ThaiPublica > คอลัมน์ > การค้าแบบ “จีทูจี” & “บาร์เทอร์เทรด” (เรื่องไร้สาระ…มายาคติที่สังคมไม่ค่อยสำเหนียก)

การค้าแบบ “จีทูจี” & “บาร์เทอร์เทรด” (เรื่องไร้สาระ…มายาคติที่สังคมไม่ค่อยสำเหนียก)

22 กุมภาพันธ์ 2014


บรรยง พงษ์พานิช

เวลามีการประกาศว่า รัฐทำการค้าแบบ “รัฐต่อรัฐ” หรือ “จีทูจี” ทีไร หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็จะรายงานเสมือนหนึ่งว่าเป็นผลงานเลิศล้ำของรัฐบาล อย่างกับเป็นนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นเรื่องตรงกันข้าม มันหมายถึงการค้าแบบบ้อท่า หรือไม่ก็มีความหละหลวม สามารถยกเว้นกฎระเบียบปกติ เกิดช่องทางให้มีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นได้มาก

ปกติ การที่รัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้า จะต้องมีเหตุผลความจำเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า “รัฐนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ” สู้เอกชนไม่ได้ แถมมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตรั่วไหล ดังนั้นสินค้าใด ประเทศใด ที่มีเอกชนดำเนินการอยู่ รัฐจึงไม่ควรเข้าไปยุ่ง ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปดีกว่า

G to G ที่มีในโลกจึงต้องมีเหตุผล เช่น 1) การค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยที่รัฐเข้ามาเกี่ยวอันเนื่องมาจากเหตุผลด้านความมั่นคง 2) การค้าสินค้าที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น พลังงาน การขนส่ง 3) การค้าสินค้าจำเป็นของประเทศด้อยพัฒนา ที่ตลาดยังไม่มีกลไก 4) การค้าในประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่ยังใช้ระบบ Centrally Planned เพราะไม่อนุญาตให้มีเอกชน ซึ่งตอนนี้ก็เหลือไม่กี่ประเทศแล้ว แต่ก็ยังคงมีพวก Transition Economy เช่น จีน ที่ยัง transition ไม่เสร็จ เลยยังมี “รัฐวิสาหกิจ” ที่ทำหน้าที่ค้าขายอยู่ แต่เขาก็เปลี่ยนวิธีการเป็นแบบเอกชนไปแล้ว แถมมีการกระจายหน้าที่ กระจายกิจการไปตามแคว้นต่างๆ มีหน้าที่หากำไร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แบบ “รัฐ” อีกต่อไป (เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า “รัฐวิสาหกิจจีนยังมีการโกงกินกันสูงยิ่ง) ฯลฯ

พอเราบอกว่าจะค้าขายแบบ “G to G” ก็เท่ากับเราตัดคู่ค้าออกไปค่อนโลกเลยทีเดียว เพราะประเทศพัฒนาแล้วไม่มีรัฐบาลไหนแส่เข้ามาทำหน้าที่ซื้อขายสินค้าประเภท commodity เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ลำไยอบแห้ง (พวกที่รัฐไทยชอบไปรับจำนำ รับซื้อมากักตุน ภายใต้ข้ออ้างว่า “เพื่่อช่วยเหลือเกษตรกร” ไงครับ) คงเหลือแต่ประเทศยากจน และพวก transition เช่น จีน ดังที่บอก การค้าที่มุ่งลดผู้ซื้อ ลดอุปสงค์สินค้าตัวเองลงไปกว่าครึ่ง จึงเป็นเรื่องโง่เง่าไร้สาระได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะสินค้าที่ว่าทุกอย่างมีกลไกตลาดสากลที่มีประสิทธิภาพสูงแทบทั้งนั้น

แล้วทำไมรัฐบาลไทย แทบทุกยุคทุกสมัยจึงนิยมค้าขายแบบ G to G เสียเหลือเกินล่ะครับ…

คำตอบง่ายมากครับ เพราะนักการเมืองและข้าราชการอยากเข้าไปมีบทบาทในด้านการค้าไงครับ เพราะการมีบทบาท มีอำนาจดำเนินการ มีงบประมาณให้ใช้ ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะได้เก็บเกี่ยวกับการรั่วไหลไงครับ เมื่อรัฐเข้าไปสอดแทรกเป็นผู้ขาย ย่อมต้องมีการจัดซื้อ (เป็นเรื่องหวานคอแร้งทุกที) มีการจัดเก็บ มีการขนส่ง (รั่วได้ทุกขั้นตอน)

แต่ความจริงเรื่องรั่วไหลที่ว่าก็เกิดได้แม้จะเป็น G to Private (รัฐกับเอกชน) ซึ่งว่าไปก็เลวร้ายรั่วไหลไม่น้อยเหมือนกัน แต่ G to G มันยิ่งกว่านั้น เพราะมันหมายถึงการได้รับยกเว้น ไม่ต้องเอาระเบียบสำหรับการค้าระหว่างรัฐกับเอกชนมาบังคับใช้ ทำให้ความโปร่งใสลดลงไปอีก แถมสามารถเก็บเป็นความลับได้ (ตามที่คุณยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์เพิ่งอ้างเมื่อเร็วๆ นี้) และยังมีข้ออ้างได้สารพัดที่จะขายต่ำเป็นพิเศษ เช่น เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ประเทศยากจน หรือไม่ก็อ้างว่าเพื่อตอบแทนในเรื่องอื่นๆ แก่มิตรประเทศ

อย่างการค้าสินค้าเกษตรให้กับ “รัฐวิสาหกิจจีน” ที่ทำให้ได้รับยกเว้นระเบียบไปด้วย ผมยืนยันได้ว่าผู้ซื้อเขามีวิธีการเช่นเดียวกับเอกชนทุกประการ คือมุ่งซื้อของให้ถูกสุด มุ่งเอาเปรียบผู้ขายให้มากสุด แถมถ้าได้ลดมาก ก็พร้อมที่จะ kick back ให้เต็มที่ (ลองนึกภาพ ถ้า ปตท. ซื้อนำ้มันจากติมอร์แล้วพยายามให้ราคาสูงเพื่อช่วยเขาดูสิครับ ว่าเป็นไปได้ไหม)

สรุปได้ว่า เรื่องการค้า G to G นี้เป็นเรื่องเลวร้าย ที่รัฐใช้หลอกสังคมมาตลอด

แล้วบาร์เทอร์เทรด (Barter Trade) ล่ะ ดีเลวอย่างไร ที่เราจะเอาสินค้าของเราไปแลกกับสินค้าของชาติอื่นเขา ซึ่งก็ฟังดูดีอีกเหมือนกัน เพราะว่าดูเหมือนจะช่วยให้เราขายสินค้าได้ด้วย ไม่ใช่สักแต่จะซื้อจากเขาอย่างเดียว

เรื่องนี้ยิ่งแย่กว่าเสียอีก…ซึ่งผมจะขออธิบายเป็นข้อๆ นะครับ

1) ตั้งแต่โลกพัฒนาด้านการเงินกับการค้ามาตลอด สินค้าแทบทุกชนิดโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นประเภท commodities มีกลไกตลาดของตนเอง การชำระด้วยเงินทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการค้าขึ้นมากมาย รวมทั้งช่วยให้การจัดเก็บ การขนส่ง รวมไปถึงกระบวนการด้านการตลาด มีความสะดวก ลดการซ้ำซ้อน และมีต้นทุนลดลงได้มาก คำว่า Barter Trade แทบจะเป็นประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์ สูญพันธุ์ไปจากระบบการค้าปกติ เหลือเพียงรถกระบะวิ่งตามซอย ประกาศเอาไข่แลกของใช้แล้ว หรือรถกะบะแถวอีสานเอากะละมังแลกกับสุนัข รวบรวมจะเอาไปส่งขายเวียดนาม

2) Barter Trade ที่ยังคงมีเหลืออยู่บ้าง ก็ต้องมีเหตุผลพิเศษจริงๆ เช่น เป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประเทศที่ยากจนมากๆ หรือไม่ก็มักจะเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ไม่มีตลาดโลก มีความแตกต่างด้านคุณภาพ ขายยาก ซึ่งมักเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น พวกเครื่องจักร เครื่องกล เพราะอยากขายมาก เลยเอาเงื่อนไขว่า ถ้าใครยอมซื้อก็จะยอมซื้อของเขาบ้าง มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการขาย

3) จากเหตุผลข้อ 2) ข้างบน ทำให้ประมาณได้ว่า ถ้าสินค้าเรามีสภาพคล่องสูง มีราคาตลาดโลก เราก็ไม่น่าจะเอาไปแลกอะไรกับใคร สู้เอาไปขายเอาเงินสด แล้วค่อยไปชอปปิ้ง เลือกซื้อสินค้าเอาตามใจชอบ ต่อรองขูดรีดคนขายได้ตามสะดวก แถมสินค้าเราจะได้ถูกส่งให้ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องมีต้นทุนจัดเก็บ ขนส่งซับซ้อน ซึ่งใครจะเป็นคนจ่ายเค้าก็ต้องมาหักจากมูลค่าสินค้าเรา หรือไม่ก็ไปบวกในราคาสินค้าเขา

ดังนั้น สรุปได้ว่า Barter Trade เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ยิ่งเอาสินค้าเกษตรไปแลกของไฮเทคยิ่งเป็นเรื่องห่วยมาก ยิ่งทำโดยรัฐต่อรัฐยิ่งเป็นเรื่องห่วยมากที่สุด เป็นมายาคติที่สังคมและสื่อไม่รู้ทัน

ถ้าใครจำได้ เมื่อเกือบสิบปีก่อน รัฐบาลเคยเข้ารับซื้อลำไยทุกผล เอามาอบแห้ง ตามบัญชีมีอยู่หลายแสนตัน แล้วประกาศจะเอาไปแลกหัวรถจักรรถไฟ พอประกาศปั๊บก็รู้ทันทีเลยว่า ต้องไปแลกกับจีนแหงๆ ตัดคู่แข่ง ตัด supplier อื่นๆ หมดโลก เป็นการล็อกสเปกเห็นๆ เพราะลองคิดดูสิครับ สมมุติสวีเดนมีรถไฟคุณภาพดี ราคาถูก อยากจะเข้าเสนอขายแข่ง แต่เขามีพลเมืองแค่ห้าล้านคน จะเอาลำไยอบแห้งห้าแสนตันไปทำอะไร ได้ร้อนในกันทั้งประเทศพอดี และก็เป็นอย่างคาด ทำ MOU แลกกับจีน ท่ามกลางคำคุยโอ่ในความสำเร็จ สื่อสดุดีกันทั่ว แต่พอเอาเข้าจริงปรากฏว่าไม่มีลำไย กลายเป็นสต็อกลม สต็อกเน่าเกือบทั้งหมด เล่นเอาท่านทักกี้ลมออกหู ย้าย รมต. ไปอยู่แรงงาน แล้วก็มั่วๆ กลบเกลื่อนเรื่องไปได้ขุ่นๆ (ก็กรูนั่งในดวงใจประชาชนนี่หว่า สื่อก็สั่งได้ ใครจะทำมาย)

สรุปว่า ห่วย ไร้สาระ ทั้ง G to G ทั้ง Barter Trade แต่ทั้งนักการเมือง ทั้งข้าราชการ ทั้งหน่วยงานรัฐช่างนิยมกันเหลือเกิน เพราะการได้จัดซื้อ จัดเก็บ จัดส่ง มันเป็นเหตุให้มีการรั่วการไหล (เข้ากระเป๋า) ได้ทุกขั้นตอน ยิ่งพอเป็น “รัฐต่อรัฐ” ยิ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำวิธีปฏิบัติที่ต้องโปร่งใสมาใช้ ยิ่งเข้าทาง ยิ่ง Barter Trade ยิ่งได้จัดซื้อ 2 ครั้งยิ่งเป็นที่นิยม (ก็จัดซื้อลำไยทีนึง จัดซื้อหัวรถจักรอีกทีนึง)

ถ้าสังเกต จะเห็นว่าการซื้อขายแบบ G to G กับ Barter Trade มักนิยมทำกับจีน หรือพวกประเทศสังคมนิยมที่ยัง transition เป็น Market Economy ไม่เสร็จ ยังมีรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชนเยอะแยะ กับประเทศที่มี Corruption Perception Index ห่วยๆ พอๆ กับเรา เพราะการจัดให้มีการรั่วไหลมันทำได้สะดวก หรือบางครั้งถ้ามีทำกับประเทศพัฒนาแล้ว ไปขุดคุ้ยดูให้ดี ก็จะพบว่ามีพวกหน่วย lobbyist มีตัวกลางคั่นกลางในรูปแบบต่างๆ

ผลพลอยได้อีกอย่างสำหรับนักการเมือง คือ สามารถใช้กลบเกลื่อนความล้มเหลวในโครงการบางอย่างได้ดี ลองสมมติดูว่า (สมมตินะครับ ผมไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง) รัฐไปตกลงเอาข้าวจำนวนมหาศาลที่เก็บไว้ (นาทีนี้รัฐบาลไทยมีข้าวประมาณ 17 ล้านตัน มากที่สุดเท่าที่ใครเคยมีในประวัติศาสตร์โลก และจะเป็นกินเนสบุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด ตลอดกาล) เอาไปแลกกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง (กับจีนแน่นอนครับ ไม่มีใครอยากได้ข้าวเยอะขนาดนี้นี่ครับ) โดยตีราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาด (ให้ตันละสี่หมื่นเลยเอ้า) แล้วไปแลกรถไฟความเร็วสูงสักสองสามสาย เทิร์นคีย์ในราคาเดียวกัน 680,000 ล้าน ทั้งๆ ที่จริงๆ มูลค่าควรเป็นแค่ 400,000 ล้าน พอปิดบัญชีข้าว เราก็เลยรอดตัว ไม่ขาดทุนจากโครงการ “จำนำข้าว” สักบาท (หนังสือพิมพ์ก็ได้กลับไปด่าเจ๊สุภา ว่าโกหกใส่ร้ายรัฐบาลมาตลอด) ส่วนไอ้รถไฟราคาโคตรแพงก็ช่างมันปะไร ยังไงเราก็บอกอยู่แล้วว่ายอมขาดทุนเพื่อความเจริญ ไอ้ส่วนเกิน 280,000 ล้าน ก็ถูกตัดค่าเสื่อมระยะยาวสามสิบปีอยู่แล้ว หนี้สินก็ผลักไปห้าสิบปีให้ลูกหลาน (ไอ้สนามบินมูลค่าแสนล้านที่กรูสร้างแสนสี่หมื่นล้านก็ใช้เทคนิคทำนองนี้มาแล้วนี่นา)

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สุดท้ายก็เท่ากับเรายกเอาสต็อกข้าวทั้งหมด ที่อุตส่าห์กักตุน หวังปั่นราคา (ซึ่งขาดทุนจนบักโกรกประเทศแทบล้มละลาย) ให้กับจีน ซึ่งเขาคงไม่โง่กักตุนต่อ แต่เอาไประบายในตลาดโลกจนราคาข้าวไหลรูดกลับมาให้รัฐไทยต้องเริ่ม “รับจำนำ” รอบใหม่ พอบวมได้ที่ ก็พอดีต้องลงทุนรถไฟด่วนอีก วนเวียนสักสามรอบ เราก็ได้รถไฟด่วนทั่วประเทศ แต่ประเทศคงล้มละลาย

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมชักเสียว ว่าเรื่องสมมุติที่จินตนาการขึ้นมาอาจจะมีเค้ามูลความจริง ก็เห็นท่านเร่งรีบมุบมิบกันทั้งสองเรื่อง “จำนำข้าว” กับ “ลงทุนสองล้านล้าน” มันอาจจะถูกบูรณาการมาประสาน ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ จนชาวประชางงงวยดูไม่ออก มั่วๆ กลบเกลื่อนกันไปได้อีกคราว

ยังไงๆ ก็ช่วยกันจับตา อย่าให้รัฐบาลนำเอาเทคนิค G to G หรือ Barter Trade มาใช้มั่วๆ อีก ถ้ายังขืนทำ รุมกันเป่านกหวีดใส่ให้หูแตกไปเลยครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich