ThaiPublica > คอลัมน์ > คิดอย่างไรให้นอนหลับ

คิดอย่างไรให้นอนหลับ

8 พฤศจิกายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/76/WLA_metmuseum_Bronze_statue

การนอนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์เช่นเดียวกับสัตว์ทุกเผ่าพันธุ์ในโลกซึ่งล้วนนอนด้วยกันทั้งนั้น ประเด็นสำคัญก็คือการนอนแล้วต้องหลับ คนที่เป็นโรคนอนไม่หลับส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลใจว่าจะนอนไม่หลับซึ่งทำให้นอนไม่หลับไปจริง ๆ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเกิดสิ่งที่เรียกว่า micro sleep คือหลับตั้งแต่ 1-30 วินาทีสั้น ๆ หลายครั้งโดยไม่รู้ตัวเสมอ

แม้แต่ปลาฉลามก็นอนหลับโดยไม่หลับตา ช้างนอนวันละ 5 ชั่วโมง และสัตว์พวกเสือโดยเฉพาะแมวนอนวันละ 15 ชั่วโมง มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ (ตรวจสอบกันเฉพาะคนเลยไม่รู้ปัญหาของสัตว์อื่น ๆ) ต้องการคำแนะนำที่ดีๆเสมอ

ในคอลัมน์นี้ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่าแต่ละอาทิตย์มีเรื่องแปลก ๆ ไม่มีแนวใดแนวหนึ่งตายตัว เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้เขียนต้องการให้เป็น “อาหารสมอง” ที่ไม่จำเจ ผู้เขียนตั้งใจเขียนเรื่องที่คนอื่นไม่เขียน หรือเขียนคนละแง่มุมเพื่อทำให้คอลัมน์น่าสนใจขึ้น ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ถ้าจะเขียนแต่เรื่องเศรษฐกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ก็คงไม่ยากจนเกินไป แต่ในคอลัมน์อื่นก็มีผู้เขียนชั้นเลิศในแนวนี้อยู่แล้ว

ครั้งนี้ขอเขียนเรื่อง “การนอนหลับยามค่ำคืน” ซึ่งได้ข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้แง่มุมเรื่องการนอนหลับในแง่จิตวิทยาที่น่าคิด

การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างยิ่ง มีงานศึกษาที่พบว่าเกี่ยวพันกับการเป็นโรค Alzheimer และปัญหาสุขภาวะโดยรวม วารสาร Lancet ที่มีชื่อเสียงทางการแพทย์ตีพิมพ์งานศึกษาแพทย์ที่ทำงานโดยไม่หลับเลยเกินกว่า 24 ชั่วโมง และพบว่าทำงานชิ้นเดิมที่เคยทำช้าลงไปกว่า 14% นอกจาก นี้ยังทำงานผิดพลาดมากกว่า 20% ขึ้นไปอีกด้วย

นักจิตแพทย์ให้แง่มุมสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องการนอนที่น่านำไปไตร่ตรอง และอาจช่วยแก้ปัญหาได้ ข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้

1. การผ่อนคลายเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการพยายามนอนหลับ ต้องแยกให้ออกว่าการพักผ่อนกับการผ่อนคลายนั้นไม่เหมือนกันเพราะการพักผ่อนในเรื่องบางอย่างไม่ใช่การผ่อนคลาย แต่อาจเพิ่มความ เครียดและความกดดันด้วยซ้ำ เช่น การพักผ่อนโดยการเล่นไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดหรือใจคอไม่สงบเพราะเกิดความรู้สึกหลากหลาย แนวดราม่าขึ้นในใจ หรือพูดคุยสนุกเฮฮาแต่เกิดความขัดแย้งขึ้น หรือการอ่านหนังสือบางเรื่อง ดูรูปภาพเก่า ๆ ที่กระทบอารมณ์ ชมภาพยนตร์บางประเภทที่ทำให้เกิดความเครียดยิ่งขึ้น

2. การนอนหลับหรือไม่หลับ เป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งบังคับกันไม่ได้ แต่การผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจเป็นสิ่งที่เราเลือกกระทำได้ ซึ่งการผ่อนคลายเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจมากกว่าการครุ่นคิดพะวงว่าจะนอนไม่หลับ

3. สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการนอนหลับคือ “ความคาดหวัง” ที่จะต้องนอนให้หลับ และเมื่อดูจะมีปัญหาในการนอนหลับ จิตก็เริ่มหวาดหวั่นว่าจะนอนไม่หลับ เกิดความเครียดจนนอนไม่หลับจริง ๆ และไม่เกิดความผ่อนคลาย ดังนั้นต้องฝึกให้รู้ทัน และปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ลง นี่คือเคล็ดลับของความสุขในยามค่ำคืน ตลอดจนความสุขในเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตด้วย

4. การนอนหลับหรือนอนไม่หลับอย่าคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด สิ่งสำคัญคือการผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจแล้วถึงจะนอนหลับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ตอนเช้าก็สามารถมีความรู้สึกสดชื่นได้

5. การนอนไม่หลับไม่ใช่ความหายนะ การตื่นกลางดึกก็ไม่ใช่ความหายนะเช่นกัน การไม่ผ่อนคลาย ความกดดัน และการบังคับตัวเองให้หลับต่างหากที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ตราบใดที่ใจ และกายผ่อนคลายแล้วในตอนเช้าเมื่อตื่นขึ้นก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้ แม้นอนไม่หลับมาก็ตาม

6. การนอนหลับไม่ใช่หนทางเดียวที่จะช่วยเยียวยาร่างกายตอนกลางคืน การผ่อนคลายจากการปล่อยวางต่างหากที่ช่วย
มนุษย์เรานั้นเมื่อไม่ตั้งใจจะหลับ การหลับที่เป็นธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นเอง

7. เมื่อไม่กลัว “การนอนไม่หลับ” แล้ว ชีวิตก็ง่ายขึ้นมาก การนอนหลับหรือไม่หลับจึงไม่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดและกังวลอีกต่อไป

8. สรุป “การนอนไม่หลับ” ไม่ใช่ปัญหา แต่วิธี “การคิด” และ “การพยายามที่จะหลับให้ได้” ต่างหากที่เป็นปัญหา

อย่านับแกะโดดข้ามรั้วเพราะจะทำให้นอนไม่หลับ หากจงผ่อนคลายร่างกายทั้งร่างโดยเฉพาะที่ใบหน้าเหมือนท่าพื้นฐาน “ท่านอนตาย” ของนักเล่นโยคะ และหากทำเช่นนี้แล้วยังนอนไม่หลับอีกเพราะกำลังเริ่มมีความรักก็อาจเป็นเพราะบัดนี้โลกความเป็นจริงมันดีกว่าความฝันไปเสียแล้วจึงไม่จำเป็นต้องหลับอีกต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 5 พ.ย. 2562