ThaiPublica > เกาะกระแส > อิหร่านยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์ สภาอิรักลงมติขับกองกำลังสหรัฐฯ จีนขอไม่ใช้กำลัง

อิหร่านยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์ สภาอิรักลงมติขับกองกำลังสหรัฐฯ จีนขอไม่ใช้กำลัง

6 มกราคม 2020


ที่มาภาพ: https://apnews.com/e043255bd33ab318f71d1947716a5b94/gallery/f3308f8c9ffa41af87c436fcb0207a04

การตอบโต้ของอิหร่านต่อสหรัฐฯที่ปฏิบัติทางอากาศโจมตีที่กรุงแบกแดดของอิรัก ส่งผลให้นายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการ Quds Force ของอิหร่านเสียชีวิต เริ่มระอุขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังพิธีศพนายพลกาเซม เสร็จสิ้นลง โดยคณะรัฐมนตรีอิหร่านประกาศยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์ที่ให้ไว้กับนานาชาติเมื่อปี 2015 และสภาอิรักลงมติให้แจ้งสหรัฐฯถอนกองกำลังทหารสหรัฐฯออกนอกประเทศ เนื่องจากว่าการโจมตีของสหรัฐได้ทำให้นายอาบูมาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้นำกองกำลังฮาชด์ชาบี ของอิรักเสียชีวิตเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวของทั้งอิหร่านและอิรักอาจจะส่งผลให้อิหร่านมีโอกาสมากขึ้นที่จะพัฒนาระเบิดปรมาณูและเปิดทางให้กลุ่มอิสลามหัวรุนแรง หรือ ไอเอส (Islamic State group) กลับเข้ามามีอิทธิพลในอิรักอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นพื้นที่มีอันตรายและไร้เสถียรภาพ

สื่อทีวีรัฐของอิหร่านรายงานอ้างแถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีว่า ประเทศจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่จำกัดการเพิ่มวัตถุดิบซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอาวุธนิวเคลียร์ ปริมาณยูเรเนียมที่สะสม การเสริมสมรรถนะ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา

“สาธารณรัฐอิหร่านไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปในการพัฒนานิวเคลียร์” รายงานสื่อทีวีระบุ

สภาอิรักลงมติขับกองกำลังสหรัฐฯออกนอกประเทศ

ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-iraq-security/iraq-wants-foreign-troops-out-after-air-strike-trump-threatens-sanctions-idUSKBN1Z409A

ส่วนในอิรัก ประณามการโจมตีทางอากาศว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศ นายอเดล อับดุล-มาห์ดี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีสองทางเลือกคือ หนึ่ง ยุติการมีกองกำลังทหารต่างชาติในประเทศ หรือสองจำกัดภารกิจของกองกำลังไว้แค่การฝึกกองพลของอิรักเท่านั้น แต่ได้เลือกข้อแรก

สมาชิกสภาได้ลงมติให้ยกเลิกการมีกองกำลังทหารต่างชาติในประเทศ ซึ่งรวมถึงทหารสหรัฐฯจำนวน 5,2000 นาย ที่ตรึงกำลังในอิรักเพื่อช่วยปราบปรามกลุ่มไอเอส ซึ่งข้อเสนอนี้จะนำสู่การพิจารณาอนุม้ติของรัฐบาลอิรักต่อไป

สมาชิกสภาส่วนใหญ่อิรักลงมติให้ถอนกองกำลังทหารต่างชาติ และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาที่เป็นมุสลิมชีอะห์ซึ่งครองเสียงข้างมาก ขณะที่มุสลิมกลุ่มสุหนี่และเคิร์ดไม่ได้ร่วมประชุม เพราะคัดค้านการยกเลิกข้อตกลงการมีกองกำลังต่างชาติ

การถอนกองกำลังทหารของสหรัฐฯไม่เพียงแต่จำกัดการกวาดล้างกลุ่มไอเอสเท่านั้นแต่ยังทำให้อิหร่านเข้ามามีอิทธิพลในอิรัก ซึ่งเป็นประเทศที่มีมุสลิมชีอะห์เป็นชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกันอิหร่าน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังทำให้สถานการณ์ตกอยู่ภายใต้ความกดดันมากขึ้น เพราะขู่ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากอิรัก หรืออาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน หากอิรักขับกองกำลังสหรัฐฯออกนอกประเทศ

ประธานาธิบดีทรัมป์ตอบโต้การลงมติให้ถอนกองกำลังทหารสหรัฐฯของสภาอิรักด้วยมาตรการทางการเงิน โดยระบุว่าอิรักต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับสหรัฐฯที่ได้ลงทุนทางทหารไปจำนวนก่อนการถอนกองกำลังออกนอกประเทศและขู่ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรหากสหรัฐฯไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม

“เรามีค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการสร้างฐานทัพอากาศที่นั่น ต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งเสียอีก เราจะไม่ถอนกองกำลังทหารออกจนกว่าจะได้รับเงินคืน”ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“หากเขาขอให้เราถอนกองกำลังออก และหากเราไม่ดำเนินการแบบฉันท์มิตร เราจะคว่ำบาตรชนิดที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อนเลย และทำให้การคว่ำบาตรอิหร่านเด็กๆไปเลย” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวและว่า “เราจะไม่ถอนกองกำลังออกจนกว่าจะได้รับเงินชดเชย”

ก่อนหน้านี้โฆษกกระทรวงต่างประเทศ มอร์แกน ออร์ตากุส กล่าวว่า สหรัฐฯรอความชัดเจนทางกฎหมายแต่ผิดหวังกับการลงมติของสมาชิกสภาอิรักและขอให้อิรักทบทวน

“เราเชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหรัฐฯและอิรักในการร่วมกันต่อสู้กับกลุ่มไอเอส”

นอกจากนี้ยังมีสัญญานที่สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นรวมทั้งมีคำขู่ที่จะตอบโต้การปฏิบัติทางอากาศของสหรัฐฯ กองกำลังสหรัฐฯที่นำโดยกองทัพบกในอิรักระบุว่าได้ระงับการกวาดล้างกลุ่มไอเอส และหันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองกองกำลังสหรัฐและฐานที่ตั้งแทน

3 ผู้นำประเทศมหาอำนาจขอให้อิหร่านยึดข้อตกลง

ทางด้านผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2020 เรียกร้องให้อิหร่านยึดมั่นในข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์และละเว้นการดำเนินการหรือสนับสนุนการกระทำที่รุนแรง

นางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ร่วมกันร้องขออิหร่านเป็นการเฉพาะ ให้ยกเลิกมาตรการต่างๆที่ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงปี 2015 ที่มีเป้าหมายหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธปรมาณู

อิหร่านยืนยันว่ายังเปิดช่องในการเจรจากับพันธมิตรยุโรปในข้อตกลงนิวเคลียร์ และยังไม่ถอนตัวออกจากสัญญาก่อนหน้านี้ที่ว่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตามการประกาศครั้งล่าสุดของอิหร่านแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้ถอนตัวเพียงฝ่ายเดียวในปี 2018 และหันกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตร

อีกทั้งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ เพราะอิสราเอลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับอิหร่านมานานได้ประกาศว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

อิหร่านไม่ได้ระบุว่าจะเพิ่มหรือเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ไปถึงระดับไหน แต่อิหร่านได้ฝ่าฝืนข้อตกลงการจำกัดนิวเคลียร์มาแล้ว เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อกดดันให้ยกเลิกการคว่ำบาตร โดยได้เพิ่มการผลิต เริ่มสะสมยูเรเนียมมาเป็น 5% และเริ่มเสริมสมรรถนะที่โรงงานใต้ดิน

แม้การสะสมยูเรเนียมยังไม่ถึงระดับ 90% ซึ่งเป็นระดับที่ใช้เป็นอาวุธได้ แต่การเดินหน้าผลักดัน จะยิ่งทำให้สะสมได้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งปีหากจะเริ่มสะสมวัตถุดิบให้มากพอที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ทบวงปรมาณูเพื่อสันติ(International Atomic Energy Agency) ยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ แต่อิหร่านระบุว่ายังคงให้ความร่วมมือกับ ไอเออีเอ เช่นเดิม

โฆษกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน อับบาส มูซาวี ก่อนหน้านี้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การสังหารนายพลกาเซม จะทำให้อิหร่านผละออกจากข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์มากขึ้น

พิธีศพยิ่งใหญ่ยกย่องเทียบเท่าผู้นำสูงสุด

ที่มาภาพ: https://apnews.com/e043255bd33ab318f71d1947716a5b94/gallery/d71c362ac45841e888e81b02366e659b

ในพิธีศพนายพลกาเซม ฝูงชนนับแสนคนได้ออกมาร่วมอย่างแน่นขนัดบนท้องถนนของเมืองอาห์วาซ และมัชฮาด เพื่อแห่โลงศพนายพลกาเซม ผู้ที่ถือว่าเป็นตัวแทนอิหร่านในสงครามทั่วตะวันออกกลางและถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวอเมริกันร้อยกว่าชีวิตจากการวางระเบิดริมถนนและการโจมตีอื่นๆ

สื่อทีวีอิหร่านประเมินว่ามีคนแต่งดำออกมาร่วมพิธีฝังศพนายพลกาเซมนับล้านคนที่มีการเคลื่อนโลงศพไปตามถนน บางกลุ่มชูโปสเตอร์รูปนายพลกาเซม ส่วนหนึ่งชูธงชีอะห์สีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการหลั่งเลือดของผู้เสียชีวิตและการแก้แค้น

พิธีศพอันยิ่งใหญ่ข้ามเมืองนี้เป็นครั้งแรกที่มีการยกย่องบุคคลเพียงคนเดียว แม้แต่อยาตุลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้ซึ่งก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามและเสียชีวิตในปี 1989 ยังไม่ได้รับเกียรติระดับนี้

ศพของนายพลกาเซมนำไปทำพิธีที่มัสยิดมุสซาล่าที่มีชื่อเสียงในกรุงเตหะราน เช่นเดียวกับผู้นำการปฏิวัติรายก่อนๆ และที่เมืองโกม ก่อนจะนำไปฝังที่บ้านเกิดเมืองเคอร์มานในวันอังคารที่ 7 มกราคม

นายพลกาเซม วัย 62 ปี เป็นหัวหน้าหน่วย คุดส์ (Quds Force) รับผิดชอบด้านปกป้องและส่งเสริมอทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง
ที่ผ่านนายพลกาเซมได้มีส่วนสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ในสงครามการเมือง ช่วยกลุ่มมุสลิมชีอะห์เฮซลอบเลาะห์ในเลบานอน และให้คำปรึกษากองทัพอิรักในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส

นายพลกาเซมได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของประเทศและเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลอันดับสองรองจากผู้นำสูงสุดคาไมนี

สหรัฐฯหมายหัวนายพลกาเซมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และสมควรที่จะกำจัด ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า นายพลกาเซมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีนักการฑูตและกองกำลังทหารสหรัฐฯ

ทรัมป์เล็งโจมตี 52 จุดไม่สนทำลายมรดกวัฒนธรรม

การลอบสังหารนายพลกาเซมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯวิกฤติ หลังจากที่การโจมตีและขู่กันไปมาได้ทำให้ภูมิภาคตะวัน ออกกลางส่วนใหญ่ตกอยู่ในความเสี่ยง อิหร่านประกาศจะตอบโต้รุนแรงต่อการโจมตีของสหรัฐฯ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะโจมตี 52 จุดในอิหร่านอย่างรวดเร็วและรุนแรง ไม่สนใจคำเตือนว่าการโจมตีจะมีผลทำลายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหลายแห่งและเป็นอาชาญกรรมสงครามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

“พวกเขาฆ่าคนของเราได้ พวกเขาทรมานและทำให้คนของเราพิการได้ พวกเขาวางระเบิดริมถนนสังหารคนได้ แต่เราไม่สามารถแตะต้องโบราณสถานของเขาได้อย่างนั้นหรือ คงไม่ใช่อย่างนั้น” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

สถานทูตสหรัฐฯในซาอุดิอาระเบียเตือนพลเมืองอเมริกันว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการโจมดีด้วยจรวดและโดรน ส่วนในเลบานอนผู้นำกลุ่มกองกำลังเฮซบอลเลาะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลังกล่าวว่า การสังหารนายพลกาเซมทำให้มีความชอบธรรมที่จะโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ เรือรบ และกองกำลังทั่วภูมิภาค

