ThaiPublica > เกาะกระแส > “ออง ซานซูจี” ฉายภาพการพัฒนาของเมียนมา พร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ยุคอุตสาหกรรม 4.0

“ออง ซานซูจี” ฉายภาพการพัฒนาของเมียนมา พร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ยุคอุตสาหกรรม 4.0

4 พฤศจิกายน 2019


สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ในช่วงเย็นของวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม นางออง ซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้กล่าวปาฐกถาโดยเริ่มว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ

ปีนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเป็นเวทีที่มอบโอกาสดีที่หาที่เปรียบไม่ได้ให้กับผู้เข้าร่วม ที่จะได้รับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปแห่งภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีส่วนร่วมโดยตรงกับประชาคมธุรกิจที่มีความหลากหลายและไม่หยุดนิ่ง

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่มีค่าสำหรับเราในการจัดการกับประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่และแนวโน้ม ขณะที่เราแต่ละประเทศกำลังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรม 3.0 เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เมียนมาในบางแง่มุมจะเจอเป็นประเทศหลังๆ

ในตลาดเกิดใหม่และจัดว่าเป็นตลาดชายขอบ (frontier market) อย่างเมียนมา ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (Micro, Small, and Medium Enterprises หรือ MSMEs) ยังคงเป็นส่วนสำคัญใน 4-5 ด้านของภาคเศรษฐกิจในระบบ โดยมีการจ้างงานราว 90% ของแรงงานทั้งหมดเมื่อรวมเศรษฐกิจนอกระบบ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากแนวคิดการจัดงานประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนปีนี้ Empowering ASEAN 4.0 หรือสร้างพลังอาเซียน 4.0 ข้าพเจ้าก็ยินดีที่การประชุมให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง ขนาดย่อย ซึ่งบอกได้ว่าเป็นแหล่งการสร้างงานที่สำคัญ เป็นแหล่งของการสร้างพลังมนุษย์และเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ชื่นชมบทบาทที่มีคุณค่าและสำคัญของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่ได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดเวทีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการรวมตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น

จากการเดินทางไปหลายที่ในอาเซียนและที่ห่างไกลแห่งอื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เห็นชัดว่าเมียนมาต้องทุ่มเทในการเสริมทักษะใหม่ (upskilling) และพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (reskilling) ให้กับแรงงาน เพื่อเตรียมพร้อมกับการเรียนรู้ไปข้างหน้า เพื่อรองรับอนาคต การสร้างพลังเมียนมา 4.0 และมีเพียงการทำเช่นนั้น ที่จะทำให้เราตอบสนองต่อความต้องการด้านเทคโนโลยีและตลาดในอนาคตที่กำหนดโดยอาเซียน 4.0

ความสำเร็จที่เกิดจากการกระทำนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะถูกกำหนดโดยความสามารถของภาคเอกชนของเรา ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่พึ่งพาได้ในการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตอย่างทั่วถึง เพื่อความอยู่รอดและเจริญก้าวหน้า เพื่อเข้าร่วมและรับผลประโยชน์จาการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

MSMEs ขับเคลื่อนประเทศ

ในเมียนมา ธุรกิจ MSMEs ขณะนี้กำลังอยู่ในแถวหน้าของการเปลี่ยนโฉม เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญ แต่ยังเป็นแหล่งนวัตกรรมของประเทศ แหล่งสร้างความมั่งคั่ง การลดความยากจน และการสร้างพลังมนุษย์

การทำให้มั่นใจในฐานะของภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ในช่วงเวลาที่เรากำลังดำเนินการเปลี่ยนผ่าน มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และมีคุณภาพ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่เอื้ออำนวยที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า MSMEs ของเราจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งจัดการความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น รับมือกับความซับซ้อนได้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

วันนี้เราได้เห็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีของโลกชนิดที่ไม่หวนคืน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการผสมผสานเทคโนโลยีและเส้นบางๆ ที่เคยแบ่งพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางดิจิทัล และด้านชีวภาพ

เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวข้องกับการทำลายขอบเขตระหว่างการเปลี่ยนเครือข่ายเทคโนโลยีและการผลิต

เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เปิดโอกาสมหาศาลอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และไม่มีอะไรจะมากกว่านี้สำหรับเมียนมา

กระนั้น เมียนมาเองก็รู้ดีว่า การเติบโตก้าวหน้าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีอาจจะยากกว่าที่เคยด้วย

ในเดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเมียนมาลงอีก เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในทิศทางเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2018

หลายปีที่ผ่านมา โลกมักจะมองมาที่เราด้วยความหวัง ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคจะชะลอตัวจาก 6.3% ในปี 2018 ลงไปที่ 5.9% ในปี 2019 และปี 2020 และนับเป็นครั้งแรกหลังวิกฤติการเงินเอเชีย ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเราลดลงต่ำกว่าระดับ 6%

แต่ข้าพเจ้ายังเชื่อว่า แม้เศรษฐกิจภูมิภาคชะลอตัวลงเล็กน้อย เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยังคงอยู่ในสถานะที่สามารถก้าวหน้าได้ในโลกของอาเซียนยุคใหม่ ยุค 4.0

เมียนมาประสบกับความท้าทายมากมายแต่เรายังมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวัง

มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เมียนมาได้ดำเนินการปฏิรูปและยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ซับซ้อนหลากหลายพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านของเราไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 การเปลี่ยนผ่านนี้มีผลกระทบในทุกแง่มุมของสังคม การเมือง และความเป็นอยู่ของเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้ง สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้นำคำว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เข้ามาใส่ไว้ในพจนานุกรมเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่เราเริ่มทำหน้าที่รัฐบาลภายใต้เมียนมาที่เป็นประชาธิปไตย

นับตั้งแต่นั้นเรายังคงมุ่งมั่นกับการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและความมั่นคง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศและคนหนุ่มสาวของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เมียนมาสามารถก้าวกระโดดอย่างมหาศาลเข้าไปสู่ศตวรรษที่ 21

ผลจากการดำเนินการร่วมกันนี้ ทำให้เราสามารถรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับสูงราว 6-7% หลายปีติดต่อกัน เป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตรวดเร็วของเอเชีย การเติบโตนี้ยั่งยืนโดยที่ไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจโอเวอร์ฮีท

เรามุ่งมั่นที่จะใช้ความสดใสไม่หยุดนิ่งของเศรษฐกิจสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การลงทุนในนวัตกรรมและการวิจัย ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล โดยดำเนินการภายใต้แผนการพัฒนาที่ยั่งยืน และวาระการปฏิรูปด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่มองไปข้างหน้าแบบรอบด้าน

แผนพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจัดทำบนพื้นฐานวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ว่าเมียนมามีความสงบสุข เจริญรุ่งเรือง และเป็นประชาธิปไตย เป็นแผนงานที่มีเอกภาพ เชื่อมโยงโรดแมปการปฏิรูปในอนาคตทั้งหมด และจะเป็นแนวทางให้เราเข้าสู่การพัฒนาประเทศระยะต่อไปที่น่าสนใจ

จากแผนพัฒนาที่ยั่งยืนและจากการรวมตัวเข้ากับอาเซียนที่ลึกมากขึ้นผ่านห่วงโซ่คุณค่า การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และแอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีไซเบอร์ เมียนมา 4.0 จะช่วยให้ประชาชนของเราเข้าถึงระบบการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสด ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การชำระเงินแบบคอนแทกต์เลส (contactless)

ประชาชนทั้งวัยเยาว์และสูงวัยจะเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่มีข้อจำกัดผ่านแหล่งการเรียนรู้ คอร์สออนไลน์ และห้องเรียนเสมือนจริง โทรศัพท์มือถือยังมีส่วนช่วยการรักษาทางไกล และจะปฏิวัติอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของเรา

NSMEs ของเราก่อนหน้านี้มีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินและบริการธุรกิจได้ ก็จะค้าขายข้ามแดนในวิถีที่เรานึกไม่ถึง

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประชาคมธุรกิจของภูมิภาคก็คือ กระบวนเทคโนโลยานุวัตรหรือ technologization ของอาเซียนสามารถที่จะสร้างพลังงานให้กับประชาชนได้ และบางครั้งโลกทางกายภาพและดิจิทัลของเรามาบรรจบกันจนรู้สึกราวกับว่าทุกเส้นใยของการคงอยู่ของเรากำลังกลายเป็นดิจิทัล

สำหรับชุมชนและประเทศที่ถูกระงับไม่ว่าจะเป็นปัญหาระยะยาวหรือความท้าทายใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระดับสูง การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอน

ในเรื่องนี้เราจะทำให้ดีเพื่อเตือนตัวเองว่า ในเมียนมา คนของเรา 3 ใน 4 คนยังไม่ได้มีบัญชีธนาคาร และมีคนเพียง 5% ที่มีบัตรเดบิต

การเปิดเสรีภาคการเงินและการธนาคารของเราและการที่ไม่มีทุจริต ศักยภาพที่จะผันช่องว่างของการพัฒนาไปเป็นโอกาสทางการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ

ภูมิภาคของเรากำลังพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น รูปแบบการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด

การพลิกโฉมจะกระทบในวงกว้าง ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI หุ่นยนต์ โรงงานอัจฉริยะ ได้เข้าอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการอย่างกลมกลืน มนุษย์และเครื่องจักรต้องหาแนวทางใหม่ในการทำงานร่วมกันโดยใช้จุดแข็งของทั้งสองฝ่าย เราต้องทำงานกับเครื่องจักรแทนที่จะต่อต้าน

ทั้งนี้ก็เหมือนกับอย่างอื่น หากเราไม่เตรียมพร้อม เราต้องพร้อมที่จะล้มเหลว และโดยที่เมียนมาประสบกับความท้ายเหล่านี้ เราโชคดีที่มีเพื่อน รวมทั้งพันธมิตรอาเซียนและภูมิภาค

อาเซียนมีประชากรราว 650 ล้านคน และส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน ต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านที่จะมีต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ระบบดิจิทัลจะมีผลกระทบอย่างมากกับรูปแบบการผลิต การค้า และกระแสเงิน ทักษะของแรงงานในอนาคตจะแตกต่างอย่างมากจากทักษะที่ใช้ในวันนี้

เพื่อใช้ประโยชน์จากภาวะการณ์ได้อย่างเต็มที่ เราต้องเปลี่ยนโฉมชุมชนของเรา เมืองของเรา และภูมิภาคของเรา ไปสู่สังคมที่เรียนรู้ มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม

ความร่วมมือของรัฐและเอกชนที่มีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นในการแยกแยะรวมทั้งการเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการแข่งขันในตลาดแรงงานให้คนรุ่นใหม่ จะช่วยลดความเสี่ยงของการจัดทักษะไม่ตรงกับงานและการขาดแคลนแรงงาน

ความร่วมมือที่ว่านี้ยังจะช่วยให้เราทำหลายอย่างได้ดีขึ้น ทั้งการชี้ตัวคนที่มีความสามารถ การเลือกเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การควบคุมต้นทุนและแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน

พร้อมเข้าสู่ยุค 4.0

แม้มองว่าเมียนมายังอยู่ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน แต่เราก็พร้อม

เมื่อ 8 ปีก่อน ประชากรต่ำกว่า 1% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่วันนี้เมียนมาเป็นหนึ่งในตลาดโมบายอินเตอร์ที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค มีการถือครองซิมโทรศัพท์ถึง 105% และใช้สมาร์ทโฟนถึง 80% อัตราความเร็วในการดาวน์โหลดผ่านเครือข่าย 4G โดยเฉลี่ยดีกว่าระดับโลก

เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน เราได้พัฒนายุทธศาสตร์บริการถ้วนหน้า (Universal Service Strategy) เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการเทเลคอมที่ทันสมัยภายในปี 2022 เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำฟอนต์มาตรฐานสากลมาปรับใช้ ซึ่งจะหนุนการพัฒนาและการส่งมอบคอนเทนต์ดิจิทัลภาษาเมียนมา รวมทั้งร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

การขยายตัวนี้เมื่อรวมกับอนาคตที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G นับว่าเป็นโอกาสที่สูงสำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยี และเทคโนโลยีใหม่ผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตออฟทิง จากบ้านอัจฉริยะไปจนถึงโรงงานอัจฉริยะ

เยาวชนของประเทศจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี คนรุ่นเยาว์ของเราได้เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น Makerthons, Hackathons และ Roboleagues ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย เทคโนโลยี (University of Information Technology) ได้รับรางวัลที่สองในการแข่งขัน ASEAN Makerthon ประจำปี และยังคว้าถ้วยรางวัลที่หนึ่งจากการแข่งขันภายในอาเซียนและการแข่งขัน FIRST Global Robotics Challenge ที่สหรัฐฯ

ในเมียนมา เราให้ความเชื่อมั่นในตัวคนรุ่นใหม่ เพราะมีความสามารถที่มองข้ามไม่ได้

ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ครั้งหนึ่งเมียนมาถูกขนานนามว่าถ้วยข้าวแห่งเอเชีย ภาคการเกษตรและชนบทยังคงมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานราว 53% ของแรงงานทั้งหมด และเป็นแหล่งทำมาหากินของประชากรส่วนใหญ่ 70%

