ThaiPublica > เกาะกระแส > 70 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน จุดเริ่มต้นจาก “การมองหาก้อนหินที่จะเหยียบ ขณะข้ามแม่น้ำ” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง

70 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน จุดเริ่มต้นจาก “การมองหาก้อนหินที่จะเหยียบ ขณะข้ามแม่น้ำ” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง

7 ตุลาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/70th_anniversary_of_the_People%27s_Republic_of_China

การพุ่งขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของจีน ในช่วงการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการไล่ตามเทคโนโลยีของประเทศตะวันตก และการมีอำนาจทางการเมืองและการทหาร ที่มากขึ้นของจีน ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านดุลอำนาจของโลก

โมเดลการพัฒนาแบบจีน

บทวิเคราะห์ของ globaltimes.cn ที่เป็นเว็บไซด์ทางการจีน เรียกความสำเร็จของจีนในระยะ 70 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของโมเดลการพัฒนาประเทศ ซึ่งเดิมมีแต่โมเดลการพัฒนาแบบตะวันตก จีนใช้เวลา 7 ทศวรรษในการพัฒนาอุตสาหกรรม และกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ขณะที่ประเทศตะวันตกใช้เวลาหลายศตวรรษ จึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

Globaltime.cn กล่าวอีกว่า ในระยะ 70 ปีที่ผ่านมา จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ ในปี 1952 เศรษฐกิจจีนมีมูลค่าการผลิตแค่ 9.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2018 มีมูลค่ามากกว่า 12.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 1,325 เท่า จีนกลายเป็นเครื่องจักรการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในช่วงระยะที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจโลกนั้น กว่า 30% เกิดขึ้นจากปัจจัยที่มาจากเศรษฐกิจจีน

Globaltimes.cn อธิบายความสำเร็จของจีนในระยะเวลา 70 ปีว่า ปัจจัยสำคัญคือเรื่องการเมือง โดยจีนปฏิเสธนโยบายปิดประเทศ และปฏิเสธความพยายามใดๆที่จะละทิ้งความคิดสังคมนิยม ซึ่งคงจะหมายถึงการที่จีนยังยึดมั่นการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นเอง รวมทั้งปฏิเสธแนวทางการเมืองของประเทศตะวันตก ที่ระบอบการเมืองมีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ

มองจีนผ่านแนวคิดเชิง “สถาบัน”

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Making-China-Modern-Great-Jinping/dp/0674737350

ในหนังสือชื่อ Making China Modern (2019) ของ Klaus Muhlhahn ผู้เชี่ยวชาญจีนของมหาวิทยาลัย Free University of Berlin ได้อธิบายความสำเร็จของจีน โดยอาศัยแนวคิดทางสังคมศาสตร์ เรื่องบทบาทของ “สถาบัน” (institution) แนวคิดนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมประเทศหนึ่งจึงเจริญรุ่งเรือง และอีกประเทศหนึ่งกลับตกต่ำ ทำไมประเทศหนึ่งพัฒนาได้รวดเร็ว แต่อีกประเทศพัฒนาช้า และทำไมบางประเทศมีธรรมาภิบาล แต่บางประเทศกลับไม่มีสิ่งนี้

ในวงการด้านสังคมศาสตร์ คำว่า “สถาบัน” หมายถึงกฎเกณฑ์ ทั้งที่เขียนและไม่ได้เขียนเป็นรายลักษณ์อักษร กล่าวให้ชัดเจนลงไปอีก สถาบันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแบบสม่ำเสมอทางสังคม ที่ดำเนินการโดยคนเรา เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในสังคม กฎเกณฑ์ดังกล่าวทำให้คนในสังคมทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บนพื้นฐานความไว้วางใจกันและกัน โดยเกิดจากกฎกติกาที่มีการยอมรับร่วมกัน คนในสังคมมีความคาดหมาย และค่านิยมที่ยึดถือร่วมกัน

ประเทศต่างๆ มีสถาบันที่แตกต่างกันไป เนื่องจากสถาบันมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคนในสังคม จึงเป็นปัจจัยกำหนดประสิทธิภาพขององค์กร ของนโยบาย และสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกัน สถาบันในสังคมสามารถมีลักษณะที่คนมีส่วนร่วม มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และการปรับตัว แต่ก็มีสถาบันที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สถาบันที่ดีของสังคมจะส่งเสริมการพัฒนา การลงทุน และการกระจายทักษะความรู้ให้คนในสังคม

หนังสือ Making China Modern กล่าวว่า การที่จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนานกว่า 100 ปีมาแล้ว การเปิดประเทศในปี 1979 เป็นเพียงอีกบทหนึ่งของกระบวนการนี้ กระบวนการนี้เป็นความพยายามที่จะเอาชนะจุดอ่อนแอในเชิงสถาบันของประเทศ และสร้างสถาบันที่จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองและอำนาจของจีน

นโยบาย “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” ของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เริ่มต้นในปี 1977 เป็นต้นมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเชิงการสร้างสถาบันของจีน ในปี 1977 จีนใช้ระบบการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 1962 โดยในอดีต การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย อาศัยหลักเกณฑ์จากความคิดทางการเมืองและฐานะทางชนชั้นของนักศึกษา

การนำระบบการสอบแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย นับเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ในปี 1977 มีนักเรียนเข้าสอบ 5.7 ล้านคน สำหรับจำนวนนักเรียนที่มหาวิทยาลัยรับได้เพียง 270,000 คน ในปี 2009 ตัวเลขนักเรียนเข้าสอบเพิ่มเป็นกว่า 10 ล้านคน ในแง่มุมของการสร้างสถาบัน การนำระบบการสอบดังกล่าวมาใช้ ไม่ใช่สิ่งที่จีนนำแนวคิดนี้มาจากตะวันตก แต่เป็นการฟื้นฟูสถาบันเดิมของจีน ที่ในสมัยจักรพรรดิ การคัดเลือกคนที่มีความสามารถมาทำงานกับรัฐ ก็มาจากการสอบแข่งขัน

การค้นพบเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง

เติ้ง เสี่ยวผิง ที่มาภาพ : amazon.com

Ezra F. Vogel ผู้เชี่ยวชาญจีนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Deng Xiaoping and the Transformation of China ว่า ในปี 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงไม่ได้มีแบบพิมพ์เขียวที่ชัดเจนว่า จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนจีน และสร้างประเทศจีนให้มีอำนาจได้อย่างไร เติ้ง เสี่ยวผิงเองเคยกล่าวว่า เขาค้นหาสิ่งนี้ “แบบเดียวกับที่มองหาก้อนหินที่จะเหยียบ เวลากำลังเดินข้ามแม่น้ำ”

แต่เติ้ง เสี่ยงผิงมีกรอบทางความคิดว่า จะเริ่มต้นอย่างไร โดยจีนจะเปิดประเทศเพื่อรับแนวคิดจากทุกประเทศในเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และแนวคิดใหม่ๆ โดยไม่เลือกว่าประเทศนั้นจะมีระบบการเมืองแบบไหน เติ้ง เสี่ยวผิงตระหนักดีว่า จีนไม่สามารถนำเอาระบบจากต่างประเทศเข้ามาใช้เลยทั้งหมด ปัญหาเศรษฐกิจที่ล้าหลังของจีน ไม่ได้แก้ไขโดยการทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดขึ้นมาทันทีทัน แต่โดยการสร้างสถาบันต่างๆขึ้นมา อย่างค่อยเป็นค่อยไป

Ezra Vogel เขียนไว้ว่า สำหรับญี่ปุ่น จุดหักเหทางประวัติศาสตร์ที่นำประเทศสู่ความทันสมัย คือสิ่งที่เรียกว่า ภาระกิจอิวาคุระ (The Iwakura Mission) ช่วงธันวาคม 1871-กันยายน 1873 บรรดาผู้นำ 51 คนของรัฐบาลสมัยเมจิ เดินทางไปศึกษาดูงานใน 15 ประเทศ คณะดูงานประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เหมืองแร่ การเงิน วัฒนธรรม การศึกษา การทหาร และตำรวจ หัวหน้าคณะคือ อิวาคุระ โตโมมิ (Iwakura Tomomi) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของรัฐบาลเมจิ

เมื่อคณะดูงานอิวาคุระออกเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ปิดตัวเอง มีความรู้น้อยมากกับโลกภายนอก เมื่อคณะดูงานได้ไปเห็นโรงงาน เหมืองแร่ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ตลาดหุ้น ระบบรถไฟ และอู่ต่อเรือ ทำให้พวกเขาเกิดแนวคิดว่า ญี่ปุ่นจะสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร ไม่เพียงแต่ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ยังเป็นเรื่องการบริหาร การจัดองค์กร และวิธีคิด คณะศึกษาดูงานเห็นถึงความล้าหลังของญี่ปุ่น แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาเกิดความท้อแท้ผิดหวังต่อประเทศตัวเอง แต่กลับเป็นความที่พลังที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนญี่ปุ่นให้ทันสมัย และส่งคณะผู้แทนไปดูงานต่างประเทศมากขึ้น

Ezra Vogel กล่าวว่า ในกรณีของจีน ไม่มีคณะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ที่เป็นคณะเดียวแบบญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ในปี 1978 คณะผู้แทนระดับสูงของจีน ที่เดินทางไปดูงานต่างประเทศ มีอยู่ 4 คณะ โดยแยกการดูงานไปที่ยุโรปตะวันออก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก การดูงานในฮ่องกง เพื่อที่จะดูว่า ฮ่องกงจะสนับสนุนจีนอย่างไรในเรื่อง การพัฒนาการเงิน อุตสาหกรรม และการบริหารจัดการ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะตั้งเขตการผลิตส่งออกของจีน

ส่วนกรณีญี่ปุ่น ความสนใจของผู้นำจีนในสมัยนั้นที่มีกับญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังต้องการเรียนรู้ถึงยุทธศาสตร์โดยรวม ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น ในกระบวนทั้งหมดของการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่คณะดูงานประเทศยุโรปตะวันตก สร้างผลกระทบมากที่สุด ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน

คณะดูงานในประเทศยุโรปตะวันตก มีจำนวน 21 คนที่นำโดย รองนายกรัฐมนตรี กู มู (Gu Mu) โดยไปเยือนฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก และเบลเยียม ช่วง 2 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 1978 เมื่อกลับมาจีน คณะดูงานของกู มู ทำรายงานเสนอกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยชี้ให้เห็นช่องว่างความเจริญ ที่มีอยู่อย่างมากระหว่างประเทศทุนนิยมตะวันตกกับจีน

กู มูเสนอแนวทางหลายอย่าง ที่ต่างชาติจะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาของจีน เช่น การค้าแลกเปลี่ยน การร่วมการผลิต และการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ประชุมกรมการเมืองเห็นชอบให้จีนเดินหน้าทันที ที่จะเอาประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ในเมื่อประเทศอื่นสามารถนำเข้าเงินทุน วัตถุดิบ แล้วนำมาผลิตเพื่อส่งออก “ทำไมจีนจะทำแบบนี้ไม่ได้”

Ezra Vogel เขียนไว้ว่า เวลากว่า 200 ปีก่อน 1978 ผู้นำจีนในยุคต่างๆ พยายามมาตลอดแบบเดียวกับเติ้ง เสี่ยงผิง ที่จะหาหนทางสร้างจีนให้มั่งคั่งและมีอำนาจ แต่สำหรับเติ้ง เสี่ยงผิง การเปลี่ยนแปลงประเทศจีนในระดับมูลฐาน ถือเป็นความท้าทาย ที่ไม่มีประเทศไหนเผชิญปัญหาแบบนี้มาก่อน

ในเวลานั้น ไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์ไหนที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจเลย หรือมีประเทศไหนที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบรวดเร็วได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หรือมีประชากร 1 พันล้านคน ที่ตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน

เอกสารประกอบ

China’s success an alternative to Western development model, October 1, 2019, globaltimes.cn
Making China Modern, Klaus Muhlhahn, The Belknap Press of Harvard University Press, 2019.
Deng Xiaoping and the Transformation of China, Ezra F. Vogel, The Belknap Press of Harvard University Press, 2011.