ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดฉากอาเซียนซัมมิตส่งมอบ “เวียดนาม” ประธานคนใหม่ – 15 ประเทศร่วมออกแถลงการณ์ RCEP คาดลงนามปี’63

ปิดฉากอาเซียนซัมมิตส่งมอบ “เวียดนาม” ประธานคนใหม่ – 15 ประเทศร่วมออกแถลงการณ์ RCEP คาดลงนามปี’63

6 พฤศจิกายน 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนให้แก่นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม อย่างเป็นทางการ จะเริ่มต้นทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากไทย 1 มกราคม 2563 ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24321mu

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีปิด การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องโดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ ตลอดระยะเวลาที่ไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน การจัดการกับขยะทะเล และความคืบหน้าเพื่อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนให้แก่นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเริ่มต้นทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากไทย ในวันที่ 1 มกราคม 2563

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการดำตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลักคือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งมุ่งหวังให้อาเซียนก้าวสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ ความร่วมมือของอาเซียนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4 ประการ

ประการที่หนึ่ง ประชาชนจะมีความมั่นคงที่ยั่งยืนมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง อาเซียนได้วางรากฐานความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้นำหลักการภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) มาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และจัดตั้งกลไกแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับผู้พลัดถิ่น

ประการที่สอง ความร่วมมือของอาเซียนในปีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเกี่ยวกับอาร์เซ็ป เป็นการผลึกกำลังของกลุ่มประเทศซึ่งมี GDP รวมกัน 32% ของโลก มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 30% ของการค้าโลก โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมโยง ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศในปีนี้ การริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน จะทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันยุทธศาสตร์เชื่อมโยงความเชื่อมโยง ซึ่งอาเซียนได้ประกาศโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน 19 โครงการ ที่ธนาคารโลกได้พิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความสนใจร่วมลงทุน

ประการที่สาม อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การต่อต้านขยะทะเล, การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน, การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการสนับสนุนให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในปี 2577 ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอาเซียนมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอาเซียนร่วมกัน

ประการที่สี่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนสำหรับเป็นแนวทางการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ

นอกจากนี้ที่ประชุมยินดีต่อข้อเสนอไทยที่จะจัดการประชุมระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกเพื่อสร้างหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2563 การประชุมทั้งหมดนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี แสดงให้เห็นถึงบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคและการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่าง ๆ ในสภาวะ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และความตึงเครียดทางการค้า โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สานต่อข้อริเริ่มของอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะ กับจีน และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น จีน และประเทศอาเซียนบวกสาม ภายใต้แนวทาง การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงของอาเซียนที่ไทยได้ริเริ่ม ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ และการสนับสนุนในเชิงวิชาการจากธนาคารโลกอีกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญร่วมกับภาคีภายนอกนั้น ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้ต่อยอดการส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับการสานต่อมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกผ่านกิจกรรมและโครงการความร่วมมือในลักษณะ win-win บนพื้นฐานของหลักการสามเอ็ม คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

รวมทั้งได้หารือกันในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค และเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาพลวัตในการหารือเพื่อแก้ไขความท้าทายต่าง ๆ โดยสันติวิธี ในการประชุมครั้งนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนและการเสริมสร้างความมั่นคง ทางไซเบอร์เพื่อส่งเสริมพื้นที่ไซเบอร์ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างความยั่งยืนในอาเซียนต่อจากนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมี 3Cs ได้แก่ 1) Continuity 2) Complementarity และ 3) Creativity ทั้งนี้ เป้าหมายในหลาย ๆ ด้านไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในปีเดียว จึงต้องมี C ตัวแรก คือ Continuity กับข้อริเริ่มที่สำคัญจากปีก่อน ๆ เพื่อให้สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยอาศัย C ตัวที่สอง คือ Complementarity ความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มที่เกื้อกูลกันในอาเซียน สุดท้ายต้องใช้ C ตัวที่สาม คือ Creativity ในการแก้ปัญหาที่คั่งค้างและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอย่างสร้างสรรค์ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีอวยพรให้เวียดนามและอาเซียนประสบความสำเร็จต่อไปในปีหน้า

15 ประเทศลงนาม RCEP ปี’63

ที่มาภาพ: https://www.asean2019.go.th/en/photo/3rd-regional-comprehensive-economic-partnership-rcep/

สำหรับการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3 (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้นำอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และนิวซีแลนด์

ที่ประชุมแสดงความยินดีที่สามารถบรรลุข้อสรุปการเจรจา RCEP ร่วมกันได้ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตน์จำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP ในปี 2563 ซึ่งการลงนามความตกลงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีความเสรี เปิดกว้าง และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งทำให้เกิดการขยายห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ที่ประชุมจึงได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเจรจา RCEP เพื่อสะท้อนความคืบหน้าด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุม RCEP ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิก RCEP อีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจา RCEP ทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำ RCEP ตั้งไว้

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “สมาชิก RCEP 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงRCEPทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงRCEPในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกRCEPจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป”

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรี RCEPในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บท จาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี ซึ่งหากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น

สำหรับการดำเนินการในรายละเอียดที่ยังเหลืออยู่ เกี่ยวกับการเจรจาเปิดตลาดระดับทวีภาคีของ 2 ประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกจะจับเป็นคู่ๆในการเปิดเสรีการค้าระหว่างกัน โดยขณะนี้ยังเหลือบางคู่ที่ยังเจรจาไม่ลงตัวแต่คาดว่าจะหารือเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2562 และจะลงนามในปี 2563 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน

นายจุรินทร์ เสริมว่า ความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เมื่อปี 2558 พบว่า ผลของการเจรจา RCEP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยผลผลิตมวลรวมของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 3.995% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำ FTA ระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิก RCEP เปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 58.8% ของการส่งออกของไทยไปโลก

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนว่าสามารถผลักดันสำเร็จ 3 ประเด็นหลัก คือ การรับมือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเข้าออกโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และ การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะด้านการประมงซึ่งใน 3 ประเด็นหลักดังกล่าวมี 13 เรื่องย่อยซึ่งหารือเสร็จสิ้นแล้ว 10 เรื่องเหลือเพียง 3 เรื่องที่ยังต้องหารือต่อไปคือ อาเซียนซิงเกิลวินโดว์ (ASEAN Single Window: ASW) แนวทางการพัฒนานวัตกรรมอาเซียนและการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันโดยใช้อาหารเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว