ThaiPublica > เกาะกระแส > “หุ่นยนต์คุณหมอ” วิศว-แพทย์ จุฬาฯ ผนึก AIS นำ 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์ เฝ้าระวังโควิด-19

“หุ่นยนต์คุณหมอ” วิศว-แพทย์ จุฬาฯ ผนึก AIS นำ 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์ เฝ้าระวังโควิด-19

9 มีนาคม 2020


วิศวกรรมศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ผนึกเอไอเอส นำเทคโนโลยี 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์ เฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19

แม้การนำ AI เข้ามาใช้ในวงการแพทย์จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับระบบสาธารณสุข แต่เมื่อเป็นการใช้ AI ล้อกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่าง COVID-19 (โควิด-19) ถือเป็นมิติใหม่ที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยได้นำหุ่นยนต์ AI มาเฝ้าระวังโควิด-19 ทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเริ่มใช้งานจริงเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นำร่องที่โรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่

  • โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุดแบบตั้งโต๊ะ
  • โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุดแบบเคลื่อนที่ได้ (mobile robot)
  • โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุดแบบตั้งโต๊ะ

ชื่อเล่นของหุ่นยนต์ AI คือ “หุ่นยนต์นินจา” หรือแพทย์บางคนก็เรียกว่า “หุ่นยนต์คุณหมอ” ให้ความหมายเปรียบกับ ‘ตัวแทน’ คุณหมอที่สามารถติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วไม่ต่างจากแพทย์ตัวเป็นๆ

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวฯ จุฬาฯ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์

ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ศ. ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology โดยมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ได้ร่วมในการพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้ในการทำงานของหุ่นยนต์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในด้านการสัญญาณให้ดียิ่งขึ้น

หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์

หลักการของหุ่นยนต์ AI คือเป็นตัวแทนคุณหมอติดตามอาการกลุ่มผู้เฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยมีคุณสมบัติเด่น ได้แก่

    (1) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์และกลุ่มผู้เฝ้าระวังหรือผู้ป่วยสื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ video conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองประเมินความเสี่ยงตลอดจนวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้

    (2) แพทย์และพยาบาลสามารถควบคุมสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์จากระยะไกล ทำให้แพทย์ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง แต่ยังสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยหรือคนไข้ได้

    (3) หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ จากนั้นระบบจะส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์เพื่อประเมินผลได้ในทันที

หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ผู้ป่วยวัดไข้ แพทย์ทราบผลทันที

แต่หุ่นยนต์ชุดแรกยังไม่ได้ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพ นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะและอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัด

ศ. ดร.วิบูลย์กล่าวว่าต้นทุนในการสร้างหุ่นยนต์ AI โควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 100,000 ถึง 200,000 บาท โดยคณะวิศวะฯ สามารถผลิตได้สูงสุดถึง 30 ตัวภายในเวลา 1 เดือนในกรณีที่มีชิ้นส่วนและอุปกรณ์พร้อมใช้งาน คาดการณ์ว่าสามารถจำหน่ายได้ในราคากว่า 1 ล้านบาท ขณะที่หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับ “หุ่นยนต์นินจา” วางขายในตลาดราว 6-8 ล้านบาท

“แต่เราตั้งใจจะไม่ขาย แนวคิดคือการ ‘ให้’ กับโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่แพทย์และพยาบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก ทำให้ทางคณะฯ มองว่าถ้าให้แล้วเป็นประโยชน์ โรงพยาบาลก็ควรจะได้รับ”ศ. ดร.วิบูลย์กล่าว

หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ แบบตั้งโต๊ะ และแบบ Mobile Robot

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ AI ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19 ได้รับการต่อยอดมาจากหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ประเภทอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์ช่วยทำกายภาพบำบัด หุ่นยนต์ช่วยเฝ้าระวังผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง หรือหุ่นยนต์เฝ้าระวังผู้ป่วยหลอดเลือดในสมอง ทั้งหมดเริ่มจากแนวคิดเรื่องการเข้าถึงผู้ป่วยโดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ แต่เน้นการให้คำปรึกษาผ่านระบบ telemedicine