ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > OXFAM เปิดผลประเมิน ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ 8 ราย พบค่าเฉลี่ยทุกมิติต่ำกว่าเกณฑ์ แนะให้โปร่งใสตรวจสอบได้

OXFAM เปิดผลประเมิน ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ 8 ราย พบค่าเฉลี่ยทุกมิติต่ำกว่าเกณฑ์ แนะให้โปร่งใสตรวจสอบได้

18 พฤศจิกายน 2020


OXFAM เปิดผลประเมิน 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยในมิติ “นโยบายสาธารณะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค” ประจำปี 2563 พบค่าเฉลี่ยทุกมิติน้อยกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนรวม เผยซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนมากสุด 3 อันดับแรกคือ แมคโคร ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีพีเฟรชมาร์ท เสนอแก้จุดบอดเรื่องกลไกร้องเรียน และให้เอกชนประกาศนโยบายผ่านสาธารณะและบังคับใช้อย่างจริงจัง

นางสาวจิดาภา มีเพียร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) เปิดเผยว่า “แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” หรือเดิมใช้ชื่อว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ได้จัดทำการสำรวจและประเมินนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ตลอดจนมีการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง

ในปี 2563 แคมเปญผู้บริโภคที่รักได้ประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทยจำนวน 8 แห่งในมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม

การประเมินครั้งนี้จำแนกออกเป็น 3 มิติ ได้แก่

  1. มิติด้านความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกการรับเรื่องร้องเรียน มีกลไกการเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค และความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ
  2. ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความปลอดภัยของอาหารในกระบวนการผลิต การส่งเสริมอาหารที่ยั่งยืน การใช้ยาและสารเคมี ความยั่งยืนของระบบนิเวศต้นน้ำ การตรวจสอบและย้อนกลับ การบริหารจัดการน้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจำ น้ำทิ้งและของเสีย
  3. สิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ บรรจุภัณฑ์และพลาสติก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการน้ำทิ้ง ความสัมพันธ์กับชุมชน การจัดการระบบนิเวศน์ การประเมินคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานภายในองค์กร และการจัดการของเสีย
(ซ้าย) นางสาวจิดาภา มีเพียร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM), (กลาง) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, (ขวา) นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

นางสาวจิดาภา กล่าวอีกว่า การประเมินได้ดำเนินการโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ ‘เผยแพร่ต่อสาธารณะ’ ที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ โดยการประเมินเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563

จากการประเมินพบว่า ที่ผ่านมามีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งที่มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านดังกล่าวสู่สาธารณะ แต่ในภาพรวมถือว่ายังคงต้องมีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยมิติที่จะต้องเร่งปรับปรุงประกอบด้วย

  • การพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกลไกการร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภค ที่จะต้องครอบคลุมแนวทางการจัดการข้อร้องเรียน รูปแบบ กรอบระยะเวลาในการจัดการข้อร้องเรียนและการชดเชย
  • การเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาและกระบวนการในการคัดกรองสินค้า
  • การพัฒนากลไกการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสินค้าโดยเฉพาะในสินค้าประเภทผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารทะเล
  • มาตรการในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตที่ไม่มีกระบวนการการผลิตอาหารที่ปลอดภัย
  • ส่งเสริมการใช้นโยบายและแนวปฏิบัติตามแนวทางการจัดหาสินค้าที่ยั่งยืน

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FOUNDATION FOR CONSUMERS) กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตทำคะแนนในทุกมิติน้อยกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนรวม ส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำมาตรฐาน และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ภายในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่จะมาถึงผู้บริโภค

“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ การพัฒนาระบบและเครื่องมือที่ให้ผู้บริโภคสามารถที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้า ผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและส่วนประกอบของสินค้า พร้อมให้ข้อมูลด้านโภชนาการและข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่ออันตราย”

ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตควรพัฒนาหลักจริยธรรมและมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้แน่ใจสินค้าที่มาจากผู้ผลิตเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างมีจริยธรรม และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

จากการประเมินมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า จะพบว่า 6 ตัวชี้วัดที่ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตใดได้คะแนนคือ การใช้ยาและสารเคมี ความยั่งยืนของระบบนิเวศต้นน้ำ การตรวจสอบและย้อนกลับ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้ำทิ้ง และของเสีย

นางสาวปรกชล กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าและบริการ จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการใช้มาตรการเพื่อควบคุมให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และเกิดความยั่งยืนทางอาหาร

ทั้งนี้ “แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” หรือเดิมใช้ชื่อว่า “ซูเปอร์มารเก็ตที่รัก” ได้จัดทำการสำรวจและประเมินนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมาตั้งปี 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ตลอดจนมีการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง