ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > Krungthai Compass > Krungthai COMPASS วิเคราะห์ “Soft Power อาหารไทย ฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ “Soft Power อาหารไทย ฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

17 เมษายน 2023


Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ “Soft Power อาหารไทย ฟันเฟืองใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยมองว่า

  • อาหารไทยจะเป็น Soft Power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ และไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในช่วงปี 2567-2573 จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมให้กับสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรส และกลุ่มอาหารพร้อมปรุงได้ราว 75,800 ล้านบาท (ราว 5.4% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด) ส่
  • วนภาคการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมได้ราว 206,000 ล้านบาท (ราว 17.2% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด)

  • Krungthai COMPASS แนะนำ ภาครัฐควรเป็นแกนหลักในการโปรโมทอาหารไทยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ รสชาติ ไปจนถึงการต่อยอดอาหารไทยไปสู่อาหารที่สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Foods) รวมทั้งการร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
  • ……

    ในช่วงที่ผ่านมา “Soft Power”เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและบริการ โดยศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้มีการให้คำนิยาม Soft Power ว่าคืออิทธิพลที่ไม่ได้มาจากการบังคับหรือใช้ความรุนแรง แต่โน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามด้วยเครื่องมือที่ไม่ใช่อาวุธ ในช่วงที่ผ่านมา Soft Power ถูกใช้เป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสินค้าและบริการที่นิยมนำมาใช้เป็น Soft Power ได้แก่ อาหาร ความบันเทิง ละคร ศิลปะ ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่มีการนำวัฒนธรรมด้านดนตรี (K-Pop) รวมทั้ง ละครและภาพยนต์ (K-Drama) มาใช้ในการสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าของประเทศ หรือญี่ปุ่นที่นำเสนอ Cool Japan ซึ่งป็นนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยใช้จุดเด่นของสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งกรณีล่าสุดที่นักร้องเกาหลีสัญชาติไทย อย่าง ลิซ่า แบล็กพิงค์ที่ได้ โพสต์รูปการรับประทานอาหารลงอินสตาแกรมส่วนตัว ส่งผลให้ในช่วงนั้นอาหารไทยถูกพูดถึงจนเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์

    ส่วนรัฐบาลไทยก็มีความพยายามผลักดัน Soft Power ในรูปแบบของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ และการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จาก 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570 หรือ 15% ของ GDP ผ่านการผลักดันโครงการ 5F คือ 1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4) มวยไทย (Fighting) และ 5) การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)

    โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบสินค้าเกษตร สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงไปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทุกภาคส่วนฝากความหวังไว้ว่าจะเป็น Growth Engine หลักที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้อาหารไทยยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอาหารไทยต่อมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 18.3% สูงเป็นอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (รูปที่ 1) คำถามน่าสนใจที่ตามมาคือ หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่องจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เท่าไร?

    ทำไมอาหารถึงจะเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย?

    1. อาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ

    อาหารไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากบทความเรื่อง The 50 Best Soup และ The Best Traditional Dishes In The World In 2022 ของ TasteAtlas พบว่า ข้าวซอย ติดอันดับ 1 ของซุปที่ดีที่สุดในโลก และ แกงพะแนงติดอาหารที่ดีสุดในโลก ขณะที่นิตยสาร Reader’s Digest 2022 ให้ผัดไท ติดอันดับ 6 จาก 50 อันดับ อาหารต่างชาติที่เป็นที่นิยมของชาวสหรัฐ

    บทความเรื่อง The 10 Most Popular International Cuisines In The UK ที่ชี้ว่าอาหารไทยติดอันดับ 3 ของอาหารที่เป็นที่นิยมของประชากรในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะแกงเขียวหวาน เช่นเดียวกับบทความของ CNN Travel (2022) เรื่อง The World’s 50 Best Foods ที่ระบุว่า แกงมัสมั่นเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลก

    บทความเรื่อง Most Popular Ethnic Foods From Around The World ของ Discovery Lifestyle (2021) ยังชี้ว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในโลกเพราะมีการผสมผสานรสชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เผ็ด หวาน เค็ม เป็นต้น และล่าสุดในปี 2023 ร้านอาหารไทยคว้าอันดับ 1 จากการประกาศรางวัล Asia’s 50 Best Restaurants ซึ่งการตัดสินรางวัลมาจากการโหวตของ นักวิจารณ์ เชฟ ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร

    อีกทั้งจากข้อมูลล่าสุดของ Michelin Guide พบว่า เมนูของร้านอาหารไทยที่ได้อันดับ 1 อย่างร้านอาหาร Le Du มีราคาถูกกว่าร้านอาหารอย่าง Sezanne จากญี่ปุ่นซึ่งคว้าอันดับที่ 2 เกือบครึ่ง สะท้อนถึงราคาที่แข่งขันได้

    นอกจากนี้ อาหารไทยเองก็เป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เป็นตัวชูโรงหลักและเป็น Soft Power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศผ่านโครงการไทยสู่ครัวโลก เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำตลาดส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารจากประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการยกระดับคุณภาพร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มีมาตรฐานผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ Thai SELECT

    2. ไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก

    ไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 15 ของโลก เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสินค้าเกษตรภายในประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่าส่งออกอาหารของไทยอยู่ที่ 36,480 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เฉพาะมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรส รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมปรุง อยู่ที่ 4,589 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 161,100 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของการส่งออกอาหารไทยทั้งหมด โดยตั้งแต่ปี 2554-2565 มูลค่าส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5.8% ต่อปี (รูปที่ 3)

    3. สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

    อาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 405,000 ล้านบาท จากในปี 2557 ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 20.9% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 356,603 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านที่พักและเพื่อซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 4)

    อาหารไทยจะเป็น Soft Powerได้แค่ไหน?

    Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง จะสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมในช่วงปี 2567 ถึงปี 2573 ให้กับสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรสและกลุ่มอาหารพร้อมปรุงได้ราว 75,800 ล้านบาท (คิดเป็นราว 5.4% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด) ส่วนภาคการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมได้ราว 206,000 ล้านบาท (คิดเป็นราว 17.2% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) โดยในการประเมินมีสมมติฐานดังต่อไปนี้

    1) มูลค่าเพิ่มสะสมต่อการส่งออกอาหารไทย

  • กรณีที่ 1 Business as usual
  • คาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 จะอยู่ที่ 8.3%CAGR ซึ่งเป็นการประเมินโดยหาสัดส่วนอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยกับอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2554-2565 จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่อ้างอิงข้อมูลจาก IMF เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 (รูปที่ 5 บน)

  • กรณีที่ 2 ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง
  • คาดว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 จะอยู่ที่ 9.5% CAGR ซึ่งประเมินโดยหาความได้เปรียบที่เพิ่มขึ้นในการส่งออกอาหารเกาหลีของเกาหลีใต้ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของเกาหลีใต้ในช่วงก่อนและหลังผลักดันอาหารให้เป็น Soft Power หลังจากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับข้อมูล 1) อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของไทย ในช่วงปี 2554-2565 และปี 2567-2573 และ 2) อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกอาหารไทยในช่วงปี 2554-2565 เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 (รูปที่ 5 ล่าง) ทั้งนี้อัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของไทย ในช่วงปี 2567-2573 ประมาณการโดยเทียบสัดส่วนกับอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก IMF

    หลังจากนั้นนำมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย ในปี 2566-2573 กรณีที่ 2 หักลบกับกรณี 1 จะได้มูลค่าเพิ่มสะสมให้กับมูลค่าส่งออกราว 75,800 ล้านบาท (รูปที่ 7)

    2) มูลค่าเพิ่มสะสมต่อภาคการท่องเที่ยว

  • กรณีที่ 1 Business as usual
  • คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 จะเพิ่มขึ้น 5.6%CAGR ซึ่งประเมินโดยหาสัดส่วนอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2554-2562 กับอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2554-2562 ของไทย จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567-2573 ที่อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 (รูปที่ 6 บน)

  • กรณีที่ 2 ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง
  • คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 จะเพิ่มขึ้น 7.6%CAGR ซึ่งประเมินโดยเปรียบเทียบสัดส่วนของอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีใต้ในช่วงก่อนและหลังผลักดันอาหารให้เป็น Soft Power จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในช่วงปี 2554-2562 เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 (รูปที่ 6 ล่าง)

    กำหนดให้ในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2562 อยู่ที่ราว 1,144 บาทต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็น 90% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 แล้วนำค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันในแต่ละกรณี ตั้งแต่ปี 2567-2573 คูณจำนวนวันที่พัก และคูณจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เพื่อให้ได้มูลค่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม โดยจำนวนวันที่พักกำหนดให้อยู่ที่ 4.3 วัน (ค่าเฉลี่ยปี 2554-2562) ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 อยู่ที่ 36.6 ล้านคน และทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนปี 2030 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 65 ล้านคน หรือเติบโต 10%CAGR และนำมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมปี 2567-2573 ของกรณีที่ 2 หักลบกันกับกรณี 1 จะได้ส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มสะสม ต่อภาคการท่องเที่ยวราว 206,000 ล้านบาท (รูปที่ 7)

    ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่อยอดอาหารไทยเป็น Soft Power ยาวๆ

    Krungthai COMPASS มองว่า ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

    ธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ชูจุดขายวัตถุดิบของไทย เช่น น้ำพริก เครื่องแกง เครื่องต้มยำ ควบคู่กับการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เช่น เครื่องปรุงรสที่ไม่ผสมผงชูรส เครื่องปรุงรสเติมวิตามิน และเครื่องปรุงรสลดโซเดียม หรือแม้กระทั่งเครื่องปรุงรสออร์แกนิก ที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านสุขภาพและเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ธุรกิจผลิตอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ซึ่งเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสะดวกและรวดเร็วในการรับประทาน อาทิ ข้าวหอมมะลิและกับข้าวพร้อมทานชนิดต่างๆ เช่น ผัดไทย ผัดกะเพรา หรือผัดแกงเขียวหวานพร้อมทาน

    ธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะร้านที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ลิซ่า แบล็กพิงค์ สมาชิกวงเกิร์ล กรุ๊ปชื่อดังที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับลูกชิ้นยืนกิน ส่งผลให้ยอดขายลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดบุรีรัมย์เพิ่มอย่างมาก โดยจากข้อมูลของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ ประเมินว่า ยอดขายลูกชิ้นยืนกินในงานเทศกาลลูกชิ้นยืนของบุรีรัมย์มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

    ธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่มีเมนูอาหารไทยแบบดั้งเดิม เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่น ข้าวซอย เป็นต้น หรือมีการขายผ่านแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่

    ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Foods Tourism หรือ Gastronomy Tourism) ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตเนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมอาหาร หรือเติมเต็มประสบการณ์และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารแต่ละท้องถิ่น

    ข้อเสนอแนะ

    Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารไทย ดังต่อไปนี้

  • ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเป็นแกนหลักในการโปรโมทอาหารไทยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติ เพื่อโปรโมทสินค้าอาหารไทย อีกทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) โดยภาครัฐอาจเป็นตัวกลางในสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเติบโตต่อเนื่อง ช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
  • ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ รสชาติ ไปจนถึงการต่อยอดอาหารไทย เช่น การพัฒนาสูตรอาหารโดยผสานวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดขายให้กับอาหาร หรือพัฒนาไปสู่อาหารที่สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต Future Foods) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต สำหรับตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาดนี้แล้ว ได้แก่ บริษัทเอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตซอสแกงเขียวหวาน ซอสต้มยำ ซอสต้มข่า สำหรับผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติ หรือผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน หรือ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเชฟช้อย จำกัด ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสผัดไทยที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ
  • การร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจเครื่องปรุงรส ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นในเกาหลีใต้ที่ผู้ประกอบการอาหารร่วมมือกับอุตสาหกรรมบันเทิง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะเห็นได้จากภาพยนตร์ เรื่อง Parasite ที่มีฉากตัวเอกของเรื่องรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์หนึ่ง ส่งผลให้มีผู้บริโภคบางส่วนอยากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนั้น ทำให้ในปีที่ภาพยนตร์ออกฉายนั้นยอดขายบะหมี่ยี่ห้อดังกล่าวมียอดขายทั่วโลกประมาณ 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 24%YoY