ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจงกฎเกณฑ์กองทุนพยุงสภาพคล่องตราสารหนี้ เครดิตเรตติ้งขั้นต่ำต้อง BBB-

ธปท.แจงกฎเกณฑ์กองทุนพยุงสภาพคล่องตราสารหนี้ เครดิตเรตติ้งขั้นต่ำต้อง BBB-

29 เมษายน 2020


เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ได้จัดงาน Media Briefing เรื่อง แนวทางการดำเนินงานกรอบการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ Corporate Bond Stabilization Fund(BSF) โดยนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF นั้น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กลไกการบริหาร 2 ระดับ

นางสาววชิรา กล่าวว่าสำหรับกลไกการบริหารจะประกอบด้วย 2 คณะกรรมการ แก่ คณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee: SC) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุน คัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ผู้สอบบัญชี และผู้ดูแลผลประโยชน์ และคณะกรรมการลงทุน (Investment Committee: IC) ทำหน้าที่คัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุน คัดเลือกที่ปรึกษา รายงานผลการดำเนินงานให้ SC

ใครมีสิทธิ์ขอเข้าร่วม BFS บ้าง

ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลอยู่ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยต้องเป็นบริษัทปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว มีแนวโน้มดำเนินธุรกิจต่อได้ มีแผนจัดหาเงินทุนในอนาคต และมีหนังสือรับรองว่าสถาบันการเงินจะไม่ลดวงเงินสินเชื่อเดิมหรือเรียกหนี้คืนก่อนกำหนดตลอดช่วงที่กองทุนฯลงทุน

นอกจากนั้นต้องเป็น “บริษัท” ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เช่นเดียวกัน หากได้รับการจัดอันดับจากหลายแห่งให้ยึดอันดับที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก และตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดจะต้องมียอดคงค้างก่อน 19 เมษายน 2563 มีวันครบกำหนดไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564 และเป็นตราสารหนี้ที่เสนอขายทั่วไป ไม่รวมตราสารหนี้และตั๋วเงินที่ขายในวงเงินจำกัดต่ำกว่า 10 คน

“ที่กำหนดค่อนข้างชัดเจนว่าเราจะดูแลตราสารหนี้ที่เป็นระดับลงทุนได้ จาก 3.6 ล้านล้านบาทของตลาดตราสารหนี้ ซึ่ง 90% ในนี้ก็อยู่ในระดับลงทุนได้ และส่วนใหญ่ก็เสนอขายกับประชาชนทั่วๆไป จึงต้องเข้ามาดูแล ส่วนตราสารหนี้ที่ต่ำกว่าระดับลงทุนก็จะเป็นการขายเฉพาะกลุ่มและขนาดก็ไม่ได้ใหญ่ รัฐบาลก็พูดคุยกับผู้ถือตราสารหนี้เก่าให้ลงทุนต่อไป หรือขอให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ขอเงินทุนจากธนาคารเพิ่มเติมด้วย”

ในด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน ต้องจัดหาจากที่อื่นมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด โดยแบ่งเป็นส่วนแรกอย่างน้อย 20% จะต้องออกตราสารใหม่อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปีขายให้ผู้ถือกลุ่มต่างๆ ส่วนที่สองอีกอย่างน้อย 20% จะต้องขอสินเชื่อใหม่หรือออกตราสารใหม่อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปีจากสถาบันการเงิน และส่วนที่เหลือกรณีที่สองส่วนแรกรวมกันไม่ถึง 50% จะต้องจัดหาจากแหล่งทุนอื่น เช่นเจ้าของ ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทแม่

“สำหรับเงื่อนไขว่าทำไมต้องเป็นสามขา คือนักลงทุน สถาบันการเงิน และกองทุนฯ อันแรกเราก็อยากให้ตลาดตราสารหนี้เดินต่อไปได้ด้วย มีสภาพคล่องในตลาดเพียงพอ จึงให้กลุ่มนักลงทุนทั่วไปเข้ามา แล้วอันที่สองเราให้สถาบันการเงินเข้ามา เพราะว่าเขามีความรู้ด้านเครดิตที่ดีกว่าดูว่าธุรกิจจริงๆแล้วพื้นฐานดีแต่ตอนนี้อาจจะขาดสภาพคล่องไปบ้าง พอสถาบันการเงินเข้ามาดูก็ช่วยยืนยันว่าธุรกิจเหล่านี้น่าจะฟื้นตัวไปต่อหลังวิกฤตได้จริงๆ แต่ตอนนี้มีปัญหาทางด้านสภาพคล่องจริงๆ”

กองทุน BSF ช่วยเหลืออย่างไร

สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่ซับซ้อนและไม่ด้อยสิทธิ อายุไม่เกิน 270 วัน กรณีผู้ออกตราสารหนี้ให้หลักประกันแก่ผู้ถือหุ้นกู้อื่นที่ออกในคราวเดียวกัน หุ้นกู้ที่กองทุนฯลงทุนจะต้องได้รับหลักประกันที่ไม่ด้วยกว่าด้วย โดยมีต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF หรือคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และบวกค่าการบริหารจัดการ (Facility Premium) 1% ต่อปีสำหรับวงเงิน 30% ของยอดครบกำหนดตราสารหนี้ และ 2% ต่อปีสำหรับส่วนที่เกินกว่า 30%

นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น หากยังไม่ได้ไถ่ถอนต้องนำเงินไปฝากในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ต้องเตรียมวางแผนจัดหาเงินทุนระยะยาว อีกด้านหนึ่งจะเป็นข้อห้าม เช่น ห้ามลดทุน เว้นแต่ทำเพื่อล้างขาดทุนสะสมและเพิ่มทุนใหม่ ห้ามซื้อคืนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิจากผู้ถือหุ้นเดิม ห้ามชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดหรือให้กู้เพิ่มให้แก่กรรมการ เจ้าของ และผู้ถือหุ้น รวมไปถึงบริษัทในกลุ่ม (ยกเว้นเป็นไปเพื่อธุรกิจปกติ) ห้ามชำระคืนหนี้ทางการเงินอื่นๆก่อนครบกำหนด ห้ามจ่ายเงินปันผล ห้ามจ่ายโบนัสให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูง 2 ลำดับแรก ห้ามนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปวางเป็นประกันเพิ่มเติมระหว่างได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี

สำหรับบริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน นอกจากนี้บริษัทสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ขายให้ก่อนกำหนดได้เช่นกัน

คาดอาจจะเสียหาย 40,000 ล้านบาท

นางสาววชิรา กล่าวว่ากองทุนฯยังมีมาตรการการบริหารความเสี่ยงตามหลักการลงทุนและธรรมาภิบาลที่ดี เนื่องจากเป็นกองทุนฯที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ไม่ใช่เพื่ออุ้มเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยในด้านการลงทุนสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่อวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท แต่ละรายจะต้องไม่เกิน 3% ของวงเงินรวม และแต่ละกลุ่มธุรกิจต้องไม่เกิน 10% ของวงเงินรวม ต้องลงทุนในตราสารหนี้ไม่เกิน 10% ของหนี้สินทางการเงินของแต่ละบริษัท และมีการบริหารสภาพคล่องของกองทุนระหว่างรอตามกรอบการลงทุน

ในด้านธรรมภิบาลให้คณะกรรมการทั้งสองคณะรายงานความเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ของกรรมการด้วย ด้านกรรมการลงทุนจะต้องรายงานผลต่อคณะกรรมการกำกับทุก 3 เดือน และบลจ.ที่ดูแลจะต้องเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานเป็นรายเดือนในวันทำการแรกของเดือนต่อไป

“สำหรับการรายงานในช่วงแรกอาจจะรายงานกันบ่อยหน่อยเป็นเดือนละครั้ง ส่วนบลจ.ที่คัดเลือกมาจะทำหน้าที่ลงทุนและบริหารจัดการแทนคณะกรรมการ โดยปัจจุบันได้คัดเลือกบลจ.กรุงไทย”

สำหรับคำถามเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและกรอบวงเงินชดเชยที่รัฐบาลจะรับภาระแทนเพียง 40,000 ล้านบาทนั้น นางสาววชิรา กล่าวว่าต้องแยกกันเป็น 2 ส่วน อันแรกเป็นหน้าที่หลักของธปท.คือ ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องที่มองเสถียรภาพว่า ปัญหาสภาพคล่องอาจจะลามไปยังเศรษฐกิจและเสถียรภาพโดยรวมด้วยจึงต้องเข้ามาดูแล แต่พอต้องไปลงทุนมีเรื่องของเครดิตหรือความเสียหายแล้ว รัฐบาลก็จะเข้ามารับผิดชอบตรงส่วนนั้นไปโดยหลักการ

“เราก็มีการประเมินว่าความเสียหายจะประมาณไหนจากความเสี่ยงที่มี ก็คิดว่า 40,000 ล้านบาท แต่ถ้าเพิ่มเติมมากกว่านี้ ก็ต้องพูดคุยเพิ่มเติม แล้วยังต้องดูสถานการณ์ด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อนาคตก็อาจจะแก้ไขปรับเปลี่ยนได้”

ความเชื่อมั่นตลาดเริ่มกลับมาจากมี.ค.

นางสาววชิรา กล่าวถึงสถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันว่าจากช่วงแรกที่คนไม่มั่นใจ ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในต่างประเทศที่คนไม่มั่นใจว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรและเริ่มหันมาถือเงินสดแทน ตลาดตราสารหนี้ก็ปรับตัวผลตอบแทนสูงขึ้นมาก และส่งผลต่อกองทุนรวมในไทยคือราคาของกองทุนลดลง คนก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าจะเป็นอย่างไรจึงเริ่มไถ่ถอนไปมาก ช่วงนั้นธปท.ก็มีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องผ่านธนาคาร ตอนนี้คนก็กลับมาถือเหมือนเดิม ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น บางบริษัทที่อันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating)ยังดียังสามารถออกหุ้นกู้ได้ด้วยซ้ำ แม้ไม่ได้ไม่ได้กลับมาปกติเท่าที่ควร แต่ดีขึ้นกว่าเดือนมีนาคมค่อนข้างมาก

“การจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ”