ThaiPublica > คอลัมน์ > ออกไปในคุก: เล่าสู่กันฟังจากการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” (ตอนที่ 1)

ออกไปในคุก: เล่าสู่กันฟังจากการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” (ตอนที่ 1)

29 มีนาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม ได้จัดการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี รวมทั้งมีการพาไปเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่และพูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลางอุดรธานี ซึ่งทางโครงการได้ให้โอกาสผมเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยติดต่อผ่านมาทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ก็เลยอยากจะขอนำประสบการณ์ที่ได้มาแบ่งปันให้ฟังกันในที่นี้

มิติความเป็นวาทกรรมของยาเสพติด

การใช้ยาเสพติดเป็นการกระทำที่กฎหมายกำหนดให้มีความผิด (mala prohibita) ดังนั้น ทัศนคติและแนวนโยบายของรัฐ รวมทั้งทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ซึ่งจะมีผลเป็นการชี้นำทัศนคติของคนในสังคมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ตลอดเวลาที่ผ่านมา “ยาขยัน” หรือ “ยาม้า” ถูกนำเสนอภาพในทางลบในฐานะยาเสพติดซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมให้เกิดความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การจับคนอื่นหรือกระทั่งตัวเองเป็นตัวประกันเพราะหวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย

ใน พ.ศ. 2539 นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จึงได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อยาม้าเป็น “ยาบ้า” ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้สังคมไม่เกิดความเข้าใจผิดว่าเสพแล้วจะมีกำลังวังชาเหมือนม้า แต่คือเสพแล้วจะมีพิษภัยทำให้ขาดสติ สังคมจะได้เกิดความรู้สึกรังเกียจ จนน่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสพลงได้ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนสถานะของยาบ้ามาเป็นยาเสพให้ติดให้โทษประเภท 1 เพื่อให้มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น

เหล่านี้ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของยาบ้าเลวร้ายยิ่งขึ้น จนทำให้ความรู้สึกของสังคมต่อยาเสพติดชนิดนี้เป็นไปในทางหวาดกลัวอย่างรุนแรงด้วยเห็นว่าเป็นภัยอย่างร้ายกาจ และทำให้มองว่าใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดนี้นั้นเป็นความชั่วร้ายอันให้อภัยมิได้ (zero tolerance) นี่คือกระบวนการที่ยาบ้ากลายเป็น “วาทกรรม” ด้วยการกำหนดชื่อเรียก ความหมายทางสังคม โครงสร้างโทษ รวมทั้งมีการปราบปรามและเสนอข่าวการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้ได้ทำให้ยาบ้ากลายเป็นวาทกรรมความชั่วร้ายในสังคมตลอดมา ทำให้ผู้เสพกลายเป็นคนร้ายทั้งทางกฎหมายและทางสังคม

ยาบ้าจึงเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชวนให้เราฉุกคิดถึงภาพรวมของการทำให้ยาเสพติดเป้นวาทกรรมความชั่วร้าย อันส่งผลต่อทัศนคติของสังคม ซึ่งจะมีผลต่อตัวผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย

ยาบ้าเลวร้ายจริงหรือ

ในการประชุม นายแพทย์อภิชัย มงคล ได้เสนอข้อมูลว่า อันที่จริง หากเราไปติดตามประวัติของผู้ที่เสพยาบ้าแล้วมีอาการคุ้มคลั่ง จะพบว่าคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะ “มีปัญหา” อยู่แล้ว กล่าวง่ายๆ คือมีปัจจัยส่วนตัวที่พร้อมจะแสดงอาการทางจิตออกมา เช่น อาจจะมีความเครียดในเรื่องต่างๆ สะสมอยู่แต่เดิม แต่ทั้งนี้ สารแอมเฟตามีนที่อยู่ในยาบ้าไม่ได้ไปกระตุ้นให้คนเหล่านี้เกิดอาการคุ้มคลั่ง ปัญหาคือ การเสพยาบ้าจะทำให้นอนไม่หลับ และเมื่อคนเราอดนอนก็จะเกิดความหวาดระแวง พอไปผสมกับความเครียดที่มีอยู่เดิม ก็เกิดภาวะประสาทหลอนขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่หายไปในกระบวนการเสนอข่าวและทำความเข้าใจก็คือไม่มีการติดตามและนำเสนอสภาวะแวดล้อมทางกายและใจของผู้ที่ก่อคดี แต่สรุปกันทันทีว่าเป็นเพราะเสพยาแล้วคุ้มคลั่ง และนี่คือสิ่งที่ช่วยสำทับความเป็นวาทกรรมชั่วร้ายของยาบ้า ที่ไปตัดตอนทำให้ยาบ้าเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง โดยไม่มีการพิจารณาปัจจัยอื่นควบคู่

ภาพรวมปัญหายาเสพติดในเชิงกระบวนการยุติธรรม

มาถึงตรงนี้ คุณอาจจะสงสัยว่า มีความจำเป็นอะไรจะต้องขุดคุ้ยที่มาดังว่าไป มันเรื่องอะไรจะต้องมาไล่เรียงราวกับกำลังจะบอกว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ครับ หลังจากผ่านการประชุมดังกล่าวมา ผมก็พอจะพูดได้เกือบเต็มปากว่ากระบวนการทำให้ยาบ้าเป็นสิ่งชั่วร้ายเหลือประมาณดังที่เป็นมานั้นก็มีแง่มุมที่ทำให้เกิดผลเสียอยู่จริงๆ โดยพอจะสรุปภาพรวมปัญหาได้ดังนี้

การใช้งบประมาณปี 2558 อยู่ที่ 2,575,000 ล้านบาท จัดสรรให้กระบวนการยุติธรรม 158,290.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.1 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ถือเป็นความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณอยู่ไม่น้อย

หากถามว่าสิ้นเปลืองอย่างไร คำตอบก็คือ เพราะงบประมาณจำนวนนี้นั้น แท้จริงแล้วถูกใช้ไปเพื่อจัดการกับปัญหาปลายเหตุตลอดมา

หากถามว่าทำไมถึงปลายเหตุ ตรงจุดนี้ก็ต้องไล่ดูกันไปทีละขั้น โดยเริ่มจากว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งหมด 311,600 คน เป็นชาย 266,347 คน หญิง 44,569 คน ทั้งนี้ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงนั้นมาจากคดียาเสพติด

สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ บทกำหนดโทษในฝั่งของผู้ขาย หรือก็คือการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีโทษสูงสุดอยู่ที่ประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งหากรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับการบรรเทาโทษ แต่ก็ยังต้องคิดคุกอีก 25 ปี ตรงนี้เป็นปัญหาอย่างไร คำตอบก็คือ เพราะแท้จริงแล้ว ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้เป็นเพียงปลายทางของขบวนการค้ายาเสพติดเท่านั้น นี่ยังไม่ต้องนับว่า ที่เข้ามาสู่กระบวนการอันผิดกฎหมายนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความด้อยโอกาสทางสังคม จนต้องหันมาใช้วิธีทำมาหากินในทางนี้เพื่อตัวเองและครอบครัว

ในแง่โครงสร้างการบริหาร การค้ายาเสพติดก็เหมือนองค์กรทั่วๆ ไป คือมีโครงสร้างการบริหารจัดการในแนวตั้ง ผู้ค้ารายย่อยและผู้รับจ้างขนส่งยาให้แก่ผู้ซื้อนั้นเป็นระดับล่างสุด เป็นแค่กลไกในการกระจายสิ้นค้า หรือพูดให้น่าเศร้าหน่อยก็คือเป็นเครื่องมือที่มีชีวิต

การจับกุมที่ปลายทางนี้ไม่มีประโยชน์อะไรในการสั่นสะเทือนวงจรการค้ายาเสพติดทั้งหมด พูดอย่างชาวบ้านก็คือเป็นการจับแค่ปลาซิวปลาสร้อย แต่ไม่เคยสาวเคยสอยไปถึงตัวการใหญ่ โดยเฉพาะกรณีของยาบ้า ซึ่งต้นทุนการผลิตอยู่ที่เม็ดละ 50 สตางค์ แต่นำไปขายปลีกได้ในราคาเม็ดละ 300-400 บาท ด้วยแรงจูงใจทางการตลาดที่สูงขนาดนี้ ต่อให้บทลงโทษรุนแรงขนาดไหน หากไม่สามารถจับตัวผู้ผลิตมาลงโทษตามความผิดได้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งยังกลายเป็นความสิ้นเปลืองการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ รวมทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคล ที่ต้องโทษคุมขังไปถึง 25 ปี

นอกจากนี้ รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้ให้ข้อมูลกับที่ประชุมว่า การประกาศสงครามกับยาเสพติด ทำให้ผู้ผลิตเพิ่มความรุนแรงของยาเพื่อให้ผู้เสพมีอาการเสพติดมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์ทั้งในแง่ของการเป็นปลายทางในฐานะผู้จำหน่ายและผู้เสพ

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ มีหลายกรณีที่เป็นการซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาใช้เสพเอง แต่เมื่อผ่านด่านชายแดนแล้ว กลับให้ผลทางคดีเป็นการนำยาเสพติดเข้าราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

กรณีตัวอย่างจากผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลางอุดรธานี

เอ (นามสมมติ) คุณแม่ลูกสาม ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ บีเสพยาบ้าเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน เธอมักซื้อยาบ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะมีราคาถูกกว่าในประเทศไทยมาก เอซื้อยาเพื่อเสพ ไม่ใช่เพื่อจำหน่าย แต่ด้วยปริมาณครอบครองขณะที่เธอถูกจับ เป็นผลให้ต้องโทษนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้าราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย รับสารภาพแล้วเหลือโทษจำคุก 25 ปี ลูกๆ ที่คอยมาเยี่ยมเยียนคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เธอมีความหวังว่าจะอยุ่ต่อไปจนถึงวันที่พ้นโทษ

บี (นามสมมติ) คนประเทศเพื่อนบ้าน มีอาชีพทำนา วันหนึ่งลูกชายของเธอถูกจับกุมโทษฐานมียาบ้าในครอบครอง ตำรวจบอกให้หาคนมาแทนแล้วจะปล่อยตัวไป อาจจะด้วยความที่ยังวัยรุ่นและไม่รู้กฎหมาย ลูกชายของบีหลอกเธอไปเอายาบ้าจากคนอื่นมาส่ง ผลคือบีต้องโทษฐานนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้าราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย บีเป็นคนต่างด้าว ทุกวันนี้เธอติดคุกโดยที่ลูกชายของเธอไม่ได้มาเยี่ยมเยียนแต่อย่างใด

จากกรณีของเอและบี จะเห็นว่า กระบวนการในการพิจารณาความผิดที่ยึดเอาตามตัวบทกฎหมายโดยไม่มีการพิจารณาถึงที่มาที่ไปในการกระทำผิดก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน

ตอนหน้า จะพาไปดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงภายในเรือนจำกลางอุดรธานี รวมทั้งสรุปปัญหาและข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาครับ