย เรามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และแบ่งประสบการณ์ความรู้กับเพื่อนร่วมงานระหว่างประเทศของเรา เพื่อให้เราทุกคนสามารถก้าวเข้าใกล้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาและเป้าหมายความยั่งยืนข้อ 4 (SDG 4) ภายในปี 2030” ดร.ประสารกล่าว

ปี 2020 เป็นปีที่มีความสำคัญที่จะมาพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากครบรอบ 30 ปีของการประชุมระดับโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชนหรือปฏิญญาจอมเทียน เเละเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ 10 ปีสุดท้ายของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อที่ 4 ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาปฏิญญาจอมเทียนถือเป็นบรรทัดฐานการทำงานขององค์กรด้านการศึกษาทั่วโลกเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมเเละลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

“ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เกิดความท้าทายต่อระบบการศึกษาทั่วโลกเเละทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนเเรงมากยิ่งขึ้น เเต่อย่างไรก็ตาม เราก็จะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับเด็กๆ ว่าจะทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาให้ได้ภายในปี 2030”

ประธานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากล่าวต่อว่า กสศ. กับการต่อสู้ก่อน ระหว่าง เเละหลังโควิด มียุทธศาสตร์ 5 ข้อที่ กสศ. ใช้สร้างการศึกษาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับเด็กเเละเยาวชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ Speed มองให้ก้าวหน้าไปกว่าปัญหาที่เป็นอยู่ ซึ่งก่อนที่สถานการณ์โควิด19 จะเเพร่ระบาดเป็นวงกว้างเเละโรงเรียนยังเปิดอยู่ ได้บอกกับทีมบริหารของ กศส. ว่า ต้องทำวิจัยเร่งด่วนเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และจะต้องสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเเละครอบครัว ซึ่งผลที่ได้คือ หากมีการปิดโรงเรียน จะทำให้เด็กๆ เผชิญกับความอดอยากหิวโหยโดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวยากจนพิเศษ

คณะกรรมการ กสศ. จึงทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่ออนุมัติเงินฉุกเฉินเร่งด่วนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ขาดเเคลนด้านอาหารกว่า 7 เเสนคน ซึ่งเงินจำนวนนี้เพียงพอเเค่ 30 วัน เราจึงจัดการระดมทุนขึ้น เพื่อนำเงินมาสมทบช่วยเหลือเด็กๆ เพิ่มเติม ซึ่งเราได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้มากกว่า 16 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 Social Protection and Equitable Education นอกจากเรื่องการศึกษาเเล้ว เรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่ต้องอดอาหาร การศึกษาที่เท่าเทียมจึงมากกว่าการสร้างโอกาสทางการศึกษา เเต่ต้องครอบคลุมถึงการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต อาหาร ครอบครัว เเละชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19

ยุทธศาสตร์ที่ 3 Agility เป็นหัวข้อสำคัญที่ กสศ. พร้อมจะปรับเปลี่ยนให้รวดเร็วตามสถานการณ์ รูปแบบธุรกิจหรือเครือข่ายต่างๆ ความเท่าเทียมการศึกษาไม่ใช้การศึกษาเฉพาะห้องเรียน เเต่ให้หลักประกันทางสังคมให้กับเด็กๆ ในทุกด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือโรงเรียนต้องพร้อมเเละให้การศึกษากับเด็กได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นนอกบ้านหรือในพื้นที่สาธารณะ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 Independence กสศ. ต้องการเป็นองค์กรที่มีความอิสระในการนำเเผนยุทธศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้นไปปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะใน 3 หัวข้อดังต่อไปนี้

1) เป็นองค์กรที่ต้องการหาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหาข้อมูลในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด การเเบ่งปันข้อมูลกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะให้สามารถออกนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเเละนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกระดับ

2) กสศ. ต้องการจะมีทรัพยากรเพียงพอ เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ทันต่อสถานการณ์เเละสภาพปัญหาที่เเตกต่างกัน ซึ่งไม่ต้องผ่าน กสศ. เพียงอย่างเดียว เเต่จะเป็นการบูรณาการทำงานกันร่วมกันทุกภาคส่วน ทรัพยากรบางส่วนไม่จำเป็นต้องมาที่เรา

“ควรมีการจัดวางยุทธศาสตร์ระหว่างพันธมิตรเพื่อระดมทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับวิกฤติ มีหลายวิธีในการจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมหรือโปรแกรมกำหนดเป้าหมายควรนำมาใช้เพื่อเสริมซึ่งกันและกันในช่วงเวลาของวิกฤตินี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการตระหนักถึงความเสมอภาคทางการศึกษากันอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโลก”

3) ความเท่าเทียมทางการศึกษาต้องอยู่เหนืออำนาจทางการเมืองเเละระบบราชการ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 บอร์ดของ กสศ. มีความเป็นอิสระระดับหนึ่งในการที่จะเลือกหรือตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของทุกฝ่าย เเต่เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนอย่างเช่นการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 5 All for Education การศึกษาเพื่อปวงชน เป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เอกชน หรือครอบครัว ต้องทำงนร่วมกันเพื่อจะเเก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชนชาติ หลังจากเปิดองค์กรมาเเล้ว 2 ปีนี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ ค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