การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ United Nations Conference on Trade and Development (UNTACD) ออกรายงาน IMPACT OF THE CORONAVIRUS OUTBREAK ON GLOBAL FDI วิเคราะห์ผลกระทบของการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ต่อการลงทุนโดยตรงหรือ foreign direct investment (FDI) ทั่วโลก
ผลกระทบของไวรัสต่อ FDI
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสจะไม่เท่ากัน โดยผลกระทบจากความต้องการลดลงอย่างรวดเร็วจนติดลบจะกระจุกตัวในประเทศที่เศรษฐกิจได้รับผลรุนแรงจากการระบาดของไวรัส และผลกระทบจากการห่วงโซ่การผลิตที่ขาดตอนรวมทั้งการชะงักของการการผลิตจะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกที่ผูกติดอย่างมากกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลกระทบต่อการลงทุนยิ่งกระจุกตัวมากกว่านั้น โดยจะกระจุกตัวมากในประเทศที่ถูกกดดันให้ใช้มาตรการรุนแรงในการสกัดการระบาดของไวรัส
การระบาดของโควิด-19 จะชะลอการใช้เงินลงทุนของ MNEs และบริษัทในเครือที่มีฐานในต่างประเทศ ฐานการผลิตที่ระงับการผลิตหรือผลิตด้วยกำลังการผลิตต่ำจะชะลอการลงทุนใหม่ชั่วคราวในสินทรัพย์ที่จับต้องได้และชะลอการขยายตัว
การลงทุนโครงการใหม่ที่ได้เริ่มไปแล้วจะได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่นี้มีระยะเริ่มต้นที่นานและมีอายุการใช้งานที่สามารถขยายได้หลายทศวรรษ ผลกระทบในทันทีต่อการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้วและโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะอยู่ในวงจำกัด
การประกาศโครงการลงทุนใหม่ (โดยปกติจะบันทึกในฐานข้อมูล UNCTAD เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม) อาจจะล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับการควบกิจการที่จะชะลอตัว การควบรวมกิจการโดยทั่วไปเป็นการลงทุนระยะยาวในตลาดต่างประเทศ
ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์แสดงให้เห็นว่า การควบกิจการข้ามชาติมีมูลค่าต่ำกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ จาก 40-50 พันล้านดอลลาร์ มูลค่าปกติต่อเดือน
การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อตลาด ประสิทธิภาพ และการลงทุนเพื่อเสาะหาทรัพยากร การลงทุนเพื่อหาตลาดใหม่และโครงการ FDI ในภาคธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาจจะชะลอทั่วโลก เป็นผลจากดีมานด์ช็อก (demand shock) ซึ่งขณะนี้ภาวะความต้องการลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกิดขึ้นในจีน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยอดขายรถของโตโยต้าที่ลดลง 70% ในเดือนกุมภาพันธ์
นอกจากนี้ผลกระทบเห็นได้ชัดในตลาดหลักๆ นอกจากจีนเช่นกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น การท่องเที่ยวและการเดินทาง ค้าปลีกและค้าส่ง รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย
ผลกระทบทางลบต่อการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในเครื่องไม้เครื่องมือของการผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของโลกอย่างมากนั้น ในเบื้องต้นจะกระจุกตัวในจีน เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนที่อื่น อย่างไรก็ตาม อาจจะกระจายวงกว้างอย่างรวดเร็วออกนอกภูมิภาค ผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่คุณค่า
การส่งผ่านของผลกระทบจะเกี่ยวข้องกับประเทศที่ส่งสินค้าขั้นกลางและบริการให้กับการส่งออกของจีน และประเทศที่ต้องพึ่งพาสินค้าขั้นกลางจากจีน ตัวอย่าง คือ เฟียต ไครส์เลอร์ ที่ระงับการผลิต รถเฟียต รุ่น 500L ชั่วคราว ที่โรงงานในเซอร์เบีย เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนระบบเสียงจากจีน
MNEs กำไรหด กำไรที่นำกลับมาลงทุนลด
นอกเหนือจากผลกระทบเบื้องต้นต่อการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของ MNEs ให้มีการชะลอการใช้เงินลงทุนอย่างชัดเจนแล้ว กลไกของ FDI ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมอีกด้วยในอีกไม่นาน ได้แก่ กำไรของบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศจะลดลงเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้กำไรที่จะนำกลับมาลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ FDI นั้นลดลง
ในประเทศที่มีการระบาดของไวรัสรุนแรง กำไรที่นำกลับมาลงทุนมีสัดส่วน 40% ของกระแเสเงินลงทุนโดยตรง (โดยเฉลี่ยกำไรของบริษัทลูกในต่างประเทศในสัดส่วน 50% จะเก็บไว้ในประเทศที่เข้าไปลงทุน)
บริษัท MNEs ใน 100 อันดับแรก ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกวัดจากสินทรัพย์ในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศและพนักงานในต่างประเทศที่รายงานในรายงานประจำปี World Investment Report เป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อแนวโน้มการลงทุน
บริษัท MNEs จำนวน 69 แห่งใน 100 อันดับแรกของปี 2019 ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อธุรกิจ โดยที่ 41 รายเตือนว่ามีสัญญานความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อีก 10 บริษัทคาดว่ายอดขายจะลดลง ส่วนอีก 12 บริษัทคาดผลกระทบทางลบต่อการผลิตจากการที่ห่วงโซ่การผลิตขาดตอน และ 19 บริษัทคาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งสองด้าน
