ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เผยหนี้เสีย “SMEs” ชะลอตัว ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น – ชี้ปี 61 แบงก์แข่งขันรุนแรง อานิสงส์ e-Payment

ธปท. เผยหนี้เสีย “SMEs” ชะลอตัว ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น – ชี้ปี 61 แบงก์แข่งขันรุนแรง อานิสงส์ e-Payment

12 กุมภาพันธ์ 2018


นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
แถลงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ปี 2560

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ปี 2560 ว่าสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากการกันสำรองเพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเตรียมความพร้อมรองรับมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS 9) อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพทั้งเงินสำรอง เงินกองทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้

สินเชื่อปี 60 โต 4.4%

สำหรับรายละเอียดของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2% โดยอัตราเร่งอยู่ในช่วงปลายปี ทั้งสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) และสินเชื่ออุปโภคบริโภค อย่างเช่น สินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.4% มาอยู่ที่ 4.7% หากแบ่งตามประเภทสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อธุรกิจ (67% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ซึ่งขยายตัวที่ 5.7% จากหลายธุรกิจในภาคพาณิชย์และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระดับกลางและบน รวมถึงธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่พึ่งพาทางเลือกในการระดมทุนผ่านหุ้นและตราสารหนี้มากกว่าการใช้สินเชื่อ ประกอบกับมีการชำระคืนหนี้ ส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) โดยรวมทรงตัวที่ 0% หรือไม่ขยายตัว ถึงแม้ธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจพลังงานและการขนส่ง การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงที่พักแรม สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค (33% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 6.1% โดยสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน 8.4% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ที่ขยายตัวดี หลังสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปีในการถือครองรถยนต์ของมาตรการรถคันแรก ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตชะลอตัวลงเล็กน้อยที่ 5.5% และ 3.4% ตามลำดับ โดยสินเชื่อบัตรเครดิตส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายพอร์ตรายย่อยของธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.7%

“สำหรับแนวโน้มของสินเชื่อในปีนี้ จากการสอบถามธนาคารพาณิชย์ คิดว่าตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6-8% โดยสูงกว่าจีดีพีที่ ธปท. คาดว่า 4% เทียบกับปีที่แล้วที่ตั้งเป้าไว้ 4-6% ก็คาดว่าจะเริ่มเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มส่งออกและท่องเที่ยวในปี 2560 กลับมาเติบโตตั้งแต่กลางปี 2560 และช่วงสิ้นปีที่เห็นกลุ่มอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ นอกจากนี้ เรื่องสินเชื่อในปีที่ผ่านมาก็เห็นความผันผวนบ้าง เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่และกลางมีทางเลือกการระดมทุนรูปแบบอื่นและมาอาศัยธนาคารเป็นแหล่งเงินระยะสั้นเพื่อรอแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มั่นคง หรือทำ Bridge Financing” นางสาวดารณีกล่าว

หนี้เสีย “SMEs” ชะลอตัว – ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น

ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.91% จาก 2.83% ในปี 2559 โดยมียอดคงค้าง Gross NPL ที่ 429,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลถือว่าลดลงจาก 2.97% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560

ในรายละเอียดเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจทุกประเภทชะลอตัวลง ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ซึ่งปกติมีระดับเอ็นพีแอลต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจประเภทอื่น) โดยเฉพาะเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มปรับลดลงจาก 4.63% ในไตรมาสก่อนหน้าเหลือเพียง  4.37% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากว่า 3 ปี กอปรกับการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภคในช่วงปลายปี โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสจาก 3.74% ในไตรมาสแรกของปี 2560 เหลือเพียง 2.61% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ทำให้ภาพรวมเอ็นพีแอลเริ่มทรงตัว ด้านสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ชะลอลดลงเช่นเดียวกัน มาอยู่ที่ 2.55% จากปีก่อนที่ 2.63% โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 375,000 ล้านบาท สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น

“แนวโน้มเอ็นพีแอลคิดว่าน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเราสบายใจมากขึ้นจากสัญญาณของเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีที่เริ่มลดลง ไม่สะสมเหมือนช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อจะมีส่วนช่วยให้สัดส่วนลดลง แต่ถ้ามองดูในรายประเภทธุรกิจพบว่าทรงตัวหรือลดลงบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เห็นปักหัวลง เพราะเศรษฐกิจเองก็ไม่ได้ฟื้นตัวแบบพุ่งขึ้นไป ก็ทยอยๆ ลดลง ถามว่าเป็นห่วงอะไร จะเป็นห่วงเหตุการณ์เฉพาะที่อาจจะทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะ ก็คงคาดการณ์ไม่ได้ แบบนี้แม้เอ็นพีแอลจะเพิ่มแต่ในแง่ระบบก็ไม่ได้น่าเป็นห่วง” นางสาวดารณีกล่าว

นางสาวดารณีกล่าวว่า สำหรับเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ชะลอตัวเหมือนสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ สินเชื่อเก่าช่วง 3-4 ปีที่มีการแข่งขันดอกเบี้ย (Teaser Rate) กันค่อนข้างรุนแรงและส่งผลต่อเอ็นพีแอลอยู่ในระยะต่อมา อีกส่วน คือ สินเชื่อใหม่กว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มมีการแข่งขันกันอีกและหากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ชัดเจนพอก็อาจจะทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้กู้กลุ่มรายได้ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับข้อมูลการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการสอบถามธนาคารพาณิชย์พบว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ยังมีความเข้มงวดและระมัดระวังสูงมาก

ตั้งสำรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ – แบงก์กำไรหด

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง รวมทั้งเตรียมรองรับ IFRS 9 ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72,700 ล้านบาทจากปีก่อน และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 171.9% ในปี 2560

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 187,300 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากปีก่อน เป็นผลจากค่าใช้จ่ายการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมรองรับ IFRS 9 ที่จะนำมาใช้ในปี 2562 แม้ว่า NPL จะเริ่มทรงตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.05 จากร้อยละ 1.13 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ 2.76%

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,451,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการเพิ่มทุน ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.2% และ 15.6% ตามลำดับ

ชี้ปี 61 การแข่งขันรุนแรง อานิสงส์ e-Payment

นางสาวดารณีกล่าวว่า กำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมากจากการบริหารต้นทุนเงินฝากที่มีการผลักดันงานจากเงินฝากประจำมาเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยจ่ายต่ำกว่า โดยมีสัดส่วนของเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินฝากทั้งหมดอยู่ที่ 61% ทยอยเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 50% อนึ่งในระยะข้างหน้าคาดว่าการบริหารต้นทุนรูปแบบนี้จะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนักและอาจจะเริ่มกลับมากระทบกับกำไรของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดสาขาของธนาคารจะช่วยให้ต้นทุนของธนาคารลดลงได้ โดยในปีที่ผ่านมามีการเปิดสาขาเพิ่มประมาณ 100 สาขาและลดสาขาทั้งหมด 300 สาขา หรือโดยสุทธิระบบธนาคารไทยมีสาขาลดลงประมาณ 200 สาขา ซึ่งส่วนนี้ ธปท. ติดตามไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยให้ธนาคารที่จะปิดสาขาต้องทำรายงานส่งมายัง ธปท. และ ธปท. จะติดตามผลผ่านการร้องเรียนของประชาชน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของรายได้นั้น จากการใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (e-Payment) โดยเฉพาะการโอนเงินรายย่อยผ่านระบบพร้อมเพย์ น่าจะทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมของธนาคารลดลงตามความเร็วของอัตราการใช้งาน โดย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 สัดส่วนมูลค่าการโอนเงินของรายย่อยผ่านพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น จากระดับ 0% ในปีก่อนหน้า มาเป็น 15-16% ของมูลค่าการโอนเงินของรายย่อยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินรายย่อยทั้งหมด ยังคงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.6% ของรายได้รวม (โดยระบบธนาคารไทยมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด คิดเป็น 30% ของรายได้รวม ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมของการโอนเงินรายย่อย ประมาณ 12% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมดทั้งหมด) ซึ่งอาจจะถือว่ายังไม่มากนัก

“ในปีที่ผ่านมาธนาคารอาจจะยังไม่เห็นว่ารายได้ค่าธรรมเนียมลดลงมากนัก เพราะการใช้ระบบพร้อมเพย์อาจจะยังไม่มาก แต่ในปีนี้คาดว่าจากการใช้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายได้ค่าธรรมเนียมจะลดลง แม้ว่าสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนรายย่อยจะคิดเป็นเพียง 3.6% ของรายได้รวม ซึ่งหากมีการใช้พร้อมเพย์ทั้งหมดก็จะกระทบแค่นี้ แต่ในอนาคตถ้าระบบพร้อมเพย์ขยายไปยังการโอนรูปแบบอื่นๆ เช่น จากธุรกิจสู่ผู้บริโภค ฯลฯ รายได้ค่าธรรมเนียมแบบอื่นๆ จะถูกกระทบไปด้วย ขณะที่การหารายได้ด้านอื่นของธนาคารอย่างรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อ ถ้าเศรษฐกิจไปได้ดีก็น่าจะพอไปได้ ดังนั้นโดยรวมก็คิดอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ว่าจะเป็นอย่างไร อาจจะต้องรอดูตัวเลขอีก 2-3 เดือน” นางสาวดารณีกล่าว