ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup “2563” ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน มาเลเซียลดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ

ASEAN Roundup “2563” ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน มาเลเซียลดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ

3 พฤศจิกายน 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562

  • 2563 ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน
  • อาเซียน-อินเดียผลักดันหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  • ไทย-อินเดีย ร่วมผลักดันการค้าการลงทุนเขต EEC
  • กกร.พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมการค้าอาเซียน
  • FDI ไหลเข้าอาเซียนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 20%
  • มาเลเซียลดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ
  • เมียนมา อันดับความยากง่ายธุรกิจขยับมาที่ 165

2563 ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2562) ณ ห้อง Sapphire 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 มีขึ้นเพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค

ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขัน

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030” ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับภายในปีหน้า การที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่าง ๆ

ในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน และรวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย

โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่า อาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็น “ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค

อาเซียน-อินเดียผลักดันหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที แห่งอินเดียเข้าร่วม ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 จัดขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือในกรอบอาเซียน-อินเดีย ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคต และเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย

ในนามอาเซียน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมอินเดียว่าถือเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน ที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาเซียนยินดีที่นายกรัฐมนตรีอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดีย มีพลวัตมากยิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคง อาเซียนชื่นชมที่อินเดียสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนบนพื้นฐานของภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำหลากหลาย เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM plus) ซึ่งนำไปสู่การรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค ตลอดจนชื่นชมอินเดียที่ให้การสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก โดยเป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนหลักการ 3M ได้แก่ ความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (mutual respect) ผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำถึงความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

ด้านการค้าการลงทุน เน้นย้ำความพยายามเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้บรรลุ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ในการนี้ ไทยยินดีที่ได้ริเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (AITIGA) เพื่อทำให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกและง่ายในทางปฏิบัติและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางการค้า พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการสรุปการเจรจา RCEP ภายในปี 2019

ด้านวัฒนธรรม ชื่นชมกับความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและเยาวชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และไอซีที ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมให้อาเซียนและอินเดียเพิ่มความพยายามในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียปี ค.ศ. 2016-2020 และยินดีต่อความสำเร็จของปีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย 2019 ชื่นชมความพยายามของอินเดียในการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนและความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดียให้แน่นแฟ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณอินเดียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน และให้การสนับสนุนไทยและอาเซียนมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาในมิติที่หลากหลายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน

ไทย-อินเดีย ร่วมผลักดันการค้าการลงทุนเขต EEC

การประชุมทวิภาคีไทย-อินเดีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้พบปะหารือกับนายนเรนทรา โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีอินเดียที่ตอบรับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และมุ่งหวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2563 พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย และความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียที่มีการพัฒนามากขึ้น

นายกรัฐมนตรีอินเดียชื่นชมความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ โดยยืนยันว่าอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียนและภูมิภาค ในโอกาสนี้ อินเดียขอให้ไทยเป็นสื่อกลางช่วยให้อินเดียได้ยกระดับการฝึกร่วมทางทหาร Cobra Gold จากการเข้าร่วมการฝึกแบบจำกัดกิจกรรมเป็นสมาชิก full participant และนายกรัฐมนตรีอินเดียได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเอ็กซ์โปด้านการป้องกันประเทศ (DEFEXPO 2020) ที่ประเทศอินเดีย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยทั้งสองฝ่ายควรใช้ประโยชน์จากโอกาส และลู่ทางที่ยังมีอยู่อีกมาก ทั้งนี้ เห็นว่าการจัดการประชุม JC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 8 จะเป็นโอกาสในการรักษาความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า โดยนายกรัฐมนตรีขอให้อินเดียพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้ายางพารา น้ำมันปาล์ม และมันสำปะหลัง ซึ่งตลาดอินเดียมีความต้องการสูง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งด้าน ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

กกร.พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมการค้าอาเซียน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยนายกลินท์ สารสิน ประธาน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ Mr. Hironari Tomioka, President & CEO of NTT Data ประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จของการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการค้าการลงทุน โดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ในวันที่สองของการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562

นายกลินท์กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ กกร.กับบริษัท NTT Data เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรองรับการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนของไทยกับอาเซียน และประเทศอื่นทั่วโลก

การพัฒนาแพลตฟอร์มประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศของอาเซียน เพราะเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในแง่ต้นทุนและเวลาในการดำเนินการ โดยเป็นระบบ ดิจิทัลทั้งหมด นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ SME และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ลดการจ่ายเงินซ้ำซ้อน ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ตลอดจนอาจจะทำให้อันดับของไทยใน Ease of Doing Business ขยับไปอยู่ใน Top 20 ได้

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นจากความริเริ่มของภาคเอกชน นับว่าเป็นรายแรกของอาเซียนที่มีความริเริ่มในลักษณะนี้ ภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุน โดยขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นแล้ว รัฐก็จะไปดูว่าจะต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร รวมทั้งจะเชื่อมต่อกับระบบ National Single Window (NSW) หรือระบบบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ

นายสุพันธุ์กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้สามารถรองรับการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนได้จากทั่วโลก แต่สำหรับประเทศสมาชิกใดของอาเซียนมีความพร้อมก็สามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ อย่างไรก็ตามไม่สามาถรถบอกได้ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะเริ่มใช้ได้เมื่อไร

Mr. Hironari Tomioka กล่าวว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มในลักษณะนี้มาแล้วที่ญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งพบว่าสามารถลดทั้งต้นทุนและเวลาได้ถึง 60% จากการดำเนินงานตามขั้นแบบเดิม

FDI ไหลเข้าอาเซียนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 20%

นายริชาร์ด บอลด์วิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยการลงทุน องค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้นำเสนอรายงานการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียน ในวันที่สองของการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายริชาร์ดกล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยในปี 2018 ทำสถิติสูงใหม่มีมูลค่ารวม 155 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 147 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 ส่งผลให้ FDI ของอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 9.6% ปี 2017 เป็น 11.5% ในปี 2018

ประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ที่ FDI เพิ่มขึ้นมาก และมี 4 ประเทศที่ FDI ไหลเข้าจำนวนมากจนทำสถิติใหม่ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ในครึ่งแรกของปี 2019 นี้ FDI ในอาเซียนมีมูลค่า 93 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2018 ขณะที่ FDI ทั่วโลกลดลง 5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้า รวมทั้งมีการลงทุนจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ตลอดจนการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

FDI ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2016 ที่มีมูลค่า 22 พันล้านบาท เป็น 30 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2017 และเพิ่มขึ้นมากเป็น 55 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 หรือเพิ่มขึ้น 83% โดยที่ FDI ภาคการผลิต เงินไหลเข้าทั่วภูมิภาค แต่มีจำนวนมากในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย

แนวโน้ม FDI ในอาเซียนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนจากจีนและประเทศอื่นๆ และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ภาคบริการเป็นภาคที่ FDI ไหลเข้ามากที่สุด สอดคล้องกับ FDI ในภาคบริการทั่วโลก โดยสัดส่วน FDI ภาคบริการของอาเซียนมีสัดส่วน 66% ของ FDI ทั้งหมดในปี 2014-2018 จาก 50% ในปี 1999-2003 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนของภาคบริการในจีดีพีของภูมิภาครวมกัน

FDI ภาคบริการส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจบริการทางเงิน ค้าส่ง และค้าปลีก รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์

สำหรับ FDI ในภาคเฮลท์แคร์แม้ยังมีสัดส้วนน้อยแต่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI เฉลี่ยรายปีในปี 2009-2013 มีมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014-2018 และคาดว่า FDI ในเฮลท์แคร์จะเพิ่มจาก 99 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เป็น 270 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025

FDI เฮลท์แคร์สามารถเป็นส่วนเสริมการลงทุนในเฮลท์แคร์ของภาครัฐที่มีปัญหาด้านงบประมาณได้ และจากการศึกษาพบว่าการลงทุน FDI ในเฮลท์แคร์ส่วนใหญ่มาจาก private equity และ venture capital

ปัจจุบันการลงทุน FDI ในอาเซียน เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนธุรกิจโรงพยาบาล พบว่าในปี 2017 อินโดนีเซียมีสัดส่วนโรงพยาบาลสูงสุดในภูมิภาคถึง 64% รองลงมาคือ กัมพูชาในปี 2018 ที่มีสัดส่วน 62% ฟิลิปปินส์ ปี 2015 ในสัดส่วน 60%

การลงทุน FDI ในเฮลท์แคร์อาเซียนส่วนหนึ่งมากจากการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง การลงทุนของบริษัทยาข้ามชาติ สตาร์ทอัปด้านเมดิคัล และ medical tourism

การเปิดเสรีให้ลงทุนในเฮลท์แคร์ของประเทศสมาชิกแตกต่างกัน โดยมี 6 ประเทศที่เปิดให้ลงทุน 100% ตามกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนข้อตกลง (ASEAN Framework Agreement on Services) ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ขณะที่อีก 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เมียนมา ให้ลงทุนได้ 70%

มาเลเซียลดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ

มาเลเซียกำลังลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มีทักษะไม่สูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าจะลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลดมากกว่า 130,000 ราย ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจแรงงานมาเลเซียที่มีทักษะสูง ตลอดจนนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อการก้าวสู่ประเทศพัฒนา

ธุรกิจในประเทศของมาเลเซียระบุว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ในบางด้านจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่ไร้ทักษะเพื่อการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม รับงานซักรีด

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วน 38% ของจีดีพี รวมทั้งธุรกิจการผลิตและผู้ที่ทำการเพาะปลูกไร่สวน ระบุว่า มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีผลต่อการขยายตัว และเป็นปัญหาหลักของธุรกิจเพาะปลูก

ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พยายามผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมไฮเทคและลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งการควบคุมและจำกัดแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะต่ำ ที่มีสัดส่วน 15% ของแรงงานทั้งหมด เป็นหนึ่งในแนวทางของแผนการก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมไฮเทค

มาเลเซียไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังปรับเปลี่ยนนโยบายด้านแรงงานเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ สิงคโปร์ก็ได้มีเป้าหมายที่จะดึงแรงงานต่างช่าติที่มีทักษะสูงโดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน และออกใบอนุญาตแรงงานทักษะต่ำน้อยลง เช่นเดียวกับไทยที่มีนโยบายสมาร์ทวีซ่าดึงแรงงานต่างชาติใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

การดำเนินการด้านแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิประโยชน์จูงใจ โดยนาย ลิม กวน เอ็ง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาเลเซีย กล่าวว่าการใช้แรงานต่างด้าวที่มีค่าแรงงานจะไม่กระตุ้นให้ธุรกิจลงทุนในเทคโนโลยีและใช้เงินสร้างประสิทธิผล กระทรวงการคลังจึงได้ประกาศมาตรการให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

โดยจะให้เงินอุดหนุนจำนวน 500 ริงกิตต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 ปีสำหรับการจ้างแรงงานมาเลเซีย 1 คน แทนแรงงานต่างด้าว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการจ้างงานแรงงานในประเทศได้ราว 350,000 รายภายใน 5 ปี

รัฐบาลยังได้ออกหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อลดแรงงานต่างด้าวและดำเนินการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ ด้วยการกวาดล้างและกำหนดให้ธุรกิจตรวจสอบให้ดีขึ้น

แม้ธุรกิจจะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลแต่ก็ยอมรับว่าระยะสั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก สภาอุตสาหกรรมของมาเลเซียระบุว่า SME มีความสามารถจำกัดในการเติบโต และต้องจ้างงานแรงงานจำนวนมากเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อได้ทันการณ์ ดังนั้นความต้องการแรงงานของ SME จึงเป็นปัญหาแรก เพราะไม่เพียงพอ

งานบางอย่างที่มองว่า เป็นงานสกปรก อันตราย และทำได้ยาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่แรงงานในประเทศไม่ทำงานประเภทนี้ และมักเลือกทำงานในเมืองและภาคบริการมากกว่าที่จะทำงานในไร่หรือพื้นที่เพาะปลูก ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มหลายรายหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการแรงงาน

เมียนมาอันดับความยากง่ายธุรกิจขยับ มาที่ 165

อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของเมียนมาจากการรายงานของธนาคารโลกเพิ่มขึ้นจาก 171 มาอยู่ที่อันดับ 165 ในปีนี้

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า เมียนมามีการดำเนินการปรับปรุงดีขึ้นใน 5 ด้านด้วยกัน คือ การจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองเสียงข้างน้อยและการบังคับใช้สัญญา

เมียนมายังได้เปิดให้มีการยื่นขอจดทะเบียนบริษัทบนระบบออนไลน์ ลดขั้นตอนกระบวนการและการติดต่อด้วยตัวบุคคล รวมทั้งได้บังคับใช้กฎหมายธุรกิจ ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องหน้าที่กรรมการและการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น