ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติแม่น้ำโขง ต้นเหตุที่เกิดจากสภาพอากาศ การสร้างเขื่อน และภูมิรัฐศาสตร์

วิกฤติแม่น้ำโขง ต้นเหตุที่เกิดจากสภาพอากาศ การสร้างเขื่อน และภูมิรัฐศาสตร์

15 พฤศจิกายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น มีกำลังติดตั้ง 1285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบเต็มกำลังต้นเดือนพ.ย. 2562

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2019 เขื่อนไซยะบุรีของ สปป. ลาว เดินเครื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ จากแม่น้ำโขง ที่มีขนาด 1,220 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกหลายแห่งของลาว ที่จะทำให้ลาวกลายเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” โดย 2 ใน 3 ของไฟฟ้าจะส่งออก แต่เมื่อเขื่อนไซยะบุรีเริ่มเปิดดำเนินทำงาน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมาเหลือ 1.5 เมตร นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 100 ปี

แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ จากที่ราบสูงทิเบต ไปจนถึงทะเลจีนใต้ โดยไหลผ่านจีน ลาว เมียนมาร์ ไทย เขมร และเวียดนาม หากแม่น้ำโขงอยู่ในสหรัฐอเมริกา ความยาวของแม่น้ำโขง จะไหลจากลอสแอนเจลิสไปจนถึงนิวยอร์ก แม่น้ำโขงจึงมีสภาพคล้ายกับเป็นเส้นเลือดของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตการประมงบนแผ่นดิน ที่มีมูลค่ามากสุดถึงปีหนึ่ง 17 พันล้านดอลลาร์ และประชากรประมาณ 60 ล้านคน อาศัยอยู่ตามแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

เหตุจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นิตยสาร Foreign Affairs ที่ทรงพลังของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่บทความชื่อ Troubles on the Mekong ของ Sam Geall จากสถาบัน Chatham House ที่กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กลายเป็นภัยคุกคามที่มากขึ้นต่อแม่น้ำโขง รายงานการศึกษาบางฉบับก็กล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 นี้ 2 ใน 3 ของธารน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัย ที่เป็นแหล่งป้อนน้ำให้กับแม่น้ำโขง จะสูญหายไป

บทความชื่อ Himalayan glacier melting threatens water security for millions of people ในเว็บไซต์sciencenews.org ก็รายงานว่า ในแต่ละปี น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งของเทือกเขาหิมาลัย สามารถสนองความต้องการน้ำของประชาชนกว่า 221 ล้านคน ธารน้ำแข็งจะสะสมน้ำได้นานเป็นเวลาหลายทศวรรษ หรือเป็นศตวรรษ แต่ธารน้ำแข็งกำลังละลายในอัตราที่เร็วกว่าการเกิดของหิมะที่จะมาเติมให้ใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปดังกล่าว จากการคำนวณการละลายของธารน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของธารน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว

เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะยังคงสูงขึ้น เพราะฉะนั้น การละลายของธารน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน จะมีอัตรารวดเร็วกว่าปริมาณการตกของหิมะ อันจะทำให้ธารน้ำแข็งมีปริมาณที่ลดลงและเหลือน้อยลง หากประเทศต่างๆไม่สามารถลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2090 ปริมาณน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง และไหลลงแม่น้ำ จะลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็กล่าวเตือนว่า ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน ที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลกระทบต่อบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภาวะปริมาณฝนตกที่เกิดชะงักงัน จะทำให้ภูมิภาคแม่น้ำโขงมีแนวโน้มที่จะเกิดภัยแล้งมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ยิ่งจะทำให้ปัญหาอื่นๆของแม่น้ำโขง มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ดินตะกอนที่หายไป ความเค็มที่มีมากขึ้น และการกัดกร่อนของฝั่งแม่น้ำ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TheMekongRiver/photos/a.695884483797782/2721640877888789/?type=3&theater

เหตุจากสร้างเขื่อนและภูมิรัฐศาสตร์

บทความ Trouble on the Mekong กล่าวว่า การมุ่งมั่นพัฒนาแม่น้ำโขงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เลวร้ายยิ่งขึ้น ภายในแผ่นดินของจีนเอง จีนได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว 10 แห่งบนแม่น้ำโขง เขื่อนเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำลงไปในด้านต่างๆ เช่น การประมง ไร่ผักริมฝั่งแม่น้ำ และการเพาะปลูก จีนเองมีส่วนทำให้เกิดการสร้างเขื่อนอย่างเร่งรีบในในลาวและกัมพูชา ทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นพื้นที่ผลประโยชน์สำคัญของจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับจากปี 1995 กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมมือกันในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ผ่านองค์กรชื่อว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission – MRC) ในปี 2010 MRC เรียกร้องให้ระงับการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง เป็นเวลา 10 ปี แต่ MRC ไม่มีอำนาจที่จะบังคับใช้ตามข้อเสนอดังกล่าว ลาวประเทศที่ยากจนที่สุด ต้องการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยอาศัยการลงทุน โดยเฉพาะจากจีน

ในปี 2015 จีนได้ตั้งองค์กรขึ้นมาเป็นคู่แข่ง MRC เรียกว่า กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง (The Lancang-Mekong Cooperation Framework – LMC) นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวได้เหมาะสมมาก เมื่อบอกว่า LMC “ไม่ใช่สถานที่เอาแต่พูด แต่จะเป็นรถไถที่ลงมือปฏิบัติ” (not talk shop but down-to-earth bulldozer) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนตามลุ่มแม่น้ำโขง จึงเป็นโครงการที่ประสานสอดคล้องกับโครงการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานโลกของจีน ที่เรียกว่า หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

บทความ Trouble on the Mekong กล่าวว่า ในแต่ละปี การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม LMC จะประกาศการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2018 จีนประกาศให้เงินกู้และเงินให้เปล่ามูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์ โครงการที่เป็นแบบฉบับก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว จีนยังสนับสนุนการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ในกัมพูชา และสะหวัน-เซโนในลาว

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TheMekongRiver/photos/a.695884483797782/2721639674555576/?type=3&theater

ภัยแล้งสุดในรอบศตวรรษ

ปัจจุบัน ประชากรที่มีชีวิตตามลุ่มแม่น้ำโขง ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ เมื่อจำนวนเขื่อนขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคตข้างหน้า ชุมชนตามลุ่มแม่น้ำโขงจะประสบความยากลำบากมากขึ้น เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่ขึ้นลงอย่างแปรปรวน ความเสี่ยงจากน้ำท่วมฉับพลัน และระบบนิเวศของแม่น้ำเกิดความเสียหาย

บทความชื่อ The Mighty Mekong at Crisis Point ในเว็บไซต์ กล่าวว่า ในตามปกติ ในช่วงเวลานี้ของปี ฤดูมรสุมจะค่อยๆลดน้อยลงไป น้ำโขงจะล้นฝั่งไปท่วมที่ราบลุ่มในกัมพูชาและเวียดนาม แม่น้ำโขงจะพัดพาตะกอนและฝูงปลาจำนวนมาก มาสู่ที่ราบลุ่มแม่โขงตอนล่าง แต่ปี 2019 จากสามเหลี่ยมทองคำมาจนถึงสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง น้ำแทบจะเหือดแห้งไปหมด รวมทั้งตะกอนและฝูงปลาก็สูญหายไป

แม้ในเดือนสิงหาคม 2019 จะมีพายุใหญ่ 2 ลูก จากทะเลจีนใต้ พัดเข้ามาทางตอนใต้ของลาว และทางภาคอีสานของไทย แต่ฤดูมรสุมที่เป็นไปตามปกติ กลับไม่ได้เกิดขึ้น ปกติในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน จะมีน้ำฝนตกลงมาเป็นจำนวนมากทางแม่น้ำโขงตอนใต้ แต่ปรากฏว่า ระดับแม่น้ำโขงทางเหนือนครเวียงจันทร์ กลับต่ำกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูแล้ง

บทความ Trouble on the Mekong เสนอว่า ทางเลือกของอนาคตที่ดีกว่าสำหรับที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง คือ การหาแหล่งพลังงานอย่างอื่น ที่ไม่ใช่จากพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ รายงานการศึกษาของ World Wildlife Fund ก็ระบุว่า ในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า 100% ของแหล่งพลังงานในแถบลุ่มแม้น้ำโขง สามารถเกิดจากแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ลมและแสงอาทิตย์

จีนเองก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ที่ให้การสร้างโรงงานไฟฟ้าจากจากแสงอาทิตย์ เป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการขจัดความยากจนในชนบท โดยสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์พลังงานดังกล่าว ตามหมู่บ้านยากจนในชนบท ทำให้ชุมชนมีพลังงานไฟฟ้าของตัวเอง และขายส่วนเกินให้กับรัฐ ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงควรจะชักจูงให้จีน ได้เห็นโอกาสแบบเดียวกันนี้ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เอกสารประกอบ
Trouble on the Mekong, Sam Gaell, November 07, 2019, foreignaffairs.com
Himalayan glacier melting threatens water security for millions of people, sciencenews.org, May 29, 2019.