ธนาคารโลกประกาศตั้งกองทุนฉุกเฉินมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับการระบาดของไวรัสอย่างเร่งด่วน
จากการที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายไปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ธนาคารโลกจึงได้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการจัดการด้านสาธารณสุขและรับมือกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเร่งด่วน เงินกองทุนนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยประเทศสมาชิกดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพในการตอบสนองกับการระบาดของไวรัส และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาผ่านกองทุนฉุกเฉินที่ตั้งขึ้น ในการเสริมความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากการระบาดของไวรัส เสริมความเข้มแข็งของระบบตรวจจับ ส่งเสริมการเข้าไปแทรกแซงดำเนินการด้านสาธารณสุขของภาครัฐ และประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อลดกระทบต่อเศรษฐกิจ
กองทุนฉุกเฉินนี้ ได้รับเงินทุนจาก สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) จะประสานงานกับทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการจัดการกับไวรัสของแต่ละประเทศ
กองทุนฉุกเฉินนี้มีทุนประเดิมรับมือวิกฤติไวรัส 12,000 ล้านดอลลาร์ โดย 8 พันล้านดอลลาร์ที่เป็นเงินใหม่เพื่อรับมือกับการจัดการเร่งด่วนนั้นมาจาก IBRD จำนวน 2.7 พันล้านดอลลาร์ จาก IDA จำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์ และเติมเข้ามาอีกจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์จากพอร์ตโฟลิโอของธนาคารหลังจากจัดลำดับความสำคัญใหม่ และจาก IFC จำนวน 6 พันล้านดอลลาร์ซึ่งรวม 2 พันล้านดอลลาร์จากวงเงินการค้าที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีการให้คำแนะนำเชิงนโยบายและความช่วยเหลือด้านวิชาการจากความเชี่ยวชาญระดับโลกและความรู้เกี่ยวกับแต่ละประเทศ
“เรากำลังดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อที่จะจัดการกับการระบาดของไวรัสได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินฉุกเฉิน การให้คำแนะนำเชิงนโยบาย และความช่วยเหลือด้านวิชาการ จากเครื่องมือและความเชี่ยวชาญที่ธนาคารโลกมี เพื่อให้ประเทศต่างๆ รับมือกับวิกฤติไวรัสได้” นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกกล่าว
รูปแบบความช่วยเหลือทางการเงินนี้ จะเป็นเงินให้กู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำจาก IDA สำหรับประเทศรายได้ต่ำ และเงินให้กู้จาก IBRD สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทั้งหมดของธนาคารโลก โดยที่กระบวนการประมวลผลต้องเร็ว
ด้าน IFC หน่วยงานด้านกาารลงทุนของธนาคารโลกนั้นจะให้การสนับสนุนลูกค้า เพื่อให้ยังคงดำเนินกิจการไปได้และยังสามารถจ้างงาน ลดคนตกงาน
การสนับสนุนของธนาคารโลกจะครอบคลุมการแทรกแซงเพื่อเสริมสร้างบริการสุขภาพและการดูแลสุขภาพเบื้องต้น สนับสนุนการติดตามสถานการณ์และการรายงาน ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปปฏิบัติงานส่วนหน้า ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของสาธารณะ และปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยยากไร้ ธนาคารโลกจะให้คำแนะนำเชิงนโยบาย และความช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อให้ทุกประเทศได้รับการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานโลก
IFC จะประสานกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นลูกค้า เพื่อ ขยายบริการสินเชื่อการค้า (trade finance) และวงเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้ง IFC จะสนับสนุนลูกค้าภาคธุรกิจโดยตรง เน้นไปที่ภาคที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยา เพื่อให้ปริมาณที่เพียงพอไม่ขาดแคลน เพื่อป้องกันความเสี่ยง
แนวทางนี้ได้ยกระดับบทเรียนที่เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่คล้ายกันในอดีต โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกจากโควิด-19
แต่ละประเทศประสบกับระดับความเสี่ยงและมีความเปราะบางต่อการระบาดของโควิด-19 ในระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการสนับสนุนก็จะได้รับในระดับที่แตกต่างกัน ธนาคารโลกจะให้ความสำคัญกับประเทศยากจนที่สุดเป็นอันดับแรกและประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมีขีดความสามารถต่ำ ธนาคารโลกจะมีการปรับแนวทางการดำเนินการและการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ไวรัสยังคงแพร่ระบาด
ธนาคารโลกยังมีส่วนร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศและรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในการประสานงานทั่วโลกเพื่อตอบสนองกับไวรัส