อดีตผู้นำกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน มองว่า เมืองไฮฟาของอิสราเอล และเมืองศูนย์กลาง อย่างเทลอาวีฟ อาจจะเป็นเป้าหมายสหรัฐฯโจมตีอิหร่าน

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สนใว่าการโจมตีอิหร่านจะมีผลทำลายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ได้สร้างความกังวลให้กับอิหร่านและนานาชาติ

อิหร่านมีมรดกโลกตามทะเบียนยูเนสโก 24 แห่ง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ต้องรักษา เช่น เพอร์เสโพลิส เมืองหลวงของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณในยุคราชวงศ์อาร์เคเมนิด ราวปี 518 ก่อนคริสต์ศักราช จัตุรัสอิหม่าม (Naqsh-e Jahan Square) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองอิสฟาฮาน สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 และเป็นจัตุรัสกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพระราชวังโกเลสถาน เป็นที่พำนักและราชบัลลังก์ของราชวงศ์กอญัรที่ปกครองอิหร่านช่วงปี 1785-1925

นอกจากนี้ยังมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญหลายแห่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก เช่น สุสานอดีตผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ โคไมนี

จีนขอสหรัฐฯเจรจาแทนการใช้กำลัง

ที่มาภาพ: https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3044149/china-iran-should-stand-together-against-unilateralism-and

ทางด้านจีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใจเย็น อยู่ในความสงบขณะที่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระอุมากขึ้น ทั้งนี้ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ที่จีนพึ่งพิงน้ำมันมากแห่งหนึ่ง

แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศจีนฉบับภาษาอังกฤษที่ออกมาหลังจากที่นายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการ Quds Force ของอิหร่านเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯระบุว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน

“จีนไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” นายอี้กล่าว “การใช้กำลังทหารไม่ได้ทำให้ดีขึ้น การกดดันอย่างหนักก็ไม่ได้ผล จีนขอให้สหรัฐฯหาแนวทางเพื่อการเจรจาแทนการใช้กำลัง”

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นายหวัง อี้ได้ต้อนรับนายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ ที่เดินทางมาเยือนในปักกิ่ง ซึ่งเป็นการเยือนครั้งที่ 4 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน

ในแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศจีน นายซารีฟกล่าวว่า “หวังว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มมากกว่านี้”

สถานฑูตจีนในสหรัฐฯออกแถลงการณ์เป็นภาษาจีนเตือนประชาชนจีนที่อยู่ในสหรัฐฯให้ระวังตัวและหลีกเลี่ยงการชุมนุมในที่สาธารณะ

ในการพบปะของนายหวัง อี้และนายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ นั้น นายหวัง อี้ได้กล่าวว่า จีนและอิหร่านควรจะจับมือกันต่อต้านการถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียวและการถูกกลั่นแกล้ง

“การถอนตัวของสหรัฐฯเพียงฝ่ายเดียวจากแผนปฏิบัติการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ (the Joint Comprehensive Plan of Action) ยกเลิกการให้คำมั่นกับประชาคมระหว่างประเทศและการพยายามที่จะกดดันอิหร่านเป็นสาเหตุของความตึงเครียดที่เกิดจากการมีนิวเคลียร์ในครอบครองของอิหร่าน” แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศจีนอ้างคำพูด นายหวัง อี้ หลังการพบปะกับนายซารีฟในกรุงปักกิ่ง

นายหวัง อี้หมายความถึงข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งมี สหราชอาณาจักร เยอรมนี รัสเซีย จีนและสหรัฐฯตกลงที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อแลกกับการจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน

แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ในปี 2018 อ้างว่าข้อตกลงนี้มีข้อบกพร่อง

นายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ ยังได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งฝ่ายหลังประณามการสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านจากสหรัฐฯ

กระทรวงต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า นายเซอร์เก้ ลาฟรอฟ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน

อีกทั้งทั้งสองรัฐมนตรีย้ำว่า การกระทำของสหรัฐฯเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและสะสมในตะวันออกกลางยากขึ้นอีก แต่กลับทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคสูงขึ้น

เรียบเรียงจาก apnews,bbc,cnbc,scmp,nhk,reuters