ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ออกหมายจับ “ชัยวัฒน์” เป็นเรื่องของ “DSI – ศาล” – มติ ครม.เปิดลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านราย 14 พ.ย.นี้

นายกฯ ชี้ออกหมายจับ “ชัยวัฒน์” เป็นเรื่องของ “DSI – ศาล” – มติ ครม.เปิดลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านราย 14 พ.ย.นี้

12 พฤศจิกายน 2019


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 1/2562
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ชี้ออกหมายจับ “ชัยวัฒน์” เป็นเรื่องของ “DSI – ศาล” – มติ ครม.เปิดลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านราย 14 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนับเป็น ครม.สัญจรครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ประเดิม ครม.สัญจรครั้งแรก นายกฯร่วมลอยกระทงกับ ปชช.

โดย ครม.สัญจรครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี ได้แก่

การนั่งเฮลิคอปเตอร์ตรวจภูมิประเทศเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยก วังมะนาว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 (จุดเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ-ภาคใต้ และภาคตะวันออก-ภาคตะวันตก)  บริเวณสามแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะทางประมาณ 36.8 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาและลดปัญหาการจราจร ติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก โดยแบ่งการดำเนินเป็น 3 ตอน ประกอบด้วยการก่อสร้างถนนใหม่ และการขยายช่องจราจรทางหลวงสายเดิม ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขรายงาน EIA กำหนดเปิดให้บริการในปี 2568

การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 3,000 คน ให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรีถ่ายรูปร่วมกับประชาชนที่มาให้กำลังใจในการลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

พร้อมกันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ตามนโยบายของรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมแก่นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนแก่ผู้แทนชุมชน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ “วิถีคลอง วิถีไทย” ณ ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักและคลองดำเนินสะดวก ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำและประวัติศาสตร์ของไทย พร้อมทั้งชมกิจกรรมเกษตรปลอดสารพิษและการผลิตผักผลไม้ไร้สารเคมีตามวิถีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP พบปะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ  จากนั้นเดินทางต่อไปยังสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ต.หนองโพ อ.โพธาราม เพื่อเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ชมกระบวนการผลิตนมยู.เอช.ที ผลิตภัณฑ์สหกรณ์โคนมหนองโพฯ ได้แก่ นมอัดเม็ด นมยูเอชที/พาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์ OTOP อ.โพธาราม พร้อมพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ นายกฯ และคณะได้ตรวจเยี่ยมโครงการจัดระเบียบแพ พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการบ้านพัก 60 หลัง มอบกุญแจบ้านให้ผู้เข้าอาศัย ตามโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากที่อยู่อาศัย บริเวณริมแม่น้ำแควใหญ่ จ.กาญจนบุรี และติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเมืองเก่าโดยพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษไทย พร้อมเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี

นายกรัฐมนตรีร่วมลอยกระทงกับประชาชน

และเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งการมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโนบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม ให้แก่ผู้แทนชุมชน ก่อนจะนั่งรถรางไปยังท่าเรือขุนแผน เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เพื่อร่วมลอยกระทงกับชาวกาญจนบุรีเนื่องในประเพณีลอยกระทง

พร้อมหนุนแก้ รธน. – ปัดเอี่ยวสรรหา กมธ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในการสรรหาตำแหน่งประธานคณะกรรมการธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันต่อไป เป็นกลไกของรัฐสภา และกลไกของคณะกรรมาธิการต่างๆ ก็ต้องไปว่ากันไป ตนไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในตรงนี้ แต่ก็ยินดีที่จะสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว และตามนโยบายที่ได้แถลงไปแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร

“ก็ต้องไปตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นแก้เพื่อใครและเพื่ออะไร จะเป็นการแก้ไขในมาตราใดก็ตาม ถือเป็นความเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เห็นว่ามีบางเรื่องจะต้องทำประชาพิจารณ์ด้วย ก็ต้องไปว่ากันมา ตนไม่ได้ขัดข้องอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประชาชน”

“หลายเรื่องรัฐบาลต้องทำงาน และหาวิธีการที่เหมาะสม ตามกฎหมายที่มีอยู่ กฎระเบียบและกฎหมายบางฉบับที่ไม่ทันสมัยหรือมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข แต่ทั้งนี้เราต้องไม่ไปหลีกเลี่ยง หรือหลบเลี่ยงหลักการสำคัญ เพียงแต่ปรับให้สามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน ต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม มีความตั้งใจ วันนี้รัฐบาลทำงานคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน และประชาชน รวมถึงสื่อจะต้องช่วยรัฐบาล สร้างความเข้าใจ และเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก รัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จึงอยากจะขอร้องว่าอย่าเอารัฐบาลหรือผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกกฎหมาย กลไกรัฐสภา ส.ว. ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงเรื่องของทุกคนที่ต้องทำงานให้กับประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โว “ชิม ช้อป ใช้” ตอบรับดี จี้คลังเร่งเปิดลงทะเบียนเฟส 3

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 ได้ผ่านที่ประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วเดิมเป็นกระเป๋าที่ 2 ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบไปแล้ว จะเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่ต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ต่อไป เพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะการประกาศรับสมัครสมาชิกต่างๆ

“วันนี้พยายามให้ปรับแก้การลงทะเบียนต่างๆ ให้เป็นเวลากลางวัน เพราะกลางคืน บางทีตี 3 ตี 4 ก็ครบสิทธิ์ไปแล้ว บางทีเปิดมาแค่ 4 นาทีก็ครบแล้ว แสดงว่าประชาชนให้การตอบรับตรงนี้ดี” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งจำเป็นก็คือ ไม่ใช่เราใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า แต่เราต้องการให้มีการใช้จ่ายในระดับล่างให้มากยิ่งขึ้น บางครั้งรัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้ งบประมาณตรงนี้ลงไป เพื่อขับเคลื่อน ให้เกิดการซื้อขาย สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะสิ่งของที่มาจากร้านค้าปลีก หรือร้านค้าย่อยต่างๆ หรือสินค้าโอท็อปต่างๆ เหล่านี้เป็นหลัก ส่วนอื่นๆ ก็แล้วแต่ประชาชนจะเลือกใช้ก็แล้วกัน เพราะเป็นการลงทะเบียนข้ามจังหวัด ก็ขอให้เข้าใจด้วยก็แล้วกัน

ชี้ออกหมายจับ “ชัยวัฒน์” เป็นเรื่องของ “DSI – ศาล” ยันไม่ช่วยใคร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ออกหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของดีเอสไอที่ไปออกหมายจับ ไม่ได้มาขอกับตน เป็นการดำเนินการไปขอกับศาล เป็นเรื่องของศาลที่จะพิจารณา และดำเนินการต่างๆ ในเรื่องการสั่งการ

“ผมคงไปสั่งการในเรื่องของกฎหมายไม่ได้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสิน ทุกอย่างจะต้องไปตามวัตถุพยาน พยานหลักฐาน พยานบุคคล ก็ว่าไปตามขั้นตอน การที่จะไปตรวจบ้านพัก หากเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย เขาก็สามารถตรวจสอบได้ ถือเป็นเรื่องของกระบวนการ ผมไม่มีส่วนไปเกี่ยวข้อง ถ้าผิดก็ว่ากันไปตามผิด ผมไม่ไปช่วยเหลือใครทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ลั่นปมรุกที่หลวง ต้องไม่มีอีก – ย้ำสอบ “ปารีณา” ว่าตามกระบวนการ กม.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุพร้อมถูกตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 กว่า 1,700 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป่าไม้, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.), สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ต้องดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งทุกอย่างขอให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐาน รวมทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ก็ส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

โดยกล่าวย้ำว่าการบุกรุกที่ดินของหลวงจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว ในส่วนที่บุกรุกอยู่แล้วจะทำอย่างไร ต้องเร่งรัด วันนี้ได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการต่างๆ ให้เร่งดำเนินการเรื่องที่ดินทำกิน พื้นที่ทับซ้อน ต้องแก้ไขด้วยกลไกทางกฎหมาย

“เราตามใจกันมาก กันมาเยอะแล้ว วันนี้เราต้องดูแลสิ่งที่มีปัญหาอยู่ให้ได้ก่อน แล้วแก้ปัญหาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นอีก รัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังในเรื่องบังคับใช้กฎหมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้เหตุยิงกันในศาล กม. มีอยู่แล้ว ไม่ต้องกำชับ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีเหตุการณ์ยิงกันภายในศาลจันทบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ว่า มีการจับกุมคนร้ายแล้วก็ว่าไปตามเรื่อง ไม่ต้องกำชับอะไร เป็นเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ให้กำชับอยู่นั่นแหละ ให้กำชับอะไรในเมื่อกฎหมายมีทุกตัวอยู่แล้ว ใครผิดก็ติดคุกไป ศาลตัดสินเอง ศาลดูแล

มติ ครม.มีดังนี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

เปิดลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านราย 14 พ.ย.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบขยายมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ในเฟสที่ 3 ต่อยอดจากเฟสที่ 1 และ 2 ซึ่งในครั้งนี้จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิมีโอกาสลงทะเบียนอีก 2 ล้านราย ลงทะเบียนรับสิทธิในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 โดยใช้กรอบวงเงินเดิมไม่มีการอนุมัติเพิ่มแต่อย่างใด มีกำหนดในเวลาลงทะเบียนในช่วง 6.00 น. และ 18.00 น.

ทั้งนี้ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 3 มีข้อแตกต่างจากทั้ง 2 เฟสแรก ดังนี้

  • ไม่มีการเติมเงิน 1,000 บาท เข้า “เป๋าตัง” ให้เช่นเดิม แต่ประชาชนต้องเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง (กระเป๋าที่ 2) ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยคืนเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยไม่เกิน 30,000 บาท จะชดเชยคืนในอัตรา 15% ไม่เกิน 4,500 บาท ส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเกิน 30,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยคืนในอัตรา 20% ของส่วนที่เกิน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 4,000 บาท
  • ประชาชนผู้ได้รับสิทธิสามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินเพิ่มขึ้น
  • สามารถใช้จ่ายแบบแพ็กเกจที่พักและบริการที่เกี่ยวข้อง (ในประเทศ) ได้
  • มีการกันสิทธิให้กับผู้สูงอายุจำนวน 500,000 ราย จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งหมด 2 ล้านราย หรือคิดเป็น 25%
  • ขยายเวลาโครงการทั้งหมด (เฟสที่ 1-3) ออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นี้ เป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2563

“เราได้รับผลตอบรับที่ดีในเฟสที่ 1 และ 2 จากประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วม ประกอบกับมีกระแสเรียกร้องอยากเห็นมาตรการนี้ต่อ ซึ่งเราขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมปีหน้าเพราะจะเป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากเป็นตรุษจีนพอดี ส่วนเรื่องการชิงรางวัลที่จะเป็นมาตรการเสริมเพื่อเพิ่มความคึกคัก จึงพยายามศึกษาในหลายๆ ด้าน ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในการเปิดเฟส 3 ทางกระทรวงการคลังจะมีการแถลงให้ทราบอีกครั้งในวันพรุ่งนี้” นายอุตตมกล่าว

ไฟเขียวประกันรายได้ผู้ปลูกมันสำปะหลัง 9,671 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 62/63 วงเงิน 9,671 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ประกันรายได้ 540,000 ราย

โดยจะเป็นการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ในราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน ซึ่งเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ได้แก่เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูก และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นมา โดยเกษตรกรหนึ่งครัวเรือน ใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2662-31ธันวาคม 2563

“การชดเชยส่วนต่าง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาเกณฑ์อ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยเกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ในช่วงการเก็บเกี่ยวที่ระบุไว้ในทะเบียนเกษตรกร โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวลา 12 เดือน สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ให้มีสิทธิรับเงินชดเชยในวันที่ 1 ธันวาคม 2562” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

พาณิชย์ฯจัดมาตรการชุดใหญ่ พยุงราคามันสำปะหลัง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง เพื่อดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายมันสำปะหลัง โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพ การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน การกำหนดให้โรงงานมันเส้นและแป้งมันมีเครื่องร่อนสิ่งเจือปนก่อนรับซื้อ รวมถึงการแสดงราคารับซื้อ ซึ่งในการบริหารจัดการนำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศต้องกำกับดูแลอย่างจริงจัง ต้องตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามาตรฐาน ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีโครงการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ให้ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตแบะลดต้นทุนของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จัดสินเชื่อ เป้าหมาย 5,000 ราย รายละ ไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 1,150 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3
  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ให้ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือซื้อมันสำปะหลังสด มันเส้น เพื่อไปจำหน่ายต่อ หรือแปรรูป เพื่อดูดซับปริมาณผลผลิตในช่วงล้นตลาด วงเงินจัดสรรสำหรับโครงการนี้ 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4
  • ส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและอุตสาหกรรมอาหาร
  • เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาลซึ่งปัจจุบันมีตลาดรองรับที่จำกัด โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง สามารถดูดซับหัวมันสดได้เพียง 2.5 ล้านตันเท่านั้น

“เพื่อให้เกิดการใช้มันสำปะหลังและพืชเกษตรในการผลิตแอลกอฮอล์ จะต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดใน พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 เพื่อเปิดช่องให้โรงงานเอทานอลที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบสามารถผลิตและจำหน่ายเอทานอลให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้นอกเหนือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิง” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ปลดล็อกจ่ายเงินชดเชยโรคใบด่าง

นอกจากนี้ ผศ. ดร.รัชดา  กล่าวต่อไปว่า ครม.ยังได้อนุมัติเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิและไม่จำกัดช่วงเวลาการปลูก จากเดิมที่ชดเชยแก่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ทำให้การกำจัดท่อนพันธุ์และการจัดการการระบาดของโรคใบด่างไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง โดยจะใช้คณะทำงานระดับตำบลในการตรวจสอบและประเมินความเสียหายเช่นเดิม

เปิดเสรีนำเข้ารถแทร็กเตอร์มือ 2 ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน

ผศ. ดร.รัชดา  กล่าวว่า ครม.อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงพาณิชย์ รถแทร็กเตอร์ใช้แล้วทางการเกษตรสามารถนำเข้าได้โดยเสรี ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันปัญหามลพิษและการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ธันวาคม 2562

“จากประกาศกระทรวงดังกล่าวทำให้มีเกษตรกร ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนจากประกาศดังกล่าว เนื่องจากครอบคลุมการห้ามนำเข้ารถแทร็กเตอร์เพื่อการเกษตรใช้แล้ว ซึ่งการห้ามนำเข้านี้ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเพราะต้องซื้อรถใหม่ที่ราคาแพงกว่ามาก” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม โดยกำหนดให้รถแทร็กเตอร์ใช้แล้วเพื่อการเกษตรสำเร็จเต็มรูปคัน ตามพิกัดอัตราศุลกากร 87.01 เช่น รถแทร็กเตอร์ตีนตะขาบล้อยาง และรถแทร็กเตอร์ล้อยางกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 18 กิโลวัตต์ เป็นสินค้าที่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้อย่างเสรี เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร เพิ่มทางเลือกในการซื้อเครื่องจักรกลทางเกษตร และส่งเสริมให้เกิดอาชีพช่างในชุมชน ทั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบใดต่อผู้นำเข้าและผู้ผลิตรถแทร็กเตอร์ใหม่เพื่อการเกษตร

เห็นชอบก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมแยกวังมะนาว 3,042 ล้าน

นางสาวไตรสุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 ระยะทาง 36.8 กิโลเมตร วงเงิน 3,042 ล้านบาท โดยจะเริ่มออกแบบในปี 2564 และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินปี 2565 ซึ่งคาดก่อสร้างเสร็จพร้อมให้บริการปี 2568

“เรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งรัดการดำเนินการจากข้อเสนอเมื่อครั้งการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งทางหลวงแนวใหม่นี้จะเป็นจุดเชื่อมภาคใต้ ตะวันออก และตะวันตก โดยนายกฯ ได้กำชับให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด” นางสาวไตรศุลีกล่าว

เพิ่มวงเงินเวนคืนที่ดิน มอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี 12,032 ล้าน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบเพิ่มวงเงินค่าเวนคืนที่ดินในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี อีก 12,032 ล้านบาท เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเวนคืนและส่งมอบที่ดิน ที่มีการประเมินราคาที่ดินตั้งแต่ปี 2551-2555 แต่เริ่มก่อสร้างในปี 2558 ทำให้ราคาค่าประเมินที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง มอเตอร์เวย์ และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต ทางหลวงพิเศษศรีรัชฯ เป็นต้น ทำให้สถานะโครงการดังกล่าวล่าช้าไปถึง 56%

ทั้งนี้ราคาค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 5,225 ล้านบาท เป็น 17,452 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12,032 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณจริงที่จะต้องมีการจ่ายค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์เพิ่มเติม 1,807 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์เดิมอยู่ 5,225 ล้านบาท และเงินคงเหลือจากการประกวดราคาประมาณ 5,000 ล้านบาท

“หลังจากที่ ครม.เห็นชอบแล้วจะจัดสรรค่าเวนคืนให้กับเจ้าของที่ดิน 2,527 แปลง คาดว่าจะเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคม 2563 และก่อสร้างโครงการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2566” นางสาวไตรศุลีกล่าว

เล็งสร้างแลนด์มาร์กเมืองกาญจน์ใหม่ ปรับโรงงานกระดาษฯ เป็นพิพิธภัณฑ์

นางสาวไตรศุลกล่าวว่า ครม.อนุมัติโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทย ที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้ไปเยี่ยมชมในการลงพื้นที่เมื่อวานนี้ โดยมีแผนจะปรับปรุงภายในอาคารให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และรอบนอกจะพัฒนาเป็นจุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งจากการประเมินคาดว่าเอกชนจะต้องใช้เงินประมาณ 19 ล้านบาท เพื่อซื้อโรงงานกระดาษดังกล่าวจากกรมธนารักษ์ โดยจะใช้เงินจากงบท้องถิ่น และจะใช้งบของจังหวัดในการซื้อเครื่องผลิตกระดาษ

ปรับสูตรคำนวณราคาอ้อย ช่วยชาวไร่-โรงน้ำตาล

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. …. ซึ่งจะมีผลต่อสูตรคำนวณส่วนแบ่งรายได้จากการขายน้ำตาลทรายระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่จะใช้สูตรคำนวณใหม่ในฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/63 ที่จะเริ่มเปิดหีบในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป

ซึ่งสูตรการคำนวณใหม่นี้จะเปลี่ยนปริมาณน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายจริงของฤดูการผลิตที่แล้ว เป็นใช้ปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้นที่มีการแบ่งตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของทุกโรงงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนด

รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทรายจากเดิมที่ใช้ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมียมน้ำตาลทรายไทย ไปใช้ราคาเฉลี่ยของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศในต้นฤดูการผลิต โดยการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณส่วนแบ่งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 12-13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.5 บาทต่อกิโลกรัม

“การปรับสูตรคำนวณดังกล่าวจะทำให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับชาวไร่อ้อย อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีผลต่อราคาน้ำตาลทรายและผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งก็ให้ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการทานหวาน” นางนฤมลกล่าว

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การค้าระหว่างประเทศ (WTO)

รับข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ 7 ด้าน – ชี้งบฯมีจำกัดต้องลำดับความสำคัญ

ทั้งนี้ซึ่งช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม.มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี) โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เข้าร่วมประชุม โดย ครม.ได้เห็นชอบและรับไว้พิจารณาตามที่กลุ่มจังหวัดฯ เสนอขอรับการสนับสนุนโดยสรุป ดังนี้

  • ด้านการเกษตร เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรโดยอาศัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานเพื่อลดต้นทุน ลด มลพิษลดการสูญเสีย ลดความเดือดร้อนของชุมชนและนักท่องเที่ยว โดยจะมีการวิจัยและพัฒนาพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การติดตามเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศ ศึกษารูปแบบศูนย์การบริหารขนส่ง/ตรวจวัดคุณภาพอ้อย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและให้เร่งดำเนินการ โดยให้จัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ตรงตามความต้องการของตลาด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
  • ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี โดยเร่งรัดการขอใช้พื้นที่โรงงานกระดาษ ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ การออกแบบและก่อสร้างระบบระบายน้ำ การออกแบบและก่อสร้างจุดชมวิว Sky Walk การออกแบบและก่อสร้างหอคอยชมวิวแม่น้ำสามสาย รวมถึงก่อสร้างเส้นทางพุทธธรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์พุทธมณฑล เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ วธ.และ กทท.จัดสรรงบประมาณ และให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อโรงกระดาษ และให้ต่อรองราคาให้ถูกลงกว่าราคาที่กำหนดไว้ นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และร่วมกันปลูกดอกไม้ ต้นไม้ตามกลุ่มสีต้นไม้ เพื่อสร้างสีสันให้กับประเทศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
  • ด้านการบริหารจัดการน้ำ กลุ่มจังหวัดฯ เสนอขอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บน้ำต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และอุกทกภัย โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ดำเนินการทั้งการศึกษาและทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้เสีย สร้างความเข้าใจ และมอบหมายให้ สทนช.พิจารณาสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการใหญ่ๆ ต่อไป
  • สำหรับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีประเด็นที่สำคัญ เช่น ด้านการไฟฟ้า ได้ขอรับการสนับสนุนการศึกษาแนวทางการปรับปรุงสายไฟฟ้าลงดินในบริเวณเขตพื้นที่ เมืองเก่า จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 10 โครงการ มีมูลค่ารวม 6,264 ล้านบาท ส่วนด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้เสนอให้มีการพัฒนาศูนย์ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และเครือข่ายบริการสุขภาพ การจัดหาอาคารเรียนและอาคารที่พักอาศัยวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี โดยมอบหมายให้ สธ.และ ศธ.พิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม
  • สำหรับด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ที่ประชุมสนับสนุนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองราชบุรี ปรับปรุงพัฒนาสถานีบำบัดน้ำเสียเดิม 1 แห่ง เส้นทางและระบบการบำบัดน้ำเสีย 9 แห่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ มท.เร่งทำความเข้าใจ รณรงค์ให้ประชาชนทำถังกับดักไขมันในแต่ละบ้านเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่ต้นเหตุด้วย
  • ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น ทางกลุ่มจังหวัดฯ ได้เสนอการปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี การศึกษาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ฝั่งตะวันตก WEC และสนับสนุนการท่องเที่ยว การศึกษาเพื่อเชื่อมโยงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการค้าขายแดน เพื่อรองรับอุตสาหกรรม MICE และเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของ GMS การศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวอุทยานเขางู จังหวัดราชบุรี โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ตรวจดูและพิจารณาปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ในส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานเขางูนั้น ได้มอบหมายให้ ทส.ศึกษาปัญหา EIA ต่อไป พร้อมกับเร่งทำความเข้าใจกับปัญหา

คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ

“หลายโครงการอยู่ในแผนงบประมาณปี 2563-2565 อยู่แล้ว บางโครงการมีการเสนอมาใหม่ก็ได้กำชับไปว่าจะให้ทุกอย่าง โดยได้รับหลักการเพื่อนำสู่การพิจารณาจัดสรรงบประมาณ วางแผนจัดลำดับความเร่งด่วนต่อไป ซึ่งวันนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการ”

“ทุกอย่างผมก็เห็นความสำคัญ เป็นความต้องการของพื้นที่ ผมก็ได้อธิบายทำความเข้าใจไปแล้ว ว่างบประมาณรัฐบาลมีจำนวนจำกัด อะไรก็ตามที่ยังคั่งค้าง ต้องทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ส่วนโครงการใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนงาน งบประมาณแต่ละปีไปบ้าง หรือบางอย่างต้องหางบประมาณทดแทนเพิ่มเติม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องบริหารต่อไป ก็รับไว้ทุกเรื่อง ซึ่งโครงการสำคัญที่ต้องอนุมัติโดยด่วน คือการขยายเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดกาญจนบุรี ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ ซึ่งจะแล้วเสร็จใน 2-3 ปีข้างหน้า” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ตั้ง “เอกภัทร” นั่ง เลขาธิการฯ สอน.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ข้าราชการการเมือง และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ดังนี้

  • กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นางวรวรรณ ชิตอรุณ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 2. นายเอกภัทร วังสุวรรณ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
  • กระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำนวน 3 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้ 1. รองศาสตราจารย์วีริศ อัมระปาล 2. นายธนพล คงเจี้ยง 3. นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแต่งตั้ง นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
  • กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดังนี้ 1. นางฤชุกร สิริโยธิน กรรมการ 2. พลโท กานต์ กลัมพสุต กรรมการ 3. นายจรูญเดช เจนจรัสสกุล กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562เพิ่มเติม