ThaiPublica > คอลัมน์ > คาบสมุทรไทยในอดีต: แง่คิดสำหรับอนาคต

คาบสมุทรไทยในอดีต: แง่คิดสำหรับอนาคต

26 มีนาคม 2018


เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เวลาใครมาชวนให้ไทยเราขุดคลองเชื่อมสองสมุทรทางภาคใต้ เรามักจะประหวั่น เกรงว่าจะทำอะไรใหญ่เกินตัว เกรงว่าจะเปิดอ่าวไทยอันแสนสุขให้เป็นเส้นทางเดินเรือใหญ่ของโลก เกรงว่าประเทศที่เคยสงบปลอดภัยจะถลำเข้าไปสู่อันตราย เกรงว่าจะเป็นการสุ่มเสี่ยงให้มหาอำนาจเข้ามาคุมคลองสำคัญนั้น ในภาวะแห่งความเกรง ประหวั่น วิตก เช่นว่านี้ ผมอยากคิดสวนทางเสียเลยว่า จิตวิญญาณสยามเรานั้นไม่ใช่ชาติปิด ชาติตั้งรับ หรือเป็นชาติเล็ก หากจริงๆ แล้วยิ่งใหญ่ไม่น้อยมาแต่อดีต และเกินกว่าที่ลูกหลานปัจจุบันจะคิดได้ สยามไม่ใช่เป็นเพียงอาณาจักรที่ภาคตะวันออกและภาคใต้มีชายหาด หากเป็นชาติอำนาจที่สันทัดการค้าขายทางทะเลด้วย เป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

เมืองหลวงของสยามนั้นทำไมจึงอยู่ที่อยุธยา ธนบุรี กรุงเทพฯ ? ตอบ ก็เพื่อจะคุมทะเลไงครับ ราชธานีเราไม่เพียงคุมคนคุมไพร่และคุมนาเท่านั้น ยังคุมทะเลด้วย มองเผินๆ คือ คุมอ่าวไทย แต่มองให้ลึกกว่านั้น คุมทะเลอันดามันด้วย จากอ่าวไทย ที่อยู่ใต้อยุธยาไม่มากนั้น อยุธยาย่อมค้าขายและแลกเปลี่ยนอารยธรรมกับจีนได้อย่างสะดวก และจากทะเลอันดามัน ผ่านเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี นั้น อยุธยาก็ย่อมแลกเปลี่ยนสินค้ากับฝรั่ง เปอร์เซีย อาหรับ และอินเดีย ได้ พร้อมทั้งรับศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดียด้วย

สยามต่างจากไทยขณะนี้ รู้ดีว่าที่ตั้งของตนนั้นสำคัญยิ่งต่อการเดินทะเลที่จะเชื่อมโยงอินเดีย เปอร์เซีย และฝรั่ง เข้ากับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เมืองหลวงของเรานั้นอยู่ในวิสัยที่กุมคาบสมุทรไทยได้ทั้งแท่ง ตั้งแต่กุมทวาย มะริด ตะนาวศรี ทางฝั่งอันดามัน เชื่อมเมืองเหล่านี้เข้ากับอยุธยา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ทางอ่าวไทย ทั้งนี้ ในอดีตนั้น มีบ่อยครั้งมากที่ทวาย มะริด ตะนาวศรี ตกอยู่ในเขตไทย เป็นส่วนตะวันตกสุดของราชอาณาเขต ติดทะเลอันดามัน เหตุนี้อยุธยาจึงค้าขายกับอินเดียและดินแดนตะวันตกกว่านั้นก็ได้ ค้าขายกับเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่อยู่ทางตะวันออก ก็ได้ ติดต่อกับต่างชาติทางทะเลได้สะดวกทั้งสองทาง เมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่ภาคกลาง และกุมนากุมคนได้ ในขณะเดียวกันก็จะกุมสองทะเลสองสมุทรได้ไม่ยากด้วย และนี่ก็คือความยิ่งใหญ่ของราชธานีไทย ต่างไปมากจากราชธานีของดินแดนสุวรรณภูมิอื่นๆ

สยามเราเปิดสู่ทะเล-สมุทร อย่างเต็มภาคภูมิ หันหน้าสู่น่านน้ำทั้งทิศตะวันตกและตะวันออก คุมคาบสมุทรไทยตั้งแต่ที่อยู่ภาคกลางรวมทวาย มะริด ตะนาวศรี ลงไปจนถึงคาบสมุทรภาคใต้ บ่อยครั้งเรากุมได้ใต้ลงไปกว่าสตูลและปัตตานีเสียอีก กุมลงไปถึงมะละกาก็เคยกุมมาแล้ว ซึ่งทั้งสองข้างของคาบสมุทรภาคใต้นั้นยังเป็นดินแดนของไทยอยู่หมดในทุกวันนี้ ในขณะที่ทวาย มะริด ตะนาวศรี เมืองอันเคยเป็นดินแดนตะวันตกสุดของคาบสมุทรไทยในภาคกลางของเรา ทุกวันนี้กลับตกไปอยู่กับพม่า นี่เป็นเหตุให้เราคิดว่าคาบสมุทรไทยนั้นมีเฉพาะแต่ในภาคใต้ของไทย เราลืมกันไปทั้งชาติว่า ครั้งหนึ่ง ไม่นานนัก อยุธยาค้าขายทางทะเลกับต่างแดนผ่านฝั่งอันดามันได้ด้วย คือผู้คนและสินค้าที่ขึ้นบกที่เมืองทะวาย เดินทางหรือลำเลียงทางบกไม่ไกลก็ไปถึงอยุธยาได้ สินค้าและผู้โดยสารจากมะริดและตะนาวศรีย่อมขนส่งและสัญจรทางบกผสมกับเดินเรือในอ่าวไทยขึ้นไปถึงอยุธยาได้เช่นกัน ค่อนข้างสะดวก

ที่อยู่ใต้อยุธยา กรุงธนฯ กรุงเทพฯ และเพชรบุรี ประจวบฯ ลงไปอีก คือดินแดนที่ทุกวันนี้เรียกคาบสมุทรภาคใต้ เราคุ้นเคยและคิดกันว่ามีแต่ภาคใต้เท่านั้นที่เชื่อมสองทะเลสองมหาสมุทรได้ และอดเกรงว่าถ้าขุดคลองเมื่อไรจะแยกภาคใต้เป็นสอง อันอาจนำไปสู่การแยกดินแดน นี่เราคิดแบบ “รับ” คิดแบบ “ปิด” คิดว่าความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจะเกิดได้ก็ด้วยการเลิกใช้คาบสมุทรเพื่อเชื่อมโลก ไม่กล้ามองไกลออกสู่ทะเลและสมุทร ไม่อยากจะใช้ทะเลและสมุทร อยากใช้แต่ชายหาด เปรียบได้กับเอาถุงดำมาคลุมศีรษะเสีย เพื่อไม่ให้เห็นใคร ที่ใหญ่ ที่น่ากลัว เสียก็แล้วกัน

จากชาติทางทะเลสำคัญของสุวรรณภูมิ จากที่คุมได้และเข้าถึงสองมหาสมุทรสำคัญของโลกในศตวรรษนี้ เราไม่กล้าคิดขุดคลองเชื่อม จากชาติที่จะเป็นทางผ่านของสินค้าและพลังงานทางทะเลที่เวลานี้มีปริมาณที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมโยงการค้าตะวันตกกับตะวันออกของโลก ระหว่างจีนหมายเลขสองของโลกและญี่ปุ่นหมายเลขสามของโลก เข้ากับอินเดียปัจจุบันหมายเลขหกของโลก เรารอทำแต่รถไฟความเร็วสูงหรือความเร็วปานกลาง ซึ่งแน่นอนนั่นก็สำคัญ แต่อย่าลืมว่าการค้าของทั้งโลกนั้น 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นการค้าผ่านทะเลและมหาสมุทร แล้วเราในทุกวันนี้จะไม่กล้าคิดทำคลองใหญ่เชื่อมสองสมุทรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร

ฟังดูเหมือนเรื่อง “ขุดคลอง” เพื่อเชื่อมสมุทรนั้นเป็นเรื่องใหม่ หรือการเป็นชาติอำนาจทางทะเลนั้นจะเป็นเรื่องใหม่ หามิได้ครับ ขอย้ำเตือน สยามเราครั้งหนึ่ง ก่อนที่ฝรั่งอาณานิคมจะรุกเข้ามา เป็นชาติอำนาจทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งทีเดียว เราคิดขุดคลองกระมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้ว อยุธยาเราคุมสองฝั่งคาบสมุทรไทยได้จนเกือบหมด ตั้งแต่ทวาย-อยุธยา ลงมาถึงมะริดและตะนาวศรี-เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และลงมาเรื่อยๆ จนถึงสองฝั่งของคาบสมุทรภาคใต้ อันที่จริง การเดินทางหรือการขนข้าวของข้ามคาบสมุทรคือการคุมหรือเชื่อมต่อสองทะเลสองสมุทรของคนไทยแต่ดั้งเดิม และปัจจุบันนี้ จะเชื่อมต่อการเดินทะเลสองฝั่งด้วยการเชื่อมต่อทางบกอย่างแต่เดิมนั้นก็ยังทำได้ พอได้ แต่การขุดคลองใหญ่สมัยใหม่ อาจจะไม่ใช่ขุดคลองเดียวเสียด้วย หรือขุดที่เดียวเท่านั้น ก็ย่อมน่าคิด ย่อมน่าพยายาม

นี่ย่อมจะเป็นการคิดเชิง”รุก” ในทางภูมิรัฐประศาสนศาสตร์บ้าง หลังจากเอาแต่คิด “รับ” มาร่วมร้อยปี ทำอะไรเชิง “เปิด” กันเสียบ้าง หลังจากถูก “ปิดทะเล ปิดสมุทร” โดย “ฝรั่งอาณานิคม” มานาน จนทุกวันนี้ ชาติที่มีถึงสองทะเลและสองมหาสมุทรชาติชาตินี้ ก็ยังพึงพอใจกับการขนสินค้าประดามีใส่เข้าไปในเรือฟีดเดอร์ เพื่อทยอยส่งต่อไปยังเรือเดินสมุทรใหญ่ที่สิงคโปร์ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราจะหวนคิดถึงสยามแห่งอดีต อันยิ่งใหญ่ เร่งทำให้คาบสมุทรภาคใต้กลับมาเป็นทางสายใหญ่ของการเดินทะเลเอเชียและโลกอีกครั้งหนึ่ง เราจะไม่อาย “บรรพบุรุษ” กันเลยหรือ ที่แทบไม่ได้ใช้สองทะเล-สองมหาสมุทร และไม่ได้ใช้คาบสมุทรอันยาวเหยียดของเราในการเดินทะเลที่สำคัญเลย ทำไมลูกหลานสยามเราจึงพอใจใช้แค่หาดทรายชายทะเลเท่านั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas วันที่ 24 มีนาคม 2561