ThaiPublica > เกาะกระแส > 29 ปีมือถือไทย โลกรอ 5G คนไทยยังต้องลุ้น “4G” ความหวังดิจิทัลอีโคโนมี – ผลสำรวจความไว อเมริกาอยู่ในกลุ่ม 4G เต่า สเปนไวสุดในโลก

29 ปีมือถือไทย โลกรอ 5G คนไทยยังต้องลุ้น “4G” ความหวังดิจิทัลอีโคโนมี – ผลสำรวจความไว อเมริกาอยู่ในกลุ่ม 4G เต่า สเปนไวสุดในโลก

21 มีนาคม 2015


จากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน คณะกรรมการได้อนุมัติ แผนงานและคณะทำงาน 5 คณะ ซึ่งแผนงานหนึ่งในนั้นคือการอนุมัติให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มต้นประมูล 4 จีทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ จากเดิมที่ คสช. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี ซึ่งการประมูล 4จี ครั้งนี้ ทางกสทช. จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งต้องนำมารายงานคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้

29 ปี มือถือไทย ไกลสุดยังอยู่ที่ 3G ครึ่งใบ สู่ 4G

หากจะย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2529 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT470 ในระบบ 1G เป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า “มือถือรุ่นกระติกน้ำ” เป็นยุคที่ใช้ระบบสัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง สามารถโทรออก-รับสายได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งข้อมูลใดๆ ได้ทั้งสิ้น ในยุคนั้นผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีรายได้สูง ต่อมาเป็นยุคมือถือที่คนอายุ 30 ปีขึ้นไปต้องคุ้นเคย ถูกพัฒนาให้ใช้โทรคุยด้วยเสียงและใช้ส่ง SMS ได้ในระบบ 2G และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ มีความต้องการส่งผ่านข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จึงเกิดการพัฒนา 3G และ 4G ขึ้น

สำหรับคุณสมบัติของแอลทีอี (LTE) หรือ 4G เว็บไซต์สยามโฟน ระบุว่า 4 G จะมีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps ซึ่งในยุค 4G นี้ถือว่าเป็นยุคที่ถูกพัฒนาก้าวมาอีกขั้น ตอบสนองการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายดีขึ้น สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิม และสามารถใช้โปรแกรมมัลติมีเดียได้อย่างเต็มที่ เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรมต่างๆ ในระดับความคมชัดสูง โหลดหนัง ฟังเพลง ได้โดยไม่สะดุด และยังสามารถอัปโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูลที่มีขนาดไฟล์ใหญ่โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน

mp
(ซ้าย) มือถือเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เป็นการชุมนุมของนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ 1G ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ม็อบมือถือ” (ขวา) มาร์ติน คูเปอร์ วิศวกรชาวอเมริกัน นักประดิษฐ์ของโทรศัพท์มือถือแบบพกพาครั้งแรกและคนแรกของโลก หรือ “บิดาแห่งโทรศัทพ์มือถือ” ที่มาภาพ: http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5112.30 และ http://en.wikipedia.org/wiki/File:2007Computex_e21-MartinCooper.jpg

ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกใช้ 4G ในการสื่อสารพื้นฐานกันแล้ว แต่ในประเทศไทยเอง 3G ยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้หมด ในบางพื้นที่ยังไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์และไม่มี EDGE ในบางพื้นที่ลุ้นกันกว่าที่สัญญาณ 3G จะไปถึงพื้นที่ให้บริการได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสัญญาณไม่มีความเสถียรและปัญหาทางเทคนิคต่างๆ นานา ที่ผู้ใช้บริการต่างคงเคยประสบพบเจอ

ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มี 4G ใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในฟิลิปปินส์ตลาด 4G มีการแข่งขันดุเดือด ส่วนสิงคโปร์ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีการให้บริการ 4G ทั้งยังครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ยังไม่มี 4G ใช้เป็นเรื่องเป็นราว

4G ความหวังของดิจิทัลอีโคโนมี

ขณะที่ภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ช่วยสนับสนุนให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเกิดการซื้อขายในรูปแบบใหม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยเติบโต ทั้งยังสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงการรองรับข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น

ในส่วนภาครัฐสิ่งที่ได้จากการประมูล 4G การประมูล 4Gนั้น คือเงินรายได้ที่จะนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ทำให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าระดับสากล เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ หากโชคดีกว่านั้น ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการมีโอกาสในเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง (Access) เชื่อมต่อ (Connectivity) และทำให้การบริการหรือข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล (Digitization) กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมมีพลวัตเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

อเมริกาอยู่ในกลุ่ม 4G เต่า สเปนไวสุดในโลก เกาหลีใต้ให้บริการครอบคลุม 95%

เมื่อไม่นานมานี้OpenSignal เผยแพร่งานวิจัย “สถานะของแอลทีอีทั่วโลก” หรือ 4G (The State of LTE report) เป็นชิ้นที่สอง ซึ่งได้สำรวจความเร็วและความครอบคลุมของ 4G ทั่วโลก โดยในรายงานพบว่าความเร็วเฉลี่ยของ 4G ในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุด เป็นรองฟิลิปปินส์ ในขณะที่ประเทศที่มีความเร็ว 4G ไวที่สุดนั้นตกเป็นของสเปน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเกาหลีใต้ แต่เมื่อพูดถึงความครอบคลุมของ 4G แล้ว เกาหลีใต้ครองแชมป์ เนื่องจากมีผู้เข้าถึง 4G ถึง 95% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น คูเวต ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ ส่วนอาร์เจนตินารั้งท้าย(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

Screen Shot 2558-03-18 at 10.52.33 PM
เปรียบเทียบความเร็ว 4G ทั่วโลก

ข้อมูลดังกล่าวชวนให้ตั้งคำถามว่า ไทยอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใดในขณะที่โลกกำลังใช้ 4G กันอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งถกเถียงกันถึงการพัฒนาไปสู่ยุค5Gเพื่อให้มนุษย์ยุคต่อไปได้ใช้เทคโนโลยีไร้สายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ 5G ยังอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นเท่านั้น ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าประสิทธิภาพของ 5G จะสามารถดาวน์โหลดหนังทั้งเรื่องภายใน 1 วินาที เลยทีเดียว