ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมเราควรสอนลูกหลานของเราให้กล้าคิดต่าง (ถึงเเม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม)

ทำไมเราควรสอนลูกหลานของเราให้กล้าคิดต่าง (ถึงเเม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม)

28 สิงหาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

จากรูปสองรูปที่อยู่ข้างล่าง คุณผู้อ่านคิดว่าเชือกเส้นที่อยู่ในรูปข้างซ้ายนั้นมีความยาวเท่ากันกับเชือกเส้นไหน (A, B หรือ C) ที่อยู่ในรูปข้างขวาครับ

เชือกเส้นไหน

ถ้าทุกคนมองเห็นเหมือนกันกับผม ผมก็คงจะพนันได้ว่าคุณผู้อ่านทุกท่านก็จะตอบกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “C”

ง่ายใช่ไหมครับ

งั้นเอาใหม่ สมมติว่าก่อนที่คุณผู้อ่านจะให้คำตอบกับผมนั้น คุณผู้อ่านได้บังเอิญไปได้ยินคำตอบของคุณผู้อ่านคนอื่นๆ ซึ่งคุณผู้อ่านคนอื่นๆ ได้ตอบกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “B” ไม่ใช่ “C” อย่างที่คุณผู้อ่านเห็น คุณผู้อ่านยังคิดว่าคุณผู้อ่านจะยังตอบ “C” ให้คุณผู้อ่านคนอื่นๆ ได้ยินอยู่ไหมครับ

The science of “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”

โซโลมอน อาช (Solomon Asch) เป็นนักจิตวิทยาคนเเรกๆ ที่ได้ลงมือทำการวิจัยทดลองว่าเป็นความจริงหรือที่คนเราส่วนใหญ่ยอมที่จะ “เข้าเมืองตาหลิ่วเเล้วหลิ่วตาตาม” อย่างที่โบราณเขาว่ากัน ซึ่งในการวิจัยของโซโลมอน อาช นั้นเขาได้ให้อาสาสมัครเข้ามาในห้องทดลองเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 9 คน หลังจากนั้นเขาก็ให้คนทั้ง 9 คนนั้นยืนเรียงกันเป็นเเถวเดียวเเล้วก็ให้ดูรูปทางด้านขวาก่อนข้างบน (รูปที่มีเส้นอยู่สามเส้นนั่นเเหละครับ) หลังจากดูรูปเสร็จเรียบร้อยเเล้วเขาก็ให้อาสาสมัครทั้ง 9 คนดูรูปทางข้างบนทางด้านซ้ายก่อนที่จะถามเรียงกันไปเเต่ละคนว่า “เชือกที่อยู่ในรูปนี้มีความยาวเท่ากันกับเชือกเส้นไหน (A, B หรือ C) ในรูปที่เเล้ว”

อ้อ ผมลืมบอกไปว่า จากอาสาสมัครทั้ง 9 คนนั้น 8 คนเป็นหน้าม้านะครับ โดยทั้ง 8 คนได้มีการเตรียมเป็นการเรียบร้อยกับโซโลมอน อาช กันก่อนเเล้วว่า ไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องจะเป็นอะไร (ในที่นี้คือ “C”) ให้ตอบว่า “B” อย่างเดียว

พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ถูกทดลองมีอยู่คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คืออาสาสมัครที่ไม่ใช่หน้าม้านั่นเอง

ปรากฏว่า จากอาสาสมัคร 50 คน (ที่ไม่ใช่หน้าม้า) 37 คน ให้คำตอบ “B” ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิดเช่นเดียวกันกับหน้าม้า ด้วยเพียงเพราะสาเหตุที่ว่า 1) คนเราส่วนใหญ่ต้องการให้คนในกลุ่มชอบเรา หรือ/เเละ 2) คนเราส่วนใหญ่มักคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะคิดหรือเข้าใจอะไรผิดๆ ได้ง่าย เพราะฉะนั้น ถ้าคนส่วนใหญ่ตอบว่า “B” B ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ผลการทดลองของโซโลมอน อาช ตัวนี้มีชื่อเสียงมาก เเละผมก็เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงจะเคยอ่านผ่านตามาก่อน นั่นก็เป็นเพราะว่าผลการทดลองชิ้นนี้เป็นหลักฐานชิ้นเเรกๆ ของโลกที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบคิดต่าง (เพราะไม่อยากให้คนอื่นเกลียดหรือเพราะไม่อยากผิดนั่นเอง)

เเต่ในความคิดของผม ผลงานวิจัยของโซโลมอน อาช ชิ้นนี้ไม่ใช่ผลงานวิจัยที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดใน field นี้ เเต่เป็นผลงานวิจัยที่ผลิตออกมาหลังจากงานวิจัยของโซโลมอน อาช ต่างหากที่ผมคิดว่าสำคัญต่อการเรียนรู้ในสังคมของเรามากกว่า

ผลพลอยได้จากการคิดต่างที่ผิด

หลังจากตีพิมพ์ผลวิจัยของการทดลองของโซโลมอน อาช ได้ไม่นาน ก็มีนักวิจัยหลายๆ ท่านที่ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมจากสิ่งที่โซโลมอน อาช ค้นพบ เเละจากการวิจัยของนักจิตวิทยาอย่าง เซอเกย์ มอสโควิช (Serge Moscovici) ก็ทำให้เราพบว่า จริงๆ เเล้วนั้นการคิดต่างของคนกลุ่มน้อย ถึงเเม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม ก็สามารถส่งถึงผลประโยชน์ให้กับสังคมของเราได้

โดยการทดลองเพิ่มเติมของนักวิจัยที่มาทีหลังโซโลมอน อาช นั้น พวกเขาได้เตรียมการทดลองที่เหมือนกับการทดลองของโซโลมอน อาช ทุกอย่าง (โดยการเตรียมหน้าม้า 8 คนด้วยกัน เป็นต้น) เเต่สิ่งที่พวกเขาทำต่างจากโซโลมอน อาช ก็คือ พวกเขาจัดให้หน้าม้า 7 คน ตอบ “B” ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิดเเละให้หน้าม้าอีกคนหนึ่งตอบ “A” ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ผิดเช่นกัน

ปรากฏว่า การที่ให้มีหน้าม้าเเค่คนเดียวคิดต่างจากกลุ่ม (ถึงเเม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม) สามารถทำให้อาสาสมัครที่ไม่ใช่หน้าม้าอยู่คนเดียวเกือบทั้งหมดนั้นกล้าที่จะให้คำตอบที่ถูกต้องนั่นก็คือ “C” นั่นเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ การที่มีคนกลุ่มน้อยที่คิดต่างที่ผิดก็สามารถส่งผลให้คนกลุ่มน้อยที่คิดต่างที่ถูกสามารถเเสดงตัวเองออกมาในสังคมได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าการที่ได้มีคนออกมาตอบว่า “A” นั้นทำให้อาสาสมัครคิดว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนอีกคนหนึ่งที่คิดต่างเหมือนกันกับเขา ถึงเเม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม

บทเรียนในสังคมของเรา

คงจะมีน้อยคนในสังคมของเรานะครับที่อยากทำตัวเป็นขวานผ่าซากเพียงเพื่อเพราะอยากจะให้คนอื่นๆ ในกลุ่มเกลียด เเละถึงเเม้ว่าเราอาจจะรู้จัก (หรือเคยรู้จัก) เเละไม่ค่อยชอบคนที่เป็นคนกลุ่มน้อยที่คิดต่างจากเราเหล่านี้ เเต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นสังคมเพื่อนหรือสังคมทำงานก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่าสิ่งที่คนกลุ่มใหญ่คิดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เเละเราจำเป็นที่จะต้องมีคนกลุ่มน้อยที่คิดต่าง ถึงเเม้จะเป็นการคิดต่างที่ผิด เพื่อที่ว่าจะได้ทำให้คนกลุ่มน้อยที่คิดต่างที่ถูกได้กล้าในการที่จะออกมามีเสียงในสังคมของเราได้

อ่านเพิ่มเติม

Asch, S. E. (1956). Studies of independence and conformity: I. A minority of one against a unanimous majority. Psychological monographs: General and applied, 70(9), 1-70

Moscovici, S., & Faucheux, C. (1972). Social influence, conformity bias, and the study of active minorities. Advances in experimental social psychology, 6, 149-202.