ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีจัดแพกเกจ 6.5 พันล้านเหรียญช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือวิกฤตโควิด-19

เอดีบีจัดแพกเกจ 6.5 พันล้านเหรียญช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือวิกฤตโควิด-19

17 มีนาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.adb.org/news/adb-announces-6-5-billion-initial-response-covid-19-pandemic

ธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank :ADB)ประกาศวงเงินช่วยเหลือ 6.5 พันล้านดอลลาร์ให้กับประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อจัดการอย่างเร่งด่วนกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19

“การระบาดใหญ่ของไวรัสนี้กลายเป็นวิกฤติของโลก และต้องอาศัยการดำเนินการอย่างเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก”นายมาซัตซึกุ อาซากาวะ ประธานเอดีบีกล่าว “เอดีบี พร้อมกับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกได้ร่วมวางมาตรการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ เพื่อปกป้องคนยากจน กลุ่มเปราะบาง และประชาชนกลุ่มอื่นๆทั่วภูมิภาค และเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจากการหารือร่วมกับสมาชิก และสถาบันอื่นที่มีการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกัน จึงได้จัดแพกเกจช่วยเหลือวงเงิน 6.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนของสมาชิก”

นายอาซากาวะ กล่าวย้ำว่า เอดีบีพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากวงเงิน 6.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นวงเงินแรกที่ช่วยเหลือเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่นี้ รวมทั้งคำแนะนำเชิงนโยบายต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในขณะนั้น

ก่อนหน้านี้เอดีบีให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วราว 3.6 พันล้านดอลลาร์ ในการดำเนินการของแต่ละประเทศตั้งแต่การจัดการด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการระบาดครั้งใหม่ และ 1.6 พันดอลลาร์ที่เป็นเงินช่วยเหลือให้กับภาคเอกชน ทั้งธุรกิจรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี การค้าทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัส เอดีบีจะระดมทุนอีก 1 พันล้านดอลลาร์จากเงินที่มี ด้วยการโยกเงินจากโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและประเมินความจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน ตลอดจนจะเตรยมวเงิน 40 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและเงินให้เปล่าอย่างรวดเร็ว

เพื่อให้การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอดีบีจะปรับปรุงเครื่องมือทางการเงินและกระบวนการทางธุรกิจ และหากคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เอดีบีจะเปิดให้เข้าถึงวงเงินฉุกเฉินเร็วขึ้นสำหรับประเทศที่มีปัญหาทางการคลังรุนแรง ลดขั้นตอนการให้เงินกู้เพื่อสนับสนุนนโยบายและ กระบวนการจัดซื้อที่ยืดหยุ่นและรวดเร็วขึ้น

การรับมือกับการระบาดใหญ่ต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันและความร่วมมือที่เข้มแข็งของประเทศและองค์กรต่างๆ เอดีบีจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund) ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาในแต่ละภูมิภาค องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์กรหลักที่สนับสนุนเงินทุน ซึ่งรวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency) และ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ(US Centers for Disease Control) และองค์กรเอกชน เพื่อให้ตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

นับตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับไวรัสครั้งแรกวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เอดีบีได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วกว่า
225 ล้านดอลลาร์ เพื่อความจำเป็นเร่งด่วนของทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่

7 กุมภาพันธ์ 2563 เงินให้เปล่า 2 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องกันและตรวจ และรับมือกับสถานการณ์การะบาดของไวรัส แก่จีนและประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

27 มกราคมถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563 เงินกู้ 1.5 ล้านดอลลาร์แก่โครงการความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการตรวจจับและอุปกรณ์ป้องกันตัว

25 กุมภาพันธ์ 2563 สนับสนุนเงินกู้ 130 ล้านหยวนหรือราว 18.6 ล้านดอลลาร์ แก่บริษัทเอกชนในเมืองอู่ฮั่นเพื่อเสริมความสามารถในการกระจายและส่งมอบเวชภัณฑ์ที่จำเป็นรวมทั้งอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุดป้องกันเชื้อโรค ถุงมือ แว่นครอบตา หน้ากากอนามัย และเครื่องช่วยหายใจ

26 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติเงินให้เปล่าเพิ่มอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) รวมทั้งเสริมความเข้มแข็งในการรับมือกับไวรัสและโรคติดต่ออื่นๆ ซึ่งได้กำลังระดมเงินเพิ่มสำหรับโปรแกรมเงินให้เปล่านี้

12 มีนาคม 2563 จัดเงิน 200 ล้านดอลลาร์ในโปรแกรม Supply Chain Finance Program สำหรับบริษัทที่ผลิต และจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์อื่นที่จำเป็นต่อการสกัดการระบาดของไวรัส และการให้ความช่วยเหลือผ่านพันธมิตรทางการเงิน ทำให้เอดีบีสามารถให้เงินทุนหมุนเวียนแก่บริษัทเหล่านี้ได้

13 มีนาคม 2563 เงินให้เปล่า 3 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการรับมือกับการระบาดของไวรัส ซึ่งรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉินและการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

13 มีนาคม 2563 เงินให้เปล่า 600,000 ดอลลาร์แก่ศรีลังกาเพื่อใช้ในโครงการเสริมสร้างระบบสุขภาพ เพื่อใช้เงินในการป้องกันและการรับมือกับการระบาด รวมไปถึงการควบคุมโรคและการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์

13 มีนาคม 2563 เงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ถูกโยกจากโครงการสุขภาพแม่และเด็กในทาจิกิสถาน เพื่อใช้ในการป้องกันการระบาดของไวรัสและจำกัดการระบาด รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์

18 มีนาคม 2563 เงิน 1.4 ล้านดอลลาร์โยกมาจากโครงการพัฒนาสุขภาพที่ 5 ในมองโกเลียเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อตรวจจับแต่เนิ่นๆ การรักษาฉุกเฉิน และการจัดกับกรณีที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจรุนแรง และเอดีบีได้อนุมัติ 225,000 ดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อเสริมความสามารถของมองโกเลียในการป้องกันการติดเชื้อและการควบคุม

การช่วยเหลือทางการเงินในทุกรูปแบบทั้งหมดนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกเอดีบีทุกราย

เอดีบี จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาฉบับใหม่ ในรายงาน Asian Development Outlook 2020 วันที่ 1 เมษายน 2563 นี้ จากก่อนหน้านี้ 6 มีนาคม 2563ได้ประเมินไว้ในรายงาน Economic Impact of the COVID-19 Outbreak on Developing Asia ว่า การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียผ่านหลายช่องทาง ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศและธุรกิจการท่องเที่ยวลดต่ำลง การค้าและห่วงโซ่การผลิตชะงักงัน และผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชากร

เอดีบีก่อตั้งในปี 1966 ปัจจุบันมีสมาชิก 68 ประเทศ ซึ่ง 49 ประเทศมาจากเอเชียแปซิฟิก