บริษัท MNEs ใน 100 อันดับแรกในกลุ่มรถยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดย 12 บริษัทส่งสัญญานผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญ (8 ใน 12 บริษัทนี้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอน) อีกทั้ง 9 ใน 13 บริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ก็ส่งสัญญานผลกระทบทางลบเช่นกัน บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า กลุ่มวัสดุพื้นฐานและกลุ่มเคมี และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคใน 100 อันดับแรกก็ได้เตือนเกี่ยวกับภาวะดีมานด์ช็อก
ปัจจุบันมี 23 บริษัท MNEs ใน 100 อันดับแรกได้เตือนถึงผลกระทบโดยตรงของการระบาดของโควิด-19 ต่อกำไรอย่างชัดเจน กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคส่งสัญญานว่าภาวะดีมานด์ช็อกขณะนี้ น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อกำไรมากกว่าการผลิตหรือการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต
มีบริษัทไม่กี่รายใน 100 อันดับแรกที่คาดการณ์แนวโน้มผลกระทบต่อกำไรลงไปอย่างเฉพาะเจาะจง หองไห่/ฟอกซ์คอน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งสินค้าให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีกำลังการผลิตหลักในจีน ได้ลดคาดการณ์การเติบโตของยอดขายทั่วโลกปี 2020 ลงจาก 3-5% เป็น 1-3%
ในภาพกว้างบริษัท MNEs ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ใน 5,000 อันดับแรก คาดการณ์กำไรรอบปีบัญชี 2020 ได้ปรับลดลงในเดือนที่แล้วในอัตราเฉลี่ย 9%
บริษัท MNEs ใน 5,000 อันดับแรก (วัดจากรายได้) ส่วนใหญ่ได้ปรับลดคาดการณ์กำไรตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพลังงาน กลุ่มวัสดุพื้นฐาน และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มรถยนต์ กลุ่มเดินทางและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด บริษัทในกลุ่มนี้โดยปกติแล้วเป็นนักลงทุนที่ใช้เงินรายสำคัญ
การปรับลดคาดการณ์ถึงปัจจุบันยังคงเป็นการลดคาดการณ์แบบระมัดระวัง การปรับลดเชิงลบค่อนข้างมากขึ้นในกลุ่มรถยนต์ เป็นผลจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในประเทศพัฒนาแล้วยังได้ไม่ได้รับผลจากดีมานด์ช็อก ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสยังกระจายในวงกว้างและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในประเทศพัฒนาแล้ว มีการปรับลดคาดการณ์กำไรลงเล็กน้อย โดยเฉลี่ย บริษัทญี่ปุ่นปรับลดคาดการณ์กำไรลงราว 9% สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของโลก แต่กระนั้นก็น่าจะเป็นการประเมินผลกระทบต่อบริษัท MNEs ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ใกล้และมีส่วนในห่วงโซ่อุปทานของประเทศเศรษฐกิจในเอเชียค่อนข้างมากนั้นต่ำเกินไป เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการปรับลดคาดการณ์ของบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ยังไม่สะท้อนผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอย่างเต็มที่ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ยอดขายรถในจีนของโตโยต้าที่ลดลงยังไม่สะท้อนในการปรับลดคาดการณ์กำไร
การปรับลดคาดการณ์กำไรลง 9% อาจจะมีผลต่อกำไรที่จะนำกลับมาลงทุน 52% บนสมมติฐานที่ว่า บริษัท MNEs ในวงกว้างจะประสบผลขาดทุนเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงผลขาดทุนจะกระจุกตัวกับบริษัทลูกที่อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบบาดของไวรัสรุนแรง ซึ่งมีผลต่อการนำกำไรกลับมาลงทุน
กดดัน FDI ติดลบ 5-15%
UNCTAD คาดการณ์แนวโน้มหลักของ FDI ไว้ใน World Investment Report ปี 2019 และตอกย้ำอีกครั้งในรายงาน Global Investment Trends Monitor ในเดือนมกราคม โดยประเมินว่ากระแสการลงทุนโดยตรงทั่วโลกจะทรงตัวในปี 2020-2021 และอาจจะเพิ่มขึ้นได้ 5% ซึ่งถือว่าน้อยสำหรับ FDI
จากการประเมินว่า การระบาดของไวรัสจะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจให้ติดลบ 0.5% ภายใต้สมมติฐานที่ว่าจะสามารถควบคมการระบาดของไวรัสได้ภายในครึ่งแรกของปี และเศรษฐกิจอาจจะติดลบ 1.5% หากการระบาดกระทบเศรษฐกิจโลกตลอดทั้งปี ซึ่งก็สอดคล้องกับองค์กรระหว่างประเทศรายอื่นๆ UNCTAD จึงประมาณการว่า จะมีผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกตั้งแต่ -5% ถึง -15% ในปี 2020 (โดยภาวะดีมาน์ดช็อกมีผลต่อเนื่องถึงปี 2021)
ผลกระทบส่วนใหญ่จะมาจากการชะลอการลงทุน เพราะได้รับผลจากภาะดีมานด์ช็อก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบที่สำคัญจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พึ่งพาห่วงโซ่การผลิตอย่างมาก และการระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้แนวโน้มการแยกตัวออกจากหรือการมีส่วนในห่วงโซ่อุปทานลดลง และมีผลให้กลับมาลงทุนในประเทศ จากความต้องการของบริษัท MNEs ส่วนหนึ่งเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตมีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น