ThaiPublica > คอลัมน์ > ความท้าทายทางการต่างประเทศและทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง

ความท้าทายทางการต่างประเทศและทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง

11 มกราคม 2020


เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ จัดเสวนาเรื่องความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญในด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง มีอดีตเอกอัครราชทูต 5 ท่าน สมาชิกวุฒิสภา 3 ท่าน นายพลเอกนอกราชการ 2 ท่าน ผู้ใหญ่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายทหาร นักวิชาการระดับอาวุโส ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายท่าน เข้าร่วม

ความท้าทายทางการต่างประเทศมีที่มาจากระเบียบโลกเดิมที่สหรัฐฯ เคยครอบงำโลกแต่ผู้เดียวนั้น ได้กลายมาเป็นระบบโลกที่ในแง่หนึ่งมีหลายขั้วหลายฝ่าย คือ สหรัฐฯ ยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แบ่งอำนาจกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งยุโรปและญี่ปุ่นนั้นก็อยู่ใต้กำกับของสหรัฐฯ ไม่น้อย และ รัสเซียเองก็ยังอ่อนด้อยกว่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ มากในทางเศรษฐกิจ และประชากรก็มีไม่เพียงพอ จึงอาจสรุปได้อีกอย่างว่าขณะนี้โลกมีเพียงสองมหาอำนาจที่อยู่เหนือกว่าชาติอำนาจอื่นๆ ชัดเจน คือสหรัฐฯ และจีน

แม้ในด้านการทหารสหรัฐฯ ยังเหนือกว่าจีนค่อนข้างชัดเจน แต่ประชากรจีนนั้น นอกจากมีคุณภาพสูงแล้วยังมีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า ในทางเศรษฐกิจจีนก็เติบใหญ่รวดเร็วจนใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่าแล้ว และใหญ่กว่าเยอรมันมากกว่านั้นเสียอีก และจะเติบใหญ่เท่าสหรัฐฯ ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ในด้านเทคโนโลยีจีนก็ไม่ได้เป็นพวกผลิตแต่ของถูก-ทำแต่ของปลอมอีกต่อไป หากยังมีนวัตกรรมและมีไฮเทคของตนเองที่มีระดับค่อนข้างสูงทีเดียว

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยอมนิ่งเฉยต่อไป หากมุ่งระวัง กดดัน กีดกัน ปิดล้อมจีน ในด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง เพื่อไม่ให้จีนดำเนินนโยบายในสองด้านนี้อย่างสะดวกสบาย และจะไม่ยอมให้จีนอาศัยเทคโนโลยีของตะวันตก และอาศัยการค้าการลงทุนเสรีในตลาดโลกมาเติมพลังเศรษฐกิจให้ตนเองอย่างมหาศาล ดังที่เคยเป็นมา

ประเด็นที่มากระทบไทยและอาเซียนฉกาจฉกรรจ์ก็คือ: สหรัฐฯ ดูจะพยายามกดดันให้เราต้อง “เลือกฝ่าย” จะเป็นฝ่ายจีนหรือฝ่ายสหรัฐฯ เอาให้แน่ แต่จะอยู่กับทั้งสองฝ่ายไม่ได้!! นี่คือความท้าทายใหญ่ที่ไทยเราต้องเผชิญในทางการต่างประเทศ เราจะทำอย่างไรดี ?

ท่านอดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ชี้ว่า หากจะต้องเลือก ก็จงเลือกเพราะผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เลือกเพราะอุดมการณ์เช่นที่สหรัฐฯ พยายามชักจูงเรา ท่านเหมือนจะบอกว่าเราจงอย่าลืมอดีต คือ เมื่อเวียดนามรุกเข้ายึดกัมพูชาในปี 2522-2523 นั้น ผลประโยชน์แห่งชาติก็กำหนดเราให้หันไปคบและเป็นพันธมิตรกับจีน ช่างมีอุดมการณ์ต่างกับเรามาก เกือบจะตรงข้ามทีเดียว ในขณะนั้นเอง สหรัฐฯ ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจร่วมกับเรา กลับละทิ้งเอเชียอาคเนย์ไปเสีย ปล่อยให้ไทยผู้เคยเป็นมิตรรักร่วมอุดมการณ์ต้องพลันมารับศึกหนักจากเวียดนามที่มาประชิดชายแดนกัมพูชา-ไทย อยู่ตามลำพัง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง ต้องตระหนักว่าจีนกับเราจริงๆ แล้วไม่ได้เป็น “ปรปักษ์” ทางอุดมการณ์ จีนนั้นเลิก “ส่งออกอุดมการณ์” มานานแล้ว และได้เป็นมิตรใกล้ชิดกับไทยมาร่วม 4 ทศวรรษแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือรัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจ จีนก็ไม่มีปัญหา กลไก-สถาบันทางการเมืองของสองชาตินั้นก็แตกต่างกันมาก โปรดสังเกตว่าฝ่ายหนึ่งนั้นมีพรรคคอมมิวนิสต์นำรัฐ ส่วนอีกฝ่าย มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยของประเทศ

ท่านทูตสุรพงษ์แนะนำแข็งขันว่าไทยเราจะ “ต้องเอา ต้องคบ” ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่อไป และอาเซียนทั้งหมดก็คงไม่มีใครทิ้งจีน เราไม่ได้อะไรจากการทิ้งจีน และถ้าเราไปอยู่กับสหรัฐฯ ฝ่ายเดียวก็จะไม่ได้อะไรเพิ่มเติม หรือเพิ่มเติมมากนัก สถานะของสหรัฐฯ ตอนนี้คงจะไม่ทำให้เราเสียหายมากนัก ถ้าสหรัฐฯ ไม่คบเรา และเอาเข้าจริงแล้ว เชื่อว่าสหรัฐฯ เองนั่นแหละย่อมจะไม่กล้าทิ้งไทย ไม่กล้าทิ้งอาเซียน เพราะว่าหากทิ้งไปแล้ว ผลประโยชน์ชาติและความมั่นคงของสหรัฐฯ เองจะเสียหายมากกว่า และดุลกำลังที่เป็นจริง ที่ไม่ขาดเหลือกันมากนัก ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็ดี และสหรัฐฯ-อาเซียนก็ดี ระหว่างจีน-อาเซียนก็ดี จะทำให้สหรัฐฯ ได้แต่พูดหรือเจรจาหรือขู่ แต่ที่จะกดดันให้เราทิ้งจีนได้จริงนั้นยากมาก

ท่านทูตสุรพงษ์ย้ำว่าเราอย่ามองแต่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ต้องมองอะไรที่กว้างกว่านั้น ต้องอ่านปริบทให้ออก และอย่าส่งสัญญาณที่ผิดออกไปเป็นอันขาด ในอดีตนั้น เมื่อเวียดนามเตรียมบุกกัมพูชา ได้เดินทางมาพบปะกับท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. เกรียงศักดิ์ (ชมะนันทน์) หลายครั้ง แจ้งให้เราทราบว่าเวียดนามกับกัมพูชาขัดแย้งกันหนัก อาจมีสงคราม ขอให้เราเป็นกลาง นายกฯ เกรียงศักดิ์มักจะตอบว่าความขัดแย้งเป็นของสองชาติ ไม่เกี่ยวกับไทย เราเองไม่อยากให้เกิดสงคราม แต่ก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้เองที่เวียดนามมองว่าไทย “ส่งสัญญาณ” ว่าจะวางตัวเป็นกลาง และก็อาจเป็นด้วยเหตุนี้เอง จึงตัดสินใจเข้ายึดกัมพูชา

จากนั้น พล.อ. เจิดวุธ คราประยูร นักยุทธศาสตร์คนสำคัญ และยังอยู่ในราชการ ก็ได้นำเสนอหลักนิยมใหม่ด้านสงครามและความมั่นคง อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ของโลก การก้าวกระโดดใหญ่ของสมรรถนะคอมพิวเตอร์ การมาถึงยุค 5G ในการสื่อสาร เกิดเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ชาญฉลาดและเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้บัดนี้สงครามไม่เป็นเรื่องของทหารและกำลังรบฝ่ายเดียว เส้นแบ่งระหว่างการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นทางการกับไม่เป็นทางการจะไม่มี เส้นแบ่งระหว่างการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐกับฝ่ายที่อยู่นอกรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็จะไม่มี เส้นแบ่งระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงไม่มี การต่อสู้ด้านความมั่นคงจะใช้รูปแบบมากมายหลากหลาย จนที่สุดกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคงอย่างที่เรามีจะไม่เพียงพอที่จะตั้งโจทย์และตอบโจทย์ภัยคุกคามได้ ที่สำคัญ พลังที่คุกคามจากนอกประเทศจะลอบเข้ามาแทรกแซงก่อเหตุในประเทศจนถึงขั้นล้มระบอบแล้วเปลี่ยนระบอบได้ (regime change) อย่างประณีตแนบเนียนเสมือนว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มาจากคนในประเทศล้วนๆ หรือมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก

สมาชิกในที่ประชุมหลายท่านเสนอว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก เหมือนเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยเลยก็ว่าได้ จนของใหม่กับของเก่านั้นช่างต่างกันมาก การเปลี่ยนแปลงก็ช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก ฉะนั้นการวิจัย ค้นคิด และการเรียนรู้ การปรับตัว การจัดองค์กรใหม่อย่างรวดเร็ว และให้ได้ผลนั้น จึงจำเป็นมาก ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐและสังคมไทยพึงต้องร่วมกันคิด ระดมปัญญา เอาปัญญา เอากระบวนทัศน์ใหม่ไปรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้านการต่างประเทศและความมั่นคงให้ได้ ต้องเริ่มทำ ลองทำ และเร่งทำ