ThaiPublica > เกาะกระแส > สิงคโปร์ Re-imagining Fintech (ตอน 1): นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมสังคมสำหรับทุกคน

สิงคโปร์ Re-imagining Fintech (ตอน 1): นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมสังคมสำหรับทุกคน

7 ธันวาคม 2019


เมื่อวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ร่วมกับสมาคมธนาคารสิงคโปร์ และ SingEx Holdings จัดงานฟินเทคแฟร์และสัปดาห์แห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ Singapore FinTech Festival (SFF) x Singapore Week of Innovation and Technology (SWITCH) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้นำงาน Singapore FinTech Festival และ Singapore Week of Innovation and Technology มาจัดร่วมกันเป็นงาน SFFxSWITCH

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมเดินทางไปกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งได้ไปร่วมออกบูธเพื่อนำเสนอโครงการ DLT ของตลาดทุนไทย

งาน SFFxSWITCH จัดขึ้นที่สิงคโปร์เอ็กซ์โปโดยใช้พื้นที่ Hall 1-Hall 6 จากทั้งหมดที่มีด้วยกัน 10 Hallหรือรวมพื้นที่ 123,000 ตารางเมตร

วันเแรกของการจัดงานนายราวี เมนอน Managing Director of Monetary Authority of Singapore กล่าวเปิดงาน และมีนาย อ๋อง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะกรรมการ MAS กล่าวปาฐกถาพิเศษใน Hall 1 ที่จัดเป็นเวทีกลางหรือ Plenary แต่การเปิดงานล่าช้ากว่ากำหนดไปร่วม 20 นาทีเนื่องจากผู้เข้าร่วมงานมีจำนวนมาก แม้ผู้จัดงานได้ใช้ระบบส่งจดหมายยืนยันการลงทะเบียนล่วงหน้าให้ผู้เข้าร่วมงานและใช้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานบริเวณทางเข้าด้วยการสแกน QR Code

งานฟินเทคแฟร์มีสโลแกนว่า The World’s Largest and Impactful Fintech Festival เพราะมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารชั้นนำจากสถาบันการเงินและธุรกิจระดับโลก นักพัฒนา ผู้คิดค้นนวัตกรรม ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นฟินเทคสตาร์ทอัป ไปจนถึงยูนิคอร์นหรือบริษัทสตาร์ทอัปที่เติบโตจนมูลค่าบริษัทสูงเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งนักลงทุนและนักวิชาการ

นายราวีกล่าวว่า งานฟินเทคแฟร์ SFF x SWITCH เป็นงานด้านฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก งาน SFFXSWITCH มีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นในทุกครั้ง โดยในปีนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าชมงานร่วม 60,000 คน เป็นผู้ออกบูธราว 1,000 ราย จาก 130 ประเทศ ในปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงาน 45,000 คน

นายราวี เมนอน Managing Director of Singapore MAS

นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญร่วมวงเสวนาในหลายหัวข้อกว่า 50 คนตลอดทั้ง 5 วัน ซึ่งรวมถึงสมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายแม็กซ์ ฟอน อนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ ที่มาร่วมแสดงความเห็นถึงแนวทางไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนในโลกการเงินและด้านอื่นๆ

“แนวคิดของการจัดงานปีนี้เป็นครั้งแรกที่นำเรื่องความยั่งยืนและฟินเทคมาเชื่อมโยงกัน เพื่อชักชวนให้ทั้งเทคโนโลยีและการเงินร่วมสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนแปลง เพื่อความยั่งยืน”นายราวีกล่าว

Re-imagining Fintech นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตคน

จากนั้นมีการนำเสนอวีดีโอเรื่อง Singapore Re-imagining Fintech โดยช่วงต้นให้ข้อมูลว่า จากสตาร์ทอัปที่มีไม่ถึง 50 รายในปี 2015 ปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ทอัปกว่า 600 ราย จากห้องทดลองนวัตกรรม (innovation lab) แค่ 5 แห่งเพิ่มเป็นมากกว่า 40 แห่ง มีการสร้างงานฟินเทคกว่า 1,100 ตำแหน่งในปี 2018

ในปี 2019 มีเงินลงทุนในบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์สูงกว่า 1,000 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

ในวิดีโอนายราวีเล่าประสบการณ์ในการผลักดันและสนับสนุนฟินเทคในสิงคโปร์ โดยกล่าวว่า สิงคโปร์เริ่มส่งเสริมฟินเทค 4 ปีก่อน เพราะมองว่าฟินเทคจะเปลี่ยนพื้นฐานบริการทางการเงิน แต่ก็ไม่รู้แน่ชัดว่าจะเปลี่ยนอย่างไร และจะเป็นเทคโนโลยีแบบไหน แต่รู้ว่าต้องเริ่มรู้ว่าต้องฝันให้ไกล เริ่มจากสิ่งเล็กๆ และต้องทำให้เร็ว

MAS จึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธุรกิจการเงิน และผู้ให้บริการด้านฟินเทค สร้างระบบนิเวศของฟินเทคที่เข้มแข็ง เพื่อเอื้อต่อความร่วมมือและการพัฒนานวัตกรรม และไม่ใช้เพื่อเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง สร้างโอกาส และยกระดับชีวิตของผู้คน

เมื่อมองย้อนกลับไปเส้นทางการพัฒนาฟินเทคของสิงคโปร์มีความก้าวหน้ามากกว่าที่ฝัน สิงคโปร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางฟินเทคชั้นนำของโลก และเราจัดงานฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“นวัตกรรมเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง เราต้องเดินหน้าทำการทดลอง เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและปรับปรุงต่อเนื่อง เราต้องกระหายที่จะเรียนรู้และท้าทายตัวเราเองเพื่อหาหนทางใหม่ในการทำธุรกิจ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า”

Re-imagining Fintech ครอบคลุม 5 ด้านได้แก่

Digital Infrastructure เช่น การทำ national digital identity, e-payment ภายใต้ชื่อ PayNow (ปัจจุบันมี 9 ธนาคารในสิงคโปร์ให้บริการ มีผู้ลงทะเบียนด้วยโทรศัพท์มือถือ 2 ล้านกว่าคนและยอดธุรกรรมเฉลี่ยต่อแตะ 1,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์), Project UBIN ซึ่งเป็นโครงการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (DLT inter-bank payment) ซึ่งเกิดจากความร่วมของ 3 แพลตฟอร์มบล็อกเชน 10 พันธมิตรทางเทคโนโลยี 13 สถาบันการเงิน และกว่า 40 ผู้ให้บริการในระบบนิเวศ

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังประสบปัญหา การที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การให้บริการทางการเงินที่ยังไม่ทั่วถึง และไม่สามารถแชร์ข้อมูลได้อย่างปลอดภัย แต่โครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดและทำงานร่วมกันได้จะก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ขยายบริการดิจิทัล และส่งเสริมนวัตกรรม

Innovation เช่น APIX-API Exchange ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานและสมาคมต่างๆ ทั้ง Monetary Authority of Singapore (MAS), World Bank Group’s International Finance Corporation (IFC) and ASEAN Bankers Association ซึ่งทำให้ SME สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและฟินเทคได้มากขึ้น

Collaboration เช่น Business Sans Borders (BSB) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ SME ที่ประสบกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ต้นทุนที่สูง ห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ก็จะเข้าถึงบริการและจับคู่กับผู้ผลิตหรือลูกค้า สามารถทำธุรกิจได้อย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นตลาดให้กับ SME

Regulation ปัจจุบันในศูนย์กลางการเงินโลกก็ประสบความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ขณะที่กฎเกณฑ์เป็นตัวถ่วงนวัตกรรม ทำให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีช้ากว่าที่ควร แต่การใช้ regulatory sandbox เพื่อให้เกิดการทดลองนวัตกรรมทางการเงิน ช่วยในการกำหนด regulation ถาวร รวมทั้งเป็นการลด cost ในการเริ่มประกอบธุรกิจ เช่น iSTOX

Financing เช่น Fintech Research Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเห็นภาพรวมของการลงทุน ตลอดจนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของบริษัทได้ หรือ Deal Fridays ซึ่งเป็นธุรกิจที่จับคู่ระหว่างผู้ลงทุนและสตาร์ทอัป

นายราวีกล่าวปิดท้ายในวิดีโอว่า “ฟินเทคไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมกับการเงิน แต่เป็นนวัตกรรม และเป็นแนวทางที่ดีกว่าในการทำสิ่งต่างๆ เป็นการครอบคลุมรอบด้าน มีประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก และเป็นแรงบันดาลใจ เป็นการสร้างความหวังในโลกที่ดีกว่า”

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำฟินเทคต้องมีเป้าหมายที่กว้างเสมอว่า เพื่อยกระดับชีวิตของคน ขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมสังคมสำหรับทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นจิตวิญญาณของฟินเทค”

ในลำดับต่อมา นายพาวัน สุขเทพ Master President แห่งกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( World Wide Fund for Nature – WWF) นำเสนอแนวทางดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองโลกและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกใบนี้ โดยระบุว่าผู้คนในโลกนี้ได้ใช้ทรัพยากรของโลกเร็วเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างใหม่ทดแทนได้ทัน และต้องตระหนักให้มากขึ้นกว่าเดิม ว่าการคุ้มครองธรรมชาติ เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นการปกป้องเศรษฐกิจและประชากรโลกไปด้วยในขณะเดียวกัน

การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกก้องการเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และการฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วยการหันไปใช้พลังงานสะอาด การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการผลิตอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้การเงินสีเขียวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สิงคโปร์เผยแผนกรีนไฟแนนซ์เพื่อโลกสีเขียว

