ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลรธน. ชี้ อนาคตใหม่ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ส่วนความผิดอาญา ต้องว่าตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. ชี้ อนาคตใหม่ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ส่วนความผิดอาญา ต้องว่าตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

21 มกราคม 2020


ศาลรธน. ชี้ อนาคตใหม่ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ข้อบังคับพรรคต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือที่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ โยน กกต. ทำหน้าที่เพิกถอนข้อบังคับ ส่วนความผิดอาญา ต้องว่าตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

เวลา 12 .00 น. ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยคำร้องของนายณฐพร ขอให้ศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ

    1.ข้อบังคับของพรรคเป็นโมฆะหรือไม่
    2.ผู้ถูกร้องมีการกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด โดยผู้ถูกร้องทั้ง 4 ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัย แต่ได้ทราบนัดโดยชอบแล้ว
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้มอบมายให้นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย โดยระบุว่า ผู้ร้องระบุว่า ข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์ของพรรค ไม่ถูกต้องไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการออกข้อบังคับพรรคการเมือง เป็นส่วนหนึ่งในการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ที่ต้องยื่นเอกสารต่อกกต. และ เป็นหน้าที่ของกกต.ที่ต้องตรวจสอบว่า คำขอจดทะเบียนพรรค เอกสารหลักฐานที่ยื่น ถูกต้องและครบถ้วน ตามที่กฎหมายระบุหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเห็นชอบ รับจดทะเบียนพรรคการเมือง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีนี้แสดงว่าข้อบังคับพรรคไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อย่างไรก็ตามหากมีการปรากฎในข้อเท็จจริงในภายหลังว่า ขัอบังคับพรรคการเมือง มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง รายงานไปยังกกต. ให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าวได้ ซึ่งข้อเท็จจริง ในกรณีนี้หาได้มีการกระทำดังกล่าว จึงยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 4 เข้าข่ายตามคำร้อง แต่ผู้ร้องมีข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมือง ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า คำประกาศอุดมการณ์ การใช้ข้อความในข้อบังคับของพรรคการเมือง ที่ระบุว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แทน คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น เห็นว่า ข้อบังคับพรรคต้องมีความชัดเจน ไม่ควรมีความคลุมเครือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกจากชนในชาติได้ ดังนั้นกกต. มีอำนาจหน้าที่จะพิจารณาให้เพิกถอนข้อบังคับได้ เพื่อป้องกันความสับสน

ส่วนกรณีที่ผู้ร้อง กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องมี แนวคิดปฏิกษัตริย์นิยม ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สังคมไทย เช่น การให้สัมภาษณ์ การสดงความเห็น การแสดงความเห็นต่างๆ ศาลเห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง ต้องปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้เห็นชัดเจน และวิญญูชน เห็นว่าเป็นกาารใช้สิทธิ โดยการกระทำนั้นต้องดำเนินการอยู่ และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ แต่ข้อเท้จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสื่อในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 ต้องการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนจะผิดอาญาหรือไม่ต้องไปว่ากันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาในการอ่านคำวินิจฉัยเพียง 10 นาทีเท่านั้น