ThaiPublica > สู่อาเซียน > นายกรัฐมนตรีเปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน “จุรินทร์”ลุยดัน RCEP จบสิ้นปีนี้

นายกรัฐมนตรีเปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน “จุรินทร์”ลุยดัน RCEP จบสิ้นปีนี้

6 กันยายน 2019


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อาร์เซ็ป ประชุมมาราธอน 6 วัน เพื่อร่วมมือแก้อุปสรรคการค้าระหว่างกัน เพิ่มโอกาสประเทศไทยและทุกฝ่าย

วันนี้(6 กันยายน 2562)พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ ในโอกาสพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานนำการประชุมกล่าวรายงาน

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยเคยพูดไว้เรื่อง “ความกล้าฝัน” (Dare to Dream) ของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ที่อยากจะเห็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ผ่านปฏิญญากรุงเทพฯที่ได้ลงนามเมื่อปี 1967 และรวมไปถึง ผู้กล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่นที่ร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา

นอกจากความกล้าฝัน และตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่สามารถสร้างให้บ้านอาเซียนหลังนี้เติบโตอย่างแข็งแรง และก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง จากเพียง “สมาคม” ที่รวมกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ มาสู่ “ประชาคม” ที่บูรณาการในทุกมิติอย่างลึกซึ้งอย่างเช่นทุกวันนี้ หากปราศจาก “ความกล้าลงมือ” (Dare to Do) ของผู้ขับเคลื่อนความฝันทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า หมายรวมถึงทุก ๆ ท่าน ณ ที่แห่งนี้ด้วย

หากอาเซียนไม่ลงมือจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area-AFTA)หรือ อาฟต้า ให้เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจยังคงทำการค้าด้วยกำแพงภาษีที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค และไม่ดึงดูดผู้ลงทุนจากต่างชาติให้มาใช้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลง

หากอาเซียนไม่ริเริ่มแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี และลงมือศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนไปสู่การจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประเทศสมาชิกอาเซียน อาจยังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีฐานลูกค้ากว่า 630 ล้านคน และจากความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมและการขนส่งระหว่างกัน

และหากอาเซียนไม่ลงมือเสนอข้อริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป เพื่อรักษาบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับคู่ภาคีภายนอกอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่สามารถคว้าประโยชน์จากขนาดตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคนหรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่าจีดีพี กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของจีดีพี โลก ซึ่งมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้

และคงไม่ได้กล่าวเกินความเป็นจริงว่า การกล้าลงมือของผู้ขับเคลื่อนความฝันในอาเซียนด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ช่วยสร้างบ้านอาเซียนแห่งประโยชน์และโอกาสสำหรับพลเมืองอาเซียนทุกคนอย่างแท้จริง

สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขันในฐานะเจ้าบ้านที่ต่อเติมบ้านหลังนี้ของพวกเราชาวอาเซียนให้มั่นคงและแข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความสั่นคลอนต่อโครงสร้างและเสาหลักของบ้านอาเซียนได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้สานต่อการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนต่อไป ด้วยแนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability)

และท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อาเซียนจึงต้อง “ก้าวหน้า” (Advancing) สู่อนาคต เพื่อเตรียมคว้าประโยชน์และโอกาส และพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง เทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสความท้าทายทางการค้าโลกที่เกิดขึ้น อาเซียนจึงต้อง “ร่วมใจ” (Partnership) กันเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ไม่มีเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้วในการผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ซึ่งอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของอาเซียนและคู่เจรจาในการเชื่อมโยงระบบการค้าการลงทุนเข้าด้วยกัน โดยยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์กติกาเป็นสำคัญ

และท่ามกลางกระแสความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่จะหมดและหายไปได้ ถ้าเราไม่ร่วมกันทำนุบำรุงรักษา อาเซียนจึงต้องส่งเสริมความ “ยั่งยืน” (Sustainability) ในทุกมิติ อย่างเชื่อมโยงกัน อาทิ การทำประมงที่คำนึงที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล และการวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นถ้าไม่ใช่พวกเรา ณ ที่แห่งนี้ จะเป็น “ใคร” ที่เป็นผู้เริ่มลงมือ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ ณ เวลานี้ จะเป็น “เมื่อไร” ที่เราจะเริ่มลงมือ และ ถ้าไม่ใช่ที่นี่ ณ ที่แห่งนี้ จะเป็น “ที่ไหน” ที่พวกเราจะร่วมกันจับมือเพื่อขับเคลื่อนความฝันของผู้ก่อตั้งและผู้กล้าฝันทั้งหลายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

“ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่มารวมตัวกันอีกครั้งเป็นรอบที่ 51 นี้ จะ “ร่วมมือร่วมใจ” กันขับเคลื่อนความฝันของอาเซียนให้ “ก้าวไกล” และ “ยั่งยืน” ผ่านการเตรียมตัวรับมือกับอนาคต เสริมสร้างความเชื่อมโยง และส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและใกล้ชิดกันมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่อาเซียนร่วมกันทำ ร่วมกันขับเคลื่อนมาทั้งหมดตลอดช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ อาจมีคำถามว่า สิ่งนี้พวกเราทำไป “เพื่ออะไร” ผมคิดว่า เราสามารถตอบได้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ความตั้งใจและผลที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวอาเซียนและอนุชนรุ่นหลังทุกคน ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่มีใครถูกทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

สิ่งสำคัญที่สุด คือเรากำลังเผชิญกับสงครามการค้า ดังนั้นเราต้องพึ่งพากันและกัน เราทำคนเดียวไม่ได้ โลกได้เปลี่ยนแปลงนับวันปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าอาร์เซ็ปจะจบปีนี้ มาตรการใดที่เกิดผลกระทบเราร่วมแก้ และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเราต้องร่วมกันแก้ไข เรื่องดิจิตอลนั้นมีทั้งวิกฤติและโอกาส เรื่องขยะทะเล ผมขอความร่วมมือช่วยกันลดขยะทะเลและพัฒนาด้านสมาร์ทซิตี้ในเมืองเก่า ดิจิทัลในเมืองใหม่ และระบบการค้าเอสเอ็มอีเราก็ส่งเสริม สุดท้ายผมห่วงเรื่องแรงงาน เพราะมีเครื่องจักรเพิ่มขึ้น จึงขอให้ดูแลเรื่องปัญหาแรงงาน ท้ายนี้ฝากความระลึกถึงท่านสุลตาน และ นายกฯทุกประเทศด้วย

สุดท้ายนี้ ไทยพร้อมเต็มที่ในฐานะเจ้าบ้านที่จะต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านให้มีความสุข สบาย ในระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทยเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง (Second Home) ของท่าน และไทยพร้อมที่จะร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

จุรินทร์ลุยประชุมผลักดัน RCEP จบสิ้นปีนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ภายหลังพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวาน (5 กันยายน2562) แล้วถัดจากนี้ไปหลังจากพิธีเปิดก็จะมีการประชุมอีก 5 วันต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เช้าและก็ตลอดระยะเวลา 6 วันนี้ โดยจะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมตลอดระยะเวลาซึ่งก็จะมีการประชุมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการประชุมการค้าเสรีอาเซียน การประชุมในระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนด้วยกัน หรือ การประชุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) รวมทั้งการประชุมอาเซียนบวกคู่เจรจาแต่ละประเทศซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 11 ประเทศ ที่จะต้องมีการเจรจา

นอกจากนั้นก็จะมีการเจรจาสองฝ่าย แล้วกับอีกหลายประเทศ ซึ่งจะมีการแทรกอยู่ในกำหนดการต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับเมื่อวานนี้ในระหว่างที่ได้คุยกันกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงอาหารค่ำ ก็มีความคืบหน้าในประเด็นที่มีแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้สูง ที่จะทำให้การเจรจาอาร์เซ็ปสามารถที่จะเจรจาให้จบสิ้นภายในปีนี้นั้นได้ เพราะว่าสามารถที่จะมีแนวทางในการเข้าขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆไปได้

ส่วนการประชุมในวันนี้ (6 กันยายน 2562) จะเป็นเรื่องของการประชุมเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ จะเป็นในเรื่องของการพยายามที่จะผลักดันให้มีการลดภาษีในการส่งออกสินค้าภายในประเทศ ไปในประเทศสมาชิกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด ให้เป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ในปี 2017 แล้วซึ่งล่วงเลยมาแล้ว แต่ว่าบางประเทศก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน ดังนั้น วันนี้ก็คงจะได้มีการเจรจาทำความเข้าใจกัน เพื่อให้บรรลุผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2017 ให้ได้

และสำหรับการประชุมถัดไป ในช่วงบ่ายวันนี้ จะเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ มีหัวข้อการหารือรายละเอียดต่างๆ และจากนั้นก็ในช่วงอาหารค่ำวันนี้ ก็จะมีการประชุมเพื่อหารือร่วมกับสภาธุรกิจอาเซียน ซึ่งก็จะมีประเด็นที่คาดว่านักธุรกิจในกลุ่มอาเซียนก็คงจะนำเสนอปัญหาอุปสรรคที่ยังค้างคาอยู่ เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ให้มีตัวเลขที่เพิ่มมูลค่าขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ ของภาครัฐ ของทั้ง 10 ประเทศให้กับภาคเอกชนของอาเซียน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของอาร์เซ็ป ถ้าสามารถเสร็จสิ้นปีนี้ ก็ได้เคยตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่ได้ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมที่ปักกิ่ง ประเทศจีนว่า จะเร่งให้มีการลงนามโดยผู้นำประเทศโดยเร็วที่สุด และผลก็คือจะช่วย 16 ประเทศ สามารถที่จะมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3,500 ล้านคน ก็คือประมาณทั้งครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก และทั้ง 16 ประเทศนี้ โดยมีจีดีพีรวมกันมูลค่าถึงร้อยละ 30 ของโลก เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 16 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วยตรงนี้จึงเป็นที่มาว่า ที่พยายามเร่งให้การเจรจาจบสิ้นในปีนี้ให้ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทางการค้า

สำหรับกรณีที่สภาธุรกิจอาเซียนเสนอว่าผู้นำอาเซียนควรจะมีบทบาทนำเสนอตัวต่อต้านสงครามการค้าให้มากขึ้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่าทุกประเทศก็จะมีแนวทางของตัวเองอยู่แล้วในการที่จะดำเนินการ เพราะว่าไม่มีประเทศไหนไม่ทราบสถานการณ์อันนี้ แม้แต่ประเทศไทยเอง และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้จัดตั้งวอร์รูมขึ้นมาแล้วที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าจีนสหรัฐ ซึ่งแนวทางรายละเอียดต่างๆ เช่น การจะต้องจับมือกันระหว่างภาครัฐเอกชนโดยใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด แล้วก็ดำเนินการเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าตัวเลขการส่งออกให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และมีแผนงานที่ปรากฏในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย