ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะติดสถานการณ์อิหร่าน-สหรัฐฯ ปฏิกิริยานานาชาติหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐฯในอิรัก

เกาะติดสถานการณ์อิหร่าน-สหรัฐฯ ปฏิกิริยานานาชาติหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐฯในอิรัก

8 มกราคม 2020


ฐานทัพอากาศอัล-อัสสาดในอิรัก ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2020/01/rockets-fired-iraq-base-housing-troops-reports-200107232445101.html

สำนักข่าวอัล-จาซีร่าสรุปปฏิกิริยาจากนานาชาติหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐฯในอิรัก

อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธมากกว่า 24 ลูกถล่มฐานทัพอากาศ 2 แห่งอิรักซึ่งใช้เป็นที่มั่นของกองกำลังทหารสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นพิธีฝังศพนายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์(Quds Force) ของอิหร่านที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่วางร่างนายพลกาเซมซึ่งคลุมไว้ด้วยผ้าขาวลงในหลุมที่เมืองเคอร์มานทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศก่อนเวลา 6 นาฬิกาเช้าวันพุธตามเวลาท้องถิ่น

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากสหรัฐฯปฏิบัติการทางอากาศโจมตีสนามบินในกรุงแบกแดดของอิรักจนมีผลให้นายพลกาเซม สุไลมานี เสียชีวิต จนนำไปสู่การประกาศตอบโต้รุนแรงจากอิหร่าน

สื่อโทรทัศน์ของอิหร่านรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (8 มกราคม 2563) กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guards Corps) ได้ปฏิบัติการโจมตี ฐานทัพอากาศอัล-อัสสาดในจังหวัดอันบาร์ และที่ฐานทัพอากาศ อิร์บิล ซึ่งกองกำลังทหารสหรัฐฯใช้เป็นที่ประจำการ

สื่อโทรทัศน์อิหร่านรายงานอีกด้วยว่า มีผู้ก่อการร้ายชาวอเมริกันอย่างน้อย 80 รายเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ 15 ลูก

นอกจากนี้ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านว่า อิหร่านยังมีเป้าหมายอีก 100 แห่งในภูมิภาค หากสหรัฐฯมีมาตรการตอบโต้ อีกทั้งยังระบุว่า เฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์สหรัฐฯเสียหายหนัก

ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านซึ่งไม่เปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์อิหร่านว่า การยิงขีปนาวุธเป็นก้าวแรก และอิหร่านจะไม่ให้ทหารอเมริกันรอดชีวิตแม้แต่คนเดียว “ประธานาธิบดีทรัมป์ควรที่จะคิดถอนกองกำลังออกจากภูมิภาคและอย่าเหลือใครให้เราจัดการเลย”

แถลงการณ์ของอิหร่านหลังปฏิบัติการเตือนพันธมิตรสหรัฐฯในภูมิภาครวมทั้งอิสราเอลว่า จะถูกโจมตีด้วยหากยอมให้ใช้ประเทศเป็นฐานในการโจมตีอิหร่าน

รายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์ของอิหร่านยังระบุว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสในทำเนียบผู้นำสูงสุดเปิดเผยว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งนี้เป็นหนึ่งในการโจมตีแบบเบาที่สุดแล้วในบรรดามาตรการตอบโต้ที่เตรียมไว้

อยาตุลเลาะห์อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านกล่าวหลังการยิงขีปนาวุธว่า “การคงอยู่ของสหรัฐฯที่มีผลทางลบต่อภูมิภาคควรจะสิ้นสุดลงได้แล้ว และการยิงขีปนาวุธถือเป็นการตบหน้าสหรัฐฯ”

อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด ในการปราศรัยกับประชาชนวันที่ 8 มกราคม 2563 ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2020/01/iran-fires-rockets-forces-iraq-latest-updates-200107235228432.html

ขณะที่เพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยืนยันในแถลงการณ์ว่า อิหร่านยิงขีปนาวุธกว่า 20 ลูกโจมตีกองกำลังสหรัฐฯและพันธมิตรในอิรัก และชัดเจนว่าขีปนาวุธยิงขึ้นจากอิหร่าน

รมต.ต่างประเทศอิหร่านแจงตอบโต้แบบสมน้ำสมเนื้อ

นายโมฮัมเหม็ด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อิหร่านกล่าวว่า อิหร่านได้ลงมือปฏิบัติการและเป็นมาตรการที่สมน้ำสมเนื้อในการป้องกันตัวเองภายใต้มาตรา 51 กฎบัตรสหประชาชาติ

“เราใช้มาตรการที่สมน้ำสมเนื้อในการปกป้องตัวเองตามมาตรา 51 ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติและมีเป้าหมายไปที่ฐานที่ตั้งซึ่งใช้เป็นที่มั่นในการโจมตีอย่างขี้ขลาดต่อพลเมืองและเจ้าหน้าที่อาวุโสของเรา เราไม่ได้ทำสงครามยืดเยื้อ แต่จะปกป้องตัวจากการรุกราน” นายซารีฟกล่าว

ทรัมป์จะแถลงการณ์พุธนี้ตามเวลาสหรัฐฯ

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2020/01/rockets-fired-iraq-base-housing-troops-reports-200107232445101.html

ขณะที่ในสหรัฐฯประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า กำลังประเมินจำนวนผู้บาดเจ็บและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีของอิหร่าน

“ทุกคนปลอดภัย” มีการยิงขีปนาวุธจากอิหร่านไปยังฐานทัพอากาศ 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในอิรัก ขณะที่กำลังประเมินผู้บาดเจ็บและความเสียหาย ณ ขณะนี้ก็ยังดีอยู่ เรามีกองทัพที่ทรงพลังพร้อมด้วยอาวุธอย่างดีที่สุดในโลก และผมจะมีแถลงการณ์ในช่วงเช้าวันพุธ”

โจนาธาน ฮอฟแมน โฆษกเพนตากอนกล่าวในแถลงการณ์ว่า “สหรัฐฯจะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องและป้องกันบุคลากรสหรัฐฯ หุ้นส่วนและพันธมิตรในภูมิภาค”

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวเพื่อรายงานรวมทั้งการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมงนายเอสเปอร์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯคาดว่าจะมีการตอบโต้จากอิหร่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหลังจากสหรัฐฯปฏิบัติการทางอากาศโจมตีสนามบินในกรุงแบกแดดของอิรักจนมีผลให้นายพลกาเซม สุไลมานีเสียชีวิต และการตอบโต้ดังกล่าวจะทำผ่านกลุ่มตัวแทนนอกประเทศ หรือทำด้วยตัวเอง

“เราเตรียมตัวพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน และจะตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อสิ่งใดๆก็ตามที่เขาจะทำ” นายเอสเปอร์กล่าว

อิหร่านเตือนหากสหรัฐฯตอบโต้สงครามระเบิดแน่

การตอบโต้ทางทหารของสหัฐฯหลังที่อิหร่านโจมตีฐานทัพอากาศในอิรักจะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง จากความเห็นของที่ปรึกษานายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน

นายฮัสซาเมดดิน อาเชนา ทวีตข้อความว่า การดำเนินการทหารของสหรัฐฯ จะนำไปสู่สงครามทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตามซาอุดิอาระเบีย อาจจะเลือกอีกแนวทางหนึ่งที่ต่างออกไป พวกเขาก็จะมีความสงบสุขโดยรวม”

อิรักเผยขีปนาวุธโจมตี 22 ครั้ง

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2020/01/rockets-fired-iraq-base-housing-troops-reports-200107232445101.html

แถลงการณ์ของอิรักระบุว่า มีการยิงขีปนาวุธ 22 ครั้งไปที่ฐานทัพอากาศอัล-อัสสาด ในเวลา 01.45 น.และฐานทัพอิร์บิลเวลา 02.15 น. โดยที่ขีปนาวุธ 2 ใน 17 ลูก พุ่งเป้าไปที่ฐานทัพอิร์บิล ไม่ทำงาน และอีก 5 ลูกมีเป้าหมายที่ที่ทำการของกองกำลังพันธมิตร ขณะที่ทหารอิรักไม่ได้รับบาดเจ็บ

นายอิสมาเอล อัลโซดานี อดีตนายพลเรือและอดีตทูตทหารอิรักประจำสหรัฐฯให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัล-จาซีร่า ว่าการตอบโต้ของอิหร่านมาจากการที่ถือว่า การโจมตีนายพลกาเซมนั้นมีความรุนแรง

“การสังหารนายพลกาเซมถือว่าเป็นการดูหมิ่นชาวอิหร่านจากสหรัฐฯ พวกเขาถูกบีบให้ตอบโต้ในแนวทางที่เห็นแล้วว่าเป้าหมายการเอาคืนต้องเท่าเทียมกันและเท่าๆกับการสังหารนายพลกาเซม และไม่คิดว่านี่เป็นการตอบโต้เพียงครั้งเดียว” นายอัลโซดานีกล่าว

นายอันวา การ์กาช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่า ภูมิภาคนี้ต้องดึงตัวเองออกจากสถานการณ์อันตรายนี้ การลดความตึงเครียดเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นแนวทางที่ฉลาด ต้องยึดมั่นเสถียรภาพของการเมืองระหว่างประเทศ

จีนขอให้ยับยั้งชั่งใจ

จีนได้ขอให้ทุกฝ่ายได้มีความยับยั้งชั่งใจ โดยที่จีนจะมีบทบาทซึ่งแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเพื่อลดความตึงเครียดในภูมิภาค

“ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเพราะสถานการณ์ในภูมิภาคเลวร้ายลง” นายเกิง ฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในการแถลงข่าว

นายเกิง ฉวง กล่าวว่าจีนจะแสดงความรับผิดชอบในการส่งเสริมให้มีการลดความตึงเครียดของสถานการณ์โดยเร็ว

เยอรมนีเตือนไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม

นางแอนเนเกรต แครมป์-คาร์เรนบาวเออร์ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีกล่าวว่า เยอรมนีไม่ยอมรับการรุกรานครั้งนี้ในทุกวิถีทางอย่างชัดเจน และขณะนี้ก็ขึ้นอยู่อิหร่านเท่านั้นที่จะไม่ทำให้สถานการณ์ลุกลาม นอกจากนี้ไม่มีทหารเยอรมนีที่ประจำการในอิรักบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สหราชอาณาจักรประณามอิหร่าน

สหราชอาณาจักรประณามการยิงขีปนาวุธของอิหร่าน โจมตีฐานทัพอากาศของอิรักซึ่งกองกำลังทหารพันธมิตรรวมทั้งจากอังกฤษใช้เป็นที่ประจำการ “เราขอประณามการโจมตีฐานทัพของอิรัก ซึ่งกองกำลังพันธมิตรรวมทั้งทหารอังกฤษใช้เป็นที่ประจำการ” นายโดมินิค ราบบ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษกล่าว

“เราขอให้อิหร่านไม่เพียงยุติการโจมตีที่อันตรายและไม่ใคร่ครวญ และควรหันมาหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ตึงเครียดอย่างเร่งด่วน”

ญี่ปุ่นจี้ใช้วิธีการทางการทูต

ญี่ปุ่นได้จี้ให้หันมาใช้วิธีการทางการทูตและเรียกร้องให้รัฐบาลพยายามอย่างที่สุดในการผ่อนคลายสถานการณ์

นายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าโฆษกคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในการรรวบรวมข้อมูล ขณะที่พร้อมดูแลความปลอดภัยของคนญี่ปุ่นในภูมิภาค

“ญี่ปุ่นจะเร่งขอให้ชาติที่เกี่ยวข้องใช้วิธีการทางการทูตอย่างถึงที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์”

นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อาจจะยกเลิกการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมานที่กำหนดไว้ในสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่ส่งเรือรบไปประจำการที่ตะวันออกกลางเพื่อคุ้มครองเรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันของญี่ปุ่นที่เดินเรือผ่านในพื้นที่นั้น

เดนมาร์ก-นอร์เวย์ยืนยันไม่มีทหารบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

โฆษกกองทัพนอร์เวย์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ไม่มีทหารนอร์เวย์บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่าน นอร์เวย์มีทหารประจำการที่ฐานทัพอากาศในอิรักจำนวน 70 นาย

ทางด้านกองทัพเดนมารก์ทวีตข้อความว่า ไม่มีทหารเดนมารก์บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงจรวดของอิหร่าน ทั้งนี้เดนมาร์กมีทหารประจำการที่ฐานทัพอากาศอัล-อัสสาดในอิรักจำนวน 130 นาย ในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรที่เข้ามาปฏิบัติการสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธมุสลิมหรือ ไอเอส

ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ยันทหารปลอดภัย

นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเปิดเผยว่า กองกำลังออสเตรเลียและเจ้าหน้าที่ทางการฑูตในอิรักปลอดภัย โดยมีบุคลากรทางทหารจำนวน 300 นายที่ประจำการในอิรัก

นายมอร์ริสันกล่าวว่า ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านกับประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันอังคารระหว่างที่พูดคุยทางโทรศัพท์ถึงสถานการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย

นายมอร์ริสันกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการสังหารนายพลกาเซมว่า สหรัฐฯได้ดำเนินการเพื่อจัดการกับสิ่งที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นสิ่งที่เขาได้รับ ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของประเทศตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและอยู่ใต้ภัยคุกคาม

นอกจากนี้นายมอร์ริสันซึ่งอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบการดับไฟป่าว่า ยังได้รับรายงานอัพเดตสถานการณ์ตลอดเวลา และจะเดินทางกลับกรุงแคนเบอร์ร่าเพื่อหารือกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวินสตัน ปีเตอร์ส รักษาการนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ แสดงความกังวลต่อการลุกลามของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ

“ถึงเวลาแล้วที่จะระงับและลดความตึงเครียด และใช้แนวทางทางการทูตแทน รัฐบาลได้รับข้อมูลว่าบุคลลากรนิวซีแลนด์ปลอดภัย เท่าที่จะรักษาตัวภายใต้สถานการณ์นี้” นายปีเตอร์สกล่าว

นิวซีแลนด์มีทหารประจำการในอิรัก 50 นาย ส่วนใหญ่อยู่ที่ค่ายทาจี

อินเดียเตือนพลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทาง

กระทรวงต่างประเทศอินเดียได้ออกคำเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปอิรักหากไม่จำเป็น จนกว่าจะมีการแจ้งเตือนเพิ่มเติม สำหรับชาวอินเดียที่พำนักอยู่ในอิรักควรเตรียมความพร้อมและหลีกเลี่ยงการเดินทางภายในอิรัก ขณะที่สถานฑูตอินเดียในกรุงแบกแดกยังคงเปิดทำการ

ปากีสถานเตือนพลเมืองเตรียมพร้อมสูงสุด

กระทรวงต่างประเทศปากีสถานออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองปากีสถานที่วางแผนเดินทางไปอิรักให้เตรียมความพร้อมในระดับสูงสุด ส่วนผู้ที่อยู่ในอิรักแล้ว ควรที่จะติดต่อกับสถานฑูตปากีสถานในแบกแดดอย่างใกล้ชิด

ฟิลิปปินส์อพยพคนออกจากอิรัก

กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้สั่งการให้อพยพชาวฟิลิปปินส์ออกจากอิรัก ขณะที่นายเอดัวร์โด เมนเดซ โฆษกกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่าได้ยกระดับคำเตือนทั้งประเทศอิรักเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่ต้องอพยพคนออกจากอิรัก

ชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในอิรักมีจำนวน 1,600 คน มากกว่าครึ่งอยู่ในเขตเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก ส่วนที่เหลือทำงานกับส่วนงานของสหรัฐฯและชาติอื่นๆในแบกแดด

เรือคุ้มครองชายฝั่งลำใหม่ที่เพิ่งซื้อจากฝรั่งเศสและกำลังแล่นกลับประเทศได้รับคำสั่งให้หันหัวเรือไปโอมานและดูไบ เพื่อช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการอพยพออกจากอิรัก

แรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศจะถูกนำมาที่ท่าเรือที่มีความปลอดภัย และจากนั้นอาจจะมีการส่งกลับด้วยเครื่องบิน หากจำเป็น

นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานที่เพิ่งตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบการอพยพชาวฟิลิปปินส์กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจัดเตรียมเครื่องบินเพื่ออพยพชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ในอิรักและอิหร่านซึ่งต้องการกลับประเทศหรือออกมายังพื้นที่ปลอดภัย

ปัจจุบันมีชาวฟิลิปปินส์ทำงานในตะวันออกกลาง 2.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน คนงานก่อสร้าง วิศวกร และพยาบาล

สายการบินหยุดบินผ่านอิรัก-อิหร่าน

สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติห้ามสายการบินสหรัฐฯทำการบินผ่านอิรัก อิหร่าน อ่าวโอมาน และน่านน้ำของอิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสายการบินที่หลีกเลี่ยงการทำการบินผ่านอิรักและอิหร่านได้แก่ แอร์ฟรานซ์ ดัทช์เคแอลเอ็ม สายการบินลุฟท์ฮันซ่าของเยอรมนี สายการบินล็อตของโปแลนด์ มาเลเซียแอร์ไลน์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ สายการบินสวิส และแควนตัสของออสเตรเลีย ขณะที่รัสเซียแนะนำให้สายการบินปรับหลีกเลี่ยงเช่นกัน

ตะวันออกกลางเป็นเส้นทางการบินสำคัญที่เชื่อมต่อยุโรปและเอเชีย แม้สามารถปรับเส้นทางการบินได้