ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungthai COMPASS ประเมินผลลัพธ์ต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ หลังประมูล 5G เสร็จสิ้น

Krungthai COMPASS ประเมินผลลัพธ์ต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ หลังประมูล 5G เสร็จสิ้น

18 กุมภาพันธ์ 2020


1ใน5 ของผู้ประมูล 5G บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค หรือ AWN ในกลุ่มเอไอเอส ประมูลได้ใบอนุญาต ทั้ง 3 คลื่นความถี่

5G เทรนด์การสื่อสารไร้สายที่มาแรงและถูกพูดถึงกันไปทั่วโลก โดยหัวหอกหลักอย่างประเทศเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐฯ นำทีมบุกเบิกและเริ่มเปิดใช้งาน 5G ในเชิงพาณิชย์เป็นประเทศแรกๆ ของโลก ตั้งแต่ปี 2019 ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ก็มีแผนจะเปิดใช้งาน 5G ภายในปี 2020 นี้

สำหรับประเทศไทย ก็ไม่ยอมตกขบวนเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ที่สามารถรองรับการให้บริการ 5G และมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Operator) จำนวน 5 รายเข้าร่วมประมูลคลื่น 3 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งหมด 48 ใบอนุญาต คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เหล่านี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์

แต่ตอนต่อไปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร? 5G ในเมืองไทยจะเริ่มใช้งานได้จริงๆ เมื่อไร? และ 5G จะเปลี่ยนโลกของผู้บริโภคและธุรกิจไปอย่างไร? มาร่วมหาคำตอบกับบทความนี้

5G ในเมืองไทยจะเริ่มใช้งานได้จริงๆ เมื่อไร?

กสทช. คาดว่าจะเริ่มให้บริการ 5G ได้ในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2020 เป็นต้นไป ในพื้นที่ EEC ก่อน หลังจากออกใบอนุญาตในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2020 และผู้รับใบอนุญาตจะเริ่มดำเนินการติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 (รูปที่ 1) โดยในระยะแรกของการใช้งาน 5G จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจาก กสทช. กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมพื้นที่ EEC ไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ

นอกจากนั้น มี 6 กลุ่มจังหวัดที่จะได้ประเดิมการใช้งาน 5G เพื่อปูพรมสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต ตามข้อกำหนดของ กสทช. ที่ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในแต่ละจังหวัดภายใน 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ ท่าอากาศยานที่สำคัญๆ จะเป็นอีกพื้นที่ที่จะได้สัมผัส 5G หลัง กสทช. ลงนามความร่วมมือกับ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เพื่อให้บริการ 5G ในสนามบิน

จุดเด่นของ 5G คืออะไร?

5G มีจุดเด่นที่ความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และรองรับการใช้งานได้หลาย Device โดยจากรายงานของ Qorvo ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยี 5G มีความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล (Peak data rates) มากกว่า 4G ถึง 20 เท่า (รูปที่ 2) อีกทั้ง 5G ยังมีความหน่วง หรือค่าการตอบสนองต่อการรับส่งสัญญาณ (Latency) ต่ำกว่า 4G ถึง 10 เท่า นอกจากนั้น 5G สามารถรองรับจำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากกว่า 4G ราว 10 เท่า อีกด้วย

5G จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดและทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ทรงพลังและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้ง Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสาร สั่งการ และแลกปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแบบ Real Time ตลอดจนวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนต้องอาศัยความเร็วสูงและความหน่วงต่ำของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด นอกจากนั้น ความก้าวล้ำของ 5G ยังเอื้อต่อเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงอย่าง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น Cloud Computing, Machine Learning, Artificial Intelligent และ Big Data เป็นต้น

5G จะเปลี่ยนโลกของผู้บริโภคและธุรกิจอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงด่านแรก คือ เปลี่ยนมือถือ โดยเมื่อ 5G พร้อม จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสารใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างเริ่มทยอยเปิดตัวสมาร์ทโฟน (Smartphone) รุ่นใหม่ที่รองรับการใช้งาน 5G แล้ว อาทิ Samsung, Huawei, Xioami, OPPO และ LG ขณะที่ Apple นั้นเผยว่าจะเปิดตัว iPhone รุ่นรองรับ 5G ในปี 2020 นี้ โดย Ericsson ซึ่งเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมียอดผู้ใช้งาน 5G ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile subscriptions) กว่า 2.6 พันล้านราย ซึ่งคิดเป็น 29% ของผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งหมด (รูปที่ 3) และ 65% ของจำนวนประชากรทั้งโลก ขณะที่ Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้าน IT คาดว่ายอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในปี 2020 จะเพิ่มขึ้น 3% จากที่หดตัว 2% ในปี 2019 มาอยู่ที่ราว 1,570 ล้านเครื่อง ซึ่งกว่า 221 ล้านเครื่อง (14%) คือ สมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ได้ (รูปที่ 4)

การเปลี่ยนแปลงต่อมา คือ ผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และ แอพพลิเคชันอัจฉิริยะ ทั้งการติดต่อสื่อสาร การอัพโหลดและดาวน์โหลดข้อมูล การทำงานบน Cloud การรับชมวิดีโอคุณภาพสูง (Ultra-high definition videos) และหรือวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ Real Time และครอบคลุมมุมมองทั้ง 360 องศา (360° live video streaming) หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมส์และ Entertainment อื่นๆ ตลอดจนการได้สัมผัสเทคโนโลยี AR และ VR ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น Show room สินค้าเสมือนจริงก่อนตัดสินใจซื้อออนไลน์ (Virtual shopping malls) ทั้งนี้ Ericsson ประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (2021-2025) การรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น จากปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอย่าง 5G โดยคาดว่าการรับชมวิดีโอ ทั้งผ่านแอพพลิเคชันวิดีโอโดยตรงและแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่มีวิดีโอฝังตัวอยู่ เช่น โซเชียลมีเดีย จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% จนคิดเป็นราว 76% ของการใช้งานแอพพลิเคชันต่างๆ ในแต่ละเดือน (Mobile Traffic per month) จาก 63% ในปี 2019 (รูปที่ 5)

นอกจากนั้น ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปสู่ Smart Living ด้วย Smart Device ต่างๆ มากขึ้น หลังจากเทคโนโลยี 5G จะก่อให้เกิดอุปกรณ์ใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเทคโนโลยี IoT อยู่เบื้องหลัง เช่น บ้านอัจฉริยะ (Smart home) ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน ถูกเชื่อมต่อผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต (รูปที่ 6) โดยผู้บริโภคสามารถสั่งการหรือเรียกดูสถานะการทำงานต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ทั้งนี้ GSMA ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลร่างการค้าและผลประโยชน์ของผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก ประเมินว่าอุปกรณ์ IoT ทั้งด้าน Consumer IoT และ Industrial IoT ทั่วทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 9.1 พันล้านอุปกรณ์ในปี 2018 เป็น 25.2 พันล้านอุปกรณ์ในปี 2025 หรือเติบโตสูงถึงเฉลี่ยปีละ 16% โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Smart building และ Smart home (รูปที่ 7)

สำหรับภาคธุรกิจนั้น 5G จะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบอัจฉริยะ (Smart Business) ในทุกๆ อุตสาหกรรม ผ่านการยกระดับประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และลดความเสี่ยง เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT มาช่วยในการคาดคะเนการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที (Predictive Maintenance) ตลอดจนการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เช่น จากการใช้เทคโนโลยี AR และ VR ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการ และการดำเนินธุรกิจในวิถีใหม่ๆ อีกมากมาย เช่น Smart Agriculture, Smart Manufacturing, Smart Healthcare, Connected Car, และ Smart City เป็นต้น (รูปที่ 8) รวมถึงสร้าง Tech Startups มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการทำลายธุรกิจเดิมๆ การสร้างและลดการจ้างงานในบางประเภทลง

มองผลของ 5G ภายใต้บริบทของประเทศไทยอย่างไร?

เทคโนโลยี 5G จะกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ผ่านการลงทุนขยายโครงข่ายของธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จาก 5G ตลอดจนกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจากการปรับเปลี่ยนสมาร์ทโฟนใหม่ของประชาชน อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ การบริโภคภาคเอกชนอาจเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ กสทช. ประเมินว่าในปี 2020 การประมูล 5G จะจุดประกายเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1.77 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 1% ของจีดีพี

5G ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทย ตามแนวโน้มการเติบโตของยอดขายมือถือ และอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเติบโตตามไปด้วย เช่น แผงวงจรพิมพ์ (Printed circuit boards: PCB) วงจรรวม หรือ IC (Integrated circuits) และสารกึ่งตัวนำ (Semiconductors) อย่างไรก็ดี ในปี 2020 การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเผชิญความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งทำให้มีการปิดโรงงานของบริษัทผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ในอู๋ฮั่น เนื่องจากไทยส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 30%

ความเข้มข้นและความเร็วในการใช้ประโยชน์จาก 5G ของไทยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของราคาของ Device ต่างๆ ที่ต้องอยู่ในระดับเอื้อมถึงได้ ระยะเวลาในการเรียนรู้การใช้งาน ความพร้อมและความเพียงพอของบุคคลากรด้าน IT และด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และที่สำคัญ คือ ทัศนคติ (Mindset) ต่อการเปิดรับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องของความเสี่ยงทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

รายงานโดย ณัฐพร ศรีทอง Krungthai COMPASS