เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เดินทางไปให้ข้อมูลเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing : IUU) กับสหภาพยุโรป (EU) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ได้รายงานผลการเจรจาล่าสุดว่า ทาง EU ได้ผ่อนผันระยะเวลาให้ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป จากเดิมที่ขีดเส้นตายไว้ที่ 6 เดือนนับจากได้รับใบเหลือง เมื่อ 21 เมษายน 2558 คือ สิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า EU มีความเข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนตุลาคม 2558 นี้ ขอให้ไทยดำเนินการให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมก่อนอย่างน้อย 3 เรื่องที่สำคัญได้แก่
- การประกาศใช้กฎหมายประมงใหม่
- การประกาศใช้แผนบริหารจัดการประมงทะเล
- การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ. การประมงและกฎหมายลำดับรอง การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง ที่ผิดกฎหมาย การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้า-ออกท่าของเรือประมง การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) และการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
“ท่านนายกฯ รู้สึกยินดีที่ EU เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลและยินยอมผ่อนผันให้ไทยแก้ปัญหาต่อไป เพราะที่ผ่านมาไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาและมีความคืบหน้าในหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำประมง และยกระดับมาตรฐานการส่งออกอาหารทะเลในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ และหวังว่า ผลจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตลอดจนพี่น้องชาวประมง จะส่งผลให้ไทยสามารถแก้ไขปัญหา การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตามข้อห่วงใยของ EU ได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว