ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินเเละความสุข: ตอนที่ 2

เงินเเละความสุข: ตอนที่ 2

15 ตุลาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เวลาที่มีใครถามผมว่า จริงหรือที่เงินใช้ซื้อความสุขไม่ได้ ผมมักจะตอบกลับไปว่าไม่จริง เพราะถึงเเม้ว่าตามสถิติเเล้วนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุขจะค่อนข้างเล็กถึงเล็กมาก เเต่การวิจัยเชิงจิตวิทยาได้ทำให้เราเรียนรู้ว่าเงินสามารถซื้อความสุขให้กับเราจริงๆถ้าเราใช้มันให้เป็น

การใช้เงินเป็นสัญญาณทางฐานะ (status signal)

คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่านาฬิกาสองเรือนที่เห็นอยู่ข้างล่างนี้มีราคาเเตกต่างกันมากขนาดไหน

 นาฬิกาเรือน A(ซ้าย) เรือน B(ขวา)
นาฬิกาเรือน A(ซ้าย) เรือน B(ขวา)

หนึ่งพันบาท? หนึ่งหมื่นบาท? หรือหนึ่งเเสนบาท?

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านคงจะทายกันผิดเสียส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงเเล้วนั้นราคาตลาดของนาฬิกาเรือนเเรก (A) จะอยู่ที่ประมาณ 8 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 300 บาท) ส่วนราคาตลาดของนาฬิกาเรือนที่สอง (B) จะอยู่ที่ประมาณ 800,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) ซึ่งราคาเเตกต่างระหว่างนาฬิกาทั้งสองเรือนนั้นก็คือประมาณ 3 ล้านบาทนั่นเอง

เเต่คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าอรรถประโยชน์พื้นฐาน (หรือ basic utility) ของนาฬิกาทั้งสองเรือนนั้นมันมีค่าเกือบพอๆกัน หรือถ้าเเตกต่างก็คงจะเเตกต่างกันเเค่นิดหน่อยเเละคงไม่มีค่าเท่ากับ 3 ล้านบาทเเน่ๆ นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังก์ชันง่ายๆของนาฬิกาทั้งสองเรือนก็คือการใช้บอกเวลาเท่านั้นเอง เเละในการที่เรารู้ว่าตอนนี้มันกี่โมงเเล้วจากนาฬิกาเรือนเเรกหรือเรือนที่สองก็คงจะไม่มีผลที่เเตกต่างกันกับความความสุขของเราซักเท่าไหร่นัก

เเต่สาเหตุสำคัญที่คนหลายๆคนยอมที่จะเสียเงินถึงสามล้านบาทเพื่อที่จะให้ได้นาฬิกาเรือนที่สองมาอยู่ในการครอบครองนั้นก็คือนาฬิการาคาสามล้านบาทสามารถใช้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงฐานะของคนที่ใส่ได้เป็นอย่างดี

จากการวิจัยของริชาร์ด อีสเตอร์ลิน (Richard Easterlin) โรเบิร์ท เเฟรงค์ (Robert Frank) เเละอีกหลายๆคนทำให้เรารู้ว่าคนเราชอบทำการเปรียบเทียบฐานะของตัวเองกับคนอื่นๆรอบตัว พูดง่ายๆก็คือคนเราส่วนใหญ่เเคร์เรื่อง relative status กันมากถึงมากจนเกินไป เเละการที่มีนาฬิกาเเพงๆใส่ก็เป็นการส่งสัญญาณทางฐานะของตัวเองให้คนรอบข้างได้รู้ พูดง่ายๆก็คือการอวดรวยดีๆนั่นเองเเต่ถ้าสมมติว่าเมื่อใดก็ตามที่ทุกคนในโลกมีเงินพอที่จะซื้อนาฬิกาเรือนที่สองเพื่อมาใส่ได้เหมือนกับพวกเขา การที่มีนาฬิกาเรือนนี้มาอยู่ในความครอบครองก็จะหมดความหมายไป เเละการที่ใส่นาฬิกาเรือนนี้ก็จะไม่ได้ทำให้พวกคนเหล่านี้มีความสุขมากไปกว่าการใส่นาฬิกาเรือนเเรกเลย (อาจจะทุกข์กว่าเดิมด้วยซำ้ไปเพราะต้องจ่ายเเพงกว่าเยอะ เเต่กลับไม่สามารถใช้ให้มันเป็น status signal ได้อีกต่อไป)

“Less is more. Unless you’re standing next to someone with more. Then less just looks pathetic” – Anonymous

มีอยู่สองทางเท่านั้นที่การใช้เงินในการซื้อสิ่งของที่บ่งบอกถึงสถานะจะสามารถทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืนได้ นั่นก็คือ

เราสามารถห้ามให้คนอื่นไม่มีเหมือนกับเราได้ เเละเราจะต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดที่มีของทุกๆวันในการตักเตือนตัวเองว่า “นาฬิกา/รถสปอร์ต/บ้านหลังใหญ่ทำให้เรารู้ว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นๆเยอะนะ”

เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้น เราคงไม่สามารถที่จะไปบังคับให้คนอื่นไม่มีเหมือนที่เรามีได้ เเละเราก็คงจะไม่สามารถที่จะเตือนตัวเองทุกๆวันว่าเราโชคดีขนาดไหนที่มีของเเพงๆที่คนส่วนใหญ่ไม่มีใช้ นั่นก็เป็นเพราะว่าเราอาจจะคิดถึงนาฬิกา/รถสปอร์ต/บ้านหลังใหญ่อยู่บ่อยๆตอนที่พึ่งจะได้ของพวกนี้มาตอนเเรกๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้เรามีความสุข เเต่ไม่นานนักสิ่งของพวกนี้ก็จะไปอยู่ใน background ของชีวิตเรา เเละเราก็จะไม่ค่อยคิดถึงมันซักเท่าไหร่ เเละที่เราเลิกคิดถึงมัน อรรถประโยชน์ของสิ่งของเหล่านี้ที่ได้มาจาก status signal ก็จะลดน้อยลงเเละหายไปในที่สุด

เเล้วเราควรที่จะใช้เงินอย่างไรเพื่อให้เรามีความสุขอย่างยืนได้ล่ะ

จากงานวิจัยของอลิซาเบธ ดันน์ (Elizabeth Dunn) เเละนักวิจัยอีกหลายๆคน การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพกับความสุขของเรามากที่สุดเเละยั่งยืนที่สุดก็คือการใช้เงินในการซื้อประสบการณ์ (experience) เเละการใช้เงินในการทำให้คนรอบข้างของเรามีความสุขมากขึ้น (พูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ spend your money on others to make yourself happier)

เหตุผลที่ทำให้การใช้เงินในการซื้อประสบการณ์หรือใช้ในการทำให้คนรอบข้างของเรามีความสุขมากขึ้นเป็นการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นก็คือ ความสุขที่เราได้มาจากการทำกิจกรรมทั้งสองกิจกรรมนี้ไม่ได้มีค่าที่ขึ้นตรงอยู่กับพฤติกรรมที่เหมือนกันของคนอื่นๆเลย (ความสุขที่เราได้มาจากการพาครอบครัวเราไปเที่ยวจะไม่มากขึ้นหรือน้อยลงไปกว่าเดิมเพียงเพราะคนอื่นๆสามารถพาครอบครัวเขาไปเที่ยวได้เหมือนกัน เป็นต้น)

เพราะฉะนั้นถ้าคุณผู้อ่านอยากจะใช้เงินเพื่อซื้อความสุขอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อย่าลืมใช้มันในการซื้อประสบการณ์ให้กับคนรอบข้างของเรานะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Dunn, E. W., Aknin, L. B., & Norton, M. I. (2008). Spending money on others promotes happiness. Science, 319(5870), 1687-1688.
Dunn, E. W., Gilbert, D. T., & Wilson, T. D. (2011). If money doesn’t make you happy, then you probably aren’t spending it right. Journal of Consumer Psychology, 21(2), 115-125.
Easterlin, R. A. (1995). Will raising the incomes of all increase the happiness of all?. Journal of Economic Behavior & Organization, 27(1), 35-47.
Frank, R. H. (1985). Choosing the right pond: Human behavior and the quest for status. Oxford University Press.

อ่านตอนที่ 1