ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ปัดตอบปรับ ครม. ชี้ยังไม่ถึงเวลา-มติ ครม. จัดงบฯ 1,233 ล้าน แก้ปัญหาไวรัส โควิด-19

นายกฯ ปัดตอบปรับ ครม. ชี้ยังไม่ถึงเวลา-มติ ครม. จัดงบฯ 1,233 ล้าน แก้ปัญหาไวรัส โควิด-19

3 มีนาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯ ปัดตอบคำถามเรื่องปรับ ครม. ชี้ยังไม่ถึงเวลา-มติ ครม. อนุมัติงบกลาง 1,233 ล้าน แก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 – อนุมัติจ่ายบำเหน็จเจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด 74 ล้าน

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ปัดตอบปรับ ครม. ชี้ยังไม่ถึงเวลา

วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวโดยเน้นความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหลัก สำหรับคำถามเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐสภา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภา ส่วนคำถามที่ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว่า “ผมไม่ตอบว่าจะปรับหรือไม่ปรับ อย่าเอาไปตีความ เป็นเรื่องการตัดสินใจของผมเอง ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา” วันนี้ขอเน้นเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง, การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งภาคการท่องเที่ยว และการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ

วันนี้ผมได้มีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งได้แจกจ่ายให้กับผู้สื่อข่าวขอให้ลงนำเสนอข่าวกันให้ครบถ้วน รวมทั้งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

ซึ่งก็มีทั้งมาตรการระงับ หรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรม หรือเดินทางไปประชุมในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง ก็ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการตนเองที่บ้าน แต่ถ้ามีไข้ ก็อาจต้องถูกตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการควบคุมโรค

ส่วนการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการประชุม หรือการท่องเที่ยว การกีฬาต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ อะไรเลื่อนได้ก็เลื่อนเถอะ ก็ขอความร่วมมือด้วย หากจำเป็นต้องจัดอยู่ ก็ควรต้องมีมาตรการดูแลและคำนึงถึงปัญหาสุขภาพเป็นหลัก

ประชุมรับ “ผีน้อย” กลับบ้านพรุ่งนี้

สำหรับคนไทยในเกาหลีใต้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับมา หรือที่เรียกว่า “ผีน้อย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าจะมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมในวันพรุ่งนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่ 100 กว่าคน แต่มีจำนวนหลายพันคน อาจจะไปถึง 10,000 คน ปัญหาใหญ่จะควบคุมดูแลคนจำนวนมากที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้อย่างไร หากเดินมาถึงประเทศไทยจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งต้องพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งเราจะต้องพยายามแก้ไขให้ดีที่สุด แต่ไม่มีอะไรที่จะแก้ได้ 100% เพราะว่าเรื่องนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งยารักษาที่เราผลิตได้เอง ซึ่งต้องมีการทดลองการใช้กันต่อไปเหมือนกับประเทศจีน

ต่อคำถามที่ว่ารัฐบาลมีการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ตนได้มีการหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการทั้งหมดว่าจะมีการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างไร

วันนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้งหมด 11 โรงงาน มีกำลังการผลิตเดือนละ 30 ล้านชิ้น เฉลี่ยวันละ 1 ล้านชิ้น แผนการจัดสรรหน้ากากอนามัยนั้น ก็ต้องจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ทางการแพทย์วันละ 3.5 แสนชิ้น ที่เหลือ 6-7 แสนชิ้นต่อวัน ก็จะต้องนำมาจำหน่ายให้ทั่วถึง โดยผ่านร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้าประชารัฐ และจัดสรรให้ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงด้วย

สั่งผลิตหน้ากากทางเลือก 50 ล้านชิ้น

ปัญหาถัดมา โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่งใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาโรคระบาดแบบนี้ วัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน, ไต้หวัน และอินโดนีเชีย เมื่อประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ลดปริมาณการส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้ นี่คือปัญหาในการผลิตของโรงงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดทำโครงการหน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้า หรือที่เรียกว่า “หน้ากากทางเลือก” ซึ่งผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงสั่งให้มีการเร่งการผลิตภายใน 10 วัน ให้ได้จำนวน 50 ล้านชิ้น เพื่อจัดสรรให้กับประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังก็ได้มอบให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ไปศึกษาหามาตรการสนับสนุนโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งจัดหาแหล่งวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย

จับ 51 ราย “กักตุนหน้ากาก-ขายเกินราคา-ลักลอบส่งออก”

“แต่สิ่งที่ต้องระวังตอนนี้ คือการป้องกันกลุ่มคนที่ไปหาประโยชน์จากการกักตุนหน้ากากอนามัย ขายเกินราคา หรือพวกลักลอบส่งหน้ากากอนามัยออกไปขายต่างประเทศ รวมทั้งพวกที่หลอกลวงโพสต์ขายหน้าอนามัยออนไลน์ โอนเงินไปแล้ว ไม่มีหน้ากากอนามัยส่งให้ลูกค้า ขอเตือนนะ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจับกุมดำเนินคดีไป 51 ราย ซึ่งมีโทษจำคุกประมาณ 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่เป็นห่วงที่เรื่องคือหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะติดเชื้อ ตอนนี้ทิ้งกันอย่างแพร่หลาย ไหลลงคลอง ท่อระบายน้ำ อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เตรียมหารือรับแรงงานเกาหลีใต้กลับบ้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเดินทางกลับมาของแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ตามที่ช่วงเช้ามีสัมภาษณ์ พล.อ. ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการกักตัวว่าเราไม่มีกฎหมายไปบังคับกักตัวได้ ในความเป็นจริงจะจะต้องนำไปหารือกับ ครม. อีกครั้ง ซึ่งใน ครม. มีข้อเสนอจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าอย่างน้อยทางเกาหลีใต้มีมาตรการว่าจะต้องกักตัว 14 วันก่อนจะออกมาจากระเทศได้ และหากใครมีอาการป่วยจะไม่สามารถกลับได้ ดังนั้นในเบื้องต้นอย่างน้อยจะต้องกักตัวไว้ที่เกาหลีใต้ 14 วันก่อน

ขณะที่สำหรับกรณีของประเทศการจะดำเนินการอย่างไรเมื่อแรงงานเหล่านั้นกลับมาแล้ว ในรายละเอียดจะหารืออย่างชัดเจนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ว่าจะกักตัวอีก 14 วันอย่างไร จะแยกตัวแบบกรณีอู่ฮั่นหรือจะกักตัวที่บ้าน

“ไม่ได้ไม่มีมาตรการใดๆ แต่จะเข้มข้นมาเพียงใดของให้ติดตามในวันพรุ่งนี้ ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตื่นตระหนกในเรื่องนี้ นอกจากนี้ทาง ครม. ยังมีแนวคิดจะตั้งกองทุนโควิด-19 เพื่อจัดหาและดูแลเรื่องโรคระบาดในปัจจุบัน โดยรัฐมนตรีหลายท่านที่เสนอว่าจะเสียสละเงินเดือนคนละเดือนมาตั้งต้นให้ในเดือนนี้ แต่ไม่ได้บังคับ ซึ่งทุกท่านยินดีจะเข้าร่วม” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

คลอดมาตรการเร่งด่วน สกัดการแพร่ระบาด “ไวรัส โควิด-19”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ในการประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ด้าน รายละเอียดดังนี้

ด้านป้องกันโรคและสุขภาพและด้านผลกระทบ ด้านแรกมี 14 ข้อ

1) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และหากมีความจำเป็นให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการกำหนดมาตรการเป็นการภายในต่อไป

2) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรม หลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดข้องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยในส่วนของการดูงานหรืออบรมหลักสูตร

ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณเป็นการดูงาน หรือจัดอบรมหลักสูตรภายในประเทศแทนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี้ยงได้ ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลกระทบต่อเอกชนคู่สัญญาน้อยที่สุด

3) ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (transit/transfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจำเป็นต้องสังเกตอาการ ปฏิบัติงานภายในที่พัก 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรมการข้าราชการพลเรือน จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับให้ข้าราชการปฏิบัติงานภายในที่พัก โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคัดกรองประชาชนกลุ่มดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนาหรือไปยังสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำกับดูแล การกักกันตนเอง ณ ที่พักอาศัย โดยให้มีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างชุมชน จิตอาสาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสถานพยาบาลในพื้นที่ ในการติดตาม เฝ้าระวังตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด

4) จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณากรข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสาธารณชน โดยฉพาะในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในทุกมิติ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และขอความร่วมมือประชาชปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและการป้องกัน

5) มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการของสินค้ที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น หน้ากากอนามัยและน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลา โดยควรจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าที่จำเป็นดังกล่าวตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน และสถานที่ เช่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประชาชนทั่วไป

6) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการป้องกันการกักตุน และควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น หน้ากากอนามัยและน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้ออย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์

7) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร และท่ารถ อย่างเคร่งครัด

8) ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างใกล้ชิด

9) มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่/พื้นที่สำหรับสังเกตอาการในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายโรคระบาด หรือพาหะนำโรคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

10) ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติม ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้มีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับดำเนินการอย่างเพียงพอ

11) ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา

12) ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้ที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม และจัดให้มีสวัสดิการพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว

13) ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หากมีความจำเป็น

14) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการค้าตามปกติ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ

ด้านบรรเทาผลกระทบจากโรค

1) มอบหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดทำมาตรการบรรเหาผระทบและกระตุ้นเศรษฐกิกการแพระบาตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพื่อเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาโดยเร็ว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งให้ข้อมูลและสื่อสารกับสาธารณชน เพื่อให้เกิดเอกภาพและสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ผ่านศูนย์ซื้อมูลมาตรการแกขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่จะได้มีการจัดตั้งขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล ในการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยครอบคลุมด้านต่างๆ ดังนี้ มาตรการทางภาษี มาตรการด้านสินเชื่อและพักชำระหนี้มาตรการด้านงบประมาณ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน มาตรการการจ้างงานและพัฒนาทักษะ และมาตรการด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นในชุมชน

สธ.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขว่า การประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยมีสาระสำคัญว่า

1) เมื่อพบผู้เดินทางที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโดยมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศเซลเซียสขึ้นไป ร่วมก้มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่งให้ดำเนินการประสานกับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อนำผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นเข้ารับกาตรวจ รักษา รับการชันสูตรทางการแพทย์ แยกกักหรือกักกัน ตามสมควรแก่กรณี

2) เมื่อพบผู้เดินทางที่ไม่เป็นหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พิจารณาดำเนินการดังนี้

    • ให้ผู้ที่มีที่พักอาศัยประจำภูมิลำเนาในประเทศไทย กักกันตัวเอง ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน โดยห้ามออกจากที่พักอาศัยดังกล่าว เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติตต่อ ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตามท้ายประกาศนี้อย่างเคร่งครัด
    • ให้ผู้ที่ไม่มีที่พักอาศัยประจำภูมิลำเนาในประเทศไทย แสดงหลักฐานดังต่อไปนี้ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หลักฐานที่พักอาศัยที่ตนจะอาศัยอยู่ในระยะเวลา 14 วัน, หลักฐานว่าเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแลที่พักยินยอมให้พักอาศัย และหลักฐานว่าที่พักอาศัยมีหลักแหล่งชัดเจนและติดตามตัวได้
    • ในกรณีที่ผู้เดินทางไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯประสานพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ส่งกลับต่อไป
    • กรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯพิจารณาหลักฐานและเห็นสมควรอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวเดินทางเข้ามาในไทยได้ ให้บุคคลดังกล่าวกักตัว ณ ที่พีกอาศัย 14 วัน โดยห้ามออกจากที่พักอาศัย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อฯ

สำหรับการเผ้าระหว่างอาการและรายงานตัว แจ้งให้บุคคลดังกล่าวทำการบันทึกอาการในระบบรายงานตัวและติดตามอาการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดด้วยตนเองจนครบ 14 วัน ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่สามารถทำการบันทึกในระบบรายงานตัวและติดตามอาการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้ ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการติดตามอาการจนครบระยะเวลา 14 วัน และบันทึกข้อมูลในระบบฯ ดังกล่าวแทน และหากบุคคลดังกล่าวมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าตัวเองป่วย ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมงนับแต่พบว่าตัวเองมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วย เพื่อเข้ารับการตรวจ รักษารับการชันสูตรทางการแพทย์ แยกกักหรือกันกัน ตามสมควรแก่กรณี

สุดท้ายการนับระยะเวลา 14 วันให้เริ่มนับถัดจากวันที่ผู้เดินทางได้เดินทางมาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและให้แจ้งต่อผู้เดินทางให้ทราบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

อนุมัติงบกลาง 1,233 ล้าน แก้ไวรัส โควิด-19 ระยะที่ 2

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ได้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงความพร้อม การเตรียมการป้องกันและควบคุมโรค โดยขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในการควบคุมระดับที่ 2 ซึ่งเป็นระดับการแพร่เชื้อในวงจำกัดด้วยการติดต่อระหว่างบุคคล ถ้าหากเราควบคุมในระยะนี้ได้ผล สถานการณ์ก็จะยุติในระยะที่2 แต่ถ้าควบคุมไม่ได้จะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการแพร่ระบาดในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ระยะที่ 3 อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล เวชภัณฑ์ยา โดยขณะนี้ยังไม่มียารักษาโควิด-19 โดยตรง แต่มียาฆ่าเชื้อไวรัสที่สามารถรักษาตามอาการ และให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน สิ่งสำคัญต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่รับเชื้อหรือแพร่เชื้อ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อไม่ให้การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอของบกลางจำนวน 1,233 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระยะที่ 2 ภายในห้วงระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่มีนาคมถึงพฤษภาคม แบ่งเป็น 1. การเฝ้าระวัง คัดกรอง ตรวจจับ และติดตามผู้สัมผัส ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ช่องทางเข้าออกทุกช่องทาง ทั้งสนามบิน ช่องทางธรรมชาติ ทางเรือ พื้นที่โรงพยาบาลในชุมชน 2. การดูแลรักษา ตรวจวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ และ 3. การสื่อสารความเสี่ยง ลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการประสานงาน ตัดสินใจ และการบูรณาการทำงานร่วมกัน

สั่งทูตพาณิชย์หาแหล่งผลิต “ตัวกรอง” ป้อนโรงงานหน้ากาก

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องความเพียงพอของหน้ากากอนามัย เมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมหารือกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งเชิญผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัช โรงพยาบาลเอกชน เพื่อมาให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นและหาทางออกเรื่องการขาดแคลนในปัจจุบัน

โดยในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการทรวงพาณิชย์ได้นำเรียน ครม. 4 ประเด็น คือ 1) เรื่องการผลิต ได้เน้นย้ำว่าโรงงานที่สำรวจ 11 โรงงานมีกำลัง 36 ล้านชิ้นต่อเดือนและสามารถเร่งผลิตได้สูงสุด 38 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยประเด็นสำคัญที่ไม่สามารถทำได้มากกว่านี้คือวัตถุดิบตัวกรองที่ไม่สามารถผลิตได้เองและต้องนำเข้าจากจีน, ไต้หวัน และอินโดนีเซียเป็นหลัก

“แต่ในสองส่วนนี้มีปัญหาโรคระบาดเหมือนกันจนทำให้การนำเข้ายากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้หาวัตถุดิบจากอินโดนีเซีย ซึ่งขอชะลอการส่งมอบและขอขึ้นราคาด้วย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พณ. ได้รับทราบความยากในการหาวัตถุดิบ ก็ให้ทูตพาณิชย์แสวงหาว่าที่ใดสามารถผลิตตัวกรองนี้ได้บ้าง”