แต่ภาคเกษตรและชนบทก็ไม่พ้นต่อการถูกดิสรัปต์ จำนวน MSMEs ในชนบทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และสร้างแหล่งทำมาหากินในชนบทแหล่งใหม่รวมทั้งโอกาสนอกภาคเกษตร

การเข้าถึงสินเชื่อในชนบทได้มีการปรับมาอยู่ในระบบและมีหลากหลาย อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บของเงินกู้นอกระบบจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าจ้างในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและพื้นที่ที่น้ำเข้าไปไม่ถึงเพิ่มขึ้น 40%

เกษตรกรของเรา MSMEs กำลังลงทุนในธุรกิจของเขา ซึ่งเป็นสิทธิของเขา โดยพื้นที่ปลูกข้าวในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของสามเหลี่ยมได้หันมาใช้เครื่องเกี่ยวข้าวจากเดิม เทียบกับปี 2013 ที่แทบจะไม่ได้ใช้เลย

แม้ว่าจะยังไม่ใช่สิ่งควรจะเห็นจากที่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 3.0 หรือ 4.0 แต่เราก็ได้เห็นการปฏิวัติของภาคการเกษตรในเมียนมาในหลายรูปแบบเท่าที่เป็นไป

นอกจากนี้ เรายังเปลี่ยนคนรุ่นใหม่ของประเทศไปเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีผลมหาศาล โดยนักศึกษาที่ได้ชนะการแข่งขัน Makerthon นั้นได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับภาคเกษตรในชื่อ Sein Lae Myay เป็นแพลตฟอร์มให้ภาคเกษตรได้ใช้ ซึ่งช่วยปิดช่องว่างข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเกษตร สารอาหารและเครื่องจักร

นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อเนื่องด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานของประเทศ ผ่านความริเริ่มต่างๆ เช่น Myanmar Set 2 ดาวเทียมสังเกตการณ์ที่เมียนมาสร้างขึ้นเอง ซึ่งช่วยให้การติดต่อสื่อสารทั่วประเทศรวมทั้งพื้นที่ห่างไกลดีขึ้น

เรากำลังมุ่งมั่นให้กับการทำงานอย่างหนักเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายกฎระเบียบ และโครงสร้างทางกายภาพ เพื่อเอื้อต่อการลงทุนที่มีคุณภาพเข้ามาเมียนมา

ตัวอย่างที่เห็น ไม่เพียงโครงการ Project Bank เท่านั้นที่มีกระบวนการจัดซื้อที่โปร่งใส คาดการณ์ได้ ระบุโครงการที่แข่งขันได้ และเสริมด้วยกฎหมายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ฉบับใหม่ ที่ลดขั้นตอนการเช่าที่ดินและทรัพย์สินของรัฐด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์จากส่วนกลาง

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนความต้องการของนักลงทุนของเราได้ทันการณ์ ก็ได้มีมาตรการอื่น เช่น การใช้ระบบ single-window ซึ่งเปิดให้นักลงทุนที่ต้องการใบอนุญาตและใบอนุญาตประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอและได้รับการอนุมัติ โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อสำนักงานของรัฐ

ความสำเร็จจากการดำเนินการนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา และเราเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จเมื่อนำไปใช้กับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและในเขตเศรษฐกิตพิเศษอื่นในระยะต่อไป

ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างมากที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทางบวกของภูมิทัศน์ด้านการลงทุนของเรา ซึ่งได้รับการตอบรับ โดยเมียนมาได้รับการจัดให้เป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีการดำเนินมากที่สุดเพื่อความง่ายของการทำธุรกิจในปีนี้ หลังจากที่ได้รับรางวัลแชมป์ปฏิรูปด้านความง่ายของการทำธุรกิจ (Star Reformer Award) ในปี 2017

การปรับปรุงในเรื่องต่างๆ รวมกับการปฏิรูปใหม่ที่ดำเนินการในรอบ 24 เดือนที่ผ่านมาทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจเมียนมาสูงขึ้นมากถึง 17 อันดับในรอบ 2-3 ปีนี้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ทำให้เทคโนโลยีมีการพลิกโฉม ช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิวัติครั้งที่ 4 และโดยที่เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านนี้ ทุกประเทศก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเทศที่จะก้าวหน้าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ คือประเทศที่ยอมรับก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้และในทุกๆ ด้าน เราหวังว่าจะมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างอาเซียนกับเมียนมา ในทุกภาคส่วนทั้งด้านวิชาการ ประชาสังคม และภาคธุรกิจ เพื่อก้าวไปสู่อาเซียน 4.0