นาย อ๋อง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะกรรมการ MAS

นายอ๋อง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการ MAS กล่าวปาฐกถาว่า สิงคโปร์เดินหน้ามาไกลนับตั้งแต่เริ่มต้นส่งเสริมฟินเทคในปี 2015 เพราะสิงคโปร์ๆด้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางฟินเทคชั้นนำแห่งหนึ่งในโลก

“เรายังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์ของเราที่ว่า ใช้พลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น สร้างโอกาสใหม่ และยกระดับชีวิตของคนในการจัดงานฟินเทคแฟร์ปีนี้ เราได้ใช้การเงินสีเขียว หรือ Green Finance เป็นแนวคิดหลัก การเงิน เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสูการเป็นโลกที่ยั่งยืน”

“สิงคโปร์ ก็จะทำหน้าที่ตัวเอง ในฐานะพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยทำโลกใบนี้เขียวขึ้น” ดังที่ประธานาธิบดีลีเซียน ลุง ได้กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายร่วมของโลก”

“สิงคโปร์ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 0.11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งโลก และการดำเนินการของเราเพียงประเทศเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้ แต่หากทุกประเทศร่วมกัน เราหวังว่าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

นายอ๋อง เย คุง กล่าวว่า สิงคโปร์ได้วางยุทธศาสตร์ระยะยาวในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ ซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่จากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกและเป็นประเทศหนึ่งเดียวในเอเชียที่ได้นำมาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ ด้วยการเก็บภาษีสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน

สิงคโปร์ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ และเรียกเก็บเงินจากการใช้รถยนต์ ส่งผลให้ทุกวันนี้จำนวนรถของสิงคโปร์ไม่เพิ่มขึ้นเลย

ด้วยยึดมั่นในหลักการในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สิงคโปร์ได้สร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นในพื้นที่เมือง รวมทั้งยังมีพื้นที่อนุรักษ์ ในใจกลางเมือง และยังมีการพัฒนาพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ป่าโกงกาง เพื่อรองรับน้ำท่วม และเป็นแหล่งหลบภัยพื้นฐาน ขณะแผนการกำจัดขยะเป็นศูนย์(Zero waste Masterplan) จะนำสิงคโปร์ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายของสิงคโปร์ คือ การใช้ประโยชน์การเงินสีเขียวหรือกรีนไฟแนนซ์ เพื่อทำให้โลกเขียวขึ้น เพราะการเงินมีผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ การเงินกำหนดการตัดสินใจลงทุน และขับเคลื่อนการดำเนินการ ต้องทำให้การเงินเป็นการเงินสีเขียว เพื่อจัดการกับ Climate Change รวมทั้งบรรเทาผลและรับมือกับ Climate Change

ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ สิงคโปร์จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียและของโลก ซึ่งกรีนไฟแนนซ์หมายถึง

    • 1) การระดมทุนจากทั่วโลกเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว

 

    • 2) นำเงินนั้นไปสู่การลงทุนใหม่ในธุรกิจสีเขียว เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการสร้างงานกับโอกาสไปพร้อมกัน

 

    3) วงจรแห่งความรุ่งเรืองที่เศรษฐกิจมีการเติบโตและมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ข้อสุดท้ายมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐมีความสำคัญต่อประชากรของโลก เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน โดยที่บอกให้ประเทศกำลังพัฒนาละทิ้งความฝันของการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากในเอเชียและภูมิภาคอื่น เมืองยังคงมีการขยายตัว ประชากรยังคงต้องการที่จะยกระดับจากมาตรฐานการดำรงชีวิตจากรายได้ต่ำไปสู่รายได้ปานกลาง ขณะที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางแก้ไขจะต้องไม่กระทบต่อการเติบโตและทำลายความหวังของประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอย่างก้าวกระโดด ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สำนักงานพลังงานสากลได้ประเมินสถานการณ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปจนถึงปี 2040 ซึ่งมองว่าอัตราส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกับพลังงานหมุน เวียนจะเปลี่ยนจาก 20:1 เป็น 3:1 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และหากมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการขนส่งก็จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้ 11% จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีนี้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องนำมาใช้

นอกจากนี้ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนลดลงมากจากเทคโนโลยี และประหยัดกว่าพลังงานฟอสซิล โดยพลังงานโซลาร์และพลังงานลมมีการแข่งขันสูงในสหรัฐฯ อาเซียนควรตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 10% ในปี 2015 ให้เป็น 23% ภายในปี 2030 และเป้าหมายก็ไม่ได้ไกลนัก เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 15% อีกทั้งสามารถใช้ระบบสมาร์ทกริด และระบบจัดกักเก็บพลังงานเพื่อแก้ปัญหาปริมาณพลังงานไม่คงที่

การดำเนินการลักษณะนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพราะเอเชียปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวครึ่งหนึ่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก และมีประชากรรวมกันราวครึ่งหนึ่งของโลกเช่นกัน หากเอเชียมีการเปลี่ยนแปลง โลกก็เปลี่ยนตาม อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนแปลงพลังงานต้องตั้งมั่นและเดินหน้า สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบทันที แต่ต้องผลักดัน

สิงคโปร์ศูนย์กลางกรีนไฟแนนซ์ชั้นนำของเอเชียและของโลก

การดำเนินการในการเงินสีเขียวยังสามารถทำได้อีกมาก เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เพราะทั่วโลกภาคการเงินยังตามหลังอยู่มาก โดยการสนับสนุนการเงินแก่พลังงานฟอสซิลยังมีความสำคัญ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และยังเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่การออกกรีนบอนด์เพิ่งเริ่มขึ้น ปริมาณการออกกรีนบอนด์ในปีที่แล้วมีมูลค่าเพียง 168 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5% ของการออกหุ้นกู้ทั้งหมด

ภาคการเงินของสิงคโปร์สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมโอกาสการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะในเอเชีย โดยสามารถกระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีหมุนเวียน โครงข่ายพื้นฐาน ระบบแบตเตอรี่ อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องลงทุนอาคารสีเขียว ระบบทำความเย็นและอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินในภูมิภาคและมีความสามารถในทางเทคโนโลยี สิงคโปร์สามารถมีบทบาทที่ไม่ซ้ำใคร เป้าหมายของเราคือการเป็นศูนย์กลางการเงินชั้นนำด้านกรีนไฟแนนซ์ในเอเชียและของโลก โดยมีแผนรองรับ 3 ด้วยกันคือ 1) สร้างระบบการเงินที่ยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 2) พัฒนาโซลูชั่นการเงินสีเขียวและ 3) ยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยี”

ด้านแรก สร้างระบบการเงินที่ยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศสร้างความเสี่ยง 2 ด้านต่อระบบการเงิน ด้านที่หนึ่ง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ จากภัยน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งอาจะมีผลต่อสินไหมประกันชดเชยและทำให้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารลดลง

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทั่วโลกแต่ละปีเฉลี่ยสูง 140 พันล้านดอลลาร์ และในทศวรรษที่แล้ว มูลค่าความเสียหายนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 7 ปี และในขณะที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 2% ของจีดีพีโลกรวมกันมีความเสี่ยงที่จะเสียหาย

ความเสี่ยงด้านที่สอง เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโยบาย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค สินทรัพย์ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจจะถูกปล่อยทิ้งและจะมีผลให้เงินกู้และการลงทุนในภาคพลังงานลดลง ทั้งนี้มูลค่าสินทรัพย์ที่ถูกปล่อยทิ้งในภาคพลังงาน อุตสาหกรรมและอาคารสำนักงาน นับตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2050 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก โอกาสที่จะสูญเสียมีมหาศาล เมื่อผนวกกับความเสี่ยงอื่น เช่น การทำลายป่า ที่ดินเสื่อมสภาพ มลพิษทางน้ำและทางอากาศ และภัยคุกคามด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน

สถาบันการเงินต้องสร้างความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางดังต่อไปนี้ คือการประเมินความเสี่ยง การบรรเทาความเสี่ยงและการเปิดเผยความเสี่ยงเหล่านี้

1)การประเมินความเสี่ยง(Measure) ต้องนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาและต้องมีการทดสอบความสามารถรับวิกฤตและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต(Stress-test) ต่อมูลค่าทรัพย์สิน

  • ธนาคาร บริษัทประกันภัย และผู้จัดการกองทุนต้องประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่องบดุล สินเชื่อและพอร์ตการลงทุน หน่วยงานที่กำกับดูแลทั่วโลกรวมทั้ง MAS กำลังปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์กำกับดูแลด้านนี้ให้เข้มงวดขึ้น
  • MAS กำลังประสานงานกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำแนวปฏิบัติระดับโลกด้านบริหารจัดการความเสี่ยงและการเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม โดยผ่านเครือข่าย Greening the Financial System (NGFS)ซึ่ง MAS เป็นสมาชิกอยู่ และผ่าน Sustainable Insurance Forum

2)การบรรเทาจำกัดและลดความเสี่ยง(Mitigate) เป็นการจำกัดและลดฐานะความเสี่ยงลดลง

  • สมาคมธนาคารในสิงคโปร์ได้จัดทำคู่มือ แนวปฏิบัติการเงินอย่างรับผิดชอบ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ดีบีเอส โอซีบีซี และยูโอบีได้หยุดให้สินเชื่อแก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน และหันมาให้สินเชื่อโครงการพลังงานหมุนเวียน
  • ผู้จัดการกองทุนในสิงคโปร์ได้ร่วมลงนามใน UN Principles for Responsible Investmentและจัดทำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบให้นักลงทุน( Singapore Stewardship Principles for Responsible Investors)
  • สถาบันการเงิน ควรปรับกลยุทธ์ในการจัดสรรเงินทุนจากธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาสู่ธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะความเสี่ยงจากการทำงายสิ่งแวดล้อมมีผลต่อทรัพย์สินให้ด้อยค่าลง

3)การเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง(Disclose) เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เพื่อให้ข้อมูลนักลงทุนมากขึ้น

  • ในเอเชีย ตลาดหลักทรัพย์อินเดีย ฮ่องกงและอีกหลายตลาดในอาเซียน รวมทั้งตลาดหุ้นสิงคโปร์ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนการจัดทำรายงานความยั่งยืน(Sustainability Report) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่บริษัทจดทะเบียนและสถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และความสม่ำเสมอของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้ดีขึ้น
  • MAS จะออกคู่มือ Environmental Risk Management (ENRM) ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานของ การประเมินและจัดการความเสี่ยงและการเปิดเผยข้อมูล ให้ธนาคาร บริษัทประกันภัย และกองทุนรวมปฏิบัติ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินการมากขึ้น และสร้างระบบการเงินที่มีความยืดหยุ่น คู่มือจะส่งเสริมการกำหนดราคาสินเชื่อและการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมโอกาสการลงทุนสีเขียว โดยจะเผยแพร่แนวนโยบายเรื่องนี้ไตรมาสแรกปี 2020

ด้านการพัฒนาโซลูชั่นการเงินและตลาดสีเขียว

การดำเนินด้านที่สองภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ คือการพัฒนาโซลูชั่นการเงินและตลาดสีเขียว ซึ่งจะส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจในในเทคโนโลยีสะอาดและด้านอื่นที่กำลังขยายตัว ด้วยการสนับสนุนทางการเงินให้กับการลงทุนให้กับธุรกิจที่กำลังขยายตัวนี้ และการทำให้ระบบการเงินสีเขียวต้องมีเครื่องมือที่หลากหลาย

1)เครื่องมือแรกกรีนบอนด์(Green Bond)

  • MAS ได้เปิดให้ออกกรีนบอนด์เมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันมูลค่าการออกกรีนบอนด์รวมมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีการให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านผู้ตรวจสอบภายนอกเทียบกับมาตรฐานกรีนบอนด์ นอกจากนี้ได้ขยายโครงการด้วยการลดมูลค่าการออกขั้นต่ำลง ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมตราสารหนี้เพื่อสังคมและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น Sustainable Bond Grant Scheme เปิดรับผู้ออกมากขึ้นให้เข้าร่วมโครงการและออกบอนด์ประเภทนี้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ตลาดกรีนบอนด์ใหญ่ขึ้น
  • ต้องมีมาตรฐานกรีนบอนด์กลางร่วมกัน เพื่อป้องกันการระดมทุนย่อยข้ามแดน และการฟอกตัว ซึ่งมักจะทำกันเพื่อให้โครงการดูเป็นโครงการสีเขียวทั้งๆที่ไม่ใช่ มีหลายมาตรฐานที่ผู้ออกกรีนบอนด์สามารถนำมาใช้ เช่น มาตรฐานกรีนบอนด์ของอาเซียน (ASEAN Green bond Standard) ซึ่งมีกรอบการออกกรีนบอนด์ข้ามแดน MAS ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอาเซียน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานอาเซียนให้สอดคล้องหลักการกรีนบอนด์ของโลก

2)สินเชื่อสีเขียว(Green Loan)

  • การสร้างการเงินสีเขียว ในเอเชียต้องมีการให้สินเชื่อสีเขียว และต้องขยายวงให้กว้างขึ้น โดยธนาคารเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้หลัก โดยเฉพาะในเอเชียที่ตลาดทุนยังกำลังพัฒนา แต่สินเชื่อสีเขียวในภูมิภาคนี้ยังได้รับความต้องการมากกว่ากรีนบอนด ดังนั้นจึงมีศักยภาพที่จะขยายได้อีกมาก
  • ขณะนี้เริ่มเห็นการปล่อยกู้กรีนโลนแล้วใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาโครงการหลายรายได้รับสินเชื่อสีเขียวจากธนาคาร เพื่อก่อสร้างอาคารสีเขียว ติดตั้งแผงโซลาร์ และปรับปรุงอาคารด้วยเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน
  • สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้น สำหรับที่สิงคโปร์เงินกู้ไม่ได้ต้องผูกมัดกับโครงการสีเขียว แต่สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่น ตามเป้าหมายทางธุรกิจอื่นได้ หากผู้กู้ยังสามารถผ่านการประเมินความยั่งยืนได้
  • MAS จะพัฒนาสิทธิประโยชน์จูงใจ เพื่อส่งเสริมเงินกู้สีเขียวและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจที่ต้องการสินเชื่อสีเขียวผู้กู้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนากรอบความยั่งยืนและผ่านการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายกนอก ดังนั้น MAS จะมีโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระด้านนี้ให้กับธุรกิจ

