ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > 15 ซูเปอร์มาร์เก็ต-ผู้ซื้ออาหารทะเลต่างชาติรายใหญ่ ส่งจม.เปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยปฏิรูปประมงต่อเนื่อง

15 ซูเปอร์มาร์เก็ต-ผู้ซื้ออาหารทะเลต่างชาติรายใหญ่ ส่งจม.เปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยปฏิรูปประมงต่อเนื่อง

7 กุมภาพันธ์ 2020


15 ซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ซื้ออาหารทะเลต่างชาติทั้งในสหรัฐ-อังกฤษ-ยุโรปซึ่งเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายใหญ่จากประเทศไทยอย่าง Albertsons Companies, Aldi Nord, Aldi South, Cargill, EDEKA, Ethical Trading Initiative (ETI), Kroger, Lidl International, Morrisons, REWE Group, Sainsbury’s, SEA Alliance, Tesco, Waitrose, and Whole Foods ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานทูตไทยในต่างประเทศแสดงความชื่นชมที่ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงอย่างจริงจังจนเกิดผลเชิงบวก โดยเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป พร้อมระบุในฐานะผู้ซื้อพร้อมสนับสนุนการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาประโยชน์จากแรงงานประมง

เนื้อความในจดหมายตอนหนึ่งระบุว่า ในฐานะผู้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากประเทศไทยขอแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่ดำเนินการอย่างจริงจังในการปฏิรูปภาคประมงและแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดผลเชิงบวกต่อการทำประมงของไทย

นอกจากนี้ บริษัทผู้ซื้อได้ติดตามสถานการณ์ประมงในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและติดตามดูความร่วมมือในการแก้ปัญหาระหว่างรัฐบาล บริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเล และภาคประชาสังคมเพื่อให้มั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรมประมงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ทางผู้ซื้อเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ทุ่มเททรัพยากรและความพยายามอย่างมาก เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญ เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ทำให้สถานะของประเทศไทยดีขึ้นในสายตาของนานาชาติ   ความร่วมมือเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศไทยแสดงความเป็นผู้นำระดับโลก ในฐานะประเทศที่ทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนถือเป็นตัวอย่างให้กับประชาคมโลกต่อไป

นอกจากนั้นทาง 15 ซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ซื้อต่างประเทศยังขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามแนวทางปฏิรูปและแก้ไขปัญหาประมงร่วมกับหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้องภายในประเทศ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรมและยั่งยืน

ในฐานะหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในธุรกิจภาคประมง ทางผู้ซื้อเห็นว่าแม้การปฏิรูปเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ยินดีสนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริงและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นความสำเร็จสูงสุดต่อไป

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า ความเคลื่อนไหวในการยื่นจดหมายเปิดผนึกของ 15 ซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ซื้ออาหารทะเลในสหรัฐ-อังกฤษ-ยุโรปซึ่งเป็นผู้ซื้ออาหารทะเลรายใหญ่จากไทย ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเรือประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบในการปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการประมง เพื่อปลดใบเหลือง ต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 11 เรื่อง ได้แก่

    1. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมายกฎระเบียบประกาศคำสั่งต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก ยกเว้นการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง

    2.ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้

    3.ขอให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในการนำเรือประมงออกนอกระบบ

    4.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562

    5.ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562

    6.ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว

    7.เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS

    8.ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92  ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องมีการตรวจสอบว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นได้มาชอบโดยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม จึงทำให้สินค้าประมงจากต่างประเทศมาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมีต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรีมีมาตรการปกป้องสินค้าระดับน้ำภายในประเทศ

    9.ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำประมงให้กับชาวประมงทั่วประเทศโดยเร่งด่วนเพราะทำให้เกิดปัญหาประกอบอาชีพขาดทุนมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปีแต่ต้องมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานตลอดทั้งปี

    10.ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที และ

    11.ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบด้วย

ล่าสุดกลุ่มผู้แทนจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีข้อสรุปในบางประเด็น อาทิ การเพิ่มจำนวนวันในการทำประมง,  การแก้ไข พ.ร.ก. จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการพิจารณาว่ามีส่วนไหนที่เป็นผลกระทบและอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ IUU รวมถึงการตั้งคณะทำงานการเยียวยาผลกระทบชาวประมง โดยได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา และการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะโดยจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ 45 วัน ฯลฯ