ThaiPublica > เกาะกระแส > กกต. ประกาศชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 149 คน มี 11 พรรคการเมืองได้คะแนนน้อยกว่าจำนวนส.ส.พึงมีได้อานิสงส์

กกต. ประกาศชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 149 คน มี 11 พรรคการเมืองได้คะแนนน้อยกว่าจำนวนส.ส.พึงมีได้อานิสงส์

8 พฤษภาคม 2019


นายแสวง บุญมี
รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงมติที่ประชุม กกต. เห็นชอบประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน โดยมีพรรคการเมือง 26 พรรคได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตามวิธีคำนวณที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 กำหนดไว้ โดย (7) ให้จัดสรรอัตราส่วน ตามหลักเกณฑ์ โดย กกต.ได้แจกเอกสารวิธีคำนวณ 14 หน้า และแจ้งให้ผู้รับประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามประกาศรับหนังสือรับรองในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 8:30 – 16:30 น. ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. และ ราชกิจจานุเบกษา

นายแสวง ระบุว่า การคำนวณเป็นไปตามกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 และ ย้ำว่า กกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งหากพรรคการเมือง หรือ ผู้ใดจะยื่นร้องเรียนต่อศาลถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยสำนักงาน กกต. เสนอให้ กกต. พิจารณาลงมติจากการคิดคำนวณเพียงวิธีเดียวตามมาตรา 128

ส่วนการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้อ้างอิงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า กรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 150 คน ให้ใช้วิธีคำนวณตามมาตรา 128 ตั้งแต่ (3) – (7) ซึ่งจัดสรรให้ทุกพรรคการเมือง ขณะเดียวกันใน (7) ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องของความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดย กกต. คิดคำนวณตาม (1) – (7)

และหลังจากจัดการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่เสร็จสิ้น ก็จะมีการคิดคำนวณใหม่อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงกรณีที่ กกต. มีมติสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกฎหมายได้เขียนรับรองไว้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ในระยะ 1 ปี ซึ่งกรณีผู้ที่ได้รับการรับรอง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเขตเลือกตั้งที่ถูกร้องเรียนคัดค้านเรื่องคุณสมบัติ สามารถร่วมโหวตในสภาได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าท้ายที่สุดศาลวินิจฉัยว่ามีความผิด ส.ส.คนดังกล่าวจะต้องคืนเงินให้สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ยังชี้แจงว่าการรับรองให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน กรณีการถือหุ้นสื่อ ถือว่ายังไม่ใช่ผู้ที่มีความผิด เพราะอยู่ระหว่างการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการไต่สวน และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ในหลักฐานและข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมแก่นายธนาธร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิธีการคำนวณที่ กกต.นำมาคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองทั้ง 26 พรรคนั้น คำนวณจากผลคะแนนที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใน 349 เขตเลือกตั้ง รวม 74 พรรคการเมือง คิดเป็นคะแนนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน ซึ่งเมื่อ กกต.ประกาศ ส.ส. ในระบบแบ่งเขต 349 เขต จึงต้องนำตัวเลข 349 มาหารจำนวน ส.ส. เขตเต็ม 350 จะได้ ค่าเฉลี่ย 0.9971 จากนั้นนำจำนวนดังกล่าวมาคูณด้วย ส.ส. ทั้งสภาคือ 500 คน ก็จะได้จำนวน ส.ส. ที่จะประกาศผลทั้งหมด 498.5714 คน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม จึงเหลือ 498 คน เมื่อหัก ส.ส.เขต 349 แล้วจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน

จากนั้นนำคะแนนรวมที่ 74 พรรคการเมืองได้รับคือ 35,441,920 มาหารด้วย 498 คน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนน แล้วนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาหารคะแนนรวมของแต่ละพรรค ก็จะได้จำนวนส.ส.พึงมีเบื้องต้น จากนั้นนำจำนวน ส.ส. พึงมีเบื้องต้นไปลบกับส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้รับก็จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้น เมื่อรวมแล้วจะพบว่าจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้น 174.2629 คน ซึ่งถือว่าเกินจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรแค่ 149 คน ทั้งนี้เป็นผลมาจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขตเกินกว่าจำนวนส.ส.ที่พึงมีได้

ดังนั้นจึงต้องนำมาปรับและใช้การคำนวณใหม่ โดยนำจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้ในเบื้องต้นมาคูณด้วย 149 แล้วหารด้วย 174.2629 ก็จะได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่ปรับให้เหลือ 149 คน ซึ่งจะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนเต็มก่อน ส่งผลให้การจัดสรรรอบแรกมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 15 พรรคการเมือง เมื่อรวมแล้วจะจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพียง 129 ที่นั่ง ยังขาดอีก 20 ที่นั่ง จึงต้องนำเศษทศนิยมมาจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยเรียงตามคะแนนทศนิยมจากมากไปหาน้อยจนได้ครบ 20 ที่นั่ง ซึ่งก็จะมีผลให้พรรคอนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ และประชาชาติ ซึ่งได้รับการจัดสรรในรอบแรกไปแล้ว ได้รับการจัดสรรเพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 คน อีก 11 พรรคการเมือง

สำหรับรายชื่อ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ กกต. รับรอง จำนวน 149 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 18 คน พรรคอนาคตใหม่ 50 คน พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน พรรคภูมิใจไทย 12 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน พรรคชาติพัฒนา 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พรรคพลังชาติไทย 1 คน

โดยแต่ละพรรคการเมืองจะมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ผ่านการรับรองจาก กกต. แล้ว ดังนี้ พรรคพลังประชารัฐมี 18 คน ได้แก่ 1. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 3. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 4. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ 6. นายสันติ กีระนันท์ 7. นายวิรัช รัตนเศรษฐ 8. นายสันติ พร้อมพัฒน์ 9. นายสุพล ฟองงาม 10. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 11. นายเอกราช ช่างเหลา 12. นางพิชชารัตน์ เลาหพงษ์ชนะ 13. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 14. นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ 15. นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ 16. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 17. นายวิเชียร ชวลิต 18. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร

พรรคอนาคตใหม่มี 50 คน ได้แก่ 1. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 2. นายปิยบุตร แสงกนกกุล 3. นางวรรณวิภา ไม้สน 4. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 5. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ 6. พล.ท.พงศกร รอดชมภู 7. น.ส.พรรณนิการ์ วานิช 8. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ 9. นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 10. นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ 11. นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ 12. นายสุรชัย ศรีสารคาม 13. นายชำนาญ จันทร์เรือง 14. นายอภิชาติ ศิริสุนทร 15. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 16. นายรังสิมันต์ โรม 17. นางเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ 18. น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ 19. นายวินท์ สุธีรชัย 20. นายไกลก้อง ไวทยการ 21. นายสุเทพ อู่อ้น 22. นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ 23. นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ 24. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 25. นายคารม พลพรกลาง 26. นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 27. นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 28. นายคำพอง เทพาคำ 29. นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล 30. พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท 31. นายนิรามาน สุไลมาน 32. นายนิติพล ผิวเหมาะ 33. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 34.นายวิรัช พันธุมะผล 35. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 36. นายวรภพ วิริยะโรจน์ 37. นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี 38. น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 39. พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ 40. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 41. นายทวีศักดิ์ ทักษิณ 42. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ 43. นายสุรวาท ทองบุ 44. นายองค์การ ชัยบุตร 45. นายสำลี รักสุทธี 46. นายเกษมสันต์ มีทิพย์ 47. นายธีรัจชัย พันธุมาศ 48. นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล 49. น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ 50.นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย

พรรคประชาธิปัตย์มี 19 คน ได้แก่ 1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2. นายชวน หลีกภัย 3. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 4. นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 5. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 6. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 7. นายกรณ์ จาติกวณิช 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ 9. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 10. นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู 11. นายอิสสระ สมชัย 12. นายอัศวิน วิภูศิริ 13. นายเกียรติ สิทธีอมร 14. นายกนก วงษ์ตระหง่าน 15. นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ 16. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 17. นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ 18. นายอภิชัย เตชะอุบล 19. นายวีระชัย วีระเมธากุล,

พรรคภูมิใจไทยมี 12 คน ได้แก่ 1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2. นายชัย ชิดชอบ 3. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ 4. นางนาที รัชกิจประการ 5. นายสรอรรถ กลิ่นประทุม 6. นายทรงศักดิ์ ทองศรี 7. นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล 8. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี 9. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล 10. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสตร์ 11. น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา 12. นายศุภชัย ใจสมุทร

พรรคชาติไทยพัฒนามี 4 คน ได้แก่ 1. นายวราวุธ ศิลปอาชา 2. นายธีระ วงศ์สมุทร 3. นายนิกร จำนง 4. นายนพดล มาตรศรี

พรรคเสรีรวมไทยมี 10 คน ได้แก่ 1. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2. นายวัชรา ณ วังขนาย 3. นายวิรัตน์ วรศสิริน 4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช 5. นพ.ประสงค์ บูรณพงศ์ 6. น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา 7. นายเพชร เอกกำลังกุล 8. น.ส.ธนพร โสมทองแดง 9. นายอำไพ กองมณี 10. พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี

พรรคเศรษฐกิจใหม่มี 6 คน ได้แก่ 1. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 2. นายสุภดิช อากาศฤกษ์ 3. นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล 4. นายภาสกร เงินเจริญกุล 5. นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ 6. นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์

พรรคเพื่อชาติมี 5 คน ได้แก่ 1. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2. น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช 3. นายอารี ไกรนรา 4. นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล 5. นางลินดา เชิดชัย

พรรครวมพลังประชาชาติไทยมี 4 คน ได้แก่ 1. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล 2. น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ 3. นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ 4. น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ

พรรคพลังท้องถิ่นไทมี 3 คน ได้แก่ 1. นายชัชวาลล์ คงอุดม 2. นายโกวิทย์ พวงงาม 3. นายนพดล แก้วสุพัฒน์

พรรคชาติพัฒนามี 2 คน ได้แก่ 1. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 2. นายดล เหตระกูล

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยมี 2 คน ได้แก่ 1.นายดำรงค์ พิเดช 2.นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง

พรรคประชาชาติมี 1 คน คือ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา, พรรคพลังปวงชนไทยมี 1 คน คือ นายนิคม บุญวิเศษ, พรรคพลังชาติไทยมี 1 คน คือ พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์, พรรคประชาภิวัฒน์มี 1 คน คือ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์, พรรคไทยศรีวิไลย์มี 1 คน คือ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์, พรรคพลังไทยรักไทยมี 1 คน คือ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล, พรรคประชานิยมมี 1 คน คือ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์, พรรคครูไทยเพื่อประชาชนมี 1 คนคือ นายปรีดา บุญเพลิง, พรรคประชาธรรมไทยมี 1 คน คือ นายพิเชษฐ สถิรชวาล, พรรคประชาชนปฏิรูปมี 1 คน คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน, พรรคพลเมืองไทยมี 1 คน คือ น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ , พรรคประชาธิปไตยใหม่มี 1 คน คือ นายสุรทิน พิจารณ์ , พรรคพลังธรรมใหม่มี 1 คน คือ นายระวี มาศฉมาดล และพรรคไทรักธรรมมี 1 คน คือ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค