ThaiPublica > เกาะกระแส > ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๘ : เมื่อต้องอยู่กับ PM2.5

ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๘ : เมื่อต้องอยู่กับ PM2.5

12 มกราคม 2020


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
FB page: Environmental management using Geospatial Information Technology (EnvGIT) FB page: Thailand network center on Air Quality Management (TAQM)
[email protected], www.taqm.org

ต่อจากตอนที่7

วิกฤติ PM2.5 ได้เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ขึ้นสู่พื้นที่ภาคเหนือ โดยค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มไต่ระดับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2562 ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งสถานการณ์ในภาคเหนือนั้นต่างจากพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คือนอกจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่แล้วก็ยังได้รับผลกระทบจากหมอกฝุ่นควันข้ามพรมแดนอีกด้วย ดังรูปที่ 1 (แสดงจุดความร้อนของประเทศอาเซียนในวันที่ 14 มีนาคม 2562) จากการติดตามค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ของทั่วประเทศพบว่านอกจากพื้นที่ภาคเหนือแล้ว พื้นที่ภาคตะวันตกและภาคอีสานตอนบนก็ได้รับผลกระทบจากหมอกฝุ่นควันข้ามพรมแดนเช่นกัน ดังรูปที่ 2 (แสดงสถานการณ์คุณภาพอากาศทั่วประเทศเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562) ด้วยปัจจัย (ก) แหล่งกำเนิด (การเผาในพื้นที่และในประเทศเพื่อนบ้าน การเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุการเกษตร การเผาในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย การลุกไหม้ตามธรรมชาติในพื้นที่ป่า เป็นต้น) (ข) ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกะทะหรือเป็นหุบเขา และ (ค) สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการระบายของฝุ่นละออง หรือที่เรียกว่าอากาศปิด รวมถึงปรากฎการณ์เอลนินโญ่

ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่กรณีหมอกฝุ่นควันข้ามพรมแดนนี้ มาตรการระยะสั้น (การห้ามเผาอย่างเด็ดขาด) คงไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ในเวลาอันสั้น ถึงแม้ทุกภาคส่วนในประเทศจะทำงานกันอย่างหนักก็ตาม คนไทยทุกคนก็คงคาดหวังกับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปีนี้ ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกฝุ่นควันข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ต้องดำเนินนโยบายและความร่วมมือกับนานาประเทศอาเซียนอย่างไร รวมถึงความเข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่แบบองค์รวม ไม่ใช่แค่การสั่งห้ามเผา

ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 1-15 มีนาคม 2562 ที่มาภาพ : http://air4thai.pcd.go.th/report/AirReportN_2019-03-15.pdf
รูปที่ 1 ภาพจุดความร้อนของอาเซียน วันที่ 14 มีนาคม 2562 ที่มาภาพ : http://asmc.asean.org/asmc-hotspot#Hotspot
รูปที่ 2 สถานการณ์คุณภาพอากาศทั่วประเทศเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562 ที่มาภาพ : http://air4thai.pcd.go.th/webV2/region.php?region=0

ดังนั้นการที่เราต้องอยู่ท่ามกลางหมอกฝุ่นควัน และยังรอการแก้ไขจากภาครัฐ ประชาชนก็ต้องดำเนินชีวิตอยู่กับ PM2.5 ให้ได้อย่างเหมาะสม และเผชิญกับวิกฤติหมอกฝุ่นควันด้วยความรู้เท่าทัน ตามคำแนะนำดังนี้

1.ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ หรือผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai (กรมควบคุมมลพิษ) http://www.bangkokairquality.com/bma/index.php (กรุงเทพมหานคร)

2.คนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่ควรออกจากบ้านแต่ถ้ามีความจำเป็นเช่นต้องไปโรงพยาบาล ให้ใช้หน้ากากป้องกัน PM2.5 ได้และระบุว่าผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำคือ การทำ Fit test คุณจะไม่ได้รับการปกป้องใดๆเลย หากสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง Fit test หมายถึง การทดสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้าโดยใช้มือสองข้างโอบรอบหน้ากาก หายใจออกแรงกว่าปกติถ้าแนบสนิทจะไม่มีการรั่วของลมหายใจ

3.สำหรับคนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหรือบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดหรือการทำกิจวัตรภายนอกอาคาร เพราะเราไม่สามารถที่จะเลือกไม่หายใจเอา PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้

4.การปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในที่พักอาศัยมีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าได้รับคำแนะนำให้งดกิจกรรมภายนอกอาคาร การใช้เวลาอยู่ในบ้าน หรือภายในอาคารนั้นๆ ก็ต้องมั่นใจว่าภายในบ้านหรืออาคารมีการระบายอากาศ และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการทำความสะอาดระบบปรับอากาศ

5.ถ้าต้องการติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองภายในบ้าน ควรทำความเข้าใจหลักการของอุปกรณ์นั้นๆ เพื่อการป้องกันที่เหมาะสมรวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นอย่างถูกต้อง หรือการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยกันทำได้ง่ายๆ

6.ช่วยกันรณรงค์ลดการเผา

7.ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ

จากข้อแนะนำข้างต้น จะขอขยายเพิ่มในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพอากาศและการติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละออง ในอาคาร ในบ้านเรือน ปกติมนุษย์ใช้เวลาในอาคาร หรือในที่ทำงานมากกว่าร้อยละ 70 อยู่แล้ว ยิ่งในช่วงวิกฤติ PM2.5 นอกจากการสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเมื่อต้องทำกิจกรรมภายนอกอาคารแล้ว แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ PM2.5 ในอาคาร โรงเรียน ที่ทำงาน ที่พักอาศัย เกินมาตรฐานก็ยิ่งมีความจำเป็น ซึ่งประกอบด้วย

1.การติดเครื่องฟอกอากาศในอาคาร เป็นการแก้ไขที่ปลายทางคือ การใช้อุปกรณ์เพื่อลดความเข้มข้นของ PM2.5 ซึ่งเข้ามาอยู่ในอาคารแล้วและทำการดูดอากาศให้ห้องนั้นมาทำความสะอาด วิธีนี้จึงไม่เหมาะกับห้องที่มีคนทำกิจกรรมกันหนาแน่น เช่น สำนักงาน ห้องเรียน ในกรณีที่พักอาศัย ถ้าไม่มีกิจกรรมอื่นที่เพิ่ม PM2.5 เช่น การหุงต้มด้วยฟืน การจุดธูปเทียน และไม่มีการรั่วไหลของอากาศจากภายนอก (infiltration) มากนัก การติดเครื่องฟอกอากาศก็ช่วยลดความเข้มข้นของ PM2.5 ได้ในระดับนึง แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือจะไม่มีการแลกเปลี่ยนอากาศใหม่เข้ามาในพื้นที่ นั่นหมายถึงปริมาณออกซิเจนก็จะลดต่ำลงจนไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต

2.การติดเครื่อง Outside Air Unit (OAU) ดังรูปที่ 3 ที่มีแผ่นกรองฝุ่นPM2.5 ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ให้อากาศสกปรกเข้ามาในพื้นที่ จึงเป็นการจัดการที่ดีกว่าแบบแรก วิธีนี้เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่ พื้นที่ที่มีคนอาศัย หรือทำกิจกรรมจำนวนมาก เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้น และเป็นวิธีมาตรฐานที่มีการระบายอากาศแลกเปลี่ยนอากาศใหม่อย่างเหมาะสม นอกจากนี้อาจใช้ OAU ร่วมกับเครื่องฟอกอากาศในกรณีที่ผู้อาศัยมีความต้องการจำเพาะเช่นผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ

รูปที่ 3 OAU ที่มาภาพ : https://www.researchgate.net/figure/Air-handling-unit-which-draws-outside-air-
directly_fig5_273492275

เอกสารอ้างอิง

1)ตุลย์ มณีวัฒนา (2562) “การป้องกัน PM2.5 ภายในอาคารบ้านเรือน อาคารสำนักงานและโรงเรียน”
(https://www.youtube.com/watch?v=XS9oOlJgRBQ&feature=youtu.be)
2)ตุลย์ มณีวัฒนา (2562) “การป้องกัน PM2.5 ภายในห้องนอน”(https://youtu.be/841W0b4wsTQ)
3)Sirima Panyametheekul, Thanakorn Rattanapun, John Morris, and Maneerat Ongwandee (2019) “Foliage houseplant responses to low formaldehyde levels”. Building and Environment. 147, 67-76
4)Sirima Panyametheekul, Thanakorn Rattanapun, and Maneerat Ongwandee (2018) “Ability of artificial and live houseplants to capture indoor particulate matter” Indoor and Built Environment. 27(1), 121-128.