ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่ออนาคตยังไง

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่ออนาคตยังไง

30 พฤศจิกายน 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

มีอยู่หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรานะครับที่เราแทบไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีไปทำไม แล้วมันมีผลลัพธ์อะไรยังไงกับชีวิตของเราบ้าง ในทางกลับกัน เรากลับยอมรับมันว่ามันเป็นสัจธรรม ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ว่ามันเป็นอะไรที่เราไม่ต้องคิดอะไรกับมันมาก คิดมากก็เปลี่ยนอะไรมันไม่ได้ หรือร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือเราแทบไม่เคยนึกถึงมันเลย

ยกตัวอย่างนะครับ มีเพื่อนๆ กี่คนที่เคยตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมข่าวทางทีวีส่วนใหญ่ถึงมีแต่ข่าวคนตีกัน คนขับรถชนคนอื่นกัน คนโกงกัน ทำไมทางทีวีถึงเอาแต่ข่าวพวกนี้มาออกทีวีวันละสามสี่ชั่วโมง

หรือทำไมรถถึงไม่หยุดตรงทางม้าลาย ทำไมรถถึงขับบนทางเดิน ทำไมมอเตอร์ไซค์ถึงฝ่าไฟแดง

หรือทำไมคนที่ทำผิดกฎหมายถึงสามารถลอยนวลอยู่ได้ ทำไมการไปติดต่อราชการถึงเป็นอะไรที่ยาก เป็นต้น

ถ้าคุณไม่เคยตั้งคำถามพวกนี้กับตัวคุณเอง คุณพอจะทราบไหมครับว่าทำไม

ผมเคยเขียนลงในไทยพับลิก้าในเรื่องของ locus of control (LOC) หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ลักษณะมุ่งอนาคต ควบคุมตน” LOC เป็นทัศนคติที่เรามีต่อความสามารถของตัวเราเองในการควบคุมหรือเปลี่ยนเเปลงอนาคตของตัวเราเเละคนรอบข้าง คนที่มี LOC ต่ำ (หรือที่เราเรียกว่า external LOC) มักจะมีทัศนคติที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เพราะฉะนั้นเราจะพยายามให้มันมากไปทำไม พยายามไปก็เสียเวลาเปล่าๆ ส่วนคนที่มี LOC สูง (หรือที่เราเรียกว่า internal LOC) มักจะคิดว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองได้ถ้าเขาพยายาม

มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นพบว่าคนที่มี LOC สูงมักจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่มี LOC ต่ำ ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนที่มี LOC สูง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ไม่ว่าสถานการณ์จะดูสิ้นหวังขนาดไหน พวกเขาก็ยังมีความเชื่อว่าความพยายามสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเรามักจะเห็นได้จากผลการวิจัยที่ว่าคนที่มี LOC สูงมักจะออมมากกว่า ออกกำลังกายมากกว่า เรียนหนังสือสูงกว่า ขยันทำงานมากกว่า มีโอกาสที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า และมีความอยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีกับตนเองและสังคมมากกว่าคนที่มี LOC ต่ำ

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนมีระดับ LOC ที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากยีนที่ส่งต่อจากพ่อแม่มาถึงเรานะครับ แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากสภาวะแวดล้อมและสังคมของเรา

ถ้าสังคมของเราบอกกับเรามาตลอดว่า ไม่ว่าคุณจะพยายามขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โอกาสที่คุณจะนำความคิดตัวนั้นมาใส่ไว้ในใจของคุณก็จะสูง ถ้าสังคมบอกกับเราว่าจงปลงเสียเถอะ เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก ยอมรับความจริงเสีย นี่คือสิ่งที่เป็นมากแต่ช้านานแล้ว และคุณไม่ได้โตมาเป็นคนที่มี LOC ต่ำก็นับว่าคุณเป็นคนที่โชคดีมากๆ คนหนึ่ง

เด็กๆ ที่ชอบถามว่า “ทำไมมันเป็นอย่างนั้น” “ทำไมมันเป็นอย่างนี้” มีโอกาสที่จะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มี LOC สูงกว่าเมื่อเทียบกันกับเด็กที่ไม่เคยถามแต่กลับยอมรับสภาพทุกๆ อย่างนะครับ เพราะการตั้งคำถามมักทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลงถ้าคำตอบที่เขาได้มันช่างไม่ make sense เอาเสียเลย

สิ่งแวดล้อมเป็นอะไรที่สำคัญมากต่อการพัฒนาในเรื่องของทัศนคติและอุปนิสัยของคนเรานะครับ เราควรจะตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันขึ้นมาบ่อยๆ และอย่าปลงกับสภาพที่เป็นอยู่เร็วจนเกินไปเพื่ออนาคตของตัวคุณเองและ LOC ของลูกหลานในภายภาคหน้านะครับ 🙂