3)โซลูชั่นการถ่ายโอนความเสี่ยง(Risk Transfer Solution)
ด้านการประกันภัย ต้องมีการพัฒนาโซลูชั่นการถ่ายโอนความเสี่ยงใหม่ขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการการคุ้มครองความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และยังเพิ่มทางเลือกการลงทุนอีกด้วย

  • Southeast Asia Disaster Risk Insurance Facility (SEADRIF) ได้มีการจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของญี่ปุ่นกับธนาคารโลก SEADRIF ให้การคุ้มครองความเสี่ยงภัยน้ำท่วมและช่วยให้ภูมิภาครับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น
  • เครื่องมือที่จะช่วยถ่ายโอนความเสี่ยงได้ดีขึ้นและหนุนการเงินสีเขียวคือ ตราสารที่เชื่อมโยงกับการประกันภัย( Insurance-Linked Securities :ILS) ซึ่งช่วยกระจายผลตอบแทนและความเสี่ยงไปยังนักลงทุนผ่านตลาดทุน และเพื่อสนับสนุนให้ ILS เติบโต MAS ได้ตั้งโครงการ Insurance Grant Scheme ในปีก่อน เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายการจ่ายค่าประกันล่วงหน้า ซึ่งทำให้มีการออกบอนด์ภัยพิบัติครั้งแรกในเอเชีย และมีการออกบอนด์ 3 ราย

ILS สามารถนำมาใช้ได้ในการถ่ายโอนความเสี่ยง ไม่เฉพาะความเสี่ยงจากภัยพิบัติเท่านั้น และยังสนับสนุนการพัฒนาการประกันภัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย และ MASจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อขยาย ILS grant scheme ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2020

4) กองทุนสีเขียว(Green Fund)

  • MAS จะเปิดตัวกองทุน Green Investments Programme (GIP) มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะนำเสนอกองทุนนี้ต่อตลาดไว้ใช้เป็นกลยุทธ์การลงทุนให้กับผู้จัดการกองทุนที่กำลังให้ความสำคัญกับการเงินสีเขียวมากขึ้น
  • โครงการนี้ช่วยให้ MAS สามารถทำผลตอบแทนระยะยาวอย่างยั่งยืนจากพอร์ตการลงทุน และเสริมความริเริ่มต่างๆให้กว้างขึ้น ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศกรีนไฟแนนซ์สิงคโปร์ขยายวงกว้างมากขึ้น
  • ภายใต้โครงการ GIP นี้ MAS จะจัดสรรเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุน กรีนบอนด์ของธนาคารเพื่อการชำระเงิน(The Bank for International Settlement หรือ BIS Green Fund เพื่อสนับสนุนความริเริ่มด้านกรีนไฟแนนซ์ทั่วโลก

5)สมรรถนะการเงินสีเขียว(Green Capabilities)

นอกเหนือจากการพัฒนาแนวทางและตลาดแล้ว สิงคโปร์จะสร้างเสริมความสามารถในด้านกรีนแนนซ์ โดยร่วมมือกับสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย, the Asia Sustainable Finance Initiative และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(The International Finance Corporation:IFC) เพื่อสร้างเสริมขีดความสามารถของมืออาชีพในอุตสาหกรรมการเงิน

  • MAS จะพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ตรวจสอบภายนอก และสถาบันจัดอันดับ ซึ่งจะประเมินและรับรองตราสารการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ขยายโอกาสมากขึ้นในสิงคโปร์
  • MAS จะช่วยส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ(Centres of Excellence) ในสิงคโปร์ เพื่อผลักดันงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นำมาใช้กับภาคการเงินได้

ศูนย์ความเป็นเลิศนี้จะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมกรีนไฟแนนซ์ เสริมความเข้าใจด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงจาก Climate Changeในสิงคโปร์ อีกทั้งศูนย์นี้จะมีการบ่มเพาะและฝึกฝนบุคคลากรที่มีความสามารถมากกว่าเดิม

สิงคโปร์ได้รับความสนใจอย่างมากจากสถาบันชั้นนำ ทั้งสถาบันวิจัย ที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เพื่อจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ การสร้างเสริมขีดความสามารถนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์กรีนไฟแนนซ์ด้านที่ 3 ซึ่งจะช่วยให้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางฟินเทคที่แข็งแกร่ง และความสามารถทางเทคโนโลยีที่มี

6)การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโยโลยี

นับตั้งแต่มีการพัฒนาฟินเทค สิงคโปร์ได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของความสามารถทางเทคโนโลยี สิงคโปร์จะสร้างกรีนไฟแนนซืจากความสามารถทางเทคโนโลยีที่มีนี้

“เราจะใช้ประโยชน์จากพลังของฟินเทคเพื่อกระตุ้นกรีนไฟแนนซ์ ด้วยการขยายขอบเขตการเข้าถึง นวัตกรรม และข้อมูล เราเริ่มเห็นโซลูชั่นฟินเทคที่น่าสนสำหรับกรีนไฟแนนซ์แล้ว”

  • ด้านการเข้าถึง
    1) จะส่งเสริมการประยุกต์ใช้แพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีกรีนไฟแนนซ์ เพื่อเข้าถึงผู้ลงทุนในตลาดและแหล่งเงินที่กว้างกว่าเดิม โดยจะ
    2) จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน ตัวอย่าง คือ . Bureau Vente ของ ยูกันกาได้พัฒนาแพล็ตฟอร์มดิจิทัลใช้ในการตรวจสอบพืชผลและการทำธุรกรรมการเงินในห่วงโซ่อุปทานและเก็บข้อมูลผลผลิตตลอดจนความยั่งยืนของการทำการเกษตร
  • ด้านนวัตกรรม
    1) จะส่งเสริมการพัฒนาอัลกอริทึมอัจฉริยะ สัญญาอัจฉริยะ และบัญชีแยกประเภท เพื่อเพิ่มความเร็วและความโปร่งใสของธุรกรรม2 โซลสตรอม ได้พัฒนาระบบบล็อกเชนสำหรับการสร้างและธุรกรรมการชดเชยคาร์บอน ระบบจะสร้างการชดเชยคาร์บอนอัตโนมัติ ที่บันทึกเวลาและลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากมิเตอร์อัจฉริยะ ซึ่งการบันทึกนี้มีความปลอดภัยป้องกันการเจาะระบบและมีความโปร่งใส
  • ด้านข้อมูล
    1)จะส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลขนาดใหญ่หรือ บิ๊กดาต้ามาใช้และการสร้างแบบจำลองขั้นสูงเพื่อวัดความเสี่ยงทางการเงินและสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศใหม่”ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่จะทำเท่านั้น ความคิดใหม่และแอปพลิเคชั่นจะเกิดขึ้นอีกมาก แต่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่กว้าง ซึ่งมีความสำคัญ คือ การเงิน นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการก้าวข้ามความท้าทายและยกระดับชีวิตอย่างถาวร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้ายสูงสุดของมนุษยชาติ ไม่ใช่ว่าเป้าหมายของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเติบโตจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่จินตนาการ นวัตกรรม เทคโนโลยี ความมุ่งมั่นจะทำให้ไปด้วยกันได้”ส่วนหนึ่งของทางออกนี้คือ การทำให้การเงินเป็นสีเขียว เพราะการเงินระดมสรรพทรัพยากรของโลก ดังนั้นจึงวางเป้าหมายของเราสำหรับสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางชั้นนำของกรีนไฟแนนซ์ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียและทั่วโลก

    นานาชาติร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของฟินเทค

    งานสิงคโปร์ฟินเทค ใช้พื้นที่ทั้งหมด 6 ฮอลล์ เปิดเชื่อมกันทุกฮอล์ เริ่มจากฮอลล์ 6 จัดเป็นเวทีกลางPlenary Stage ทำพิธีเปิดงานและเวทีสำหรับแขกคนสำคัญ ส่วน ในฮอลล์ 5 ที่ติดกันเป็น พื้นที่ International Pavilion ที่นานาชาตินำฟินเทคของตัวเองมานำเสนอ ทั้งประเทศเล็กในเอเชียอย่าง ศรีลังกา ประเทศเล็กในยุโรป อย่างลักเซมเบิร์ก ไปจนถึงประเทศเล็กในตะวันออกกลาง เช่น บาห์เรน อีกทั้งยังมีแคนาดา เคนย่า ลิธัวเนีย ประเทศที่ทั้งประเทศบริหารจัดการระบบดิจิทัล โปแลนด์ หรือฟิลิปปินส์จากอาเซียน เป็นต้น ตลอดจนยังมีประเทศใหญ่เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น

    ในฮอลล์ 4 เป็นพื้นที่ของบรรดาสตาร์ตอัพ ซึ่งแต่ละรายมีพื้นที่ราว 1-2 ตารางเมตรต่อราย เป็นบูธสำเร็จรูปเหมือนกันทุกราย และนำเสนอด้วยคอมพิวตอร์โน๊ตบุคเป็นส่วนใหญ่ ต่างกันตรงที่ป้ายชื่อและการตกแต่งบูธ

    ฮอลล์ 3 เป็นการออกบูธของผู้ประกอบการเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น เอชพี แอมะซอนเว็บ สมาคมธนาคารแห่งสิงคโปร์ พร้อมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 เวทีเสวนาย่อย ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นเวทีใหญ่ของ Deloite ที่สนทนาด้านความยั่งยืน รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับสื่อมวลชน มีพื้นที่co-working space และยังมีพื้นที่อาหารและเครื่องดื่มขนาดย่อมสำหรับผู้เข้าร่วมออกบูธอีกด้วย

    ในฮอลล์ 2 เป็นพื้นที่ของผู้สนับสนุนการจัดงานหรือ Sponsor นั้นเอง ได้แก่ ดีบีเอสแบงก์ NEC Corporation, IBM สิงคโปร์ มาสเตอร์การ์ด เอเชียแปซิฟิก แต่ก็มีผู้ออกบูธส่วนหนึ่วที่ไม่ใช่สปอนเซอร์ เช่น แบงก์ออฟไชน่า ธนาคารยูโอบี ธนาคารโอซีบีซี สิงคโปร์ Grab ซึ่งนำ 3 ผลิตภันฑ์มานำเสนอคือ GrabFinance, GrabInsure และ GrabPay รวมทั้ง WeBank จากกลุ่ม Tencent ของจีน ในฮอลล์นี้ยังมีเวทีเสวนาย่อย 2 เวที ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเวทีของสปอนเซอร์ AMTD Group กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้านวาณิชธนกิจของเอเชีย

    สำหรับฮอลล์ 1 นอกจากแบ่งพื้นที่ด้านหลังเป็นพื้นที่สำหรับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มมซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ออกบูธแล้ว ยังมีพื้นที่ซึ่งจัดเป็นโซน Regulator ที่ธนาคารกลางจากหลายประเทศส่วนใหญ่จากอาเซียนมาร่วมออกบุธ แต่เป็นบูธสำเร็จรูป ขนาด 1 เมตร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมด้วยอีกครั้งหลังจากที่ได้ร่วมออกบูธทุกปี

    บูธสตาร์ตอัพ

    ก.ล.ต.นำโครงการ DLT ร่วมเปิดบูธ

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์(ก.ล.ต.)ของไทยได้ร่วมออกบุธ พร้อมนำโครงการนำร่องในการนำ DLT มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในตลาดทุนไทย มานำเสนอ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต.เข้าร่วมออกบูธโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเวทีนานาชาติถึงบทบาทเชิงรุกของ ก.ล.ต. ในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาตลาดทุน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ลดต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยเพิ่มความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ โดยการนำ Distributed Ledger Technology (DLT) มาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย

    นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และกิจการร่วมลงทุน ในการปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี และสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนในการระดมทุนตามนโยบายของรัฐบาล ควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งภายในบูธ ก.ล.ต.นั้นยังมีธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล จำนวน 4 บริษัท เข้าร่วมจัดแสดงด้วย โดย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โกลบอล ไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท โกลบอล ฟินเทค จำกัด เสนอโดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สมาร์ทคอนแทรคท์ (ไทยแลนด์) จำกัด เสนอโดยสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพและความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศอีกด้วย

    บูธของสำนักงาน ก.ล.ต.ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานจำนวนมากพอสมควร

    บูธที่ติดกับสำนักงานก.ล.ต. เป็นบูธของสินวัฒนา เจ้าของแพล็ตฟอร์ม cloud Funding ที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. ซึ่งได้ระดมทุนให้กับลุกค้าได้แล้ว คือ Harrison Butcher, สยามแหนมเนือง

    ในฮอลล์นี้ยังมีเวทีเสวนา Openstage 1 เวที ส่วนใหญ่เป็นหัวข้อ Responsible Finance

    งานสิงคโปร์ฟินเทคจัดให้สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน โดยผู้จัดขอให้ผู้เข้าร่วมงาน ทั้งผู้ร่วมออกบูธ ผู้เข้าชมงานนำกระบอกน้ำมาใช้แทนการใช้แก้วน้ำพลาสติก เพื่อให้การใช้แก้วพลาสติกเป็นศูนย์ รวมทั้งไม่มีการใช้หลอดพลาสติก ขณะที่อาหารที่จัดให้กับผู้ร่วมงานมาจากแหล่งสามารถตรวจย้อนกลับได้ว่ามาจากแหล่งผลิตที่เน้นความยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังใช้กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับถังขยะก็จัดไว้เป็นแบบแยกประเภท

    การจัดการด้านอาหารถือว่าจัดการได้ดี ไม่มีการแย่งกันอย่างวุ่นวาย แม้จะมีผู้เข้่าร่วมงานถึง 60,000 มีการแบ่งจุดรับอาหารเป็นล็อต มีตั้งแต่อาหารอินเดีย อาหารนาชขาติ หรือประเภทสแนค สลัด ทำเส้นทางเข้าออกรับอาหารชัดเจน พร้อมกับนำอาหาารใส่รถเข็น ประจำตามจุดต่าง เพื่อกระจายการรับอาหาร และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลไม่ให้แตกแถวผู้ร่วมออกบูธยังสามารถรับประทานอหารในเวลาใดก็ตามความสะดวก เนื่องจากมีการจัดอาหารรอรับตลอดเวลา

    นอกจากนี้อุณหภูมิภายในงานตั้งไว้ที่ 23 องศาเซลเซียส การตกแต่งภายในฮอลล์ใช้วัสดุรีไซเคิล และนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

    เควก หงสิน (กลาง)ซีอีโอและผู้ก่อตั้งสินวัฒนา คลาวด์ฟันดิ้ง