บทความโดย ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ นักศึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ช่วงที่ผ่านมา ผมได้ติดตามท่าทีของรัฐบาลต่อภาวะเศรษฐกิจในยุค COVID อย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วงต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย นโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนอยู่กับบ้านเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดที่จะทำให้โลกผ่านวิกฤติ COVID ได้ แต่แน่นอน นโยบายเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงโดยไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าจะกินเวลานานเท่าใด
ปัจจุบันคาดการณ์กันว่านโยบายจำกัดการติดเชื้อไวรัสในประเทศต่างๆ ทำให้ 2 ใน 3 ของ GDP โลกหยุดเคลื่อนไหว ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งเป็นสิ่งที่โลกและไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แล้วไทยควรจะทำอย่างไรให้ประชาชน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบเลิกจ้างและผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นคนหมู่มากและมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจต่ำ บาดเจ็บน้อยที่สุดและฟื้นตัวได้เร็วหลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว
ข้อหนึ่ง รัฐต้องเร่งใช้นโยบายประคับประคองระบบเศรษฐกิจรากฐานไม่ให้ล้มลง
ในช่วงที่ยังมี social distancing นโยบายภาครัฐต้องเน้นพุ่งเป้า (targeted policies) ไปที่ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อยและกลาง (SMEs) ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเป็นอันดับแรกมากกว่าจะเลือกอุ้มนักลงทุนหรือเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ตามปกติ นโยบายเศรษฐกิจแบบส่งผลตรงๆ จังๆ ต่อประชาชนมักไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นนโยบายประชานิยมต่างๆ นานา แต่ในห้วงเวลาที่ประชาชนและธุรกิจโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่สายป่านสั้นได้รับความเดือดร้อนจาก shock อย่างเดียวกันพร้อมๆ กันแบบนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะเข้าช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ตรงจุดและรวดเร็วที่สุด เพราะเกิดจากเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่สามารถควบคุมและคาดการณ์ได้ ยิ่งช้าความเสียหายยิ่งมาก
นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้มแข็งนัก อีกทั้งหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เพราะฉะนั้นประชาชนและธุรกิจมีสภาพคล่องต่ำอยู่แล้ว การต้องปิดกิจการหรือถูกเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัวจึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแรงงานไทยได้มาก
ที่ผ่านมา แบงก์ชาติมีมาตรการให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นรวมทั้งมาตรการการพักชำระหนี้ ถือเป็นทิศทางที่ควรทำ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะอำนาจการตัดสินใจน่าจะอยู่ที่ธนาคารผู้ให้กู้ และมาตรการยังแตกต่างไปตามธนาคารต่างๆ ผู้กู้ที่ประสบสถานการณ์เดียวกันจึงอาจได้รับความช่วยเหลือในขนาดและรูปแบบที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกหนี้ธนาคารใด นอกจากนี้ แรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าถึงภาคการเงินในระบบก็แทบจะไม่ได้รับประโยชน์ใดจากมาตรการนี้
การอัดฉีดเงินโดยตรง (income support) ให้กับประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลจาก social distancing คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ และเป็นนโยบายที่หลายประเทศเริ่มคิดกันอย่างจริงจัง มีหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ เช่น การชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงของ social distancing หรือการให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับธุรกิจที่ยังจ้างแรงงานต่อในช่วงที่ปิดกิจการ
ที่สำคัญ รัฐบาลต้องมี commitment ที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น จำนวนเงินจะเป็นจำนวนเดียวกันทั้งหมดหรือขึ้นอยู่กับรายได้ในช่วงก่อนหน้า จะเป็นเงินให้เปล่าหรือต้องคืนบางส่วน และจะให้เป็นเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนจะช่วยและเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ดีที่สุด วิธีการส่งเงินให้ถึงมืออาจใช้การโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสะดวกและป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง สำหรับแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีฐานข้อมูลรายได้ที่ชัดเจนอาจอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลและแรงงาน โดยต้องทำให้กระบวนการรับเงินสะดวกรวดเร็วที่สุด หลีกเลี่ยงการสร้างกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน
วิธีการอัดฉีดเงินโดยตรงแน่นอนว่าจะต้องมีจุดโหว่ แต่ในสถานการณ์แบบนี้รัฐบาลมีทางเลือกไม่มากนัก การ “flatten the recession curve” เป็นความจำเป็นสูงสุด หากรัฐบาลออกนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนโดยตรงเร็วกว่านี้ เราอาจไม่เห็นปรากฏการณ์แรงงานกลับบ้านจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่บีบคั้น ซึ่งเพิ่มโอกาสการกระจายเชื้อไปทั่วประเทศ เสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงรายจ่ายจากการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องแบกรับก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ณ เวลานี้ นโยบายประคองเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อประชาชนเร็วที่สุดคือยาจำเป็นที่เศรษฐกิจต้องการ แน่นอนว่านโยบายนี้จะสร้างภาระทางการคลัง แต่หากไม่ทำ ภาระการคลังอาจจะยิ่งมากกว่านี้หลายเท่า
ข้อสอง รัฐต้องเตรียมออกนโยบายเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภาวะวิกฤติตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหากรอให้เห็นความเสียหายเสียก่อน ก็คงจะสายไปแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่นโยบายเหล่านี้ไม่เพียงพอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายจากส่วนอื่นๆ เป็นตัวนำโรง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมจากภาคการคลัง การพัฒนานโยบายสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับคนตกงานจำนวนมากให้อยู่รอดและหาอาชีพใหม่ได้ นโยบายส่งเสริมการค้าขายระหว่างประเทศซึ่งจะเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤติสิ้นสุดลง การปรับเปลี่ยนนโยบายการกำกับดูแลภาคการเงินซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนใหญ่มากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุน (นโยบายประเภทว่าถ้านายทุนดีทุกคนจะดีเองหรือถ้าไม่ช่วยนายทุนจะไม่มีใครรอด เห็นได้หลายครั้งในหลายประเทศว่าไม่เวิร์ก) ตลอดจนแผนการบริหารหนี้การคลังที่จะเพิ่มขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่า โครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติ COVID จะเปลี่ยนไป ดังนั้น หลายประเทศต่างต้องเตรียมนโยบายเหล่านี้เช่นกัน ไม่มีใครวาดภาพได้แน่ชัด แต่ถ้าไทยไม่เริ่มคิดเริ่มทำ ก็จะยิ่งตกขบวนไปกว่านี้ชนิดที่กลับตัวได้ยาก
หากจะมองวิกฤติให้เป็นโอกาส การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งนี้อาจเปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ประกอบการไทยได้มีช่องทางการทำธุรกิจสร้างรายได้แบบใหม่ๆ แต่คงจะสำเร็จไปไม่ได้หากขาดการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น การเข้าถึงการ retrain ทักษะสำหรับเทคโนโลยียุคใหม่ ฯลฯ
ข้อสาม นโยบายตามข้อหนึ่งและข้อสองไม่อาจสำเร็จได้หากรัฐไม่ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน
รัฐไทยกำลังเผชิญวิกฤติทางศรัทธาของประชาชนจำนวนมากจากการตอบสนองหรือล่าช้า (หรือไม่มีเลย) ที่สั่งสมจากเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เช่น วิกฤติฝุ่น PM 2.5 นโยบายเศรษฐกิจจะทำงานไม่ได้ดีหากประชาชนไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐอยู่บ้างเลย แม้นโยบายที่ถูกต้องในหลักการก็จะไม่มีประสิทธิภาพ หากประชาชนไม่เชื่อในวิสัยทัศน์และความสามารถของรัฐที่จะดำเนินมาตรการที่เสนอออกมาให้เกิดดอกออกผล การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้เกิดจากการบังคับหรือขอให้เชื่อ แต่ต้องเกิดจากการพิสูจน์ให้เห็นผ่านการสื่อสารที่ชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การออกนโยบายที่ทันท่วงที และที่สำคัญที่สุดคือท่าทีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐ “แคร์” ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อช่วยพยุงกลุ่มธุรกิจใดเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านี้เรายังไม่เห็นจากรัฐบาลปัจจุบัน
วิกฤต COVID ครั้งนี้เป็นความท้าทายที่แทบจะไม่มีใครในโลกเคยได้สัมผัสมาก่อน ดังนั้น วิธีการรับมือจึงจะต้องใช้ความสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบเป็นอย่างมาก การประคับประคองเศรษฐกิจโดยการช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนและธุรกิจที่กำลังเดือดร้อนให้ตรงจุดคือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก นโยบายที่ตรงจุดและรวดเร็วจะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตของเศรษฐกิจไทยหลังการลุกลามของไวรัสสิ้นสุดลง