ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐีไทยช่วยชาติ…ในยามวิกฤติ

เศรษฐีไทยช่วยชาติ…ในยามวิกฤติ

18 เมษายน 2020


บรรยง พงษ์พานิช

เห็นข่าวรัฐบาลเชิญมหาเศรษฐียี่สิบอันดับแรก ให้เข้ามาหารือเพื่อร่วมกันช่วยชาติในยามวิกฤติแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างครับ (นี่ถ้าเชิญสักห้าหมื่นอันดับผมอาจจะได้เข้าทำเนียบอีกทีด้วย)

ผมเองมีความรู้สึกสองด้าน คือด้านที่รู้สึกดีว่ารัฐจะได้กระตุ้นให้ผู้ที่มีล้นเหลือหันมาร่วมมือกันแบ่งปันเผื่อแผ่ ซึ่งความจริงผมก็เห็นทุกท่านทำกันมาอยู่แล้ว บางท่านก็มีโครงการดี เช่น สร้างโรงงานทำหน้ากากแจกฟรี สั่งซื้อเครื่องตรวจที่มีประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลต่างๆ บริจาคทานให้ผู้เดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ หลายท่านก็ทำมาตลอดตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤติ สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน บริจาคมากมาย ถวายพระราชกุศล ฯลฯ

การที่เรียกมาประชุมร่วมกัน ในแง่นี้ จะมีประโยชน์ก็แค่สองอย่าง คือ หนึ่ง จะได้แบ่งงานกันทำ แบ่งภารกิจ แบ่งพื้นที่ ให้ทั่วถึง ไม่ให้ซ้ำซ้อน หรือถ้ามีภาระกิจใดที่ใหญ่เกินไปที่รายเดียวจะรับภาระได้ก็จะได้ร่วมกันทำ

แต่แม้ในแง่ดีนี้ ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่สองเรื่อง คือ หนึ่ง ถ้าเป็นโครงการของรัฐ รัฐก็น่าจะทำได้เองอยู่แล้ว เพราะออก พ.ร.ก. ไปตั้งเกือบสองล้านล้านบาท ถ้ามีเรื่องจำเป็น ก็ทำได้เลย ถ้าเงินไม่พอ ก็ออก พ.ร.ก. เพิ่มได้ ถ้าจะใช้ทรัพยากรเอกชน ก็จ่ายเงินเขาไป มันง่าย ควบคุมได้ และทำให้โปร่งใสได้ ง่ายกว่าเยอะ

แต่ที่ผมกลัวที่สุด ก็คือไปเรียกให้เข้าแถวมาบริจาคเหมือนคราวภัยพิบัติ ซึ่งเสร็จแล้วก็เอาเงินมากองไว้ ใช้ได้ยากมาก …เพราะฉะนั้น ในแง่ที่ว่าดีนี้ ถ้าเป็นการที่รัฐจะทำตัวเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ประสานรวบรวมทรัพยากรพิเศษเพื่อไปจัดการนั้น มันขัดกับหลักที่ว่าภาครัฐไม่มีทางที่จะมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวเท่าเอกชน (ก็ให้คล่องทีไร มันรั่วทุกทีนี่ครับ)

ผมก็คิดว่าให้เอกชนเขาทำไปเองเถอะครับ รัฐเพียงแต่ให้ข้อมูลข่าวสาร ว่าที่ไหนเดือดร้อนอะไร แล้วปล่อยเขาว่าไป

ทีนี้มาอีกด้านหนึ่ง คือรัฐเชิญเข้ามาปรึกษาเพื่อนำไปสร้างนโยบายและมาตรการที่จะรักษาระบบเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาภาคส่วนที่มันเดือดร้อน อันนี้นัยว่าเหล่ามหาเศรษฐีล้วนเป็นคนเก่งคนดี ย่อมมีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ อันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าจะต้องระวังอย่างมาก ควรเป็นไปในแนวทางที่รับฟังข้อมูล รับฟังปัญหา ถ้าจะมีข้อเสนอก็ควรเป็นแค่ข้อเสนอ การจะนำไปปฏิบัติจะต้องทบทวนพิจารณาอย่างถ้วนถี่ และการขับเคลื่อน ถ้าจะใช้ทรัพยากรเอกชนก็น่าจะเป็นในลักษณะว่าจ้าง มี arm’s-length กันตามสมควร อย่าถึงกับให้เอกชนออกนโยบาย คุมนโยบาย หรือออกเงินขับเคลื่อนนโยบายเลยครับ

ขอยกตัวอย่างโครงการ “สานพลังประชารัฐ” ที่เริ่มต้นก็มีเจตนาดี ตั้งกรรมการสิบกว่าคณะ จะเปลี่ยนประเทศให้เป็น 4.0 เอกชนรายใหญ่เข้าไปร่วมกันครบครัน (ผมก็เข้าไปร่วมด้วย…นั่งฟังประชุมสี่ชั่วโมง ไม่มีคำว่า ส่งเสริมการแข่งขัน จำกัดการผูกขาด เปิดเสรีการแข่งขัน แม้แต่คำเดียว) ผลก็คือ ทำกันมาห้าปีเศษ (ไม่รู้ยังมีใครยังทำอยู่บ้างครับ…ผมเผ่นมาสามปีแล้ว) เราก็ยังไม่ใกล้ 4.0 ไปเลยแม้แต่นิดเดียว ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนก็ยังแย่ลง คอร์รัปชันไม่ลด มีแค่เหล่ามหาทั้งหลายที่มีทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (ตามที่ Forbes เขาว่านะครับ)

ความจริงแล้ว ตามทฤษฎี ตามประวัติศาสตร์ เขาว่า สงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ และโรคระบาดร้ายแรงนี่เป็นเครื่องลดความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพ เกิดขึ้นทีไร ความเหลื่อมล้ำลด แต่มันลดในแง่ไม่ดี เพราะคนรวยจะโดนมากกว่าคนจนเยอะครับ

…คราวนี้ก็เหมือนกัน เหล่ามหาที่ท่านเชิญมา ทรัพย์สินรวมลดไปแล้วหลายล้านๆ บาท หายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์กันทุกคน ท่านก็ต่างเดือดร้อนกันเอง จะรักษาดูแลกิจการ ดูแลผู้คนของตัวก็ยังเป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว แถมรัฐต้องใช้เงินมหาศาลขนาดนี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่า ท่านๆ ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมากแน่นอน (ถ้าเรียกมาบอกเรื่องนี้เท่านั้น ขอให้อย่า “วางแผนภาษี” มากเกินไปก็น่าจะเป็นประโยชน์พอแล้วครับ)

ตามปกติแล้ว มหาเศรษฐีนี่จะมีสามจำพวก (ผมแบ่งเองนะครับ) คือ 1. พวกค้ากับโลก 2. พวกค้าในชาติ และ 3. พวกค้ากับรัฐ

พวกค้ากับโลกก็คือ พวกที่ผลิตสินค้าและบริการขายไปทั่วโลก รายได้มากกว่า80% มาจากนอกประเทศ พวกนี้ก็เช่น สตีฟ จอบส์, บิล เกตส์, ซักเคอร์เบิร์ก, แจ็ก หม่า Ortega (เจ้าของ Zara), Arnault (เจ้าของ LVMH), Samsung, Sony ฯลฯ

พวกค้ากับชาติ คือ พวกที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่กับคนในชาติตนเอง รายได้ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจ non-tradables เช่น อสังหาฯ สถาบันการเงิน โรงพยาบาล รีเทล โทรคมนาคม สาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน คมนาคม ฯลฯ พวกนี้ถึงอาจจะไม่ค้ากับรัฐโดยตรง แต่ก็ต้องอยู่ใต้กฎรัฐมาก ต้องถูกควบคุมโดยรัฐ (เช่น ห้ามผูกขาด ฯลฯ)

พวกที่สาม คือ พวกที่ค้าขายกับรัฐโดยตรง พวกที่ขายสินค้าและบริการให้รัฐหรือรัฐวิสาหกิจ พวกที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ (ซึ่งก็คือเช่าการผูกขาดมาจากรัฐ) พวกนี้จะยากดีมีจนขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ และความสัมพันธ์กับรัฐ

ผมจะไม่ไล่ให้นะครับ ว่ามหาเศรษฐีไทยคนไหนเป็นพวกไหน ทุกคนไล่ได้เอง …ถึงตอนนี้ ต้องเน้นว่า ผมไม่ได้ว่าใครผิดนะครับ ทุกคนมีสิทธิ์แสวงหาความร่ำรวยได้ครับ เพียงแต่ขอให้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่บิดเบือนตลาด ไม่บิดเบือนนโยบาย และไม่จ่ายเงินคอร์รัปชันเพื่อให้ได้มาซึ่งการบิดเบือนอำนาจรัฐ นโยบายรัฐ …รัฐมีหน้าที่ที่ต้องคอยดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ดูแลเรื่องความโปร่งใส ไม่ให้มีการครอบงำตลาด

ในทฤษฎีคอร์รัปชันนั้น การคอร์รัปชันขั้นสูงที่น่ากลัวที่สุดก็คือ “การกุมรัฐ” (state capture) ซึ่งก็คือ การที่เอกชนสามารถกุมนโยบายรัฐ หรือควบคุมรัฐให้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองได้

…อีกครั้งนะครับ ผมกำลังไม่ได้กล่าวหาใคร แต่เรื่องอย่างนี้ต้องระวังอย่างที่สุด ไม่ให้มีแม้แต่โอกาสที่จะเกิด

อย่างในยามวิกฤติที่ต้องการความเร่งด่วน ความชุลมุน การบิดบือน ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่างที่ ขณะที่ ท่านปลัดฯ ต้องตากหน้าลงไปเจรจาขอร้องประชาชนที่เดือดร้อนให้อดทนรอ แต่ท่านก็ให้รัฐวิสาหกิจที่ท่านเป็นประธานอาศัยช่วงชุลมุนออกมาตรการเยียวยาเอกชนที่ค้าขายด้วยให้ได้ลดค่าสัมปทานไปรวดเดียวสองปี (ออกมาตรการตั้งแต่ยังไม่ปิดเมือง ปิดสนามบินซะอีกอีก …ทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ) คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้าน เยียวยาท่านมหาไป

นี่แหละครับ ความเป็นห่วงของคนเสียภาษีคนหนึ่ง ที่สนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการเด็ดขาดสู้โควิดมาตลอด สนับสนุนให้รัฐใช้ทรัพยาการเพิ่มขึ้นให้เต็มที่เพื่อเอาชนะโรคร้าย กับดูแลเศรษฐกิจไม่ให้วิกฤติ ดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้เดือดร้อน และเตรียมตัวที่จะยินยอมเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อการนี้

ขอเน้นเป็นครั้งที่สามนะครับ ว่า ไม่ได้กล่าวหาใคร เพียงขออนุญาตส่งเสียงเตือนในฐานะประชาชนไว้เท่านั้นนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 18 เมษายน 2563