ในประเด็นที่สอง เรื่องการกระจายสินค้า รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงกับ ครม. ว่าในระยะต่อไปจะส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำทุกโรงงานและต้องแจ้งบัญชีการผลิตและการกระจายสินค้าไปที่ใดในทุกวัน พร้อมทั้งส่งข้อมูลมายังศูนย์กระจายหน้ากาก เพื่อคำนวณว่าความต้องการจริงของแต่ละสถาบันมีเท่าไหร่ในแต่ละช่วงเวลา เพราะหัวใจของการกระจายคือต้องให้สถาบันทางการแพทย์มีหน้ากากอนามัยเพียงพอใช้และประชาชนจะต้องเข้าถึงได้ในราคา 2.5 บาท ดังนั้นการบริหารข้อมูลจะสำคัญมาก ซึ่งข้อมูลจากโรงงานทั้งหมดจะเข้ามายังศูนย์นี้ก่อนจะกำหนดแนวทางการกระจายสินค้าต่อไป

“การกระจายจะเน้นที่สถาบันทางการแพทย์ ร้านค้าปลีก ร้านขายยา และสายการบินด้วย แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงมาก แต่จะให้ขาย 2.5 บาท แต่เพื่อการบรรเทาผลกระทบ พณ.จะวิเคราห์ต้นทุนและจะใช้ความช่วยเหลือต้นทุนแก่ผู้ลิตต่อไป ทั้งนี้จากกำลังการผลิตหากคิดเป็นตัวเลขต่อวันจะผลิตได้ 1.2 ล้านชิ้น โดย 3.5 แสนชิ้นไปที่หน่วยงานสาธารณสุข ที่เหลือก็กระจายออกไปยังร้านค้าปลีก โดยมีโควตาวันละ 6 แสนชิ้นต่อวัน”

ประเด็นที่ 3 คือเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัยจากเดิมมีมาตรการห้ามส่งออกเกิน 500 ชิ้น แต่วันนี้แม้จะนำออกเพียง 1 ชิ้นจะต้องอนุญาต เพราะไทยมีหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอในปัจจุบัน แต่ยกเว้นในกรณีที่โรงงานที่ไม่ได้ขายในประเทศไทยอยู่แล้ว เช่นในใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมระดับสูงอยู่ด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายด้วยการกักตุนและขายหน้ากากในราคาสูง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินคดี 51 คดี เป็นหน้าร้าน 46 คดี ออนไลน์ 5 คดี โดยส่งให้อัยการฟ้องต่อไป ทั้งนี้การจับกุมผู้กระทำผิดออนไลน์ วันนี้จะประสานไปกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้หาต้นทางต่อไป

“ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ว่าอย่าให้เปิดขายหน้ากากอนามัยที่โก่งราคา และถ้ามีอีกเจ้าของแพลตฟอร์มจะถูกดำเนินคดีด้วย นอกจากนี้ยังมาตรการกำหนดการครอบครองหน้ากาอนามัยที่ต้องแจ้ง โดย พณ. จะต้องส่งเรื่องไปที่ กกร. ว่าจะให้แต่ละคนครอบครองได้ และถ้ามีเกินกว่านั้นจะต้องแจ้งให้ราชการรับทราบ”

สุดท้าย เมื่อหารือเกี่ยวกับการผลิตตัวกรองเองภายในประเทศ ทาง ครม. ได้เสนอให้กระทรวงการคลังและสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไปหารือมาตรการส่งเสริมเรื่องการผลิตตัวกรองเองด้วย

“ตัวกรองจะเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ และผลิตในประเทศยังไม่ได้ เมื่อวานที่ประชุมก็สอบถามว่าการผลิตเองจะใช้เวลานานแค่ไหน ก็น่าจะ 5-6 เดือน ดังนั้นในระยะสั้นอาจจะยาก แต่ในระยะยาวต้องมองไปว่าอาจจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนากำลังการผลิตและการผลิตได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ส่วนในวันนี้ยังเพียงพออยู่ แต่ในระยะ 5 เดือนต้องดูความต้องการของโลกจะต้องการเพียงใด และทั้ง 3 ประเทศผู้ผลิตหลักจะต้องการเพียงใด สมมติถ้าระบาดขึ้นมาแล้วประเทศต้นทางกำหนดให้ส่งออกไม่ได้ ก็อาจจะขาดแคลนได้ ดังนั้นก็รณรงค์ให้ใช้หน้ากากผ้าสำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรงตามปกติ”

จัดงบกลาง 225 ล้าน ผลิตหน้ากากผ้า

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบเรื่องการผลิตหน้ากากทางเลือก เนื่องจากการผลิตหน้ากากอนามัยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ พร้อมทั้งอนุมัติงบกลางปี 2563 ในโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อนำไปผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น คิดเป็นต้นทุน 4.5 บาท ต่อชิ้นและแจกจ่ายฟรีให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบและไปให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้ผลิต โดยได้รับการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยจะมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

แจงผลกระทบสหรัฐตัดสิทธิ GSP

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวชี้แจงถึงการตัดสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและบังคับในวันที่ 25 เมษายน 2563 ว่า จากสินค้า 573 รายการที่จะได้รับผลกระทบที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยก็ไม่ได้ใช้สิทธิครบทั้งหมด 1,500-1,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.1% ของสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

โดยเหตุผลที่ตัดสิทธิคือประเทศไทยไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามาตรฐานสากล โดยเน้นไปที่แรงงานต่างด้าว โดยมีความต้องการให้ไทยปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำลังยกร่างอยู่ที่กฤษฎีกา แต่สหรัฐฯ ยังติดใจในบางประเด็น เช่น การให้แรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน เสรีภาพในการพูดแก่ลูกจ้าง และการเข้าสหภาพแรงงานที่เป็นลูกจ้างแบบรับเหมาค่าแรง โดยในตัวกฎหมายของไทยได้ฟังประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนและยังมีบางส่วนเห็นแย้งอยู่

อีกประเด็นคือการเปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ เนื่องจากเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกามีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง แม้ว่าสหรัฐฯ จะขอให้เปิดรับส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อหรือเครื่องในได้หรือไม่ แต่ไทยไม่เปิดรับทั้งหมด เพราะเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงเจือปนจะไม่รับนำเข้าทั้งหมดตามกฎหมายของไทย ทั้งนี้ การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนเป็นสิทธิของสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป

จ่ายบำเหน็จเจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด 11,292 คนกว่า 74 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดดีเด่น ประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวนรวม 11,292 อัตรา จากกำลังพลทั้งหมดที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด อัตราเฉลี่ยคนละ 6,570 บาท รวมเป็นเงิน 74.19 ล้านบาท

ทั้งนี้ ครม. ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษายาเสพติด ปี 2562 เช่น 1) พัฒนาการเรียนควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิตและการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้นักเรียนระดับประถมศึกษา 28,279 แห่ง 2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา 10,619 แห่ง 3) ร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง สามารถจับกุมได้ 1,023 คดี ผู้ต้องหา 2,021 คน ของกลางยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า 444 ล้านเม็ด กัญชา 17,278 กิโลกรัม ยาไอซ์ 19,043 กิโลกรัม เฮโรอีน 3,343 กิโลกรัม และสารตั้งต้นเคมีภัณฑ์เป็นจำนวนมาก 4) การจับกุมคดียาเสพติดในประเทศ 3.6 แสนคดี ปริมาณของกลาง ยาบ้า 518.89 ล้านเม็ด กัญชา 1.4 หมื่นกิโลกรัม ไอซ์ 1.6 หมื่นกิโลกรัม เฮโรอีน 941 กิโลกรัม 5) ยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด 1,819 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สิน 949 ล้านบาท 6) การบำบัดรักษายาเสพติด นำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการรักษา 2.29 แสนราย

เห็นชอบร่างปฏิญญาการเมืองว่าด้วยสถานภาพสตรี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างปฏิญญาการเมืองที่จะมีการลงนามในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสถานภาพสตรี ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาชาติ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 9-20 มีนาคมนี้ โดยสาระของปฏิญญาการเมือง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ตั้งแต่ปี 2539 แสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ โดยเน้นการส่งเสริมความเสมอภาค การพัฒนาศักยภาพสตรี สำหรับปฏิญญาการเมืองที่จะลงนามในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเร่งทำให้ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กผู้หญิงเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิงได้เต็มขั้น รวมถึงประเทศสมาชิกจะยืนยำคำมั่น ภายในปี 2030 ทุกประเทศจะต้องมีการปฏิบัติดังนี้ 1) ขจัดกฎหมายที่มีลักษณะแห่งการเลือกปฏิบัติ 2) มีกลไกในทุกระดับเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 3) สอดแทรกเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศและการส่งเสริมพลังสตรีและเด็กผู้หญิงในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม 4) สร้างบรรทัดฐานของสังคมให้ตระหนักถึงบทบาทและศักยภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง และขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และ 5) ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมพลังผู้หญิงและเด็ก

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านนี้ว่า ได้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้นำร่องความร่วมมือกับ 24 องค์กรทั้ง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทเสนาดีวิลอปเมนท์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทกรุงศรีคอนซูเมอร์ บริษัทเครือเซ็นทรัล บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามประกาศเจตนารมณ์การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ ประกอบด้วย

1) การแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล

2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล

3) การประกาศรับสมัครงานไม่ระบุเพศโดยกำเนิดหรือเพศสภาพ/เพศภาวะ

4) การใช้ถ้อยคำ ภาษา และกิริยาท่าทางไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ

5) การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในสัดส่วนที่เหมาะสมนำไปสู่สังคมเสมอภาค

6) การป้องกันและการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และจะมีการเสนอ ครม. ให้พิจารณาเรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อประกาศใช้แก่องค์กรโดยทั่วไปต่อไป

แก้กฎหมายทำแท้ง – มอบ สธ.กำหนดเงื่อนไข

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบปรับแก้ กม.อาญา มาตรา 301 “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก” ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน และมาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และคำวินิจฉัยจะมีผลบังคับใช้หนึ่งปีจากนี้

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงยุติธรรมไปร่วมกันปรับปรุงแก้ไข และกำหนดเงื่อนไขที่จะอนุญาตให้ทำแท้ง เช่น ระยะเวลาอายุครรภ์ หรือเหตุผลทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ยืนยันไม่ใช่การอนุญาตให้ทำแท้งเสรี

เงินชดเชย “ชิม-ช้อป-ใช้” ไม่เสียภาษี

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562) โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้เงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ยกเว้นภาษี กำไรซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยการเริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

รับทราบผู้ชนะประมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. พิจารณาตามมติคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คณะทำงานสรรหาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

โดยได้คะแนนข้อเสนอโครงการลงทุน ส่วนที่ 1 Land Use & Masterplaning 55.25 คะแนน (จาก 60 คะแนน) ส่วนที่ 2 Business Model/Milestone/Feasibility 14 คะแนน (จาก 20 คะแนน) และส่วนที่ 3 ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า 20 คะแนน (จาก 20 คะแนน) รวมทั้งสิ้น 89.25 คะแนน (จาก 100 คะแนน) พร้อมทั้งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทน (ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า) ให้แก่ทางราชการจำนวน 321 ล้านบาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด 54,107,687 บาท (ขั้นต่ำกำหนด 266,892,313 บาท/50 ปี หรือ 250,000 บาท/ไร่/50ปี) รวมทั้งชำระค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 36,000 บาท/ไร่/ปี และปรับปรุงอัตราค่าเช่า ร้อยละ 15 ทุก 5 ปี

ทั้งนี้ รูปแบบโครงการจะแบ่งเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 1,067-2 -27.7 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี โดยกิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมมูลค่าโครงการ ประมาณ 830 ล้านบาท โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

(1) พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ขนาดพื้นที่รวม 610 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ประเภทกิจการ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาหาร และเกษตรแปรรูป โลจิสติกส์และคลังสินค้า

(2) พื้นที่ส่วนกลาง (Amenity Core Zone) ขนาดพื้นที่รวม 87 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 เช่น สำนักงานผู้ลงทุนและบริษัทต่าง ๆ หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้าชายแดน ศูนย์การประชุม

(3) พื้นที่สีเขียว (Green Space) ขนาดพื้นที่รวม 370 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35 เช่น พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ (Training Center) สวนสาธารณะ โครงข่ายถนน

ประกาศ 10 พ.ค. เป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการประกาศให้มีวันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึก และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการปกป้อง ดูแลรักษา ปลูกฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์ตลอดไป

ครม. จึงได้พิจารณาวันที่เหมาะสมในการประกาศให้วันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี สื่บเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรกและส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการดำเนินงาน จัดกิจกรรมนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลนในวันป่าชายเลนแห่งชาติในทุกๆ ปี

เห็นชอบพิษณุโลกเป็นเมืองเก่า

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้พิษณุโลกเป็นขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าและกำหนดกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลก สืบเนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มดำเนินการศึกษากำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเมืองเก่าพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้การกำหนดเขตพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน รวมทั้งวัดที่มีความสำคัญในพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก เนื่องจากเมืองเก่าพิษณุโลกจัดอยู่ในเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจน เช่น เป็นชุมชนโบราณที่มีความสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนานเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนล่างและมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดเมืองหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

“ทั้งนี้ ให้จังหวัดพิษณุโลก พิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไปและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

สำหรับขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ครอบคลุมอาณาบริเวณกำแพงเมือง คูเมืองพิษณุโลก พระราชวังจันทน์ วัด และโบราณสถานสำคัญ โดยมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ (zoning) ดังต่อไปนี้

• พื้นที่หลัก เนื้อที่รวมประมาณ 0.553 ตารางกิโลเมตร (345.30 ไร่)

• พื้นที่ 1-1 คือ พระราชวังจันทน์ และโบราณสถานสำคัญ เช่น สระสองห้อง วัดโพธิ์ทอง วัดพระศรีสุคต และวัดวิหารทอง รวมไปถึงพื้นที่อาคารศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน เนื้อที่ประมาณ 0.416 ตารางกิโลเมตร (259.86 ไร่)

• พื้นที่ 1-2 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นบริเวณวัดและโบราณสถานสำคัญของเมือง ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ เนื้อที่ประมาณ 0.137 ตารางกิโลเมตร (85.44 ไร่)

• พื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ พื้นที่บริเวณภายในขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลกทั้งหมดนอกเหนือจากพื้นที่หลัก มีเนื้อที่รวมประมาณ 2.277 ตารางกิโลเมตร (1,423.125 ไร่)

เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาจากปัญหาภัยแล้งจนทำให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ทันและเสียหายไปกว่า 6 ล้านไร่ ในปีนี้จึงมีข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีที่กังวลว่าจะไม่สามารถผลิตได้ทัน โดย ครม. รับทราบจากกรมการข้าวว่าสามารถเร่งผลิตพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มให้เพียงพอสำหรับภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเน้นที่ข้าวหอมมะลิและภาคเหนือจะเน้นที่ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ

“ทางกรมการข้าวจึงแบ่งวิธีการว่าจะแบ่งเมล็ดพันธุ์อย่างไรให้เพียงพอต่อการแจกจ่าย ในขั้นแรกได้เรียกผู้ประกอบการข้าวว่าตลาดโลกต้องการข้าวประเภทไหนบ้าง ปรากฏว่าเป็นข้าวหอมพื้นนุ่ม ซึ่งตอนนี้ที่มีปัญหาคือพื้นที่ภาคกลางคือปลูกข้าวแข็งที่เอาไปทำข้าวนึ่งและแป้ง และเป็นประเภทข้าวที่ประเทศเพื่อนบ้านผลิตได้มากพอสมควร ดังนั้นในปีนี้ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางจะเน้นการผลิตข้าวพื้นนุ่มและจะเร่งนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตได้ไปให้ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปีที่แล้ว”

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2563 เพิ่มเติม