ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เคาะ 6 มาตรการสู้ไวรัสฯ- มติ ครม. จัดงบกลาง 17,310 ล้าน เยียวยา “โควิดฯ-ภัยแล้ง”

“บิ๊กตู่” เคาะ 6 มาตรการสู้ไวรัสฯ- มติ ครม. จัดงบกลาง 17,310 ล้าน เยียวยา “โควิดฯ-ภัยแล้ง”

17 มีนาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“บิ๊กตู่” เคาะ 6 มาตรการสู้ไวรัสฯ ยันไม่มีปิดเมือง – ประเทศ มติ ครม.ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ พร้อมจัดงบกลาง 17,310 ล้าน เยียวยา “โควิดฯ-ภัยแล้ง”

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยในวันนี้นอกจากนายกรัฐมนตรีจะใส่หน้ากากผ้าที่ทำจากเศษผ้าเหลือใช้จากการตัดชุดของตนในการประชุม ครม. แล้ว ยังได้ใส่หน้ากากดังกล่าวตอบคำถามสื่อมวลชน ขณะเดียวกันบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลยังคงมีการวัดไข้ และฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือให้แก่ผู้ผ่านเข้าออกตึกบัญชาการที่นายกฯ แถลงข่าว

เชื่อหมอ ยังไม่เข้าเฟส 3 เตรียมมาตรการรองรับแล้วทุกมิติ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ยกระดับสถานการณ์การแพร่ระบาดสู่ระยะที่ 3 นั้นไม่สะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริง ว่า เรื่องนี้ต้องฟังแพทย์ด้วย ว่าสถานการณ์จะเข้าเกณฑ์ (ระดับที่ 3) เมื่อไรอย่างไร แต่เหล่านี้มีมาตรการรองรับไว้อยู่แล้วในทุกมิติ เราต้องเชื่อหมอ เชื่อสาธารณสุขของเรา และทำตามคำแนะนำ รวมถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐ

ต่อคำถามกรณีฝ่ายค้านจะขอเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายเสนอแนะเรื่องโควิด นายกรัฐมนตรี ระบุเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา

ยันไม่ปิดเมือง – ประเทศ เคาะมาตรการ 6 ด้าน รับมือโควิด-19

พล.อ. ประยุทธ์ ได้สรุปการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ปัจจุบันถึงแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่ว่ามีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ จึงจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนต้องทําความเข้าใจร่วมกัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือเพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอขอบคุณทุกส่วน ราชการที่ร่วมมือในการประสานงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

“ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ (การห้ามเข้า-ออก ) ขณะนี้ประเทศไทยควบคุมสถาการณ์และชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุกๆ ด้าน โดยถือว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีความสําคัญ เป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะได้ดําเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์โควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและ ปรับ/เพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป  นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ได้นําเรื่องมาเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณาการดําเนินการในด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3) ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4) ด้านการต่างประเทศ 5) ด้านมาตรการ ป้องกัน และ 6) ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

  • นายกฯแถลง “ไม่ปิดเมือง ไม่ปิดประเทศ” หมอเพียงพอ เตรียมโรงพยาบาลรับมือหากโควิด-19เข้าระยะ 3
  • สั่ง ตม. ตรวจพาสปอร์ตต่างชาติ สกัดเดินทางอ้อมเข้าประเทศ

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ครม. มีมติในด้านสาธารณสุข ในการป้องกันและสกัดกันการนําเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้

    สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย จาก 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน  ต้องมีประกันสุขภาพ ต้องยินยอมใช้ Application ติดตามของรัฐ โดยมาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ โดยให้หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ดูหนังสือเดินทางของชาวต่างประเทศด้วยว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคไหม แล้วแจ้งมายัง (มท.)

    “ประเทศก่อนที่เข้ามาประเทศไทยหากอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ก็จำเป็นต้องมีมาตรการให้เหมือนกับ 4 ประเทศที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการอ้อมเข้าประเทศจากการพักกลางทางมาก่อนแล้วเข้ามายังไทย ตอนนี้ให้ ตม. เขาไปดูในหนังสือเดินทางแล้วว่าก่อนหน้ามาไทยเขาไปที่ไหนมาบ้าง หากพบว่ามีการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวจะต้องถูกกักกันตามมาตรฐานของรัฐ เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน”

    สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง ที่ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ในส่วนของขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ มีที่พํานักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย ต้องยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ โดยมาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ และรวมถึงรัฐยังคงมีมาตรการกักกันของรัฐ ถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน ในรายที่ได้รับการประเมินแล้วมีความเสี่ยง

    ทั้งนี้ ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจําเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่ง เป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

    “รัฐบาลได้พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พํานัก ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2554 ให้มีการกําหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้มีการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว  รวมถึงจัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จําเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสําหรับรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค และแนะนําให้คนไทยที่พํานักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

    เร่งผลิตหน้ากากอนามัย – เจลล้างมือเพิ่ม รองรับเฟส 3

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการดำเนินงานด้านเวชภัณฑ์ป้องกันว่า ได้มีการสั่งเร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสําหรับการป้องกัน เจล แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุม/ชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ นําหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์ฯ เพื่อกระจายต่อไป สํารวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จําเป็น เช่น ชุดป้องกันสําหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 ละอุปกรณ์อื่นๆ ที่จําเป็น และประสานกับต่างประเทศเพื่อจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ อีกทั้งมีการเตรียมงบประมาณไว้จัดซื้อเพิ่มเติมแล้วเพื่อรองรับระยะที่ 3

    “วันนี้ทางกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปลดล็อกให้สามารถนำแอลกอฮอล์มาผลิตเป็นเจล หรือสิ่งที่ต้องใช้ในการแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้นหลายล้านลิตร รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย ซึ่งวันนี้ได้มีการผลิตเจลที่เตรียมการสำหรับแจกให้ประชาชนบริเวณสถานบริการน้ำมันบางจากและ ปตท. ด้วย ขอให้ประชาชนติดตามต่อไป”

    และเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและลดการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อ รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุม ชุมชน  โดยมีการตรวจสอบการขายออนไลน์ การกักตุน และการระบายของสินค้า วันนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่โรงงาน ไปจนถึงแหล่งขายต่างๆ ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ยึดได้จะนำส่งส่วนกลางและนำไปกระจายต่อให้ประชาชนต่อไป ที่ผ่านมามีการจับได้ประมาณ 40 ราย ซึ่งจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายทุกประการ

    “เรื่องหน้ากากเราได้เข้าไปดูที่ต้นตอ มีทั้งการกระจาย การทำไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ชัดเจนขึ้นมา วันนี้ในส่วนของการส่งออกต่างประเทศกำลังไปดูอยู่ว่ามีการส่งออกไปได้อย่างไร ส่งออกไปด้วยกติกาตัวไหน เพราะหลายผู้ประกอบการได้รับสิทธิในการผลิตและขายทั้งในและต่างประเทศ อีกอันหนึ่งคือการผลิตโดยใช้ใบอนุญาตจากต่างประเทศที่เขาจ้างผลิตอยู่ ตอนนี้กำลังเคลียร์ตรงนี้ออกมา อะไรที่สามารถดึงออกมาใช้ได้เราก็ดึงออกมาใช้ แต่ก็ต้องมีการเจรจาพูดคุยเรื่องค่าเสียหายให้เขาด้วยถ้าเขาทำถูกต้องอยู่แล้ว”

    ตั้ง “TEAM THAILAND” ช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน

    ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 1) กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข เป็นการแถลงภาพรวม และ 2) ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

    สำหรับด้านต่างประเทศ จะมีการจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ใช้ประโยชน์จาก Team Thailand ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ (Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีท่านทูตเป็นหัวหน้าทีม เช่นเดียวกับในประเทศที่ตนได้สั่งให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยที่มาจากภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อประสานข้อมูลกับศูนย์โควิดฯ ของรัฐบาลนี้ด้วย เพื่อรับฟังความคิดเห็น ตอบข้อซักถามและหาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือดูแล

    ผู้สื่อข่าวส่วมหน้ากากอนามัยขณะฟังแถลงข่าว

    สั่งปิดผับกทม.-ปริมณฑล 15 วัน สถานศึกษา 2 สัปดาห์

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า  ด้านมาตรการป้องกัน “ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง” โดยจะมีมาตรการดังนี้

    • ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ในสถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทํากิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วัน พุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดําเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยอาจมีการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ทั้งนี้เป็นมาตรการที่สถานศึกษาที่จะต้องดำเนินการเอง โดยกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมที่จะให้แนวการปฏิบัติสนับสนุน
    • สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทํากิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสียงต่อการแพร่เชื้อจากทางปาก สัมผัสเนื้อต้องตัว หรือใช้สิ่งของร่วมกันง่ายจำต้องปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
      • ปิดชั่วคราว  15 วัน สําหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการนวดแผนโบราณและโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
      • งดการจัดกิจกรรมรวมคนจํานวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย
      • เพิ่มมาตรการป้องกันสําหรับพื้นที่หรือสถานที่ที่ยังต้องเปิด เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจํานวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดําเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด ส่วน ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทําความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด
      • และเพื่อลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ
      • รัฐบาลได้ประกาศให้ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 12-15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ
      • ขอความร่วมมือในการงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจํานวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจํา โรงเรียน หรือหากจําเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจํากัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย
      • ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อนเวลาทํางานและการทํางานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทําแผนการทํางานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ
      • ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อํานาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2554 มาตรา 55 เพื่อจํากัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทําให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกําหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจํากัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด แจ้งมาตรการที่จะดําเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทราบและให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงาน ผลการดําเนินงานเป็นประจําทุกวัน ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอําเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

      ระดมหน่วยงานจัดเยียวยา “แรงงาน-ผู้ประกอบการ”

      พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว ว่า ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง เช่น มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม

      ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน ส่วนกลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในการผ่อนชําระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชําระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนําเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในระยะที่ 2 ต่อไป

      ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดีการขายฝาก รวมถึงสร้างขวัญและกําลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สําหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิดนําไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ในช่องทางต่างๆ ต่อไป

      มติ ครม. มีดังนี้

      นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

      จุรินทร์แจงไล่จับขายหน้ากากเกินราคา

      นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในการแถลงข่าววันนี้ขออนุญาตเรียนให้ทราบสั้นๆ ประเด็นเรื่องการจัดกุมดำเนินคดีเรื่องหน้ากากอนามัย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ วันนี้มีสองกณี อันแรกคือกรณีของการดำเนินคดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายหน้ากากออนไลน์ ซึ่งจะได้มีการดำเนินคดีกับร้านและขายหน้ากากอนามัยผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มช็อปปี้ โดยหน้ากากที่ร้านค้านำมาขายคือหน้ากากตรา welcare ราคากล่องละ 1050 บาท 50 ชิ้น ตกชิ้นละ 21 บาท รวมค่าส่งอีก 30 บาท โดยข้อหาคือขายเกินราคาที่กำหนด คุก 5 ปี 100,000 บาท ขณะเดียวกันคือข้อหาค้ากำไรเกินควร 7 ปี 140,000 บาท ถัดจากนี้ไปจะดำเนินคดีกับผู้

      “ต้องเรียนว่าการค้าออนไลน์ ภายหลังจากที่แจ้งความดำเนินคดีลาซาด้าแล้ว ก็ตรวจสอบพบว่าการกดหาหน้ากากในแพลตฟอร์มดังกล่าวจะหายไป แต่ว่าถ้าพบว่ามีการทำการลักษณะดังกล่าว สำหรับเรื่องนี้จึงขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่าการปล่อยปละละเลยให้มีการขาย ซึ่งผิดกฎหมาย แม้แต่การหลักเลี่ยงกรณีเช่นขายหน้ากากในราคา 2.5 บาทแต่คิดค่าบริการส่ง 400 บาท แบบนี้ก็เข้าข่ายเพราะมันรวมไปทั้งสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องด้วย หลังจากดำเนินคดีไปหลายแพลตฟอร์มก็หายไป แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ก็จะต้องดำเนินการ ส่วนหน้ากากผ้าไม่ได้ควบคุม รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากทางการแพทย์ เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ มีโอกาสได้ใช้ก่อน”

      กรณีที่สองคือกรณีที่หน่วยงานของกรมการค้าภายในได้ไปตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากที่สะแกงาม ชื่อโรงงานเนชั่นแนลคอตตอนโปรดักท์ Health Mask พบว่ามีการขายให้กับสเปเชียลตี้เท็คคอร์ปอเรชั่น เมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นหน้ากากทางเลือกที่ไม่มี อย. แต่ไม่ว่าจะโรงงานผลิตหน้ากากประเภทไหนก็ต้องแจ้งข้อมูลให้กรมการค้าภายใน ดังนั้นข้อหาที่จะดำเนินการคือไม่แจ้งข้อมูลการผลิต ข้อมูลต้นทุนและสต็อกให้กรมการค้าภายในทราบ คุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท และหาตรวจสอบต้นทุนแล้วขายเกินราคาที่กำหนดหรือค้ากำไรเกินควรก็จะแจ้งข้อหาต่อไป

      “หน้ากากทางเลือกกำหนดไว้ชัดเจนว่าการขายไปผู้ค้าส่งจะบวกได้ 10% จากต้นทุน เท่าที่ตรวจพบคือจำหน่ายชิ้นละ 3 บาทและมีต้นทุนเท่าไหร่ และคิดราคาขายเกิน 10% จากต้นทุนหรือไม่ ทั้งหมดนั้นจะนำไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจต่อไป ส่วนผลการจับกุมดำเนินคดีที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงฯได้แถลงทุกวันช่วงเช้า ข้อมูลล่าสุด 559 ราย เฉฑาะเมื่อวานมี 10 รายด้วยกัน กทม. 2 ราย ตรวจอีก 8 ราย”

      อย่างไรก็ดี สำหรับการกระจายหน้ากากวันนี้ ที่ประชุมของศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ได้พิจารณากระจายหน้ากากไปโดยมียอดกำลังการผลิต 1.8 ล้านชิ้นต่อวันและส่งให้กระทรวงสาธารณสุขได้ 1 ล้านชิ้นต่อวันไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ส่วนกรมการค้าภายในบริหารไปยังร้านค้าต่างๆ อีก 800,000 ชิ้น

      “เรื่องความเพียงพอของหน้ากากตอนนี้ ผมคิดว่ายังขาดแคลน มันมีเรื่องการผลิตที่จำกัดหมายถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ อันนี้มีกำลังการผลิตอยู่ล้านกว่าชิ้น ก่อนหน้านี้ 1.2 ล้านชิ้น ตอนนี้ก็ประสานให้เปลี่ยนไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านชิ้น และมีแนวโน้มว่าอาจจะเพิ่มได้อีก แต่ไม่ว่าจะเท่าไหร่แต่ถ้าความต้องการประชาชนพร้อมกัน 60 ล้านคนมันก็ไม่เพียงพอ แต่เรามีนโยบายว่าจะให้ผู้ที่มีความสำคัญลำดับต้นได้ใช้ก่อน จึงมุ่งเน้นไปที่สถานพยาบาลได้ใช้ก่อน ตัวเลขออกมาก็มากกว่าที่กระจายให้ประชาชนทั้งประเทศ”

      “เทวัญ” เช็คผู้ผลิต ยันสินค้าไม่ขาดแน่

      นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลมาตรการ แก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงข่าวว่า รัฐบาลกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกมาตรการเพื่อให้ผู้ป่วยใหม่มีให้น้อยที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้ โดยขอให้ระมัดระวังการรวมกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก โดยโรคนี้ป้องกันไม่ให้เป็นได้ โดยการล้างมือบ่อยๆ หรือมีความรู้สึกว่าป่วยให้ไปพบแพทย์ใกล้บ้าน ถ้าติดเชื้อจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากใครมีสุขภาพแข็งแรงยังไม่ต้องไปตรวจ เพื่อให้โรงพยาบาลเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยที่แท้จริง

      ทั้งนี้ หากประชาชนไม่มั่นใจสามารถโทรมายังสายด่วน 1422 หรือ 1111 เพื่อรับคำปรึกษาก่อน หรือทำแบบประเมินความเสี่ยงจากโรงพยาบาลราชวิถีที่เผยแพร่อยู่ในขณะนี้ก่อนได้  พร้อมยืนยันว่าการจากการสอบถามบริษัทผู้ผลิตสินค้าบริโภคยืนยันไม่ขาดแคลน ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติได้

      “สิ่งที่ประชาชนสอบถามมายังศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จำนวนมากคือ เรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มมีการกักตุนกัน ยืนยันว่าเราได้เชิญบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่มาสอบถามและพูดคุยกันแล้ว ทุกบริษัทยืนยันว่ามีการผลิตเพียงพอ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตได้ 10-15 ล้านซอง/วัน ปลากระป๋อง 665 ล้านกระป๋อง/วัน ปลาทูน่า 2 พันกว่าล้านกระป๋อง/วัน ถ้าชั้นวางไหนสินค้าหมดสามารถเติมสินค้าได้ทันที ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเกินไป เรายังไม่ถึงขนาดนั้น อยากให้ประชาชนยังใช้ชีวิตปกติ” นายเทวัญกล่าว

      นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

      “อนุทิน” แจงไม่เข้าเฟส 3 ชี้ยังหาต้นตอผู้ติดเชื้อได้

      นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เรามีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษา การคัดกรองผู้ป่วย เวชภัณฑ์ ผ่านมา 2 เดือนครึ่งเราสามารถที่จะหาผู้ที่ติดเชื้อได้พบเกือบทุกราย มีการแถลงทำความเข้าใจและแนะนำประชาชนถึงวิธีปฏิบัติที่จะหลีกเลี่ยงจากการเสี่ยงติดเชื้อ หรือหากมีอาการต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยมีการปรับตัวของสถานการณ์ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามเหตุการณ์ที่มันจะต้องเป็น เพราะเรายังมีการเดินทางไปมาของคนในประเทศและต่างประเทศ โดยยังป้องกันอย่างเต็มที่ เราต้องคิดถึงหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน

      “ยืนยันด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรายังหาต้นตอได้ และจำนวนผู้ป่วยที่หายป่วยก็มีไม่น้อย ส่วนที่ไม่รายงานประชาชนว่าแต่ละช่วงมีผู้ป่วยอยู่เท่าไรนั้น เพราะเกรงว่าจะทำให้ประชาชนตกใจ และเราต้องการที่จะให้ประชาชนรับทราบข้อมูลมากที่สุด ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะปิดข่าวหรือดัดแปลง ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีเป็นข้อมูลเดียวกับประชาชน ซึ่งการที่ประกาศยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรายวันนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

      นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นนั้นมาจากการที่พวกเขามีความประมาท อยู่ในสถานที่ที่ไม่ควรจะไป เช่น สนามมวย ซึ่งการติดเชื้อไม่ได้เกิดจากการนักมวยอย่างเดียว แต่กรรมการ คนเชียร์ รวมถึงสภาพอากาศก็เอื้ออย่างมากต่อการติดเชื้อ และการติดเชื้อจำนวนมาก ตนไม่ใช้คำว่าวงกว้าง เพราหากเข้าระยะสามได้ต้องแพร่เชื้อเป็นวงกว้างและหาสาเหตุไม่ได้ แต่ตอนนี้เรายังหาได้ว่าคนไปสถานที่แห่งใด มีปัจจัยแพร่เชื้อชัดเจน ช่วง 2-3 วัน ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 60-70 คนนั้น มาจากที่เดียวกัน สธ.ได้ชี้แจงให้ระวัดมะวังว่าที่ใดควรไปและไม่ควรไป เช่น ตรงไหนที่มีการชุมนุม อยู่แบบแออัดใกล้ชิด มีเหงื่อเยอะ สารคัดคลั่งเยอะ ละอองฝอยเยอะ คือที่แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

      พร้อมขอขอบคุณบุคลากรทางแพทย์และประชาชนที่ให้ความร่วมมือและเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล และหลังจากวันนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานในการออกคำสั่งให้ฝ่ายปกครองพิจารณาแล้วดำเนินการตามเหตุการณ์ที่สมควรของแต่ละจังหวัด หากตนหรืออธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่พบเห็นสถานที่ใดไม่ปลอดภัย อธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเจ้าพนักงานสามารถสั่งการและสั่งปิดสถานที่นั้นได้เลย และขอยืนยันว่าไม่ได้มีการปิด กทม. แต่ปิดสถานที่ เช่น ผับ บาร์ ใน กทม. และปริมณฑล

      “ที่ต้องปิดสถานที่ต่างๆ ใน กทม. และปริมณฑล 14 วันนั้น เราขอให้เจ้าของสถานที่ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทำบิ๊กคลีนนิ่ง โดย สธ. จะเข้าไปให้คำแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย ภายในระยะเวลา 14 วันดังกล่าวเราจะพิจารณาว่ามีการทำให้สถานที่สะอาดเพียงพอหรือไม่ และจะเปิดในเวลาที่เหมาะสมต่อไป เราเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้เกี่ยวข้อง แต่เราพิจารณาเรื่องความปลอดภัยก่อน” นายอนุทินกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่ามีศพนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง แม้หน่วยงานต่างๆ จะมากันแล้ว แต่ไม่สามารถเก็บศพไปได้ เพราะกรมควบคุมโรคไม่ได้เดินทางไปด้วย นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีการตั้งข้อรังเกียจรังงอนคนที่เสียชีวิต ถ้าทราบว่ามีปัจจัยความสุ่มเสี่ยงเราก็มีวิธีป้องกันตัวเองในการชันสูตร ในทางปฏิบัติไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นได้ อันนี้ต้องไปดูข้อเท็จจริง มั่นใจว่าถ้าเป็นเรื่องชันสูตรเราก็ดูสภาพหน้างานว่าคนที่เกี่ยวข้องจะต้องป้องกันอย่างไร

      เมื่อถามว่า ฟิตเนสจะปิดด้วยหรือไม่ นายอนุทิน ย้อนถามว่า แล้วเป็นสถานบริการหรือไม่ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติการออกกำลังกายจะมีละอองฝอยและสารคัดหลั่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ จึงบอกว่าต้องทำความสะอาดตลอดเวลาในสถานที่ที่มีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้

      เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุการณ์เหมือนกรณีคนจีนโดดโรงแรมเสียชีวิต และไม่มีเจ้าหน้าที่กล้าเข้าไปเก็บศพ เพราะเกรงว่าจะเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษก สธ. กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวต้องขออภัย ปกติแพทย์จะต้องประเมินว่าเป็นคนกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงจะต้องมีการประสานงานไปทางหน่วยงานที่เราอบรมไว้แล้ว เช่น เจ้าหน้าที่กู้ภัย แต่ว่าบางช่วงอาจจะขาดอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุด PPE โดยตั้งแต่นี้ไปเราได้นำเรื่องมาหารือถึงการทำงาน คือ หากพบว่ารายไหนมีความเสี่ยงจะนำมาตรฐานการเก็บศพมาใช้ ส่วนกรณีศพที่ไม่มีความเสี่ยงจะดำเนินการตามปกติ

      วธ. แนะจัดงานประเพณี-รื่นเริง ให้เลี่ยงพื้นที่แออัด

      นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อแนะบข้อแนะนำเกี่ยวกับ เทศกาล ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีต่างๆ และพิธีทางศาสนาในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ

      ทั้งนี้ ข้อแนะนำดังกล่าวสืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการกำหนดมาตรการต่างๆ โดยให้มีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการคัดกรอง เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น โดยที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้ วธ. จัดทำข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดงานประเพณีสงกรานต์ฯ เพื่อลดความตระหนก และสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

      ทั้งนี้ ข้อแนะนำฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนที่มีความประสงค์จัดงานเทศกาล ประเพณี และพิธีทางศาสนา ประกอบด้วย

      •  คำแนะนำการปฏิบัติโดยทั่วไป การจัดกิจกรรมตามเทศกาล ประเพณี หรือพิธีทางศาสนา ควรเน้นแบบแผนปฏิบัติที่เป็นคุณค่า และสาระที่ถูกต้องเป็นสำคัญ หากกิจกรรมใดเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ควรลดทอนกิจกรรม หรืองดเว้น หรือปรับเปลี่ยนโดยไม่เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อคุณค่าและสาระสำคัญตามความเหมาะสม ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดที่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้เป็นพื้นที่งดเว้นการจัดกิจกรรมควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม และไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค เช่น การสวัสดี และไหว้แบบไทย เป็นต้น
      • คำแนะนำสำหรับผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนาทั่วๆ ไป กรณีผู้จัดงาน ให้คำนึงถึงขนาดของพื้นที่การจัดงาน โดยไม่เบียดเสียดหรือแออัด จัดบริการพยาบาลสำหรับตรวจวัดไข้ คัดกรองผู้เข้าร่วมงาน หากมีการบริการอาหาร เครื่องดื่ม ควรจัดพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารที่ไม่แออัด พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารแยกเป็นรายบุคคล พนักงานเสิร์ฟอาหารควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ภาชนะที่ใส่อาหารควรมีฝาปิดมิดชิด จัดให้มีแอลกอฮอล์เจล น้ำสะอาดสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ทำความสะอาดอุปกรณ์ และพื้นที่จัดงาน รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ลิฟต์ ห้องน้ำ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแนะนำการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

      ทั้งนี้ ไม่ควรจัดกิจกรรมเทศกาล ประเพณีและพิธีทางศาสนาที่ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือการรวมตัวกันของคนหมู่มาก ไม่ควรใช้สถานที่จัดงานที่แออัด รวมทั้งไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการป่วย หรือผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือประเทศกลุ่มเสี่ยงตามประกาศของสธ. ที่ยังกักกันตัวไม่ครบ 14 วัน เข้าร่วมงาน และจัดให้มีการลงทะเบียน หรือบันทึกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ พร้อมทั้งบันทึกภาพผู้เข้าร่วมงาน เพื่อประโยชน์ในการติดตามและเฝ้าระวังโรค ในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากงานดังกล่าว พร้อมทั้งงดบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิด

      สำหรับกรณีผู้เข้าร่วมงาน ควรแต่งกายให้มิดชิด เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและร้อน ใช้ภาชนะและอุปกรณ์แยกเฉพาะบุคคล เมื่อกลับจากการเข้าร่วมงานให้ล้างมือโดยทันที หรืออาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ไม่ควรเข้าร่วมงานหากมีอาการป่วย และให้รีบไปพบแพทย์ หากตนเองเดินทางมา หรือสัมผัสกับผู้ที่เดินทางจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายตามประกาศของสธ. ให้รีบใส่หน้ากากอนามัยและเข้าพบหน่วยงานสาธารณสุขทันทีเพื่อการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับบุคคลอื่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ร่วมงานอื่นๆ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดเสพของมึนเมาทุกชนิด

      นายอิทธิพล กล่าวว่า นอกจากนี้ วธ.ได้จัดทำข้อปฏิบัติสำหรับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โดยเน้นการสืบสานคุณค่าสาระในประเพณีสงกรานต์แบบไทยหรือท้องถิ่นเฉพาะภายในครอบครัว เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ หรือเปลี่ยนเป็นการรดน้ำ ขอพรผ่านโทรศัพท์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกัน พื้นที่ใดมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ควรลดทอนกิจกรรม หรืองดเว้น หรือปรับเปลี่ยนการปฏิบัติที่มีความเสี่ยง โดยไม่เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายต่อคุณค่า และสาระสำคัญของประเพณีตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลหรือสธ. มีการประกาศมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แตกต่างไปจากข้อควรปฏิบัตินี้ ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

      แรงงานเตรียม 80,000 อัตรา รองรับคนตกงาน

      ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 จึงได้สั่งการให้มีการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกจังหวัด เพื่อกำชับให้หน่วยงานฯ เร่งรวบรวมข้อมูลและความต้องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ กิจการโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และให้รายงานไปยัง “ศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบภาวะโรคระบาดโควิด – 19” ของกระทรวงแรงงานเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงตามความต้องการ

      ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า มาตรการในระยะเร่งด่วนสถานประกอบการและนายจ้างมีความต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับใช้ในสถานประกอบการ ลูกจ้าง และลูกค้า สำหรับมาตรการในระยะยาว ได้แก่ การจัดหางานรองรับหากมีการเลิกจ้าง การฝึกอาชีพเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้าง และขอให้กองทุนประกันสังคมให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

      ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการด้านการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้าง โดยให้กรมการจัดหางาน ซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชน จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างสำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวนกว่า 80,000 อัตรา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการในกลุ่มเสี่ยงที่มีการเลิกจ้างงาน พร้อมทั้งให้ความรู้และดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

      ด้านกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดเตรียมหลักสูตรต่างๆ เพื่อฝึกอาชีพเพิ่มเติม (up skill) แก่แรงงานให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สำนักงานประกันสังคม จะร่วมสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 การดูแลตนเองของลูกจ้างผู้ประกันตนในสถานประกอบการอีกด้วย

      ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

      ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ บรรเทาโควิด-19

      ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชนตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

      จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ กระทรวงมหาดไทยจึงเห็นสมควรเสนอมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชน ดังนี้

    • มาตรการด้านไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
      • มาตรการที่ 1 ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) คาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 5,160 ล้านบาท แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,560 ล้านบาท โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการลดค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 3 และพิจารณาใช้เงินคืนรายได้ เพื่อให้การไฟฟ้ามีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนการลดค่าไฟฟ้า
        มาตรการที่ 2 ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดระยะเวลาการผ่อนผันโดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้า ประจำเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่
        มาตรการที่ 3 การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก รวม 22.17 ล้านราย วงเงิน 32,700 ล้านบาท แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง จำนวน 3.87 ล้านราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 18.30 ล้านราย วงเงินประมาณ 19,700 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบสิทธิและแจ้งความประสงค์ พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอคืนเงินประกันผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะออกประกาศการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเร่งกำหนดแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดในการดำเนินการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป
    • มาตรการด้านน้ำประปา (การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)
      • มาตรการที่ 1 ลดค่าน้ำประปาในอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่รอบการใช้น้ำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 คาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 330 ล้านบาท แบ่งเป็น การประปานครหลวง 130 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค 200 ล้านบาท
        มาตรการที่ 2 ขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบใบแจ้งค่าน้ำประปา สำหรับรอบการใช้น้ำเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 รวม 30,900 ราย แบ่งเป็น การประปานครหลวง จำนวน 900 ราย และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 30,000 ราย
        มาตรการที่ 3 คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย รวม 5.7 ล้านราย วงเงิน 2,834 ล้านบาท แบ่งเป็น การประปานครหลวง จำนวน 2 ล้านราย วงเงิน 1,034 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 3.7 ล้านราย วงเงิน 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้วางเงินประกันการใช้น้ำสามารถตรวจสอบสิทธิและแจ้งความประสงค์เพื่อขอคืนเงินประกันผ่านช่องทางต่าง ๆ

      อนุมัติงบฯ 6,130 ล้าน สร้างอุโมงค์ส่งน้ำ “คลองภาษีเจริญ-สนามชัย”

      ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอนุมัติดำเนินการโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรีจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย โดยขออนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2570 (7 ปี) เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำฯ วงเงิน 6,130 ล้านบาท ซึ่งกรุงเทพมหานครจะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นเงิน 3,065 ล้านบาท และจะใช้เงินงบประมาณของกรุงเทพมหานครสมทบ เป็นเงิน 3,065 ล้านบาท ทั้งนี้ จะใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าก่อสร้าง (6,000 ล้านบาท) และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (130 ล้านบาท)

      สำหรับรายละเอียดโครงการฯ ครอบคลุมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกและรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานครให้ระบายลงสู่โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย – คลองสนามชัย” และจะดำเนินโครงการตามแนวคลองพระยาราชมนตรีจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร ในเขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน โดยก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร ความยาวประมาณ 9.195 กิโลเมตร

      จัดงบกลาง 17,310 ล้าน เยียวยา”โควิดฯ – ภัยแล้ง”

      ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 17,310 ล้าน ประกอบด้วย

      • โครงการที่หน่วยรับงบประมาณขอรับการจัดสรรงบกลาง ฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (6,302.4 ล้านบาท) และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง (8,308 ล้านบาท) จำนวน 11 กระทรวง 28 หน่วยงาน วงเงิน 14,610 ล้านบาท
      • กรณีช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศในระยะต่อไป วงเงิน 2,700 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจ้างงาน ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท

      สนับสนุนงบฯ 1,245 ล้าน จัดเอเชียนอินดอร์เกมครั้งที่ 6

      นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ค.ศ. 2021 2021 ซึ่งมีกำหนดการแข่งขัน จำนวน 10 วัน ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ณ จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร

      คาดการณ์ว่าจะมีการแข่งขันทั้งหมด จำนวน 21 ชนิดกีฬา จากผู้เข้าแข่งขัน 46 ประเทศ โดยใช้งบประมาณจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขัน 240,000,000 บาท และขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล 1,245,500,000 บาท ในการจัดการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 1,485,500 บาท

      “เมื่อได้รับให้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ค.ศ. 2021 แล้ว กก. โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้ครบถ้วนในทุกมิติ รวมทั้งจัดทำโครงสร้างคณะกรรมการต่าง ๆ รายละเอียดแผนงาน/กิจกรรมที่ต้องดำเนินการ และประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง”

      พร้อมจัดประชุม ครม.ออนไลน์ กรณีระบาดโควิดฯหนัก

      นายธีระพงษ์วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสำนักธิการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีความพร้อมที่จะจัดการประชุม ครม.ทางออนไลน์หากมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ หากในอนาคตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของสถานที่ราชการ ซึ่งทำเนียบรัฐบาลเองก็ต้องมีความพร้อม โดยการประชุม ครม.ทางไกลผ่านระบบออนไลน์ โดยระบบต่างๆมีการเตรียมไว้แล้วพร้อมจะให้ดำเนินการได้ทันทีหากมีการตัดสินใจและสั่งการจากรัฐบาลให้มีการจัดประชุม ครม.ออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การบริหารและอนุมัติวาระ ครม.ที่กระทรวงต่างๆเสนอให้ ครม.พิจารณามีความต่อเนื่องไม่สะดุดถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรงมากกว่าปัจจุบัน

      อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2563เพิ่มเติม